“เพนกวิน” ถูก ปอท.แจ้ง ม.112 คดีที่ 23 หลังโพสต์ออกตัวต้องการช่วยเยาวชนเพชรบูรณ์ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ บังคับ ‘ขออภัยโทษ’ ต่อรูป ร.10

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 และ พ.รบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กับ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยกล่าวหาว่าโพสต์พาดพิงกษัตริย์จากกรณีมีกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ในจังหวัดเพชรบูรณ์คุกคามเยาวชนและบังคับให้ขออภัยโทษต่อรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64 น.ส.วลัยพรรณ บงกชมาศ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับพริษฐ์ จากการโพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊ก ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak’ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 แสดงความคิดเห็นกรณีกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ใน จ.เพชรบูรณ์ คุกคามเยาวชนรายหนึ่ง มีเนื้อหาว่า

“ผมได้ทราบว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไปคุกคามน้องเยาวชนที่ใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ถึงบ้านและบังคับให้ “ขออภัยโทษ” ต่อรูป ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์

“ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันไม่ได้อยู่ด้วยความรักแต่อยู่ด้วยความบ้าคลั่งและป่าเถื่อน สถาบันกษัตริย์เองก็ควรจะพิจารณาว่าตัวเองเป็นยังไงถึงต้องถูก “ปกป้อง” ด้วยการทําร้ายคน

“สนับสนุนให้น้องคนที่โดนกระทําดําเนินคดีทางกฎหมาย ยินดีจะช่วยเหลือเต็มที่”

พร้อมทั้งลงรูปภาพประกอบเป็นภาพถ่าย ผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 2 คน ในลักษณะยืนพูดคุยกัน

พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ระบุในการแจ้งข้อกล่าวหาว่า จากการสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอจะเชื่อได้ว่า เพจเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความและรูปภาพตามที่มีการร้องทุกข์นั้นเป็นของพริษฐ์ ชิวารักษ์ และระบุว่าข้อความตามโพสต์ดังกล่าวมีเจตนาให้เกิดความเข้าใจว่า การคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้เกิดจากความรักและความศรัทธา แต่เกิดจากการบังคับด้วยวิธีที่ป่าเถื่อน และรัชกาลที่ 10 ทรงรู้เห็นเป็นใจกับวิธีการทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ อันเป็นความเท็จ และมีเจตนาก่อความเสื่อมเสียต่อกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ 

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับพริษฐ์ 2 ข้อหา ด้วยกัน คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยมีทนายความและผู้ไว้ใจเข้าร่วมกระบวนการ

พริษฐ์ได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

ขณะนี้พริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นระยะเวลากว่า 130 วันแล้ว โดยถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จำนวน 9 คดี 

ทั้งนี้ การที่พริษฐ์ถูกแจ้งข้อหาด้วยมาตรา 112 ในครั้งนี้ ทำให้พริษฐ์ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 ทั้งสิ้น จำนวน 23 คดี นับได้ว่ามากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล

และจากการติดตามของศูนย์ความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 164 คน ใน 169 คดี เป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเช่นเดียวกับกรณีของพริษฐ์ จำนวน 83 คดี

X