คดีชุมนุมไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนท์ รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 21 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ผู้ได้รับหมายเรียกในคดีชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี อีก 4 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยหนึ่งในนั้นเป็นนักกิจกรรมเยาวชนอายุ 17 ปี ตำรวจได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เข้ารับทราบข้อหาก่อนหน้านี้ ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 21 ราย

สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และได้มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันเพื่อขับไล่ในจุดต่างๆ โดยเฉพาะที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี ที่มีประชาชนมารวมตัวกันแสดงออกทางการเมือง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปลี่ยนกำหนดการลงพื้นที่ โดยมีรายงานประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีในวันดังกล่าว 2 ราย จากบริเวณท่าน้ำนนทบุรี และท่าน้ำปากเกร็ด

หลังจากนั้น พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ยังได้ออกหมายเรียกประชาชนที่เข้าร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง โดยหมายระบุว่ามี พ.ต.ต.จิราธิป ใจยาว เป็นผู้กล่าวหา ต่อมาทราบว่ามีผู้ถูกออกหมายเรียกรวมทั้งหมด 21 คน โดยเป็นเยาวชน 1 ราย ได้แก่ “ฟิวส์” เยาวชนจากกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย รวมทั้งยังมี “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วย

ผู้ถูกออกหมายเรียกได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่ช่วงวันที่ 8, 12 และ 15 ต.ค. จนชุดสุดท้ายในวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งหมดถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหาเช่นเดียวกัน รวม 3 ข้อหา ได้แก่ 

  1. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก
  2. ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216
  3. ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 2415/2564 เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 62) ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ข้อ 4 การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

ภาพการชุมนุมไล่ประยุทธ์ ที่ท่าน้ำนนทบุรี (ภาพจาก Thaivoice.ORG2)

.

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 กลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน อันอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และได้มีผู้ร่วมชุมนุมบางคนทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดขวางขบวนรถนายกรัฐมนตรี ใช้เท้าถีบรถยนต์ในขบวน ตลอดจนมีผู้นำปัสสาวะมาราดรดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และตำรวจได้แจ้งว่าชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิด ให้ยุติเลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมเลิก ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี

ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป 

ขณะที่ผู้ต้องหาบางส่วนได้ให้การในเบื้องต้น โดยสรุปว่าการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้ ขณะเดียวกันประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาและบังคับใช้อยู่ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันกับการแพร่โรคระบาด แต่กลับถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุด จนเกินสมควรแก่เหตุ การตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการไม่ถูกต้อง

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไป โดยตำรวจได้นัดหมายทั้งหมดมาส่งสำนวนให้อัยการต่อไปในวันที่ 1 พ.ย. 2564 

.

ภาพเจ้าหน้าที่กั้นรั้วลวดหนาม ตั้งสิ่งกีดขวาง และติดป้ายพื้นที่ควบคุม บริเวณสภ.เมืองนนทบุรี ระหว่างผู้ถูกออกหมายเรียกชุดแรกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564

.

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 เจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ั ยังได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ปากเกร็ด จากกรณีมีผู้มาชุมนุมต้อนรับและให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันเดียวกันกับที่ตำรวจมีการตั้งกล่าวหาผู้ชุมนุมฝั่งคัดค้าน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดฝ่ายผู้ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน

ดูลำดับเหตุการณ์กิจกรรมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 โดย Mob Data Thailand

.

X