“เกียรติชัย” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ปราศรัยม็อบ24มิถุนา วิจารณ์อดีตกษัตริย์และสถานะสถาบันฯ

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 ที่ สน. ปทุมวัน “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่บริเวณสกายวอร์คแยกปทุมวัน 

ก่อนหน้านี้เกียรติชัยได้รับหมายเรียกลงวันที่ 13 ส.ค. 64 ในคดีที่ พ.ต.ท.ธนพล ติ๊บหนู กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ระบุข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงได้นัดหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อหา


ร.ต.อ.สุรศักดิ์ ช่วงทิพย์ รองสารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเกียรติชัย โดยบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยยก 5 ข้อความบางช่วงตอนในการปราศรัย ประกอบด้วย

“1. แม้เราจะเจอในแบบเรียนว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเลิกไพร่ทรงเลิกทาสแต่ถ้าดูตามความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์ยังคงกดขี่ประชาชนกดให้จมทําให้โง่ทําให้กลัวไม่กล้าทวงถามสิทธิที่ตนมี

“2. หนังสือเรียนที่เราเรียนก็ระบุว่ารัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยถ้าอ่านหนังสือจริงๆ แล้ว บอกว่ามันเป็นแค่เรื่องเฟคนิวส์

“3. ข้อที่สองปัญหาสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันคือสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้มีสถานะสูงส่ง เปรียบเสมือนพระเจ้าทําให้สูงส่งจนเกิดคนเป็นพระโพธิสัตว์บ้าง สะสมบุญจนเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง เป็นสมมุตเทพบ้าง ทําให้ ประชาชนและภาครัฐไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์

“4. ยกสถาบันกษัตริย์ให้สูงส่งเกินไปทําให้สถาบันกษัตริย์ตรวจสอบไม่ได้ปัญหา ณ เวลานี้คือ กษัตริย์ไม่ว่าจะทําอะไรจะไม่พิมพ์และไม่มีการตรวจสอบ เช่น งบประมาณสามหมื่นเจ็ดพันล้านที่โคตรฉิบหาย

“5. การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร”

.

เกียรติชัยถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 3 ข้อหา ประกอบด้วย

  1. ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
  2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง
  3. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

เกียรติชัยได้ให้การเพิ่มเติมว่า ตนมาชุมนุมโดยความสงบ ปราศจากอาวุธ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตรย์ แต่พูดถึงอดีตกษัตริย์ในแนววิชาการ โดยจะขอให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 28 กันยายน 2564 เขายังได้ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์”

ทั้งนี้จากกิจกรรมช่วงเย็นวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอล์กปทุมวัน ยังมีเบนจา อะปัญ ที่ได้รับหมายเรียกในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน แต่ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไป  ขณะที่มีแกนนำและผู้ปรา่ศรัยอีก 7 ราย ได้รับหมายเรียกในเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

.

สำหรับกิจกรรมวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 5.00 น.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนเวลา 17.00 น. กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวกันทำกิจกรรมอีกครั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน โดยมีผู้ผลัดเปลี่ยนกัน บอย-ธัชพงศ์ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นคนแรก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัวเพื่อประกาศข้อกำหนดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าการรวมตัวมากกว่า 50 คนเป็นการฝ่าฝืนข้อกฎหมาย 

จากนั้นแกนนำคนอื่น  ผลัดกันขึ้นปราศรัยเพื่อตอกย้ำว่าจะไม่มีการลดเพดานข้อเสนอในการออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เด็ดขาด โดยเฉพาะ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” รวมไปถึงเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ปัญหาของระบบการศึกษา และปณิธานของคณะราษฎร 2475  ในช่วงท้ายของกิจกรรมประชาชนได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คณะราษฎร และจุดเทียนวางเป็นตัวเลข 2475 ก่อนจะประกาศยุติกิจกรรมในเวลาราว 20.30 น.

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“วรรณวลี-ยิ่งชีพ” รับทราบข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”​ เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มิถุนา ราษฎรยืนยันดันเพดาน

.

X