น.ศ.เข้ารับทราบข้อหาเป็นผู้จัดชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังไลฟ์สดชวนคนร่วม #อุดรสิบ่ทน

2 ก.ย. 2563  เวลา 10.30 น. ที่ สภ.เมืองอุดรธานี นักศึกษาและประชาชนผู้ถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุม “อุดรสิบ่ทน” และการชูป้ายให้กำลังใจทนายอานนท์ นำภา พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหมายเรียกในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตามลำดับ

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุดรฯ ในฐานะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายปรเมษฐ์ ศรีวงษา อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีว่า 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 – 21.00 น. ได้มีการชุมนุมของกลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษาอุดรธานี ที่บริเวณลานน้ำพุ สนามทุ่งศรีเมืองอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 400 คน โดยการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการจัดให้มีจุดบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการจัดจุดเข้าออกพื้นที่การชุมนุมให้ถูกสุขอนามัย ผู้ชุมนุมมีการยืนหรือนั่ง ชิดติดกัน ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่พบว่ามีการจัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอแก่จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป และเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนดแห่ง พ.ร.ก.การบริหารราลการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยก่อนและในระหว่างการชุมนุมนายปรเมษฐ์ ผู้ต้องหาได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมซึ่งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้ 

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ

ปรเมษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในวันที่ 15 ก.ย. 2563

ส่วนคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ต.ท.ผลิตอรัญ บุญมาตุ่น รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุดรฯ ในฐานะพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส.เสาวลักษณ์ สิทธินนท์ อายุ 30 ปี พร้อมระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวันที่ 8 ส.ค 2563 น.ส.เสาวลักษณ์ ผู้ต้องหา ประสงค์จะให้มีการรวมตัวชุมนุมกัน โดยได้โพสต์ข้อความประกาศเชิญชวนประชาชนทั่วไปและเพื่อนทางเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “Saowalak Sitthinon” ให้ไปร่วมกันชูป้ายเพื่อเป็นกำลังใจให้ทนายอานนท์ นำภา, น้องไมค์ และเยาวชนที่ถูกออกหมายจับทั้ง 30 คน ภายใต้ชื่อว่า “ถ้าไม่สู้ ก็จงอยู่อย่างทาส” ร่วมชุมนุมกันที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมได้ จนมีประชาชนและเพื่อนไปร่วมชุมนุมยืนชูป้ายเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาล พร้อมทั้งแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เอาเผด็จการ โดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรธานี 

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

เสาวลักษณ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในวันที่ 15 ก.ย. 2563 เช่นกัน

หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาแล้วเสร็จ ได้ปล่อยตัวปรเมษฐ์และเสาวลักษณ์โดยไม่ต้องประกันตัว และนัดหมายให้มารายงานตัวในวันที่ 8 และ 16 ก.ย. 2563 โดยพนักงานสอบสวนมีกำหนดจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานีในวันที่ 16 ก.ย. 2563

ทั้งนี้ ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ผู้กำกับการ สภ.เมืองอุดรฯ ได้ชี้แจงว่า ทั้งสองคดีนี้เป็นคดีที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแขวง ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาตามที่จะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ คือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก และพนักงานสอบสวนจะทำงานเป็นรูปแบบคณะทำงาน ในการชี้แจงมี ศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุดรธานี เข้าร่วมรับฟัง โดยระบุว่า เป็นนโยบายพรรคที่ให้ ส.ส.ในพื้นที่เข้าติดตามกรณีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง  

ปรเมษฐ์และเสาวลักษณ์กล่าวยืนยันว่า ตนเองใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ การที่ถูกดำเนินคดีเป็นเพราะเขาต้องการให้เราเงียบ แต่เราไม่ควรเงียบ และเชื่อว่า จะยิ่งทำให้ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากยิ่งขึ้น

การชุมนุมที่ จ.อุดรธานี ในวันที่ 24 ก.ค. 2563 ใช้ชื่อว่า #อุดรสิบ่ทน จัดขึ้นหลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่กรุงเทพฯ เพียง 6 วัน โดยขานรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของเยาวชนปลดแอก ได้แก่ ให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีรายงานว่า ในวันดังกล่าว ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลเมือง ไม่ได้มีการห้ามจัดกิจกรรม และพบว่าเจ้าหน้าที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดชั่วคราวบริเวณสนามทุ่งศรีเมือง มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 20 คน พยายามถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดเวลา พร้อมทั้งใช้โดรน 1 ลำ บินเหนือพื้นที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพกิจกรรมด้วย 

การชุมนุม #อุดรสิบ่ทน ภาพโดย ไอลอว์

ส่วนการชูป้ายที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์มีขึ้นในช่วงที่ทนายอานนท์ นำภา และภานุพงศ์ จาดนอก ถูกจับกุมจากกรณีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก และถูกนำตัวไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขังไว้ในระหว่างการสอบสวน เมื่อวันที่ 7-8 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภาพชูป้าย 8 ส.ค. 63

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 5 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 20 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 70 คน แทบทั้งหมดยังอยู่ในชั้นสอบสวนหรือผู้ถูกกล่าวหาบางคนยังไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม)

เฉพาะการชุมนุมในภาคอีสานซึ่งมีขึ้นแทบทุกจังหวัดหลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.ค. 2563 มีการออกหมายเรียกนักศึกษา 4 ราย ใน 3 คดี จากการชุมนุมใน 3 จังหวัด ได้แก่ การชุมนุม #อีสานสิบ่ทน ที่มหาสารคาม เมื่อ 22 ก.ค. 2563, #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่ขอนแก่น เมื่อ 23 ก.ค. 2563 (2 ราย) และ #อุดรสิบ่ทน ที่อุดรธานี เมื่อ 24 ก.ค. 2563

 

X