ศาลพิพากษาสั่งขัง “ณัฐชนน” 2 เดือน ปรับ “เบนจา” 500 บาท ฐานละเมิดอำนาจศาล เหตุเรียกร้องสิทธิประกันตัวหน้าศาลอาญา 30 เม.ย. 

วันนี้ 2 ธ.ค. 64 ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล ของเบนจา อะปัญ และณัฐชนน ไพโรจน์ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ในระหว่างที่นางสุรียรัตน์ ชิวารักษ์ กำลังยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งกำลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 และอดอาหารทวงคืนสิทธิประกันตัวมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ศาลได้นัดไต่สวนในคดีนี้แล้ว โดยก่อนเริ่มกระบวนการ ศาลได้แถลงข้อกำหนด ห้ามบันทึกภาพ บันทึกเสียง รวมไปถึงห้ามจดบันทึกหรือจดข้อความระหว่างพิจารณา โดยระบุว่า เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย 

ในวันนี้ที่บริเวณทางเข้าศาลอาญามีการตั้งจุดตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และให้ลงลายมือชื่อผู้ที่เข้าไปติดต่อภายในศาล พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดกากีกว่า 20 นายประจำอยู่ภายในศาล โดยวันนี้จำกัดการเข้าฟังคำพิพากษาเพียง 10 คนเท่านั้น

ศาลสั่งลงโทษ ณัฐชนน-เบนจา ฐานละเมิดอำนาจศาล ชี้ใช้โทรโข่งปลุกระดมตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” สร้างความวุ่นวาย ส่วน “เบนจา” ปราศรัยโปรยกระดาษสร้างขยะในศาล

ณ ห้องพิจารณาคดี 805

เวลา 09.12 น. ในวันนี้เบนจาได้รับการเบิกตัวออกมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง โดยสวมเสื้อผ้าด้วยชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยและกากหน้าใสคลุมหน้า แม้วันนี้เธอจะสวมรองเท้าแตะคู่เดิมแต่สามารถสวมใส่เข้าห้องพิจารณาได้โดยไม่ต้องเดินเท้าเปล่าอย่างครั้งก่อน โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนคุ้มกันตลอดเวลา 3 นาย

ก่อนเริ่มพิจารณา สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งได้สวนเสื้อสกรีนประโยคหลังเสื้อว่า “วันนี้ลูกแม่ติดคุกเพราะ 112” ได้เข้ามาพูดคุย ลูบหัว และให้กำลังเบนจา ก่อนที่สุรีรัตน์จะย้ายไปฟังการสืบพยานคดี #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร

ในวันนี้มีณัฐชนน ไพโรจน์, เบนจา อะปัญ, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

เวลา 10.00 น. ศาลนั่งบัลลังก์ และได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า

ศาลได้ออกข้อกำหนดศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 โดยข้อที่ 1 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือกระทำการในลักษณะยั่วยุ จูงใจ หรือ สนับสนุนใดๆ ในห้องพิจารณาคดี และบริเวณศาล และข้อที่ 6 ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้โทรโข่ง ไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง ภายในศาลและบริเวณรอบศาล

ต่อมาเมื่อ 30 เม.ย. 64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้มาชุมนุมให้กำลังใจ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ที่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา ในวันดังกล่าวมีมวลชนมาตามนัดหมายจำนวนมาก ศาลจึงได้วางมาตราการควบคุมความปลอดภัยโดยการปิดประตูรั้ว มีผู้ชุมนุมอยู่ทั้งด้านในและด้านนอกบริเวณศาล และมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ปีนเข้ามาในศาลและพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” รวมถึงมีแขวนป้ายในบริเวณศาลด้วย

เวลา 17.30 น. หลังศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของทั้ง 2 คนในวันที่ 6 พ.ค. 64 มวลชนได้ทยอยออกไป โดยมีการร่วมทำกิจกรรมโกนผมร่วมกับมารดาของพริษฐ์ที่ได้โกนผมไปก่อนหน้านี้ ต่อมาแกนนำประกาศยุติการชุมนุม

หลังจากนั้น ฝ่ายสืบสวนของ สน.พหลโยธิน ได้สืบทราบว่า ณัฐชนน หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมชุมนุมและได้ติดป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา” ไปติดที่บริเวณด้านหน้าธนาคารภายในศาล พร้อมใช้โทรโข่งปลุกระดมมวลชนว่า “ให้ปล่อยเพื่อนเรา” “ชนาธิปออกไป” รวมไปถึงการต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายในบางช่วง อีกทั้งยังได้บอกให้ “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” รองอธิบดีศาลอาญา ออกมารับฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ดำเนินคดีกับประชาชน 

การกระทำของณัฐชนนที่ใช้โทรโข่งปลุกระดมมวลชนให้ร่วมตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” รวมถึงการพูดกดดันผู้พิพากษา กล่าวคำไม่สุภาพ หยาบคาย เป็นการแสดงความก้าวร้าว และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามข้อกำหนดศาลอาญาฯ ข้อที่ 1,6 และผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 (1) 

