เปิดคำรับสารภาพ “โจเซฟ” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุกรีดแขนเรียกร้องปล่อย “เบนจา-อานนท์” เจ้าตัวระบุ ไม่ได้มีเจตนาทำอันตรายคนอื่น แค่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก่อนศาลสั่งคุก 2 เดือน ปรับ 500

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ห้อง 404 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “โจเซฟ” (นามสมมติ) นักกิจกรรมทางการเมืองที่เลือกกรีดแขนหลั่งเลือดเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อศาล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ในนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

>>> “เลือดที่หลั่งไปมันเล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับความเจ็บปวดของเบนจาและอานนท์”: เสียงจาก ‘โจเซฟ’ ผู้ใช้คัตเตอร์กรีดแขนตัวเองในห้องพิจารณาคดี ร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา

.

คดีนี้ เสรี แก้วไทรเกิด ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้กล่าวหานายโจเซฟ ตั้งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 33 ประกอบประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.มาวิ.อ.) มาตรา 15 ซี่งมีโทษตามกฎหมายจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท

ในนัดนี้ ผู้กล่าวหาไม่ได้เดินทางมาตามนัดหมาย จึงมีเพียงโจเซฟ ผู้ถูกกล่าวหาเพียงคนเดียว พร้อมกับทนายความ และเพื่อนที่มาให้กำลังใจ ที่อยู่ร่วมในกระบวนการ ในช่วงราว 14.00 น. ผู้พิพากษาได้ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ทางทนายความระบุว่า จะขอยื่นคำให้การรับสารภาพของโจเซฟ แทนการให้ศาลไต่สวน

ในส่วนของคำให้การรับสารภาพ มีเนื้อหาระบุผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำตามคำกล่าวหาจริง  แต่มิได้มีเจตนาที่จะก่อความวุ่นวายแก่การพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว การตรวจพยานในคดีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก่อนทำการแสดงออก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้ขออนุญาตศาลแถลง และศาลได้อนุญาตตามคำขอ

การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหามุ่งประสงค์ที่จะสื่อสารกับผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ผ่านไปถึงอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า จำเลยในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันเช่นเดียวกันกับโจเซฟ คือ เบนจา อะปัญ จำเลยที่ 5 ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งขังไว้ระหว่างพิจารณาคดี ส่งผลให้เบนจาไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่จากในเรือนจำ ขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาด้วยเท่านั้น และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงและกระทำการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีอยู่ในบัลลังก์ก็มิได้ตำหนิ หรือแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ในทางกลับกันผู้พิพากษาได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ถูกกล่าวหาตามลำดับ โดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายใดตามมาอีก

นอกจากนี้ มีดคัตเตอร์ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้พกพามาในศาลดังกล่าว มีขนาดเล็กและเป็นมีดคัตเตอร์ที่ใช้ในกิจกรรมธุรการทั่วไป ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำอันตรายต่อชีวิตบุคคลอื่นได้แต่อย่างใด ประกอบกับพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นแต่เพียงการกระทำต่อร่างกายตนเองเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ประกอบคำแถลงเกี่ยวข้อเรียกร้องของตนเองเท่านั้น มิได้มีเจตนาร้ายที่จะมุ่งให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใด

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขอศาลกำหนดโทษสถานเบาแก่ผู้กล่าวหา  เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพรับจ้างโดยสุจริตมาตลอดชีวิต และไม่เคยกระทำผิดตามคำพิพากษามาก่อน 

หลังจากยื่นคำให้การรับสารภาพเสร็จสิ้น ศาลได้อ่านคำสั่งในคดีในทันที โดยพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริง สั่งจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 500 บาท แต่เนื่องจากให้การสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 250 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 6 เดือน และกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในศาลอีก

ทั้งนี้ หลังจากอ่านคำสั่งเสร็จ ศาลได้พูดคุยโดยตรงกับโจเซฟเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ระบุว่า ความเชื่อ ความคิด เป็นสิ่งที่ควรอยู่ภายใน เพราะเมื่อแสดงออกมา ย่อมต้องถูกจำกัดด้วยบริบททางกฎหมาย จารีตและประเพณี จะอ้างแต่เสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ เสรีภาพจะต้องมีข้อจำกัด ถ้าทุกคนสามารถแสดงออกได้หมดโดยไม่มีข้อจำกัด สังคมก็จะวุ่นวาย การใช้เสรีภาพจะต้องใช้ให้ถูกบริบท ไม่กระทบกับคนอื่น มีการกล่าวอ้างถึงคำว่า “นิติรัฐ” แต่ลืมสิ่งที่เรียกว่า “นิติสังคม” มนุษย์อยู่กันเป็นสังคม ต่างมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน จะกล่าวอ้างเพียงเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ 

หลังจากที่ศาลกล่าวเสร็จ โจเซฟได้ตอบรับขอบคุณคำแนะนำจากผู้พิพากษา ก่อนที่จะไปทำเรื่องชำระค่าปรับต่อไป

.

