ให้ประกัน “แซม” หนุ่มลูกครึ่งไทย-กัมพูชา แล้ว หลังถูกขัง 102 วัน วางหลักทรัพย์ 1.5 เท่าของจำเลยอื่น เพราะไร้สัญชาติ!

*แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 6 ก.ค. 2564 เวลา 15.27 น.

5 ก.ค. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ประชาชน 19 คน จากเหตุชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์  ในข้อหาหลัก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” 

     >> สั่งฟ้อง! 19 ปชช.-นักข่าว ข้อหาหลัก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ต่อสู้ขัดขวาง จนท.” เหตุชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

เวลา 9.30 น. จำเลย 17 คน เดินทางมาศาล โดยแซม สาแมท จำเลยที่ 19 ซึ่งยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทางเรือนจำได้ทำหนังสือแจ้งต่อศาลว่า ไม่สามารถเบิกตัวมาศาลได้ ส่วนจำเลยที่ 15 ทนายไม่สามารถติดต่อได้ ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 15 และปรับนายประกันโดยการยึดเงินประกัน จำนวน 35,000 บาท 

อัยการแถลงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวพันกับคดีที่มีสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ กับพวกรวม 19 คน เป็นผู้ต้องหา ซึ่งคดีทั้งสองมีพยานหลักฐานที่จะใช้นำสืบในชั้นศาลชุดเดียวกัน อีกทั้งโจทก์ได้นัดฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ต่อศาลในวันที่ 14 ก.ค. 2564 และจะขอรวมพิจารณาคดีดังกล่าวกับคดีนี้ เพื่อความสะดวกในการตรวจพยานหลักฐาน จึงขอเลื่อนไปประชุมคดี และตรวจพยานหลักฐานคดีทั้งสองในคราวเดียวกัน จำเลยไม่คัดค้าน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาต และกำหนดวันนัดอีกครั้งในวันที่ 6 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

ด้านทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เนื่องจากจำเลยมีภารกิจต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ศาลมีคำสั่งอนุญาต แต่จะพิจารณาคดีลับหลัง ภายหลังสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานแล้วเสร็จ

ในวันนี้ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอประกันจำเลย 2 ราย ได้แก่ นายพรชัย โลหิตดี ซึ่งถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ภายหลังไม่ได้มาตามนัดส่งฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 เนื่องจากพรชัยเดินทางไปทำงานก่อสร้างที่เกาะสมุย จ.สุราษฎ์ธานี และมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกาะสมุยถูกปิด อีกทั้งโทรศัพท์หายทำให้พรชัยไม่สามารถติดต่อทนายความได้ แต่ในวันนี้พรชัยเดินทางมาศาลหลังจากกลับมากรุงเทพฯ และทราบนัดจากเพื่อน 

ส่วนจำเลยอีกคนที่มีการยื่นประกัน คือ แซม สาแมท หรือ “อาร์ท” หนุ่มไร้สัญชาติวัย 19 ปี ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ติดโควิดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งถูกจับกุมและคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2564

กรณีพรชัย ทนายความต้องวางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ของวงเงินประกันเดิม จำนวน 35,000 บาท คือต้องวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 70,000 บาท ส่วนกรณีแซม ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ต้องวางหลักทรัพย์ 1.5 เท่าของวงเงินประกัน นั่นคือ ต้องวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 52,500 บาท 

เวลาประมาณ 16.40 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันทั้งสองคนในระหว่างพิจารณาคดี ทำให้แซม ได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 19.30 น. หลังถูกคุมขังรวม 102 วัน โดยภายหลังได้รับการปล่อยตัวแซมได้ถูกตำรวจจากสน.ดินแดง เข้ามาขอตรวจสอบพาสปอร์ตและสอบถามว่าได้ประกันในคดีอะไร พร้อมกับขอตรวจสอบเอกสาร ทั้งนี้ทนายได้ยืนยันว่าแซมถูกฟ้องในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายมาด้วยแล้วในคดีที่ได้รับการปล่อยตัว โดยตำรวจได้ขอถ่านภาพเอกสารดังกล่าวด้วย

คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของแซม สาแมท มีเนื้อหาดังนี้

1. จำเลยเป็นบุคคลไร้รัฐ (Stateless person)
แซมหรือจำเลยที่ 19 เกิดโดยบิดาชาวไทย และมารดาชาวกัมพูชา และเติบโตมาในอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยไม่ใช่บุคคลไร้สัญชาติ แต่จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยเนื่องจากบิดาและมารดาจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และแยกทางกันตั้งแต่จำเลยยังเด็ก ทำให้ไม่มีการแจ้งเกิดหรือรับรองบุตร ในทางกฎหมายจำเลยจึงตกเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมาตลอดชีวิต จำเลยอยู่อาศัยในประเทศไทยตลอดมา และไม่มีประวัติในทะเบียนราษฎรหรือสัญชาติกัมพูชาเช่นเดียวกัน จำเลยจึงเป็นบุคคลไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่ได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรโดยรัฐใดเลยบนโลก (Stateless person)