สำหรับ เบนจา ผู้ถูกกล่าวอีกราย ศาลระบุว่า เธอได้ร่วมชุมนุมและอ่านสาส์นเรื่องการเสริมสร้างและการดำรงความยุติธรรมในคดีทางการเมือง รวมถึงมีการเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมโปรยกระดาษรายชื่อแนบท้ายจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาเข้าไปในบริเวณศาลอาญา

แม้จะเป็นการพูดและกระทำบนทางเท้า นอกรั้วศาล แต่เอกสารบางส่วนได้ตกหล่นเข้ามาด้านในศาล ถึงแม้จะไม่รกรุงรัง แต่เป็นการสร้างขยะมูลฝอยและความไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเช่นกัน ถือได้ว่าละเมิดต่อข้อกำหนดข้อที่ 1 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 (1) เช่นกัน

.

ศาลแย้งประเด็นการต่อสู้ พร้อมพิพากษา ณัฐชนน 2 เดือน ปรับเบนจา 500 บาท ก่อนให้ประกัน

อย่างไรตาม ประเด็นแรกที่ทั้งสองได้เบิกความว่าเป็นกระทำที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 วรรค 1 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ทั้งตามรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 4 ได้กำหนดหน้าที่ให้บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดบุคคลอื่น หรือ สร้างความเกลียดชัง ไม่ใช่มุ่งแต่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเดียว

ประเด็นที่สองที่อ้างว่า เป็นการกระทำนอกเวลาราชการที่ศาลปิดทำการแล้ว  ศาลเห็นว่า การรักษาความความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล ต้องมีการดูแลอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหลังเวลาราชการยังคงมีผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลที่ยังทำหน้าที่อยู่โดยไม่ได้ปิดทำการ ซึ่งแม้เหตุจะเกิดนอกเวลาราชการ แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน

ประเด็นที่สามที่อ้างถึงกรณีผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ภายในศาลอาญา กลับไม่ถูกดำเนินคดี ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่านั้นไม่ผิดละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากเป็นการใช้ดุลยพินิจของผู้อำนวยการศาล

ศาลได้ระบุถึงกรณีที่ผู้อำนวยการศาลได้เสนอต่ออธิบดีศาลให้ดำเนินคดีกับ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมอีกรายเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจ โดยอาศัยพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่ใช่การใช้อำนาจเป็นการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด

ประเด็นสุดท้ายที่อ้างว่า การดำเนินคดีทั้งสองในข้อหา ข่มขืนใจเจ้าพนักงานและดูหมิ่นศาลนั้น เป็นการดำเนินคดีซ้ำซ้อนขัดต่อหลักนิติธรรม

ศาลระบุว่า ไม่เป็นการดำเนินซ้ำซ้อน เนื่องจากการดำเนินคดีนั้น ศาลมีอำนาจพิเศษ กระทำได้โดยไม่มีผู้ใดต้องร้องขอ โดยในกรณีดังกล่าวเป็นการมุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัย และเพื่อป้องกันเหตุการณ์วุ่นวาย ไม่ได้มุ่งเน้นปกป้องส่วนบุคคลแต่อย่างใด 

จากพฤติการณ์ข้างต้นศาลระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1), 33 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ 180 โดยศาลสั่งลงโทษจำคุก ณัฐชนน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และลงโทษปรับเบนจาเป็นเงิน 500 บาท

เวลา 11.17 น. หลังการอ่านคำสั่งดังกล่าว ทนายความของณัฐชนนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์ โดยวางหลักประกัน 50,000 บาท ต่อมาศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พร้อมกันนี้ทางทนายความได้ชำระค่าปรับของเบนจาในจำนวน 500 บาทด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีชุมนุมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ศาลได้สั่งลงโทษจำคุกณัฐชนน 4 เดือน ส่วนเบนจาถูกพิพากษาจำคุกด้วยโทษสูงสุดตามกฎหมาย คือจำคุก 6 เดือน ในสองคดีของเบนจา จึงถูกศาลลงโทษทั้งในอัตราสูงสุดและอัตราต่ำสุด (คือโทษปรับ 500 บาท) ของข้อหาละเมิดอำนาจศาล

สำหรับกิจกรรมวันที่ 29 เม.ย. และ 30 เม.ย. 64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้นัดรวมตัวให้กำลังใจเพื่อให้กำลังใจราษมัมที่รอฟังคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักนิติรัฐ (ประหาร)

“ไม่มีใครทำลายสถาบันตุลาการได้ เท่ากับที่เขาทำลายตัวเอง”: บันทึกเยี่ยมเบนจา หลังศาลลงโทษละเมิดอำนาจศาล

สั่งจำคุก “เบนจา” 6 เดือน – “ณัฐชนน” 4 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมม็อบหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 กรณีณัฐชนน ศาลให้ประกันรออุทธรณ์

.

X