เหมือนกับตอนนี้ผมถูกมัดมือไม่ให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ได้เลย เสียงจาก โจเซฟ หลังศาลมีคำสั่ง พิพากษาลงโทษ

โจเซฟได้ให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ฟังคำพิพากษา และทัศนะของผู้พิพากษาในเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว เขามีประเด็นบางอย่างที่อยากทักท้วง แต่ก็ไม่ได้พูดออกไปในตอนนั้น คิดว่า การมองในรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นจากความต่างของ Generation ที่ทำให้ความหมายและตำแหน่งแห่งที่ในนิยามของทั้ง 2 คำ มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่คนรุ่นใหม่มอง นอกจากนี้ โจเซฟยังให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องละเมิดอำนาจศาล ซึ่งสมควรถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง

“หลายอย่างที่ท่านพูด เราไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้เถียง เพราะตอนนั้นเราดีใจค่อนข้างมาก เพราะคิดว่าอาจจะโดนสั่งลงโทษโดยไม่รอกำหนดโทษ ก็ถือว่ารับฟังไป เราคิดว่า ทัศนคติของท่านเกี่ยวกับเรื่อง ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ เป็นมุมองจากคนยุค Baby Boomer มโนทัศน์ทางความคิดของเรากับเขาอาจจะไม่ตรงกัน สำหรับเขา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ คิดแตกต่างได้ แต่ไม่ควรแสดงออกมา เพราะเป็นการไม่คำนึงถึงสังคม”

“หน้าที่ของคนในยุคเขา อาจจะเป็นการจัดระเบียบสังคม (Maintain Order) รักษาความสงบเรียบร้อย ในความคิดของเขาก็คือโครงสร้างแบบเก่า แต่เราคิดแบบคนรุ่นใหม่ อะไรที่ไม่ถูกต้อง ที่บิดเบี้ยว เราก็ควรที่จะสามารถแสดงออกได้ ถ้าไม่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของใคร ผมมองว่า แม้หลักการ เราจะเห็นเหมือนกัน แต่เป็นคนละความหมาย เพราะเขามองว่า สิ่งที่ผมทำคือการไปละเมิดศาลที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่มีอำนาจ ถ้าคุณออกมาเรียกร้อง คุณก็อาจกำลังลิดรอนสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ทำให้เขาไม่พอใจ แต่เรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำ เราบาดเจ็บคนเดียว อาจจะสร้างความรำคาญให้แม่บ้านที่ต้องมานั่งเช็ดเลือด แต่เราก็รู้สึกว่า เราไม่ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของใคร โดยเฉพาะของศาล”

“จริงๆ เมื่อวันที่ 17 ที่ผ่านมา เราอยากที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อศาลอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะยังไม่สบายใจ เรายังรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เพื่อนเราต้องเผชิญ เสรีภาพที่เขาถูกพรากไป แต่ก็ได้รับการเตือนว่ามีโอกาสที่จะทำให้โดนคดีอีก การที่ผมโดนคดีละเมิดอำนาจศาล เหมือนผมมีเชือกมามัดมือ มีสกอตเทปมาปิดปาก ไม่ให้ผมสามารถออกมาเรียกร้องอะไรกับศาลได้ เรามีชนักติดหลังใน 6 เดือนนี้ ต้องทำตามเงื่อนไข มองว่าเป็นหนึ่งในการฟ้องปิดปากเหมือนกัน”

“ข้อหาละเมิดอำนาจศาล คนที่ตั้งข้อหาเรา กลายเป็นโจทก์เรา เราไม่สามารถที่จะเอาชนะได้ ไม่ได้มีการพิจารณาโดยคณะตุลาการอื่น คดีนี้คือ ศาลตั้งสำนวนเอง และตัดสินเอง เราเลยต้องรับสารภาพ” – โจเซฟ

“ในส่วนของข้อหาละเมิดอำนาจศาล คนที่ตั้งข้อหาเรา กลายเป็นโจทก์เรา เราไม่สามารถที่จะเอาชนะได้ ไม่ได้มีการพิจารณาโดยคณะตุลาการอื่น คดีนี้คือ ศาลตั้งสำนวนเอง และตัดสินเอง เราเลยต้องรับสารภาพ เหมือนมัดมือชก การสู้กับคู่ต่อสู้ที่ไม่สามารถชนะได้ เราเลยอยากสะท้อนว่า กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ไม่ควรเป็นศาลที่ตั้งคดีเอง ตัดสินเอง แต่ควรจะมีคณะกรรมการกลางมาตัดสิน ทุกวันนี้ ผมเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับการคุมขังเพื่อนนักกิจกรรม แต่ผมก็ไม่กล้าที่จะแสดงออกต่อศาลแล้ว กลัวว่าจะต้องเขาคุก เราเลยรู้สึกว่าไม่แฟร์มากๆ”

.

X