“แซม” ถูกขังครั้งที่ 3 หลังถูกกล่าวหาราดน้ำมันศาลพระภูมิ #ม็อบ29ตุลา ไว้อาลัย “วาฤทธิ์” – ศาลไม่ให้ประกัน ผู้ถูกจับอีก 7 ได้ประกัน – ปล่อยตัว  

29 ต.ค. 2564 เวลา 18.00 น. ตำรวจในเครื่องแบบสีกากีนายสิบนายพร้อมโล่และอาวุธปืนเดินเข้าใส่ผู้ชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ซึ่งตะโกนว่า “เราไม่มีอาวุธ จะมาทำไม” “ประชาชนยังไม่ได้ทำอะไร” หลังนัดรวมตัวกันทำกิจกรรมไว้อาลัย “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังถูกยิงขณะร่วมการชุมนุมที่หน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ก่อนที่ตำรวจจะกรูเข้าจับกุมผู้ชุมนุมรวม 3 ราย 1 ในนั้นคือ แซม สาแมท ผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมือง นำตัวขึ้นรถผู้ต้องไปที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ส่วนอีก 2 ราย ควบคุมตัวไว้ที่ห้องสืบสวน สน.ดินแดง  

แซม สาแมท ขณะถูกควบคุมตัว (ภาพโดย ประชาไท)

การเข้าจับกุมเกิดขึ้นในไม่กี่นาที หลังมีผู้ชุมนุมนำกระดาษไปจุดไฟเผาบนศาลพระภูมิหน้า สน.ดินแดง ซึ่งตำรวจนำถังดับเพลิงมาฉีดดับไฟทันที ก่อนหน้านั้น ประชาชนที่เดินทางมาร่วมไว้อาลัย “วาฤทธิ์” เกิดความไม่พอใจที่ถูกตำรวจวางกำลัง แผงเหล็ก และลวดหนามปิดกั้นทางเข้า กระทั่งมีผู้ชุมนุมนำน้ำแดงราดใส่ศาลพระภูมิ และนำรองเท้าแตะไปแขวน การกรูเข้าจับกุมโดยที่ยังไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุม และพากันตะโกนใส่ชุดควบคุมฝูงชนในชุดสีกากีว่า “จับเด็กไปทำไม”  (ดูคลิปเหตุการณ์ที่ ประชาไท และ สำนักข่าวราษฎรประสงค์)

ภายหลังกิจกรรมหน้า สน.ดินแดง ยุติลงในเวลาประมาณ 19.15 น. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ถังดับเพลิงฉีดใส่เทียนที่ผู้ชุมนุมจุดไว้อาลัย “วาฤทธิ์” เก็บกวาดดอกไม้และสิ่งของออก ก่อนเปิดการจราจร ยังคงมีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่แยกโรงกรองน้ำ ถ.ประชาสงเคราะห์ โดยมีผู้ถูกจับกุมจากบริเวณดังกล่าวมาที่ สน.ดินแดง อีก 3 ราย ในเวลาราว 21.00 น. และก่อน 23.00 น. อีก 2 ราย รวมมีผู้ถูกจับกุม 8 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย

หลังตำรวจใช้ถังดับเพลิงฉีดใส่เทียนที่จุดไว้อาลัย “วาฤทธิ์” (ภาพโดย iLaw)

อย่างไรก็ตาม ทนายความซึ่งอยู่ที่ สน.ดินแดง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. รวมทั้งที่ติดตามไปที่ บช.ปส.ในเวลาประมาณ 20.30 น. ไม่ได้รับอนุญาตให้พบผู้ถูกจับกุม ทั้งยังได้รับแจ้งข้อมูลที่สับสนจนไม่ทราบแน่ชัดว่า ผู้ต้องหาจะถูกนำตัวไปสอบสวนที่ใด 

กระทั่งประมาณ 03.00 น. ทนายความจึงได้พบกับผู้ถูกจับกุมทั้งหมดที่ห้องสอบสวน สน.ดินแดง รวมทั้งแซม โดยชุดจับกุมซึ่งเป็นตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง, บก.น.1 บช.น. และสายตรวจ 191 ทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว โดยที่ทนายความไม่ได้เข้าร่วม จากนั้น เยาวชนอายุ 16 และ 17 ปี มีผู้ปกครองมารับกลับ เนื่องจากพบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ส่วน วสันต์ กล่ำถาวร ถูกปล่อยตัว หลังตำรวจเปรียบเทียบปรับฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ขณะที่ทนายความพบว่า ในผู้ถูกจับกุม 5 คนที่เหลือ มี 2 คน ที่มีรอยฟกช้ำที่ใบหน้าและตามร่างกาย ทั้งยังมีเลือดออก และแซมมีรอยแดงที่หน้าอก ซึ่งทั้งสามเป็นกลุ่มที่ถูกจับตั้งแต่เย็น

กระบวนการสอบสวนเสร็จในเวลาเกือบ 07.00 น. โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 5 คนว่า ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (ม.215) โดย 3 คนที่ถูกจับในช่วงเย็น มีข้อหา ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ม.216) ด้วย นอกจากนี้ วีรภาพ วงษ์สมาน และแซม ถูกตั้งข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ ยิ่งไปกว่านั้นแซมถูกตั้งข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์, เป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกด้วย 

หลังถูกส่งฝากขังในช่วงสายของวันที่ 30 ต.ค. 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันแซม อ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในความผิดลักษณะเดียวกับคดีนี้ แต่กลับมาร่วมกับพวกก่อเหตุคดีนี้ซ้ำอีก หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจะกลับไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น  ขณะที่ศาลแขวงพระนครเหนือให้ประกันผู้ต้องหา 3 ราย โดยไม่ต้องวางหลักประกัน ส่วนอีก 1 ราย ซึ่งให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษา จำคุก 6 เดือน 15 วัน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

แซม หลังถูกจับกุมก่อนไม่ได้ประกันในวันต่อมา (ภาพโดย ประชาไท)

จากการรายงานของสื่ออิสระและสำนักข่าวพบว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบสีกากี, สีน้ำเงิน และนอกเครื่องแบบ ในช่วงเย็นจนถึงดึกของวันที่ 29 ต.ค. 2564 ทำให้แม่ค้าและเยาวชนในร้านค้าริมถนนประชาสงเคราะห์ใกล้โรงกรองน้ำ ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อย 2 ราย ตู้กระจกในร้านเสียหาย สื่อหลายรายถูกข่มขู่คุกคาม ยึดโทรศัพท์, ได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีที่บรรจุในถังดับเพลิงที่ตำรวจฉีดเข้าที่ใบหน้า รวมทั้งมีการเชิญไปพูดคุยที่ สน.ดินแดง กว่า 1 ชั่วโมง ก่อนบันทึกประวัติไว้ทุกคน    

.

คฝ.เดินหน้าใส่ผู้ชุมนุม หลังกระดาษลุกไหม้ที่ศาลพระภูมิ จับ 3 ราย พบร่องรอยถูกทำร้ายหลังควบคุมตัว 9 ชม.

ผู้ถูกจับกุมในช่วง 18.00 น. หลังมีผู้ชุมนุมจุดไฟใส่กระดาษวางบนศาลพระภูมิรวม 3 ราย ได้แก่ วีรภาพ วงษ์สมาน อายุ 18 ปี, แซม สาแมท อายุ 20 ปี และอรรถสิทธิ์ นุสสะ อายุ 35 ปี 

ทั้งสามถูกชุดสืบสวนแยกสอบและทำบันทึกจับกุมโดยไม่ให้ทนายเข้าร่วม วีรภาพและอรรถสิทธิ์แยกห้องสอบที่ฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง ส่วนแซมแยกไปที่ บช.ปส. 

บันทึกการจับกุมระบุว่า ทั้งสามถูกจับโดยตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง นำโดย พ.ต.ท.พีรรัฐ โยมา รอง ผกก.สส.สน.ดินแดง, บก.น.1 บช.น. นำโดย พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัย ผกก.สส.บก.น.1 และสายตรวจ 191 นำโดย พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.สายตรวจ โดยระบุการกระทำผิดที่กล่าวหาทั้งสามโดยสรุปว่า 

ก่อนการจับกุม ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม จํานวนมากกว่า 100 คน ขึ้นไป มาร่วมกันชุมนุมที่บริเวณหน้า สน.ดินแดง เพื่อเรียกร้องทางการเมืองและขับไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออก ต่อมาได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกเข้ามาภายในสถานีตํารวจ มีการขว้างปาขวดน้ำ ใช้สีสเปรย์พ่นใส่ศาลพระภูมิ และตามสถานที่ต่างๆ เทราดศาลพระภูมิด้วยน้ำสีแดงคล้ายเลือด มีการใช้รองเท้าแตะแขวนไว้บนยอดศาลพระภูมิ และใช้รองเท้าส้นสูงทุบ จากนั้นมีการเทราดเชื้อเพลิง และจุดไฟเผาบนศาลพระภูมิ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่า การร่วมกันชุมนุมข้างต้นเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมาย และสั่งให้เลิก หากแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิก 

บันทึกการจับกุมระบุด้วยว่า จากพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า แซมเป็นผู้ใช้รองเท้าส้นสูงทุบศาลพระภูมิ ใช้ขวดน้ำปาใส่ และใช้ของเหลวราด ซึ่งตํารวจที่ยืนอยู่ที่บริเวณดังกล่าวได้กลิ่นคล้ายกลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีผู้ร่วมชุมนุมอีกคนนําไฟมาจุดทําให้เกิดไฟลุกไหม้ ส่วนวีรภาพเป็นผู้ใช้รองเท้าแตะแขวนไว้บนยอดศาลพระภูมิ เทราดด้วยน้ำสีแดงคล้ายเลือด และใช้สีสเปรย์พ่นใส่ ทำให้ศาลพระภูมิได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ หลังแซมถูกจับกุม ตํารวจได้ตรวจค้นตัว ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่แซมไม่สามารถแสดงบัตรประจําตัวประชาชนได้ และแจ้งว่าไม่มี ไม่เคยทํา รวมทั้งเมื่อตํารวจตรวจสอบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ก็ไม่พบข้อมูลของแซม

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาวีรภาพ, แซม และ อรรถสิทธิ์ว่า ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 และแจ้งข้อหาวีรภาพ ฐานทำให้เสียทรัพย์ อีกข้อหา ส่วนแซมถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และเป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วย

ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อรรถสิทธิ์ให้การด้วยว่า เขาถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและควบคุมตัว

ทั้งนี้ ขณะทนายความได้พบทั้งสามในเวลาราว 03.00 น. หลังการถูกจับกุมและควบคุมตัวในห้องสืบสวนราว 9 ชั่วโมง กรณีของแซมถูกควบคุมตัวทั้งที่รถผู้ต้องขัง, บช.ปส. และห้องสืบสวน สน.ดินแดง หลังถูกส่งตัวกลับมา สน.ดินแดง ในราว 02.00 น. ทนายพบว่า วีรภาพมีรอยฟกช้ำนูนที่โหนกแก้ม ที่ลำตัวมีรอยช้ำหลายจุด รวมทั้งมีคราบเลือดที่เสื้อด้วย โดยเขาให้ข้อมูลว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนสำลักออกมาเป็นเลือด

ด้านอรรถสิทธิ์ มีรอยฟกช้ำขนาดใหญ่หลายจุดทั่วใบหน้า  หางตาซ้ายแตกมีเลือดออกเล็กน้อย และมีเลือดคั่งในตา ลำคอและลำตัวมีรอยแดงหลายแห่ง ข้อมือซ้ายบวมแดงขนาดเท่าลูกกอล์ฟ เขาเล่าว่า มาไว้อาลัยให้แก่เด็กอายุ 15 ปี ที่เสียชีวิต และได้วิ่งเข้าไปในซอยตอนตํารวจเดินเข้าใส่ผู้ชุมนุม ก่อนถูกจับกุมและถูกทำร้าย

ส่วนแซมซึ่งมีเพียงรอยแดงที่หน้าอก และมีภาพขณะถูกจับกุมว่าถูกตำรวจล็อกคอ เล่าให้ทนายฟังว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายทั้งบนรถผู้ต้องขัง ที่ บช.ปส. และที่ สน.ดินแดง จนมีอาการหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ให้กลัวด้วย

