เดือนกุมภาพันธ์ 2565 แม้ไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป ทั้งคดีมาตรา 112 ที่มีคดีใหม่เกิดขึ้นอย่างน้อย 10 คดี และคดีจากการชุมนุมทางการเมือง ที่ถูกตำรวจออกหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้อนหลังไป ทั้งกรณีคาร์ม็อบ กรณีการชุมนุมที่หน้าเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว และคดีจากการชุมนุมในประเด็นทรัพยากรและสิทธิชุมชน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 274 ราย
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 20 คน ใน 18 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยนักกิจกรรมที่มีบทบาทหลายคน ยังคงถูกดำเนินคดีใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้หลายคนมีคดีสะสมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองกว่า 10 คดีขึ้นไปแล้ว บางรายยังถูกกล่าวหาเป็นจำนวนถึง 30-40 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,491 ครั้ง
.
.
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 173 คน ในจำนวน 186 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 116 คน ในจำนวน 37 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,444 คน ในจำนวน 623 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 119 คน ในจำนวน 134 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี
จากจำนวนคดี 1,027 คดีดังกล่าว มีจำนวน 173 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 7 คดี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในปริมาณไม่มากนัก
.
.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 คดี คดีถูกสั่งฟ้องเกือบ 100 คดีแล้ว
เดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่อย่างน้อย 4 คน มีจำนวนคดีใหม่เพิ่มขึ้น 10 คดี ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 186 คดี
เหตุที่มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนคน เนื่องจากมีการจับกุมกรณีของ “สมพล” (นามสมมติ) หนุ่มวัย 28 ปี ที่ถูกจับกุมสองครั้งและกล่าวหาข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” รวมกันถึง 6 คดี แยกไปตามสถานีตำรวจต่างๆ จากเหตุที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ในพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ
นอกจากนั้น ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี ยังมีการขอออกหมายจับชินวัตร จันทร์กระจ่าง ทำให้เขาถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 5 แล้ว จากกรณีการปราศรัยถึงปัญหาการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมยืนหยุดขังที่หอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565
ส่วนคดีที่เกิดขึ้นใหม่อื่นๆ พบมากขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีประชาชนไปกล่าวหาผู้โพสต์เฟซบุ๊กหรือจัดทำคลิปใน TikTok โดยตำรวจได้ทยอยออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ กรณีของ “ธิดา” นักศึกษาจากเชียงใหม่ ที่ถูกกล่าวหาที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร และกรณีของ “พอล” หนุ่มพนักงานเอกชนจากกรุงเทพฯ ที่ถูกกล่าวหาที่ สภ.ขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งสองคนต้องเดินทางไปต่อสู้คดีในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของตนเอง
แนวโน้มคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วอย่างน้อย 97 คดี โดยเป็นคดีที่ฟ้องเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 13 คดี และยังไม่มีคดีใดเลยที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
ขณะที่คดีซึ่งทยอยเริ่มสืบพยานในชั้นศาล ก็ยังต้องจับตาสถานการณ์การพิจารณาคดี โดยเดือนที่ผ่านมา พบว่าเริ่มมีคดีที่ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับ ได้แก่ คดีปลอดกรอบรูปทิ้งลงน้ำที่ศาลจังหวัดนนทบุรี หรือสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างการพิจารณา ซึ่งกระทบต่อการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ศาลได้ทยอยให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 2563 แต่เป็นการประกันตัวภายในระยะเวลาจำกัด และเต็มไปด้วยเงื่อนไขแลกกับการปล่อยตัว ทั้งเรื่องการแสดงออก, การควบคุมเวลาออกจากเคหสถาน และการติดกำไล EM (ดูกรณี ไผ่-ไมค์, เพนกวิน และอานนท์) ทำให้ถึงต้นเดือนมีนาคม ไม่มีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีอยู่อีก แต่ยังมีนักโทษที่ถูกคุมขังเมื่อคดีถึงที่สุด ได้แก่ กรณีของอัญชัญ อยู่อีก
.
