ตร.แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” นักกิจกรรมและประชาชน 20 ราย เหตุร่วมม็อบ #สมรสเท่าเทียม

วันนี้  (21 ธ.ค. 64) ที่ สน.ลุมพินี นักกิจกรรมจากภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและประชาชนรวม 12 ราย พร้อมทนายความได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรม #ม็อบสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 64 ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งจัดโดยภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและกลุ่มองค์กรภาคประชาชน LGBTQ+ กว่า 18 องค์กร

เวลา 10.45 น. นักกิจกรรม #ม็อบสมรสเท่าเทียม ซึ่งได้รับหมายเรียก ได้ทยอยเดินทางมาถึงสน. พร้อมร่วมอ่านแถลงการณ์ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยสรุปว่าทุกคนไม่คาดคิดว่าการเรียกร้องสมรสเท่าเทียมจะกลายความผิดร้ายแรงจนต้องมีการออกหมายเรียกเพื่อตั้งข้อกล่าวหากว่ายี่สิบคน 

ทางภาคีสีรุ้งฯ เห็นว่าการเรียกรายงานตัวเพื่อดำเนินคดีในครั้งนี้ เป็นเรื่องน่าละอายที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน ซึ่งเป็นความรุนแรงจากรัฐที่กระทำต่อพลเมืองเฉกเช่นการจับกุมคุมขังและฟ้องร้องดำเนินคดีทางการเมืองนักกิจกรรมกว่า 1,600 คดีในปีที่ผ่านมา 

ทั้งยังระบุว่า การมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้มาเพื่อยืนยันและต่อสู้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิดและมีสิทธิพลเมืองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้มีมากกว่า 20 ราย โดยผู้ที่เข้ารับทราบในวันนี้ได้แก่ สิรภพ อัตโตหิ, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิ, สุธีชา เบาทิพย์, จริงใจ จริงจิตร, ทวีชัย มีมุ่งธรรม, ธารารัตน์ ไพบูลย์ธนสมบัติ, ศิริศักดิ์ ไชยเทศ, ศิริ นิลพฤกษ์, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย รวมไปถึง ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศจากพรรคเพื่อไทย และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล

ต่อมาเวลา 11.11 น. พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน เจ้าพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”  และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 แก่ผู้ต้องหาทั้งหมด

ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 11 ม.ค. 65 

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ต้องหาทุกราย เนื่องจากมาปรากฎตัวตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้ 

อนึ่ง ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ถูกออกหมายเรียกขณะทำหน้าที่อยู่ในระหว่างเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งเป็นการออกหมายเรียกที่ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ที่บัญญัติว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส. หรือ ส.ว. ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ประธานสภาอนุญาตจึงจะสามารถออกหมายเรียกให้ ส.ส. ไปรับทราบข้อกล่าวหาได้

สำหรับกิจกรรม #ม็อบสมรสเท่าเทียม ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 64 ที่แยกราชประสงค์ โดยภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและกลุ่มองค์กรภาคประชาชน LGBTQ+ กว่า 18 องค์กร ม็อบในครั้งนี้จัดขึ้นพูดคุยในประเด็น “สมรสเท่าเทียม” และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 ที่อนุญาตเฉพาะคู่รัก “ชาย-หญิง” จดทะเบียนสมรสกันได้ รวมไปถึงการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน

ชวนคุยกับ 3 นักกิจกรรมLGBTQ+ “ทาทา-ต้น-แรปเตอร์” ถึงความรู้สึกในคำวินิจฉัยของศาลรธน.และความหวังในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ระหว่างการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาศูนยทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชวน 3 นักกิจกรรมซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและได้รับหมายเรียกในวันนี้ ได้พูดคุยถึงความรู้สึกหลังศาลออกคำวินิจฉัยและความหวังที่จะผลักดันประเด็นสมรสเท่าเทียมในอนาคตของพวกเธอ

ทาทา-ศิริ 

“ทาทา” ศิริ นิลพฤกษ์ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอระบุถึงคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตเฉพาะคู่รักต่างเพศจดทะเบียนสมรสกันนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ล้วนแล้วแต่มีอคติ เลือกปฏิบัติทางเพศ และมีความคิดของชายเป็นใหญ่ การที่ศาลมองว่าการสมรสของชายหญิงเป็นเรื่องเพื่อการสืบพันธ์ุนั้น โดยศาลยังมองว่าเรื่องของสืบทายาทเป็นเรื่องของธรรมชาติ และมองว่าเพศหญิงเป็นเพียงโรงงานผลิตทายาทให้กับเพศชาย

