ย้อนเหตุชุมนุม ‘อุดรสิบ่ทน’ ก่อนฟังคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม คดีแรก

“ผมไม่รู้สึกว่าเป็นไก่ที่ถูกเชือดให้ลิงดู ทางกลับกันผมยังเป็นไก่ที่เป็นปากเป็นเสียงให้คนออกมาแสดงออกมากขึ้น”

นับจากเข้าร่วมไลฟ์สดการชุมนุมที่ทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ชีวิตของปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ก็แปรเปลี่ยนไปอีกด้านหนึ่ง เมื่อก่อนหน้านั้นในปีที่เขากำลังจะจบการศึกษาหลายสิ่งหลายอย่างที่วางแผนคิดฝันในด้านธุรกิจต้องชะลอลง เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19  หนำซ้ำโรคระบาดนั้นนำมาซึ่งการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการรวมตัวของประชาชน แม้มีหลายเสียงทัดทานว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจากรัฐต้องการสะกัดกั้นการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนทั่วประเทศที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และหยุดคุกคามประชาชน

อย่างไรก็ตามเมื่อการ #ชุมนุมอุดรสิบ่ทน วันนั้นจบลง  ปรเมษฐ์กลายเป็นคนเดียวในจังหวัดอุดรธานีที่ต้องเผชิญกับคดีความ ก่อนที่อัยการจะสั่งฟ้อง และต้องขึ้นศาลอยู่หลายเดือนในชั้นพิจารณาคดีทั้งสอบคำให้การที่เขายืนยันปฏิเสธและต่อสู้คดี จนถึงชั้นสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

“โอกาสที่จะแพ้คดีก็ยอมรับว่ามี เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนถืออำนาจและกฎหมาย ส่วนตัวเราก็รู้สึกได้ว่าสู้เต็มที่ในทางของเราเท่าที่มีแล้ว ถ้าเขาไม่มีกฎหมายวิเศษ ผมจะสู้ได้มากกว่านี้”

ในสัจธรรมอันยากปฏิเสธถึงวันนี้โควิด-19 ส่งผลกับการทำมาหากินของคนส่วนใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางไม่แพ้กัน 

ท่ามกลางปรากฏการณ์การเมืองมากมายใน พ.ศ.นี้ วันที่ 25 สิงหาคม 2564 คดีของปรเมษฐ์จะกลายเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองและมีการต่อสู้คดี คดีแรกของประเทศที่มีคำพิพากษาออกมา 
.

บ่ทนมาโดน สิบ่ทนตลอดไป

ตั้งแต่เด็กปรเมษฐ์อาศัยอยู่กับตาและยายเป็นหลักเนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพมหานครเกี่ยวกับธุรกิจเสื้อผ้า  ขณะเดียวกับที่บ้านตายายก็ทำโรงงานขนมจีน ส่งผลให้ปรเมษฐ์เองเป็นคนทำมาค้าขายตั้งแต่เด็ก เพื่อนในโรงเรียนอำเภอกุมภวาปีตั้งแต่ชั้นประถมและมัธยมจะคุ้นเคยกับปรเมษฐ์ในด้านนี้ดี สำหรับปรเมษฐ์อุดรธานีเป็นเมืองกำลังจะเติบโต แต่ติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่นยังรวมศูนย์ไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่เมืองอุดรฯ กำลังขยายตัวด้วยอุตสาหกรรม ด้วยความสนใจด้านไอทีและการบริหาร ตอนจะเข้ามหาวิทยาลัยปรเมษฐ์จึงเลือกเรียนหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

ย้อนไปช่วงวัยเด็กปรเมษฐ์สนใจการเมืองบ้างผ่านการรู้จักวาทศิลป์ของ สมัคร สุนทรเวช ในรายการทีวีที่ต่อมาเขาผู้นี้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยเหตุน่าสงสัย  จนเมื่อทางบ้านเปลี่ยนมาค้าขายของชำช่วงวิกฤติไข่แพง และราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทำให้ปรเมษฐ์เริ่มสนใจการเมืองเรื่องปากท้องมากขึ้น