2. จำเลยเคยประกอบอาชีพก่อนสถานการณ์โควิดและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
จำเลยประกอบอาชีพรับจ้าง และช่วยงานอยู่ในร้านเสริมสวยย่านห้วยขวาง ก่อนร้านดังกล่าวจะปิดกิจการลง จำเลยอยู่ระหว่างการหางานแต่เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงไม่สามารถหางานได้โดยง่าย  จำเลยเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี  ก่อนจะถูกควบคุมตัว จำเลยใช้ชีวิตปกติอย่างเช่นวิญญูชนทั่วไป ไม่ได้หลบซ่อนหรือหลบหนีแต่อย่างใด โดยถูกจับกุมได้ในที่พักของจำเลย

3. จำเลยไม่เคยเข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการใดๆ จากรัฐไทย การคุมขังจำเลยตอกย้ำถึงปัญหาของคนไร้รัฐ
ตั้งแต่จำเลยเกิดมาไม่เคยเข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการใดๆ จากรัฐไทย ไม่ได้รับการศึกษา เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล เนื่องจากไม่มีสถานะทางทะเบียน ทั้งที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( Universal Declaration on Human Rights) รับรองว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย” เช่นเดียวกับข้อ 16 ​กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีก็ได้รับรองว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน” เช่นเดียวกัน

หากศาลควบคุมตัวจำเลยด้วยเหตุว่าเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี เนื่องจากไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มีสถานะทางทะเบียนย่อมเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาของคนไร้รัฐอย่างจำเลย ในทางตรงกันข้าม หากศาลปล่อยตัวจำเลยไป จำเลยจะได้รับโอกาสการในจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ก.) ซึ่งมาตรา 38 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 วรรคสอง รับรองให้สำนักทะเบียนกลางสามารถจัดทำประวัติบุคคลไม่มีสัญชาติไทยได้  โดยการจัดทำประวัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยชั่วคราว  ในระหว่างที่จำเลยดำเนินการรวบรวมพยาหลักฐานเพื่อพิสูจน์สัญชาติไทยของจำเลยต่อไป

ในการดำเนินการดังกล่าวจะมีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่จำเลยในคดีนี้ ช่วยดำเนินการให้จำเลยเข้าถึงสิทธิดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความจำเป็นต้องหลบหนีหรือหลบซ่อนอีกต่อไป การปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการไม่ควบคุมตัวจำเลย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีในชีวิตอีกด้วย

4. จำเลยไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ
จำเลยไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ พยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วทั้งสิ้น อีกทั้งจำเลยไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่มีการไปทำอันตรายอย่างอื่นอย่างแน่นอน


5. จำเลยยังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา การปล่อยตัวจำเลยจะส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ
จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น  ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่  อย่างไร อีกทั้งการถูกฟ้องคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญามิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า จำเลยที่จะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน 

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ต่างก็รับรองว่า บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด 

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ การใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้จำเลยได้ปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล เพราะบังคับใช้กฎหมายไปตามหลักสากล

6.การควบคุมตัวจำเลยไว้ทำให้จำเลยเข้าไม่ถึงสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีเพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม  การควบคุมตัวจำเลยไว้นั้นย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากไม่เป็นประโยชน์แก่การสอบสวนแล้ว ยังเป็นโทษร้ายแรงต่อตัวจำเลย ซึ่งทำให้จำเลยขาดโอกาสในการดำเนินการทางทะเบียนเพื่อเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอีกด้วย

———————–

6 ก.ค. 2564 นายขวัญน้อง ท่าหาด (จำเลยที่ 15) ซึ่งไม่ได้มาปรากฎตัวต่อศาลและถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 ซึ่งศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ทนายความและนายประกันได้ติดตามตัวจำเลยเพื่อนำมาขอมอบตัวต่อศาลในวันนี้ โดยศาลได้สั่งเพิกถอนหมายจับและมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีนี้ โดยศาลสั่งปรับนายประกัน 5,000 บาทและอนุญาตให้ใช้หลักประกันเดิม


อ่านเรื่องราวจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

บันทึกเยี่ยม ‘แซม สาแมท’ ผู้ชุมนุมรายสุดท้ายที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ

“ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้น” ปากคำผู้สื่อข่าวแนวหน้า ผู้ถูกฟ้อง 6 ข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่ รายงาน #ม็อบ28กุมภา

 “ผมจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท” นักมวยที่อาสาเป็นการ์ดครั้งแรก ถูกทำร้ายก่อนเผชิญ 6 ข้อหาชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา

“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง 

“ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะมาเจออะไรรุนแรงขนาดนี้ มันเป็นฝันร้ายเลยครับ” คำบอกเล่าจากผู้ร่วมชุมนุมโดยสงบ ก่อนถูกกระทืบ จับกุม และตั้งข้อหาใน#ม๊อบ28กุมภา

X