ตำรวจปอท.ตามจับ ‘วารุณี’ ถึงพิษณุโลก เหตุโพสต์ภาพ ‘พระแก้วมรกต’ สวมชุดกระโปรง Sirivannavari ก่อนศาลให้ประกัน

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 64 เวลาประมาณ 08.05 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุม ‘วารุณี’ (สงวนนามสกุล) หญิงวัย 30 ปี จากบ้านพักในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2047/2564 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 64 ในข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน จากนั้นถูกส่งตัวไปสอบปากคำที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ  

ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่เธอถูกกล่าวหานั้นถูกระบุว่ามาจากการโพสต์เฟซบุ๊กภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงและใส่ภาพสุนัข โดยมี นายนพดล พรหมภาสิต จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)  เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 64 นายนพดลได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความว่า “แก้วมรกต XSirivannavari Bangkok” โดยมีภาพประกอบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

นพดลอ้างว่า โพสต์ข้อความดังกล่าวได้มีลักษณะผิดแปลกไปจากเดิม มีการตัดต่อเครื่องทรงพระแก้วมรกตไปเป็นชุดสุภาพสตรียาวสีม่วง พร้อมกับมีรูปภาพสุนัขประกอบในภาพด้วย ในลักษณะที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ทําให้ดูตลกขบขัน ถูกด้อยค่าต่อประชาชน ซึ่งโพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นการใช้ถ้อยคําหยาบคาย ไม่เหมาะสม ข้อความและภาพตามโพสต์นั้น เป็นการสร้างความเข้าใจผิดอันอาจทําให้กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเหยียดหยามศาสนา 

นพดลยังได้อ้างเปรียบเทียบว่า ชุดสุภาพสตรียาวสีม่วงในภาพที่อ้างว่าถูกตัดต่อดังกล่าวนั้นเป็นชุดโอต์กูตูร์ หมายเลข 10 ของแบรนด์ Sirivannavari Couture ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นผู้ออกแบบและเคยฉลองพระองค์ชุดดังกล่าวเพื่อร่วมงานโว้ก กาลา 2020 ของนิตยสาร VOGUE Thailand ที่โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ด้วย 

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่วารุณีทั้งหมด 3 ข้อหาด้วยกัน ดังนี้ 

  1. หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  2. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
  3. กระทําด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทาง ศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 

ทั้งนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนวารุณีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า ต้องการให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกนายนพดลมาให้การเพิ่มเติม และอธิบายในคำกล่าวโทษที่กล่าวหาในคดีนี้ว่าข้อความส่วนไหนหรือประโยคใดเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ 

ขณะเดียวกัน เธอยังถูกตำรวจที่จับกุมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อย่างละ 1 เครื่องด้วย  หลังเสร็จกระบวนการทั้งหมดในช่วงค่ำ ตำรวจได้นำตัววารุณีไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

วันต่อมา (3 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ยื่นขอฝากขังวารุณีต่อศาลอาญา ผ่านวิธีวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 7 ปาก และรอผลตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา 

จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัววารุณี โดยระบุเหตุผลหลักเกี่ยวกับอาการป่วยอารมณ์สองขั้วของวารุณี ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเสนอวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววารุณี โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อศาลตามนัดหมายต่อไป

ทั้งนี้ พบว่าผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ นายนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อย่างน้อย  7 คดี อาทิ กล่าวหา ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ จากเหตุโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงการใช้ภาษีของพระมหากษัตริย์ หรือ กล่าวหา ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากเหตุโพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊ก

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 163 คน ใน 167 คดี โดยมีจำนวน 81 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X