ก่อนที่ปี 2552 ขบวนการเสื้อแดงจะขยายตัวในจังหวัดอุดรธานีอย่างรวดเร็ว ปรเมษฐ์คาดว่าเพราะคนยังนิยมในนโยบายแบบไทยรักไทยและนิยมทักษิณ ชินวัตรอยู่  โดยเฉพาะในอำเภอกุมภวาปีและอำเภอใกล้เคียงอย่างอำเภอโนนสะอาด ที่ญาติและคนรู้จักของปรเมษฐ์ต่างเข้าไปร่วมชุมนุมเรียกร้องการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง  นั่นจึงอีกจุดที่ปรเมษฐ์เริ่มสนใจการเมืองอีกครั้งหลังเสื้อแดงถูกล้อมปราบในปี 2553 

“ปีนั้นคนที่เรารู้จักแถวบ้าน เข้ากรุงเทพฯ หมด ชาวบ้านตื่นตัวกันมาก เพราะไม่เห็นว่าอภิสิทธิ์มีความชอบธรรมในการเป็นนายกฯ และเป็นรัฐบาลที่คนอุดรฯ ไม่ยอมรับ แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับคือความสูญเสียจากการปราบปรามบางคนทั้งเสียชีวิตและถูกดำเนินคดี ที่ไม่ว่าจะเยียวยายังไงก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิม”

จากปี 2553 มาถึงปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร ปรเมษฐ์ในวัย 17 ปี ก็ยังติดตามข่าวด้วยความตื่นเต้น เพราะยังมีคนจากละแวกบ้านอำเภอกุมภาวาปีบางส่วนไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตัวเขาเองก็มีโอกาสไปรับเพื่อนบ้านที่เดินทางกลับด้วยรถไฟบ้าง รถโดยสารประจำทางบ้าง เท่าที่สัมผัสการต่อสู้ในปี 2557 ความสูญเสียน้อยกว่าปี 2553 แต่ก็แลกมาด้วยการเข้ามากุมอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นจุดเริ่มของความ ‘ไม่ทน’ ต่อสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลทหารชุดนั้นสร้างขึ้นมา  “คนรุ่นผมเขาชอบอิสระมากกว่า ถ้าเราโตมากขึ้นเราจะรู้สึกว่าพื้นที่แตกต่างมันยังมีอยู่แล้วเรานับถือกันได้ในแบบคนเท่ากัน แต่ยุครัฐบาล คสช. ไม่ได้เป็นแบบนั้น”

ภาพการชุมนุมอุดรสิบ่ทนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 จาก iLAw

ปี 2559 ปรเมษฐ์เข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในช่วงที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สอดไส้คำถามเห็นชอบเรื่อง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตัวเขาไม่เห็นด้วย แต่ในขณะนั้นยังไม่เห็นช่องทางของการออกมาเรียกร้องชุมนุม

จนผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สุจริต ไม่โปร่งใส  ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่การเปลี่ยนสถานะมาเป็นรัฐบาลที่ดูเหมือนมาจากการเลือกตั้ง ทำให้การแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนทำได้มากขึ้น เป็นผลให้เกิดการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ที่ไม่พอใจต่อรัฐบาล ซึ่งพวกเขาตระหนักดีว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.

กระทั่งการชุมนุมหยุดชะงักไปเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19  และการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเดือนมีนาคม 2563 แต่แล้วเมื่อกลุ่มเยาวชนปลดแอกออกมาชุมนุมในช่วงกลางปี ก็เกิดแรงกระเพื่อมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศอีกครั้ง และที่อุดรธานี เมืองที่เคยเต็มไปด้วยนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้า ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่สำคัญการชุมนุมครั้งนี้เต็มไปด้วยเยาวชนที่ออกมาทวงคืนอนาคตของพวกเขาและเธอ

“เรามองไม่เห็นว่าจบไปจะมีงานทำไหม จะห้ามยังไง เราก็ต้องออกไปเรียกร้อง รู้สึกผิดไหม ก็ไม่ เพราะเราควรออกไปเรียกร้องได้”  

สำหรับปรเมษฐ์การชุมนุมที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองในนาม  ‘อุดรสิบ่ทน’ คือการไม่ทนต่อระบบประยุทธ์ และเผด็จการที่ปิดปากประชาชนในทุกช่วงเวลา  ด้วยเชื่อว่าทุกวันนี้หลายสิ่งหลายอย่างควรเปลี่ยนแปลง “เราไม่ได้ทนมานานแล้ว และเราจะไม่ทนอีกต่อไป” 
.

