2 ต.ค. 2563 เวลา 14.00 น. พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี มีคำสั่งฟ้อง ปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการชุมนุม #อุดรสิบ่ทน ที่สนามทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 หลังปรเมษฐ์เดินทางเข้ารายงานตัว แม้ก่อนหน้านี้ ปรเมษฐ์จะได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
- น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ขอความเป็นธรรมอัยการไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
- น.ศ.เข้ารับทราบข้อหาเป็นผู้จัดชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังไลฟ์สดชวนคนร่วม #อุดรสิบ่ทน
14.30 น. อัยการเดินทางไปยื่นฟ้องปรเมษฐ์ต่อศาลแขวงอุดรธานี โดยมีเพื่อนนักศึกษา, อาจารย์, นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย, นายสมัคร บุญปก รองนายก อบจ.อุดรฯ, ตัวแทนคณะก้าวหน้า จ.อุดรฯ และประชาชนทั่วไป เดินทางมารอให้กำลังใจปรเมษฐ์ที่บริเวณหน้าศาล ก่อนที่ปรเมษฐ์จะถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังด้านหลังศาล
หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันได้ อีกทั้งจำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จำเลยยังประสงค์ต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
ต่อมา เวลาประมาณ 15.30 น. ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงอุดรฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวปรเมษฐ์ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ต้องมีประกัน แต่ให้สาบานตัวว่าจะมาศาลตามนัด และกำหนดวงเงินประกัน 20,000 บาท หากจำเลยไม่มาตามที่ศาลนัดจึงจะบังคับเงินประกันจำนวนนี้ พร้อมทัังนัดสอบคำให้การในวันที่ 19 พ.ย. 2563 เวลา 09.00 น.
คำฟ้องซึ่งนางปณิสรา คงธนโฆษิตกุล พนักงานอันการคดีศาลแขวงอุดรธานีเป็นโจทก์ฟ้องปรเมษฐ์ ในความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมในที่สาธารณะซึ่งมีการรวมกลุ่มกิจกรรมลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค covid-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ 2558, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี” พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องว่า
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 จำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณลานน้ำพุ สนามทุ่งศรีเมือง อันเป็นที่สาธารณะ มีผู้ร่วมกันชุมนุมประมาณ 400 คน โดยผู้เข้าร่วมนั่งและยืนชิดติดกันแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค covid-19 เป็นระยะเวลานานโดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรค covid-19 แพร่ออกไป โดยในการชุมนุมดังกล่าวจำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้จัดการดูแลกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” ได้โพสต์ข้อความนัดหมายเชิญชวนให้นักเรียนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยได้ไปยังที่เกิดเหตุก่อนเวลาชุมนุมเพื่อดูแลเรื่องสถานที่ และยังได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุมไปยังกลุ่มในเฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปทราบและชักชวนให้มาร่วมชุมนุมด้วย โดยไม่ได้จัดให้มีการบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่าง และไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมชุมนุมมิให้แออัด อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีที่ล้างมือ และไม่ได้จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม ทั้งนี้ เป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนด ตลอดจนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี
การชุมนุม #อุดรสิบ่ทน
อัยการยังได้ระบุท้ายคำฟ้องว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ covid-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ covid-19 อันเป็นการยากต่อการควบคุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ของประชากรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก
คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง คดีที่ 4 ที่มีการยื่นฟ้องต่อศาล ก่อนหน้านี้ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ถูกฟ้องจากกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ, “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย และธนาธร วิทยเบญจางค์ 2 นักศึกษา ถูกฟ้องจากการชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย และ “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถูกฟ้องจากการชุมนุม #อีสานสิบ่ทน รวมทั้งยังมีอีก 17 คดี ที่ยังอยู่ในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและอัยการ