ตุลาคม 64: ยอดคดีทางการเมืองเฉียด 900 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีรวมอย่างน้อย 1,636 คน

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังเป็นไปอย่างเข้มข้น แม้การชุมนุมรายวันที่แยกดินแดงจะลดระดับลงแล้ว แต่การดำเนินคดีไม่ได้สิ้นสุดลง ยังมีการออกหมายเรียกนักกิจกรรมและประชาชนที่ร่วมชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ไปรับทราบข้อหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังเข้าจับกุมประชาชนและเยาวชนจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ดินแดงในเดือนก่อนๆ อีกหลายกรณี เช่นเดียวกับสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นโดยกระจายไปในจังหวัดต่างๆ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,636 คน ในจำนวน 896 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 258 ราย ด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,065 ครั้งแล้ว 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ทำให้พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 178 คน ใน 102 คดี ในเวลาเพียงเดือนเดียว (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 35 ราย 

ส่วนสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 159 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 112 คน ในจำนวน 35 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 549  คน ในจำนวน 175 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,337 คน ในจำนวน 553 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 529 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 73 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 97 คน ในจำนวน 114 คดี

จากจำนวนคดี 896 คดีดังกล่าว มีจำนวน 129 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ 

* หมายเหตุ สถิติคดีนี้ไม่ใช่จำนวนคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทั้งหมด แต่รวมคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ด้วยเท่าที่ทราบข้อมูล

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนตุลาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

การชุมนุมดินแดงลดระดับลง แต่การจับกุมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีรายงานการซ้อมผู้ถูกจับกุม

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม สถานการณ์การชุมนุม #ทะลุแก๊ซ บริเวณดินแดง ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ยังคงสืบเนื่องต่อมา ก่อนค่อยๆ ลดระดับลงไปในช่วงหลังกลางเดือนเป็นต้นมา แต่ตลอดทั้งเดือนยังมีรายงานผู้ถูกจับกุม ไม่น้อยกว่า 155 ราย ในจำนวนนี้แยกเป็นเยาวชน ถูกจับกุมจำนวน 34 คน และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 12 คน 

โดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงวันที่ 67 ต.ค. 64 ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการนำกำลังปิดล้อมตรวจค้นบริเวณแฟลตดินแดงอย่างเข้มข้น ทำให้มีผู้ชุมนุม รวมทั้งประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ก่อนเป็นจำนวนมาก ทั้งตำรวจยังปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบผู้ถูกจับกุมเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง ก่อนมีการดำเนินคดีประชาชนกว่า 68 ราย 

ขณะที่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ยังมีสถานการณ์จับกุมผู้ทำกิจกรรมที่หน้า สน.ดินแดง เพื่อไว้อาลัย “วาฤทธิ์” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สน. โดยมีผู้ถูกจับกุมรวม 8 ราย และมี 2 ราย ที่ระบุว่าตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วย

ขณะเดียวกัน แม้สถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดงรายวันจะลดลง แต่สถานการณ์การดำเนินคดียังสืบเนื่องมา โดยตำรวจ สน.ดินแดง ยังคงมีการติดตามจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในลักษณะต่างๆ เช่น การเผาทรัพย์ การขว้างปาสิ่งของ หรือการทุบทำลายป้อมจราจร ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา อยู่เป็นระยะ 

บางส่วนที่ถูกจับกุมนั้น ไม่ได้รับการประกันตัวหลังถูกส่งฝากขังต่อศาล ทำให้มีผู้ถูกคุมขังที่เกี่ยวข้องกับเหตุดินแดงและใกล้เคียงอย่างน้อย 16 ราย ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 ราย

รวมทั้ง ตำรวจยังมีการออกหมายเรียกผู้ที่ไปร่วมชุมนุมโดยสงบ หรือไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ดินแดงในวันต่างๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบางรายถูกกล่าวหานับ 10 คดี เนื่องจากไปอยู่ในพื้นที่แทบทุกวัน 

หากนับรวมยอดผู้ถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมเรื่อยมา ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่ามียอดผู้ถูกจับกุมรวมตลอดแล้วอย่างน้อย 498 ราย คิดเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 167 คดี

.

.