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้แก้โควิด แต่เอามาปิดประตูม็อบ

18 กรกฎาคม 2563 เกิดการนัดหมายชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ประกาศข้อเสนออย่างหนักแน่น 3 ข้อเรียกร้องคือ 1.หยุดคุกคามประชาชนในทุกๆ ด้าน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน 3.ยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย

จากนั้นกระแสของการชุมนุมลุกลามไปทั่วประเทศ 24 กรกฎาคม 2563 ที่อุดรธานีจัดกิจกรรมอุดรสิบ่ทน เป็นจังหวัดที่ 4 ในอีสาน มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ล้อไปกับข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกและการชุมนุมอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เริ่มมีผู้ชุมนุมทยอยมาจุดนัดพบบริเวณทุ่งศรีเมือง ก่อนเริ่มประกาศทำกิจกรรมในช่วงเวลา 17.00 น. ตลอดเวลาการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมราว 400 คน ยืนรวมกันเป็นกลุ่มชูป้ายวิจารณ์ทหารและรัฐบาล รวมถึงชูกระดาษรูปบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย มีการอ่านแถลงการณ์ยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยวันนั้นปรเมษฐ์เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ไปที่ทุ่งศรีเมืองตั้งแต่ 16.00 น. 

โดยเขาถ่ายทอดสดบรรยากาศชุมนุมผ่านเฟซบุ๊ก “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” ตลอดการชุมนุม จนเสร็จสิ้นในราว 21.00 น.ที่ทุกคนแยกย้ายกันกลับ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมวันนั้นที่อุดรธานี ปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 60 นาย กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณทุ่งศรีเมือง คอยถ่ายภาพผู้มาร่วมชุมนุม มีการที่ใช้โดรน 1 ตัว บินเหนือพื้นที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพกิจกรรม อีกทั้งพบกล้องวงจรปิดติดตั้งใหม่ภายในทุ่งศรีเมือง เมื่อเดินตามสายเชื่อมต่อพบว่า มีปลายทางที่รถตู้ตำรวจ ไม่ว่าวันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเก็บข้อมูลของผู้เข้าชุมนุมไปสักกี่มากน้อย แต่ถึงที่สุดหลังการชุมนุม มีปรเมษฐ์ถูกดำเนินคดีเพียงคนเดียว ในข้อหา “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ”

ภาพการชุมนุมอุดรสิบ่ทน จาก iLAw

โดยหมายเรียกมาถึงบ้านที่อำเภอกุมภาวาปีให้ไปพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ท่ามกลางความสงสัยของปรเมษฐ์ในขณะนั้น “สิ่งที่ผมตั้งคำถามคือมันผิดจริงเหรอ ถ้ามันไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกผมก็แสดงออกได้เต็มที่  การดำเนินคดีผมแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้แก้ปัญหาโควิด-19 เพียงแค่ต้องการปราบปรามม็อบ”

.

เมื่อเขาอยากปิดปาก แต่เราไม่ยอมเงียบ

หลังเข้าพบ พ.ต.ท.สิงหราช แก้วเกิดมี รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุดรฯ ในฐานะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ที่ปรเมษฐ์ให้การปฏิเสธ หลังพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วเสร็จ ปรเมษฐ์ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน 

“การแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้ เป็นแค่การปิดปากผมเพื่อให้ต้องการเงียบเท่านั้น แต่เราไม่ควรเงียบ และเชื่อว่า จะยิ่งทำให้ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากยิ่งขึ้น” กระทั่งพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี  พร้อมกันกับที่ ปรเมษฐ์ยื่นหนังสือขอเป็นธรรมต่ออัยการ โดยขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้อง

คดีนี้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง กล่าวคือ เจตนารมณ์ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อควบคุมโรคระบาด โควิด-19  ซึ่งในวันเกิดเหตุคดีนี้นั้น จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโรคดังกล่าวที่เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนเป็นศูนย์ สถิติผู้ติดเชื้อที่ปรากฏเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ไม่ได้มีการระบาดในหมู่ประชาชนทั่วไป 

อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนทุกแขนง ย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ห้ามการชุมนุม การดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาในคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เพราะหลังจากการชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563  ก็ไม่ปรากฏมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หรือมีการแพร่ระบาดต่อประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีแต่อย่างใด ทั้งการชุมนุมในกิจกรรม “อุดรสิบ่ทน” ก็เป็นไปโดยสงบ สันติ และชอบด้วยกฎหมาย ผู้ต้องหาเองก็เป็นเพียงผู้ไปชุมนุมและเผยแพร่ภาพโดยการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด  จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินคดีต่อผู้ต้องหา

ปรเมษฐ์และทนายความขณะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี

ก่อนหน้านั้นปรเมษฐ์ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน ใจความสรุปดังนี้

1.พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาได้มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุม “อุดรสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม  2563 นั้น เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นไปโดยชอบด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

2.การออกประกาศห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นการตรากฎหมายที่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไป เพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่มุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเช่นนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายผิดพลาดอย่างร้ายแรง ส่งผลให้การแจ้งความดำเนินคดีของผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นไปโดยมีเจตนาหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องกำบังตนจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อหวังผลในการปิดปาก ซึ่งเรียกการปิดปากชนิดนี้ว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) ทำให้ผู้ต้องหาขาดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่าง ๆ อีก อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาโดยไม่สุจริต

.

ยื่นขอความเป็นธรรม กลับถูกกระทำขอให้ลงโทษสถานหนัก  

หลังยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้อัยการไม่สั่งฟ้อง ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ปาณิสรา คงธนโฆษิตกุล พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี มีคำสั่งฟ้องปรเมษฐ์ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ 

บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 จำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณลานน้ำพุ สนามทุ่งศรีเมือง อันเป็นที่สาธารณะ มีผู้ร่วมกันชุมนุมประมาณ 400 คน โดยผู้เข้าร่วมนั่งและยืนชิดติดกันแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลานาน โดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคโควิด-19 แพร่ออกไป 

ทุกครั้งที่ปรเมษฐ์ขึ้นศาลจะมีประชาชนในจังหวัดอุดรธานีมาให้กำลังอยู่เสมอ

โดยในการชุมนุมดังกล่าวจำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้จัดการดูแลกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” ได้โพสต์ข้อความนัดหมายเชิญชวนให้นักเรียนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยได้ไปยังที่เกิดเหตุก่อนเวลาชุมนุมเพื่อดูแลเรื่องสถานที่ และยังได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุมไปยังกลุ่มในเฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปทราบและชักชวนให้มาร่วมชุมนุมด้วย โดยไม่ได้จัดให้มีการบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่าง และไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมชุมนุมมิให้แออัด อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีที่ล้างมือ และไม่ได้จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม ทั้งนี้ เป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนด ตลอดจนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี

นอกจากนี้ยังระบุท้ายคำฟ้องว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันเป็นการยากต่อการควบคุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ของประชากรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก

จากนั้นทนายจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันได้ อีกทั้งจำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จำเลยยังประสงค์ต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

ต่อมาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงอุดรฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวปรเมษฐ์ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ต้องมีประกัน

28 มกราคม 2564 ศาลแขวงอุดรธานีจะนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ปรเมษฐ์ฟังอีกครั้ง โดยปรเมษฐ์ให้การปฏิเสธตามฟ้องทุกประการ จากนั้นพนักงานอัยการโจทก์ แถลงว่ามีพยานที่จะอ้างเป็นเอกสารจำนวน 12 ฉบับ นอกจากนี้ยังขอส่งซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม ‘อุดรสิบ่ทน’ จำนวน 2 แผ่น พร้อมระบุว่าจะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 6 ปาก

ขณะที่ทนายจำเลยอ้างเอกสารเป็นพยานจำนวน 3 ฉบับ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม จึงไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง และขอนำพยานบุคคลเข้าสืบคือตัวปรเมษฐ์เอง ศาลนัดสืบพยานในช่วงเดือนมิถุนายน 2564

.

ถ้าเขาไม่มีกฎหมายวิเศษ ผมก็จะสู้ได้มากกว่านี้

“ผมไม่คาดหวังกับพยานของฝ่ายโจทก์เท่าไหร่ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาเบิกความหาคนผิดมากกว่า ถามว่ามีใครติดโควิดในอุดรธานีช่วงนั้นไหม ก็ไม่มีใครติดโควิดเลย โอกาสที่จะแพ้คดีก็ยอมรับว่ามี เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนถืออำนาจ ส่วนตัวเราก็รู้สึกได้ว่าสู้เต็มที่ในทางของเขา ถ้าฝั่งเขาไม่มีกฎหมายวิเศษ ผมก็จะสู้ได้มากกว่านี้” ปรเมษฐ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งหลังการสืบพยานที่เขานั่งฟังมา 2 วันเต็มเสร็จสิ้น

ในชั้นสืบพยานโจทก์ คมสันต์ ฟ้ากระจ่าง พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี นำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 6 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ,พ.ต.ท.สุชัย นันแก้ว, ร.ต.อ.สุพร เงาสมรูป, ชัยวัฒน์ ธรรมวัตร ปลัดอาวุโสจังหวัดอุดรธานี ในขณะมีเหตุชุมนุม, พ.ต.ท.นิวัตร กุลศรี และสุพรรณี ปัชชาดี หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เทศบาลนครอุดรธานี

ปรเมษฐ์และทีมทนายความและเครือข่ายทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน วันสืบพยาน 16-17 มิถุนายน 2564

พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ ในฐานะผู้แจ้งความ เบิกความโดยสรุปว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 กลุ่มนักเรียนนักศึกษา จับกลุ่มจัดกิจกรรม หน้าอาชีวะศึกษาอุดรธานี มีลักษณะเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน และนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 

ต่อมา ในวันเกิดเหตุ ตัวเขาอยู่ที่ลานน้ำพุทุ่งศรีเมือง บริเวณดังกล่าว พบว่ามีบุคคลมาจัดกิจกรรมชุมนุม มีรถเครื่องเสียง มีรถติดป้ายโฆษณาเชิญชวน ในลักษณะต่อต้านการทำงานของรัฐบาล พบตัวปรเมษฐ์ที่ได้รู้จักในเบื้องต้นผ่านการสืบสวนมาก่อนหน้านี้ ขณะเกิดเหตุ ปรเมษฐ์เตรียมมือถือถ่ายทอดสดบนโซเชียลมีเดียเพจกลุ่มเสรีประชาธิปไตยนิสิตนักศึกษาอุดรธานี พูดบนเนื้อหาในขณะชุมนุม โดยการชุมนุมมีลักษณะไม่ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่มีจุดคัดกรองของผู้จัดชุมนุม ไม่มีจุดบริการเจลล้างมือแอลกอฮอลล์ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เว้นระยะห่าง ไม่มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวของการชุมนุม ทั้งก่อนและหลัง จึงเชื่อว่าปรเมษฐ์ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ 

ทั้งนี้ พยานผู้แจ้งความเบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า ทราบเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และทราบว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จะไม่สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แต่พยานไม่ทราบถึงตัวบทนิยามต่างๆ พยานทราบด้วยว่า ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดนิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” ไว้ 

พ.ต.ท.สุชัย นันแก้ว และ พ.ต.ท.นิวัตร กุลศรี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี เบิกความในทางเดียวกันว่า พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ กลุ่มเสรีประชาธิปไตยนิสิตนักศึกษาอุดร โพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมที่ลานน้ำพุ ทุ่งศรีเมือง ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 จึงทำการสืบค้นว่าใครเป็นแอดมินในการดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว เฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ ที่คนทั่วไปเห็นข้อความในกลุ่มได้ ตรวจสอบเบี้องต้นจึงพบว่าปรเมษฐ์เป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจ กระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ในขณะที่เกิดเหตุได้ดูการถ่ายทอดสดการชุมนุมในเพจดังกล่าว และทราบว่าปรเมษฐ์เป็นคนถ่ายทอดสดการชุมนุมเนื่องจากจำเลยถ่ายใบหน้าตัวเอง พร้อมเชิญชวนสมาชิกและบุคคลทั่วไปเข้ามาชุมนุมโดยใช้เวลาตั้งแต่ 16.00 น. จนการชุมนุมยุติลง 

