สิงหาคม 64: เดือนเดียวผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองเพิ่มไปกว่า 404 ราย ยอดรวมทะลุไปไม่น้อยกว่า 1,161 คนแล้ว

เดือนสิงหาคม 2564 นับได้ว่าเป็นเดือนที่สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรง โดยเฉพาะการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการชุมนุมรายวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการชุมนุมในลักษณะ “คาร์ม็อบ” รายสัปดาห์ในหลายจังหวัดทุกภูมิภาค ทำให้นำมาซึ่งการดำเนินคดีต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมจำนวนมากในแต่ละกิจกรรม รวมทั้งการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เดือนที่ผ่านมา ยอดผู้ถูกดำเนินคดีและจำนวนคดีทางการเมืองจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าในเดือนก่อนหน้านี้แทบทั้งหมด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,161 คน ในจำนวน 621 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 143 ราย อีกด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 2,221 ครั้งแล้ว 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม ทำให้พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 404 คน ใน 208 คดี ในเวลาเพียงเดือนเดียว (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 92 ราย เท่ากับว่าในเดือนเดียวมีเยาวชนถูกดำเนินคดีมากกว่าเดือนก่อนหน้านี้รวมกัน    

.

.

ส่วนสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 124 คน ในจำนวน 126 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 33 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 320  คน ในจำนวน 81 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 893 คน ในจำนวน 324 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 300 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 902 คน ในจำนวน 331 คดี 

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 106 คน ในจำนวน 69 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 74 คน ในจำนวน 87 คดี

จากจำนวนคดี 621 คดีดังกล่าว มีจำนวน 92 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร, ข้อหาใช้เครื่องขยายเครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้ มี 2 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 1 คดี

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

.

.

1. สถานการณ์ชุมนุมเข้มข้น ขณะการจับกุมเกิดขึ้นรายวัน ยอดผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเกือบ 300 ราย

การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน ทั้งการชุมนุมโดยสงบในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และการชุมนุมที่มีเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงที่แทบกลายเป็นจุดปะทะรายวัน นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

ตลอดเดือนสิงหาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 298 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 68 ราย และ ผู้ใหญ่ 215 ราย

ผู้ถูกจับกุมที่เป็นเด็กและเยาวชนรวมกันเท่ากับ 83 ราย หรือหากคิดเป็นอัตราส่วน เท่ากับร้อยละ 27.8 ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองและถูกจับกุมจำนวนมาก และทำให้ยอดเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินทางการเมืองพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

หากนับเฉพาะผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการจับกุมต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เรื่อยมา ยอดผู้ถูกจับกุมมีอย่างน้อย 225 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 62 ราย

ศูนย์ทนายฯ พบว่าผู้ถูกจับกุมมีทั้งกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่เดินทางกลับบ้านด้วยเส้นทางดังกล่าว หรือหลุดเข้าไปในพื้นที่ปะทะทำให้ถูกจับกุมไปด้วย, กลุ่มที่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ, กลุ่มผู้ขับรถเครื่องขยายเสียงในการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่พุ่งเป้าจับกุมดำเนินคดีอย่างชัดเจน รวมทั้งมีสถานการณ์การยึดรถเครื่องขยายเสียงอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมโดยกล่าวหาว่าตรวจพบพลุ ประทัด ระเบิดปิงปอง หรือระเบิดแสวงเครื่อง ในครอบครองด้วย 

ข้อหาที่ผู้ถูกจับกุมถูกกล่าวหามีตั้งแต่ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หรือฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว หรือผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมในการปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ มักจะถูกกล่าวหาด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หรือทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานอีกด้วย 

ในหลายกรณี พบว่าผู้ถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่างๆ ด้วย ทั้งถูกยิงกระสุนยางจำนวนหลายนัด ถูกรุมกระทืบ หรือถูกไม้กระบองตี ทำให้ได้รับบาดเจ็บหนัก

.

.

ในการควบคุมตัว ผู้ถูกจับกุมจะถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบสวนในสถานที่ตามคำสั่งในแต่ละวัน ซึ่งโดยมากไม่ใช่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ โดยในช่วงหลังมักคุกตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ รวมทั้งมีการยึดรถจักรยานยนต์ของทั้งผู้ที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากอีกด้วย

แนวโน้มของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด หลังพนักงานสอบสวนนำตัวไปขอฝากขังในวันถัดไปหลังการจับกุม ศาลยังอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา แต่กำหนดให้วางหลักทรัพย์จำนวนมากน้อยตามประวัติของผู้ต้องหา และข้อกล่าวหาที่ถูกตำรวจกล่าวหา รวมทั้งมักจะมีการวางเงื่อนไขห้ามร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีกด้วย

ขณะเดียวกันเดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์ของแกนนำผู้ชุมนุมราษฎร ที่ถูกศาลออกหมายจับในคดีจากการชุมนุม ก่อนจะไม่ได้รับการประกันตัว รวม 11 ราย แม้นักกิจกรรมกลุ่มนี้จะทยอยได้ประกันตัวไปแล้ว 4 ราย แต่ก็ยังคงมีผู้ต้องขังจากการชุมนุมทางการเมืองอีก 7 ราย ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, พรหมศร วีระธรรมจารี, ธัชพงศ์ แกดำ, ณัฐชนน ไพโรจน์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และอานนท์ นำภา

.