การใช้ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังกว้างขวาง อัยการมีคำสั่งฟ้องเป็นส่วนใหญ่ การตรวจสอบถ่วงดุลเกิดขึ้นน้อย

ขณะเดียวกันกรณีจากการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้รวมมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่า 1,337 คน ในจำนวน 553 คดีแล้ว 

เฉพาะตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีคดีจากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบ (Car Mob) เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 246 ราย ใน 99 คดี ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 37 จังหวัด ในจำนวนนี้มีถึง 86 คดี ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปด้วย แม้การจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะค่อยๆ ลดลงไปแล้วในเดือนตุลาคม แต่คดีความที่เกิดขึ้นกลับยังเป็นภาระที่นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหา ยังต้องต่อสู้คดีต่อไป

ขณะที่การชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ยังถูกตำรวจออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาในแทบทุกครั้ง หลายคดีมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก อาทิ คดี #ม็อบ18กรกฎา เพื่อรำลึกครบรอบ 1 ปี การเริ่มชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” มีผู้ถูกกล่าวหา 6 ราย, คดี #ม็อบ7สิงหา #7สิงหามึงเจอกูแน่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อหาอีก 9 ราย, คดีรวมตัวเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ด้านหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64 มีผู้ถูกกล่าวหา 9 ราย หรือคดีชุมนุมไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 มีผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว 21 ราย เป็นต้น

ขณะที่ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด มีเพียง 4 คดีเท่านั้น ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยมีแนวคำวินิจฉัยที่เห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่แออัด ไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยจากกิจกรรมการชุมนุม และไม่ได้เสี่ยงต่อการระบาดของโรค 

ขณะที่แนวโน้มส่วนใหญ่พนักงานอัยการในพื้นที่ต่างๆ ยังคงมีคำสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง และฝ่ายจำเลยยังต้องต่อสู้ยืนยันสิทธิของตนเองต่อไป รวมทั้งแนวทางการตีความข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมาหลังการระบาดของโควิด-19 

กล่าวได้ว่าบทบาทของพนักงานอัยการในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ใช้การตั้งข้อกล่าวหาจำนวนมากเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังเป็นไปอย่างจำกัดอย่างมาก

.

.

คดี ม.112 เพิ่มไม่น้อยกว่า 14 คดี กระจายหลายจังหวัด ขณะการกล่าวหากลั่นแกล้งในพื้นที่ห่างไกลยังดำเนินต่อ

ในเดือนตุลาคม มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 9 คน ใน 14 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 154 ราย ใน 159 คดี โดยเป็นเด็กและเยาวชน 12 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวอยู่ทั้งหมด 5 ราย

เดือนที่ผ่านมามีคดีสำคัญ ได้แก่ คดีของเบนจา อะปัญ นักศึกษานักกิจกรรมจากรั้วธรรมศาสตร์ ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 64 จากกรณีอ่านแถลงการณ์หน้าตึกซิโน-ไทย ใน #คาร์ม็อบ10สิงหา และมีจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. ไปกล่าวหาที่ สน.ทองหล่อ โดยศาลมีการออกหมายจับ ทั้งที่เธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน และเบนจาถูกฝากขัง โดยไม่ได้รับการประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันยังมีคดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกกล่าวหาข้อหานี้เป็นคดีที่สอง ที่ สน.พหลโยธิน กรณีมีนายทศพล เพ็งส้ม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ไปกล่าวหาจากคำเบิกความในคดีคัดค้านการปิดกั้นไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์นโยบายวัคซีนโควิด

รวมทั้งกรณีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. เข้าแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีใหม่ถึงในเรือนจำ จากกรณีโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหานี้มากถึง 21 คดี นับได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ขณะที่สถานการณ์การที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันกษัตริย์ นำข้อหานี้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ในพื้นที่ห่างไกล ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทราบว่าตำรวจมีการดำเนินคดีอย่างน้อย 6 คดีแล้ว จากกรณีที่นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เพียงคนเดียวไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้ เดือนที่ผ่านมา มีกรณีของ “ภัคภิญญา” และ “วารี” ที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ตามลำดับ ไปรับทราบข้อหา โดยตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ยังมีแนวทางยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลทั้งหมด แม้จะเดินทางมาตามหมายก็ตาม ทำให้มีต้องมีการวางหลักทรัพย์ในการขอประกันตัวตามมาด้วย

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “ลักขณา” แม่ค้าจากภูเก็ต และ “วงศ์” พ่อค้าจากราชบุรี ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท., กรณีของอรรฆพล กราฟิกดีไซเนอร์อิสระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.แกลง จ.ระยอง ในคดีที่ถูกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพาไปกล่าวหาไว้ 

หรือกรณีของสองนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาที่ถูกออกหมายจับจากกรณีติดป้ายข้อความประท้วงรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ บริเวณระเบียงหอพัก โดยมีการดำเนินคดีที่ สภ.แสนสุข รวมทั้งกรณีของชลสิทธิ์ หนุ่มรับจ้างกรีดยางในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ถูกสมาชิกอาสารักษาดินแดงในหมู่บ้านเดียวกันไปกล่าวหากรณีแชร์ภาพวาดล้อเลียนไว้ที่ สภ.ขุนหาญ

แนวโน้มการดำเนินคดี จึงสะท้อนถึงการใช้ข้อหาที่กระจายไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีคดีเพิ่มมากขึ้น

.

X