ผู้ร่วมรำลึกอุ้มหาย ‘วันเฉลิม’ และร่วมกินอาหารร้องเยียวยาโควิด หน้าทำเนียบฯ ถูกปรับคนละ 700 บาท ตร.อ้างฝ่าฝืน 3 ข้อหา

วานนี้ (4 ส.ค. 64) ที่สถานีตํารวจนครบาลนางเลิ้ง เวลา 14.00 น. ประชาชนและนักกิจกรรมรวม 4 ราย พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิดร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เหตุจัดกิจกรรม ‘คืน-ยุติธรรม’ เพื่อรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ต้าร์” ผู้ลี้ภัยการเมืองไทย กิจกรรมจัดขึ้นโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64  ทั้ง 4 ราย ได้ให้การรับสารภาพ และถูกปรับเป็นเงินคนละ 700 บาท จึงทำให้คดีนี้สิ้นสุดลง

ในคดีนี้ มีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ ภัทรนิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโสแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) ประเทศไทย, พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม,ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, วรชาติ อหันทริก และ ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน” 

ในวันนี้พรเพ็ญยังไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนวรชาติได้ยืนยันที่จะขอต่อสู้คดีต่อไป จึงขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาไปในวันที่ 13 ส.ค. 64 เวลา 13.30 น.

ในวันเดียวกัน ที่ สน.นางเลิ้ง พรหมศร, ธนพัฒน์ และ “แซน” (นามสมมติ) เยาวชน อายุ 16 ปี ซึ่งได้รับหมายเรียกในอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ กรณีที่กลุ่มทะลุฟ้า และเครือข่ายร้านอาหารที่ประสบภัยโควิด จัดกิจกรรม “นัดจำลองบรรยากาศนั่งชิล ขายยำ-กินยำ” ตามแนวนโยบาย Bangkok sandbox ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 ก็ได้รับทราบข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวด้วย โดยถูกแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน และตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 700 บาท จึงทำให้คดีนี้สิ้นสุดลงเช่นกัน 

ตร.แจ้ง 3 ข้อหา เหตุจัดกิจกรรมทวงถามความคืบหน้าการอุ้มหายของ “ต้าร์” วันเฉลิม  

ในส่วนคดีแรกนั้น มี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา และ พ.ต.ท.สําเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย  

พฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค 64 เวลาประมาณ 15.00 น.ถึงเวลาประมาณ 21.30 น. ผู้ต้องหาได้ร่วมตัวกันจัดกิจกรรม โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ” ที่บริเวณถนนพระราม 5 กรุงเทพฯ เพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์รําลึกถึงผู้สูญหายจากการแสดงออกทางการเมือง และทวงถามความคืบหน้า กรณี “กลุ่มโมกหลวง” ได้ยื่นจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งผ่านไปแล้ว 1 เดือน ยังไม่ได้รับคําตอบจากภาครัฐ 

ในกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มผู้ต้องหาได้นําวัสดุสิ่งของต่างๆ ทั้งแผ่นป้าย ผ้าใบ แผ่นผ้าพลาสติก มาติดตั้ง แขวน กอง วาง ปูบนพื้นถนน แล้วยึดพื้นที่ดังกล่าวชุมนุม ทําให้กีดขวางการจราจรบนถนน ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ และนําลําโพง เครื่องขยายเสียง มาใช้ปราศรัย ส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อนรําคาญให้กับผู้พัก อาศัยอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ต่อผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้แก่ “ร่วมกระทําการใด ๆ ใน ลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร” ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, “ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนพื้นถนน” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, และ “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

หลังจากแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ทราบแล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายได้ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 700 บาท ทำให้คดีอาญาสิ้นสุดลง

แจ้งเพิ่ม! อีก 1 คดี เหตุร่วมม็อบทะลุฟ้า-เครือข่ายร้านอาหารฯ กินข้าวหน้าทำเนียบฯ ร้องให้มีมาตราการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 

ขณะที่ในคดีที่สอง พ.ต.ท.สําเนียง โสธร ก็เป็นพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย 

พฤติการณ์คดีโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. ถึงเวลา ประมาณ 17.30 น. ผู้ต้องหาได้ร่วมตัวกันจัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มทะลุฟ้าร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหารผู้ประสบภัยโควิค” ที่บริเวณหน้าทําเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงในเชิงสัญลักษณ์ Bangkok Sandbox และอ่านแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และจากมาตรการของรัฐบาล 

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ผู้ต้องหาได้นําวัสดุสิ่งของต่างๆ ทั้งแผ่นป้าย ผ้าใบ แผ่นผ้าพลาสติก มาติดตั้ง แขวน กอง วาง ปู บนพื้นถนน แล้วจึงยึดพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ชุมนุม ทําให้กีดขวางการจราจรบนถนนประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ และนําลําโพง เครื่องขยายเสียง มาใช้ปราศรัย ส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อนรําคาญให้กับผู้พักอาศัยอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันกับในคดีแรกต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย โดยทั้ง 3 รายได้ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 700 บาท ทำให้คดีอาญาสิ้นสุดลง

ขณะที่ในคดีนี้ มีรายงานว่าพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 7 ราย ซึ่งยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในกลุ่มนี้มีผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่เรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาธุรกิจในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ได้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมืองควบคู่กับข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างอื่นๆ  

โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ อย่างน้อย 254 ราย ในข้อหา พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ อย่างน้อย 240 ราย และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง อย่างน้อย 292 ราย 

แม้ข้อหาจะมีเพียงอัตราโทษปรับ แต่ก็สร้างภาระในการจัดการชุมนุม และการจัดกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นให้กับผู้แสดงออกในที่สาธารณะ รวมทั้งสร้างต้นทุนทางคดีในการเข้ารับทราบข้อหาและเสียค่าปรับอีกด้วย 

X