“วรรณวลี-ยิ่งชีพ” รับทราบข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”​ เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มิถุนา ราษฎรยืนยันดันเพดาน

วานนี้ (16 ส.ค. 64) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สถานีตํารวจนครบาลสำราญราษฎร์  “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา” และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ก่อนถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ24มิถุนา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ซึ่งในคดีนี้มีผู้กล่าวหาคือ พ.ต.อ. ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับสน.สำราญราษฎร์

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 กลุ่มคณะราษฎรได้จัดกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” รําลึกครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนา 2475”  เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในวันครบรอบ 24 มิ.ย. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่สภาจะลงมติแก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ตั้งขบวนและเคลื่อนตัวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งสู่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

>> อ่านประมวลการชุมนุมนี้: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1624624380205/

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้งหมด 34 ราย รวมไปถึงนักกิจกรรมกลุ่มราษฎร เช่น “ฟ้า” พรหมศร จีระธรรมจารี, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต หลังศาลไม่ให้ประกันในกรณีชุมนุมเรียกร้องปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 รวมไปถึง อานนท์ นำภา ที่ศาลไม่ให้ประกันในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64  โดยอานนท์ถูกแจ้งข้อหาในคดีนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ที่สน.ปทุมวัน หลังเข้ามอบตัวในคดีมาตรา 112 

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้าของวานนี้ มีทั้งหมด 2 ราย คือ วรรณวลี และ ยิ่งชีพเนื่องจากมีผู้ต้องหาบางรายได้ถูกคุมขังในคดีอื่น และผู้ต้องหาบางส่วนจะทยอยมารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง 

ตร.แจ้ง 3 ข้อหา เหตุร่วมอ่านประกาศคณะราษฎร และปราศรัยบนเวทีหน้ารัฐสภา

เวลาประมาณ 10.00 น. วรรณวลี และยิ่งชีพได้เดินทางเข้าพบพลตำรวจเอกโยธี เสริมสุขต่อ สารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ทั้งสองคน 

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 กลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด 34 ราย ได้มาร่วมกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” รําลึกครบรอบ 89 ปี การอภิวัติสยาม 24 มิถุนา 2475 ที่บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนินกลาง ต่อเนื่องไปจนถึงรัฐสภา แยกเกียกกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ยืนยันข้อเรียกร้องดันเพดานเดิม 

ในเช้าวันวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมติดป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, เล่นดนตรี, อ่านประกาศคณะราษฎร, จุดเทียนรําลึกครบรอบ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 และมีการนัดหมายอีกครั้งในเวลา 10.00 น. เพื่อเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่รัฐสภาและยื่นหนังสือแสดงจุดยืนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ในระหว่างที่เคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภา 

พนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนมีพฤติการณ์กระทําความผิดแตกต่างกัน โดยวรรณวลีได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมอ่านประกาศคณะราษฎร ขณะที่ยิ่งชีพเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีชั่วคราวหน้ารัฐสภา เกียกกาย 

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังระบุว่า ในการชุมนุมดังกล่าว มีประชาชนจํานวนมากที่มาเข้าร่วมชุมนุมจะยืนอยู่บริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นการแออัด ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นต้นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคเผยแพร่ระบาด 

นอกจากนั้น ผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นการกระทําผิดกฎหมาย

ดังนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 6  ข้อกล่าวหาแก่วรรณวลีและยิ่งชีพ ได้แก่ 

​​1.ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร
3.พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

4.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร 

5.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108 ร่วมกันเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร

6. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

วรรณวลี และ ยิ่งชีพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 3 ก.ย. 64 

ก่อนจะปล่อยตัวทั้งหมดไป โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้ 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของ ยิ่งชีพ Yingcheep Atchanont เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา ยิ่งชีพบอกความประสงค์ว่าจะไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า ความผิดฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ สาเหตุอีกประการคือ ได้เคยให้ลายนิ้วมือไว้กับกรมการปกครองตอนทำบัตรประชาชน และตอนที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉิน เหตุร่วม #ม็อบ24มีนา ที่สน.ลุมพินี หากเจ้าหน้าที่ต้องการให้ไปขอลายพิมพ์นิ้วมือที่สน.ลุมพินี 

นอกจากนี้ ยิ่งชีพได้เขียนหนังสือขอคัดค้านกระบวนการสอบสวนที่ไม่เป็นกลาง เนื่องจาก พ.ต.อ. โยธี เสริมสุขต่อ ผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์นั้น เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ. ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ดังนั้นจึงถือว่าพนักงานสอบสวนไม่เป็นกลาง ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาได้ ขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่ขอเขาร่วมกระบวนการสอบสวน 

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ยิ่งชีพได้ยินยอมให้พิมพ์ลายนิ้วมือและเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนตามปกติ โดยยื่นหนังสือหนึ่งฉบับติดท้ายไว้ว่า ขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน 

หนังสือคัดค้านกระบวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนไม่เป็นกลาง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ได้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมืองควบคู่กับข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างอื่นๆ  

นับตั้งแต่การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน (17 ส.ค. 64) มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 627 ราย พ.ร.บ.จราจรฯ อย่างน้อย 259 ราย และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง อย่างน้อย 297 ราย 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ตร.สน.ลุมพินีแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 9 ปชช. 1 เยาวชน เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มีนา “มายด์” ถูกแจ้ง ม.112 เพิ่ม

ตร.เข้าแจ้งข้อหา ‘อานนท์’ คดีชุมนุม 24 มิ.ย. แม้ถูกคุมตัว กล่าวหาร่วมอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’

X