ส่วนในคำวินิจฉัยที่ระบุว่า การแต่งงานของกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้น ต้องการหวังรัฐสวัสดิการ เธอมองว่า มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องได้กันทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่ใช่ต้องเป็นชายหรือหญิงที่จะได้รัฐสวัสดิการเท่านั้น 

“พลเมืองไทยผู้ซึ่งเสียภาษีเข้ารัฐควรที่จะได้รับสวัสดิการที่ถ้วนหน้าและทั่วถึง ซึ่งการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมเลย” 

อีกทั้ง เธอยังมองว่า การที่ศาลจะสร้างกฎหมายแยกสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น เพียงกลับมาแก้ไขมาตรา 1448 จากคำว่า “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” จะเป็นการง่ายเสียกว่า อีกทั้งไม่ต้องแยกกฎหมายออกมาให้คนทั่วไปเข้าใจว่ากลุ่ม LGBTQ+ นั้นได้สิทธิพิเศษในการสร้างกฎหมายด้วยซ้ำ พร้อมได้ทิ้งท้ายว่า ตัวเธอเองจะผลักดันเรื่องนี้ตลอดไปจนกว่าจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้

ต้น-ศิริศักดิ์ 

วันนี้ “ต้น” ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สวมใส่ชุดเดรสสีรุ้ง สกรีนข้อความ สมรสเท่าเทียม พร้อมเพ้นท์ประโยคภาษาอังกฤษบนหน้าอกว่า “I’m not criminal” ที่แปลเป็นไทยว่า ฉันไม่ใช่อาชญากร 

เธอระบุถึงการได้รับหมายเรียกหลังใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญจากเข้าร่วมม็อบสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้ว่า ไม่ยุติธรรม 

หลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น เธอกล่าวว่า เธอรู้สึกโกรธ แม้จะวินิจฉัยไม่ผิดไปจากคาดคิดนัก แต่ไม่คิดว่าคำวินิจฉัยจะทุเรศทุรังได้ถึงขนาดนี้ โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวเต็มไปด้วยอคติทางเพศ และการเหยียดหยามมนุษยชน และมองว่า ตุลาการและรัฐไทยไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง 

“สุดท้ายแล้วรัฐไม่ได้มองคนให้เป็นคน กลับมองว่าคนที่จะเป็นคนต้องทำตามเพศกำเนิดเท่านั้น ใครที่ทำตามเพศกำเนิดได้คุณก็ได้รับสิทธิตามความเป็นคน แต่คนที่นอกกรอบคำว่าจู๋-จิ๋ม คุณก็ไม่ใช่คนแล้ว” 

อีกทั้งการที่ศาลอ้างว่าจะให้แยกกฎหมายสำหรับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะนั้น ตัวเธอเองไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการผลิตซ้ำและแบ่งแยกให้กลุ่มคนเรานี้แตกต่างเข้าไปอีก โดยย้ำว่าควรใช้กฎหมายตัวเดียวกัน ไม่ว่าจะชายหญิงหรือกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ก็อยู่ในระนาบเดียวกัน เท่าเทียมเหมือนกัน 

“คนเรามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน กรีดเลือดออกมาเป็นสีแดงเหมือนกัน ไม่มีกะเทยคนไหนกรีดเลือดออกมาเป็นสีชมพูหรือสีม่วง ในเมื่อเรามีความเป็นคนเหมือนกันก็ต้องได้ใช้กฎหมายตัวเดียวกัน” 

เธอทิ้งท้ายว่า คำที่หลายคนพูดอย่างประเทศไทยเป็น Paradise ของ LGBTQ+ นั้นไม่ใช่หรอก ต้องบอกว่าเป็น Paradox เสียมากกว่า บางคนอาจจะมองว่า กะเทยแต่งตัวแบบไหนก็ได้ไม่โดนทำร้ายหรือผิดกฎหมายแบบประเทศอื่น การประกวดหรือโชว์กะเทยก็มีเยอะแยะมากมาย นั่นเป็นการมองเพียงเปลือกนอก แต่ไม่ได้มองเจาะลึกไปยังคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้เลย 