.

2. ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 29 จังหวัดแล้ว

หลังจาก สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ริเริ่มนำรูปแบบ “คาร์ม็อบ” (Car Mob) มาใช้ในการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 รูปแบบกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมนั่งอยู่บนรถส่วนตัว ไม่ได้รวมตัวสัมผัสใกล้ชิด แต่ยังสามารถร่วมกันเคลื่อนขบวนรถไปด้วยกันได้กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง

หลังเริ่มมีการจัดในกรุงเทพฯ กิจกรรมนี้ก็กระจายไปในต่างจังหวัด จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ตำรวจเริ่มดำเนินคดีต่อกิจกรรรมคาร์ม็อบในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่ามีการดำเนินคดีตลอดเดือนสิงหาคมไม่น้อยกว่า 72 คดี ใน 29 จังหวัด มีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 186 คนแล้ว  

สำหรับจังหวัดต่างๆ ที่มีรายงานการดำเนินคดีจากคาร์ม็อบแล้ว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สระบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, กาญจนบุรี, นครสวรรค์, กำแพงเพชร, อุตรดิตถ์, ตาก, ลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, ยโสธร, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล

ในจำนวนนี้มีจำนวน 10 คดี ที่ตำรวจเปรียบเทียบปรับข้อหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง หรือข้อหากีดขวางการจราจร ทำให้คดีสิ้นสุดลงไป แต่คดีที่เหลือแทบทั้งหมดอีกไม่น้อยกว่า 62 คดี ตำรวจได้กล่าวหาผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม เรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ซึ่งคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ทำให้ผู้ถูกกล่าวหายังต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ ต่อไปอีก 

ขณะเดียวกันคดีจากการชุมนุมโดยสงบซึ่งมีการตั้งเวทีปราศรัย หรือการเดินขบวนตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ตำรวจยังคงออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากไปแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง เช่นกัน อาทิ การชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ตำรวจตามสถานีตำรวจต่างๆ มีการออกหมายเรียกแทบทุกครั้ง 

การใช้ “กฎหมาย” ในลักษณะดังกล่าวตอบสนองต่อการเรียกร้องทางการเมืองของประชาชน ทำให้สถิติการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คือในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่เคยถูกกล่าวหาในข้อกล่าวหานี้มาก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าไปกว่า 353 ราย รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 902 รายแล้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นยอดที่พุ่งขึ้นจากแต่ละเดือนก่อนหน้านี้หลายเท่า

.

.

3. คดี ม.112 เพิ่มเดือนเดียวอีก 15 คดี อานนท์ไม่ได้ประกันตัว นักศึกษาถูกกล่าวหาเพิ่มหลายคดี

เดือนสิงหาคม สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นไปจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 11 ราย เป็นคดีใหม่ 15 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 124 ราย ใน 126 คดี

เดือนที่ผ่านมา มีคดีสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา ที่กล่าวปราศรัยในเวทีครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 ซึ่งต่อมาตำรวจมีการขอออกหมายจับตามมาตรา 112 หลังเขาเข้ามอบตัว ได้ถูกตำรวจนำตัวไปขอฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน 

ขณะที่แกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สองราย ได้แก่ เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และเบนจา อะปัญ ก็ได้ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อหานี้ จากการปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีคาร์ม็อบหลายคดี ทั้งคดีของธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาแกนนำพรรควิฬาร์ ที่ถูกกล่าวหาจากการกล่าวปราศรัยในคาร์ม็อบ 15 สิงหาคม, คดีของธนกร ที่ถูกกล่าวหาจากการเขียนข้อความในผ้าและกระดาษติดรถระหว่างร่วมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และคดีของ “เกด” นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาจากการชูป้ายข้อความในระหว่างคาร์ม็อบครั้งเดียวกันนี้

ด้านคดีจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก็ยังปรากฏต่อเนื่อง โดยมีคดีของอรรฆพล หรือ “บีม” ที่ถูกแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานของ ศชอ. กล่าวหาไว้ที่ บก.ปอท. ก็ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาเรื่องการโพสต์ข้อความพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 รวมทั้งยังมีกรณีที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ แจ้งข้อหา 112 เพิ่มเติมต่อประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าได้ปลดรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่หน้าหมู่บ้านออกไปด้วย 

ขณะเดียวกันยังมีนักศึกษาที่ถูกออกหมายเรียกข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหา ทั้งกรณีของ “เมนู” สุพิชฌาย์ ที่ได้รับหมายเรียกของ สภ.หาดใหญ่, วิธญา คลังนิล นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับหมายเรียก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ และ อานนท์ นำภา ยังได้รับหมายเรียกในคดีที่ บก.ปอท. อีกคดีหนึ่งด้วย

สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 จึงยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งคดีจากการปราศรัยของแกนนำ คดีจากการแสดงออกรูปแบบต่างๆ ระหว่างกิจกรรมทางการเมือง และคดีจากการโพสต์ในโลกออนไลน์

.

ย้อนดูสรุปสถานการณ์เดือนก่อนหน้านี้

กรกฎาคม 64: 1 ปี เยาวชนปลดแอก ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองถึง 757 คน คดี 112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเพิ่มต่อเนื่อง

.

X