ทนายจำเลยได้ถามค้านพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนรับว่า ที่เบิกความว่า ตรวจสอบพบว่า ปรเมษฐ์เป็นหนึ่งในแอดมินเพจดังกล่าวนั้น พยานได้ฟังจากพยานบอกเล่า คือผู้กล่าวหาในคดีนี้เท่านั้น พยานยังรับว่า ในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อีกทั้งใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้นิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ไว้ แต่พยานใช้การเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และปรับใช้โดยปริยาย 

พนักงานสอบสวนยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ที่พยานแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ นั้น ที่จริงแล้วไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดอุดรฯ ได้แจ้งคำสั่งห้ามการกระทำที่อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไปแก่ผู้จัดการชุมนุมตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่อย่างใด  

ทางด้าน ร.ต.อ.สุพร เงาสมรูป สว.สส.สภ.เมืองอุดรฯ ซึ่งมาเบิกความเรื่องการติดตามหาผู้ว่าจ้างเครื่องเสียงในงานชุมนุมอุดรสิบ่ทน ระบุว่า บุคคลที่ถูกจ้างมาให้บริการเครื่องเสียง ให้ข้อมูลว่าได้รับการว่าจ้างจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้มาที่ลานน้ำพุ ทุ่งศรีเมือง ในวันเกิดเหตุ อัตราค่าจ้าง 2,000 บาท แต่ ร.ต.อ.สุพร ไม่สามารถเบิกความยืนยันได้ว่าผู้ว่าจ้างเครื่องเสียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปรเมษฐ์อย่างไร 

ขณะที่ชัยวัฒน์ ธรรมวัตร อดีตปลัดอาวุโสจังหวัดอุดรฯ เบิกความว่าได้รับคำสั่งจากนายอำเภอเมืองอุดรธานี ให้ไปดูแลความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ เนื่องจากมีการชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. จึงเห็นว่ามีผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาตั้งแต่ 16.00 น. ลานน้ำพุเป็นพื้นที่โล่งกว้างผู้ชุมนุมสามารถเดินเข้ามาได้ในทุกทาง  แต่ผู้ชุมนุมไม่มีการตั้งจุดคัดกรองโควิด -19 หรือวัดอุณหภูมิของผู้มาเข้าร่วมชุมนุม การชุมนุมครั้งดังกล่าวไม่ทราบว่ากลุ่มผู้จัดชุมนุมมีหนังสือขออนุญาตจัดชุมนุมไปที่หน่วยงานใดหรือไม่

สุพรรณี ปัชชาดี หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี เบิกความถึงหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้เตรียมเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดคัดกรองโรคในกิจกรรมการชุมนุมที่ทุ่งศรีเมือง ก่อนจะเดินทางไปในช่วงเวลา 15.00 น. เพื่อพบกับคณะทำงานจากสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีที่มาร่วมประจำจุดคัดกรอง จากนั้นได้เริ่มตั้งจุดคัดกรองดังกล่าว 

หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันฯ เบิกความต่อว่า เท่าที่พยานเห็น ผู้ร่วมกิจกรรมกระจายตัวบริเวณทุ่งศรีเมือง เนื่องจากทางเข้าที่ชุมนุมมีหลายทาง ถ้าผู้ชุมนุมผ่านจุดคัดกรองที่ตนอยู่ ก็จะให้วัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ แต่ถ้าไม่ผ่านตรงจุดดังกล่าวก็ไม่ได้คัดกรอง พยานพบเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยบ้าง ไม่สวมใส่บ้าง ลักษณะนั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคได้ ทั้งนี้ก่อนการชุมนุมผู้จัดชุมนุมไม่ได้ยื่นหนังสือเกี่ยวกับการชุมนุมถึงตน

สุพรรณีตอบคำถามทนายจำเลยว่า ก่อนการชุมนุมทางหน่วยงานป้องกันฯ ก็ไม่ได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามการชุมนุมที่ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และแจ้งแก่ผู้จัดการชุมนุม ส่วนช่วงที่มีการชุมนุมและหลังการชุมนุมประมาณ 2 สัปดาห์ จังหวัดอุดรธานีจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 หรือไม่นั้น พยานเบิกความว่า จำไม่ได้ 

.