“การแสงออกก็คือการแสดงออก แต่การรับรองคุณภาพชีวิตกลับไม่มีเลย”

แรปเตอร์-สิรภพ 

“แรปเตอร์” สิรภพ อัตโตหิ นักกิจกรรมจากกลุ่มเสรีเทยพลัสและกลุ่ม Mobfest ระบุถึงการได้รับหมายเรียกในครั้งนี้ว่า เธอรู้สึกชินแล้ว เนื่องจากเธอเคลื่อนไหวทางการเมืองและโดนหลายคดีจึงไม่รู้สึกอะไรมาก แต่กลับแปลกใจที่ม็อบที่เธอโดนในวันนี้กลับเป็นม็อบที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองระดับรัฐหรือสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่พูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดการให้ประชาชนเสียด้วยซ้ำ ทั้งยังกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างเดียว ผู้ประท้วงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองยังโดนคดีภัยความมั่นคงของรัฐอีกด้วย พร้อมกันนี้เธอยังเป็นกังวลเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐ 

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเธอระบุว่า เรารู้สึกโกรธ ผิดหวังและเสียใจกับ “คำ” ที่ศาลใช้ในคำวินิจฉัย เพราะนั้นเป็นการที่ไม่เคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ และไม่เห็นคุณค่าของพวกเธอแม้แต่นิดเดียว 

“มันไม่ใช่แค่การโดนด่า แต่เป็นการโดนดูถูกเหยียบหยามบนความเป็นมนุษย์อย่างเป็นทางการโดยองค์กรรัฐด้วยซ้ำ เหมือนเราถูกตบหน้าอย่างเป็นทางการ มันจึงเป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดน่าโกรธแค้นและน่าผิดหวังมาก” 

เธอตั้งคำถามถึงความพยายามผลักดัน ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ของรัฐบาลว่า เหตุใดเราถึงต้องใช้กฎหมายตัวอื่นที่แยกออกไปจากคู่รักชายหญิง ทั้งที่ความจริงแล้วความรักของคนก็ยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือพื้นฐานของความรัก ซึ่งเราสามารถใช้กฎหมายตัวเดียวกันได้เพียงแค่แก้ไขคำในกฎหมายจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” เท่านั้นเอง

ทั้งการแยกกฎหมายเฉพาะยังเป็นการแบ่งแยก และทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพลเมืองชั้นสอง เนื่องจากสิทธิในพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมเท่ากับมาตรา 1448 ด้วย พร้อมกล่าวว่า หากยอมรับให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านเข้าสภา รัฐจะยอมแก้ไขให้สิทธิเท่าเทียมดังที่เคยอ้างไว้จริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การโกยคะแนนจากพวกเธอ

“การที่รัฐพยายามบอกว่าสนับสนุนสิทธิเสรีภาพพวกเราอยู่ ทั้งที่จริงไม่ใช่เลย ไม่เคยฟังเสียงของ community ไม่เคยฟังเสียงของคนที่อยู่ในปัญหา ไม่เคยฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้จริงๆ เอาแต่คิดว่าเราควรจะได้อะไร แต่ไม่ถามว่าเราอยากได้อะไร” 

สุดท้ายนี้เธอกล่าวว่า เธอเริ่มมีความหวังเรื่องสมรสเท่าเทียมในสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของสื่อที่พูดถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในแง่บวก หรือนายทุนที่มีการทำโปรโมชั่นให้กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศสามารถมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้ รวมไปถึงเสียงของประชาชนที่ออกมาร่วมลงชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกือบ 270,000 ราย 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมพร้อมแล้วที่จะให้สิทธิ LGBTQ+ ได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้สิทธิของพวกเธอได้ไปต่อเป็นคน 2 กลุ่ม คือ รัฐเผด็จการ และกลุ่มคนที่มีความอำนาจกุมกฎหมายที่ยังมีแนวคิดปิตาธิปไตยเดิมๆ ฐานอำนาจแบบเดิมๆ 

“เรามีความหวังเพราะสังคมเปลี่ยนไปทุกวัน เพียงแต่ทำอย่างไรให้เสียงของเราได้ยินและถูกรับฟังจากคนที่มีอำนาจมากขึ้น”

X