.
คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง ยังเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 10 คดี
แม้เดือนที่ผ่านมา ไม่มีกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่สถานการณ์การดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังดำเนินต่อไป โดยตำรวจมีการออกหมายเรียกกรณีการชุมนุมต่างๆ เพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 10 คดี อาทิ กรณีคาร์ม็อบในจังหวัดสกลนคร ที่ตำรวจ สภ.เมืองสกลนคร เพิ่งมีการดำเนินคดีต่อประชาชนผู้จัดและผู้เข้าร่วม รวมจำนวน 6 คน ใน 3 คดี แยกไปตามวันที่จัดกิจกรรมในช่วงเดือนสิงหาคม 2564
คดีจากการจัดกิจกรรมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมือง ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 ตำรวจ สน.ประชาชื่น ก็ได้มีการออกหมายเรียกนักกิจกรรมและประชาชนรวม 28 ราย กล่าวหาแยกเป็น 3 คดี ในจำนวนนี้มีเยาวชน 3 ราย ที่เข้าร่วมกิจกรรม “อยู่เป็นเพื่อน ย้ำเตือนความยุติธรรม” เคาท์ดาวน์ปีใหม่ด้วย
นอกจากนั้น ยังมีกรณีการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และภาคี Save บางกลอย ในช่วงกลางเดือน ม.ค. ถึงต้นเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งไม่ใช่ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ี สน.นางเลิ้ง รวม 16 ราย ใน 3 คดี โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 1 ราย ด้วย
กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้ควบคุมโรคระบาดโดยตรง กำลังจะถูกใช้มาจวนครบ 2 ปี โดยที่ถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในดำเนินคดีและกล่าวหาการชุมนุมทางการเมือง ยอดคดีจึงพุ่งไปไม่น้อยกว่า 623 คดีแล้ว โดยในจำนวนนี้มีจำนวน 7 คดี ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และศาลชั้นต้นยกฟ้องไปอีก 2 คดี ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับสถานการณ์คดีที่ต้องรอการต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป
คดีเหล่านี้ได้สร้างภาระให้กับนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนกว่า 1,444 ราย หลายคนยังถูกกล่าวหานับสิบคดี รวมทั้งยังใช้ต้นทุนและงบประมาณของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนเอง ที่ต้องดำเนินกระบวนการเหล่านี้ต่อไปนานนับปี
.
.
คดีละเมิดอำนาจศาลใหม่อีก 2 คดี และ “เพนกวิน” ถูกกล่าวหาคดีดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก
ต้นปี 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล และดูหมิ่นศาล ยังเป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องต่อมา เมื่อมีคดีละเมิดอำนาจในพื้นที่ศาลอาญา เกิดขึ้นอีก 2 คดี ได้แก่ คดีที่ 6 สมาชิก ทะลุฟ้า ถูกกล่าวหาว่าขีดเขียนฝาผนังและรูปภาพ ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ของศาลอาญาระหว่างรอประกันตัว กรณีศาลได้ยกฟ้อง 3 ผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 ราย จำคุกคนละ 1 เดือน ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 15 วัน และให้ลดโทษเหลือกักขัง 15 วัน คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
และยังมีคดีที่ประชาชนและนักกิจกรรมรวม 3 คน ถูกกล่าวหาว่าได้ขว้างปาสีเข้าไปยังบริเวณศาลอาญา ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 คดีนี้ยังอยู่ระหว่างเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไป
นอกจากนั้น ยังมีคดีที่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เข้าแจ้งข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นศาลรัฐธรรนูญ” ถึงในเรือนจำ จากกรณีโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563
ปรากฏการณ์การดำเนินคดีต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงบทบาทของศาลที่เข้ามาเกี่ยวกับการตัดสินคดีการเมืองจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้การแสดงออกหรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นมากในสังคมด้วย สถานการณ์การใช้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลจึงมีนัยยะสำคัญที่ต้องติดตามจับตาต่อไป
.