พร้อมรับทุกคำพิพากษา แต่ไม่ลืม โควิดยังส่งผลต่อทางทำกิน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

17 มิถุนายน 2564 ปรเมษฐ์ เบิกความต่อหน้าศาลในฐานะพยานจำเลยว่า วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ได้ไปในที่ชุมนุมจริง พร้อมกับโทรศัพท์มือถือและถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเพจอื่นๆ อีกหลายเพจ ทั้งเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียนในอุดรฯ และสำนักข่าวบางสำนัก ถ่ายทอดสดด้วยเช่นกัน การชุมนุมอุดรสิบ่ทนในวันนั้นมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ตามกระแสที่มีกันมาในช่วงนั้น โดยตัวเขาไม่ทราบว่าใครเป็นคนกำหนดวันเวลาและสถานที่ในการชุมนุม  

ในภาคอีสานกระแสการชุมนุมเริ่มที่จังหวัดขอนแก่นก่อน ต่อด้วยมหาสารคาม แล้วก็ที่อุดรธานี โดยสถานศึกษาในอุดรฯ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนสตรีราชินูทิศ  ก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าว และมีการประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมชุมนุม เช่น มีการชูป้ายหน้าโรงเรียนอุดรพิทย์ รวมทั้งมีการแชร์โพสต์ที่ประชาสัมพันธ์ในเพจของสถานศึกษาต่างๆ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เริ่มจัด

“อีกทั้งกิจกรรมวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ผมไม่ได้มีส่วนในการกำหนดว่าใครเป็นผู้ปราศรัย หรือกำหนดเวลาในแต่ละช่วง รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ในการชุมนุม เท่าที่เห็นวันนั้นมีหน่วยกู้ภัย สาธารณสุข และตำรวจมาตั้งโต๊ะและเต็นท์ใกล้ที่ชุมนุม โดยหากตำรวจจะเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับการชุมนุม ก็ไม่ได้มาพูดคุยกับผม วันนั้นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย เพราะเป็นกระแสว่าต้องใส่แมสก์ก่อนออกจากบ้าน เจลแอลกอฮอล์ก็มีการแบ่งปันกันเองในหมู่ผู้ชุมนุม”

ปรเมษฐ์เบิกความต่อไปว่า สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่กว้าง อากาศถ่ายเท ไม่แออัด ระยะห่างระหว่างผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมห่างกันราว 5 เมตร ช่วงเกิดเหตุ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ 1-2 เดือน ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด -19 แต่อย่างใด

วันนั้นปรเมษฐ์ให้การย้ำทิ้งท้ายว่า ได้ให้การปฏิเสธมาตลอด ยืนยันว่าไปร่วมชุมนุมและไลฟ์สดจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม การกระทำของตนเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และการดำเนินคดีกับตนเป็นไปเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกในการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

———–

ปัจจุบันปรเมษฐ์ในวัย 24 ปี กำลังจะจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี จากนั้นเขาตั้งใจว่าจะมุ่งหน้าทำธุรกิจส่วนตัว และค้าขายกับที่บ้าน ทุกวันนี้เขายังร่วมชุมนุมทางการเมืองที่จัดขึ้นในอุดรธานี แต่ขอเป็นผู้เข้าร่วมเหมือนเดิม

“การดำเนินคดีผมครั้งนี้ และคนอื่นๆ ด้วยข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับได้ว่ารัฐต้องการปิดปากประชาชนโดยแท้จริง  แน่นอนว่าสถานการณ์โควิด -19 ส่งผลต่อการทำมาหากินของเรา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของเราอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด”    

สำหรับการฟังคำพิพากษาคดีครั้งนี้  ปรเมษฐ์กล่าวว่าถ้าตัดสินให้ผิดจริงก็ต้องยอมรับและคงหาทางแก้ปัญหาต่อ

“ผมไม่รู้สึกว่าเป็นไก่ที่ถูกเชือดให้ลิงดู ทางกลับกันผมยังเป็นไก่ที่เป็นปากเป็นเสียงให้คนออกมาแสดงออกมากขึ้น”

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

น.ศ.เข้ารับทราบข้อหาเป็นผู้จัดชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังไลฟ์สดชวนคนร่วม #อุดรสิบ่ทน

น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ขอความเป็นธรรมอัยการไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ฟ้อง น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการขอให้ลงโทษสถานหนัก

นัดสืบพยาน มิ.ย. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #อุดรสิบ่ทน นักศึกษายืนยันไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม

X