จับแยกโรงกรองน้ำอีก 2 ราย หลังผู้ชุมนุมยังรวมตัวถึงดึก กล่าวหาร่วมก่อความวุ่นวาย 

ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีอีก 2 ราย ได้แก่ ทิน (นามสมมติ) อายุ 35 ปี และสม (นามสมมติ) อายุ 36 ปี ทั้งสองถูกจับกุมในช่วง 20.30 น. บันทึกจับกุมที่จัดทำในห้องสืบสวนที่ไม่ให้ทนายความเข้าร่วมระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเป็นชุดเดียวกับที่จับ 3 คนในช่วงเย็น และระบุการกระทำที่กล่าวหาเช่นเดียวกัน เพิ่มเติมว่า หลังเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณหน้า สน.ดินแดง กลุ่มผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไปรวมกลุ่มชุมนุมบริเวณแยกโรงกรองน้ำ ต่อเนื่องโค้งพร้อมพรรณ ถ.ประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. มีการขว้างปาประทัด ระเบิด หรือของแข็งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ จุดไฟกลางถนนสาธารณะ ตํารวจจึงได้เข้าควบคุมพื้นที่อีกครั้ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้วิ่งหลบหนีเข้าซอยต่างๆ ก่อนเจ้าหน้าที่โดยจับกุมทินได้ที่ซอยรุ่งเมือง และจับกุมสมได้ที่ก่อนถึงโค้งพร้อมพรรณ พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือของทั้งสอง 

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทินและสมว่า ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ

ชั้นสอบสวนสมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 19 พ.ย. 2564 ขณะที่ทินให้การรับสารภาพ 

.

ศาลอาญาไม่ให้ประกันแซม ต้องเข้าเรือนจำครั้งที่ 3 ขณะศาลแขวงพระนครเหนือให้ประกัน 3 ราย ปรับ-รอลงอาญาอีก 1 ราย

หลังสอบสวนเสร็จในเวลาเกือบ 07.00 น. ของวันที่ 30 ต.ค. 2564 ช่วงสาย พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง นำตัวแซมไปขอศาลอาญาฝากขัง และนำตัววีรภาพ, อรรถสิทธิ์ และสม ไปฝากขังต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ส่วนทินซึ่งรับสารภาพ ถูกส่งตัวให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องด้วยวาจาที่ศาลแขวงพระนครเหนือเช่นกัน 

ต่อมา เวลา 12.30 น. ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งให้ฝากขังวีรภาพ, อรรถสิทธิ์ และสม ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง ก่อนอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาประกันปรับคนละ 20,000 บาท กรณีทิน หลังอัยการฟ้องด้วยวาจา ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน 15 วัน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ด้านศาลอาญา หลังศาลอนุญาตให้ฝากขังแซมระหว่างการสอบสวน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเสนอหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,500 บาท ต่อมา เวลา 16.00 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลในความผิดลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาแล้ว แต่กลับมาร่วมกับพวกก่อเหตุเป็นคดีนี้ในลักษณะความผิดทำนองเดียวกันซ้ำอีกในระหว่างได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาจะกลับไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นซ้ำอีก

ก่อนหน้านี้ แซม ผู้ต้องหาชาวไทย-กัมพูชา ตกเป็นผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 2 คดี โดยถูกขังหลังถูกจับกุมระยะหนึ่ง และติดโควิดในเรือนจำทั้งสองครั้ง ก่อนได้รับการประกันตัว 

คดีแรก คือ คดี #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1 ซึ่งแซมถูกกล่าวหาว่าเป็นชายคนเดียวกับที่ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และ “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาของศาลอาญา หลังถูกขัง 102 วัน 

ส่วนคดีที่ 2 คือ คดี #ม็อบ2สิงหา หน้า ตชด.ภาค 1 เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งแซมถูกพนักงานสอบสวน สภ.คลองห้า แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน และทำให้เสียทรัพย์ แซมถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่ 19 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดธัญบุรี 

ทั้งนี้ แซมเกิดและเติบโตในประเทศไทย โดยพ่อเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวกัมพูชา จึงไม่ใช่บุคคลต่างด้าว เพียงแต่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เนื่องจากพ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และแยกทางกันตั้งแต่แซมยังเล็ก ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอจัดทำเอกสารบุคคล

คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญาครั้งนี้ทำให้แซมถูกขังในเรือนจำเป็นครั้งที่ 3 และทำให้ยอดผู้ต้องขังที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 28 ราย

>> ผู้ต้องขังทางการเมือง ตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2564

.

X