บัญชา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามจากสำนักพิมพ์แนวหน้า วัย 35 ปี โดยจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ตั้งแต่เด็ก เขาชอบคิด เขียน และอ่านหนังสือ พร้อมกับความสนใจการเมือง อยากรู้ว่าผู้ชุมนุมคิดอย่างไร คุยอะไร และสถานการณ์การชุมนุมในพื้นที่จริงเป็นอย่างไร บัญชาจึงเข้าร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมตั้งแต่ปี 2548 ขณะศึกษาในมหาวิทยาลัย
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2551 หรือการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2552-2553 บัญชาลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์อยู่เสมอ ก่อนที่จะหันมาเป็นผู้สื่อข่าวเต็มตัวให้กับสำนักพิมพ์แนวหน้า
ย้อนกลับไปในค่ำคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 บัญชาได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการสำนักข่าวให้ไปเขียนข่าวและถ่ายรูปประกอบเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม ‘REDEM’ หรือ #ม็อบ28กุมภา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมจาก #ม็อบ28กุมภา ของ MThai
การลงพื้นที่ทำข่าวในวันนั้น บัญชาไม่ได้สวมปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชนในการทำข่าวชุมนุม
“ผมอยากได้ภาพในมุมของฝั่งม็อบบ้าง วันนั้นผมเลยไม่ได้ใส่ปลอกแขนไป และถ่ายรูปส่งให้ บก. เป็นระยะๆ จริงๆ ผมทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว”
บัญชาทวนว่า วันนั้นเขาไปตัวเปล่า มีเพียงแว่นกันน้ำ หมวกปีกกว้าง หน้ากากอนามัย และเครื่องมือที่ใช้ในการทำข่าว คือโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เขาเดินทางจากหลักสี่และลงพื้นที่ทำข่าวอยู่บริเวณหอการค้า ระหว่างนั้นเขาเดินถ่ายรูป รับฟังว่าผู้ชุมนุมคุยอะไร และเดินตามกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังเคลื่อนขบวนไปยังหน้าราบ 1
ในช่วงแรกเหตุการณ์ยังสงบ ดำเนินไปด้วยดี ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปถึงหน้าตู้คอนเทนเนอร์ เผชิญกับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน บัญชาได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมคอยเตือนกัน “อย่าใช้ความรุนแรง อย่ายั่วยุเจ้าหน้าที่”
ครู่ต่อมา เขาเริ่มเห็นการใช้แก๊สน้ำตา และได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนว่ามีเหตุปะทะกันบริเวณหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ในเวลาประมาณ 21.00 น.
“ตอนนั้นผมยังไม่ได้กลับ เพราะได้ยินฝั่งตำรวจตะโกน ‘ให้เวลาสิบนาที มาเอามอเตอร์ไซต์ไป เดินมาตัวเปล่า เราจะไม่จับ’ แต่สักพักมีเสียงผู้ชุมนุมหรือใครก็ไม่รู้ตะโกนสวนว่า ‘อย่าไป! ไปเดี๋ยวโดนจับ!’ พอเราอยู่ตรงนั้น เราเลยอยากรู้ว่าตกลงมีการจับกุมหรือไม่มี หรือแค่พูดต่อๆ กัน
“ตอนนั้นแบตมือถือเราหมดแล้ว แต่เราอยากรู้ว่าสุดท้ายมันเป็นยังไง อยากรู้ว่าจับหรือไม่จับ อย่างน้อยมันก็เป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามองเห็น”
ภาพกลุ่มผู้ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา จาก Thaipost
ท่ามกลางสถานการณ์อันคลุมเครือไม่แน่ชัด บัญชาตัดสินใจทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อ เขาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าปั๊มเชลล์ เขาไม่คาดคิดว่า วินาทีต่อมาเขาจะถูกเจ้าหน้าที่เข้าทำร้ายและจับกุมโดยไม่ทันตั้งตัว
“ผมไม่คิดว่าตำรวจจะวิ่งข้ามจากหน้าราบ 1 มาถึงฝั่งปั๊มเชลล์ เพราะว่าผมเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนตะโกน ยืนดู ยืนมุงอะไรกันอยู่บนเกาะกลาง ผมนึกว่าเหตุการณ์มันจะจบแค่นั้น แต่ที่ไหนได้ ตำรวจวิ่งมาถึงฝั่งปั๊ม ด้วยความที่ผมตกใจ ผมก็วิ่งหนี แล้วผมก็โดนจับ
“ผมได้ยินว่า เขาบอกให้เลิกชุมนุม แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่ด้วยความที่ผมมองว่า เราไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะผมมั่นใจตัวเองว่าเราไม่ได้ถือสิ่งของไปขว้างปา ไม่ได้ไปตะโกนยั่วยุด่าทอเจ้าหน้าที่ เราแค่เดินไปเดินมา วิ่งไปวิ่งมา ถ่ายรูปเท่านั้นเอง คงไม่โดนจับ และเราก็มาตั้งหลักตรงปั๊มเชลล์แล้ว ไม่ได้อยู่ตรงเกาะกลางถนน จุดที่อาจจะเกิดความรุนแรง”
ถึงแม้บัญชาแสดงตัวเป็นสื่อมวลชน ผู้มาปฎิบัติหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเข้าจับกุม
“เจ้าหน้าที่วิ่งเข้ามารวบตัว กดผมลงพื้น จำได้ว่าโดนเตะไปทีหนึ่ง เพราะว่าร่วงลงกับพื้น จากนั้น ถูกกระบองตี แต่ว่าเลือดไม่ออก ผมตะโกนบอกเขาว่า ‘พี่ ผมเป็นสื่อ ดูบัตรผมได้’ สักพักเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนคนหนึ่งก็บอกว่าพอแล้วๆ แต่ผมก็ยังโดนจับมัดมือด้วยลวดพลาสติก (Cable Tie) อยู่ดี”
หลังจากนั้น เขาถูกควบคุมตัวไปรวมกับผู้ชุมนุมอีก 18 คน ข้างโรงพยาบาลทหารผ่านศึก จนถึงเวลาประมาณ 23.00 น. บัญชาถูกควบคุมตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังของตำรวจขนาดหกล้อ ระหว่างรออยู่ในรถ เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิ ไม่ได้แจ้งว่าจะพาไปที่ใด และไม่ได้แจ้งว่าสามารถติดต่อใครได้หรือไม่
หลังจากมาถึงกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด. 1) จังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่ได้เรียกผู้ถูกจับกุมไปถ่ายรูป ทำประวัติบุคคล รวมถึงมีการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยนิติเวชจากโรงพยาบาลตำรวจ
ระหว่างที่ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ แม้บัญชาจะแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุการณ์ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ยังคงตั้งข้อกล่าวหาถึง 6 ข้อหา รวมไปถึงข้อหามั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหมดของเขา ไม่ได้เป็นเช่นข้อกล่าวหาเหล่านั้นเลย
ระหว่างเริ่มมีข่าวสารออกไปว่ามีการควบคุมตัวผู้สื่อข่าว และเขายืนยันกับทางตำรวจ ทำให้บัญชาได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ในชั้นตำรวจ ไม่ได้ถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลเหมือนกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ
“ผมเข้าใจว่า วินาทีที่จับกุม ตำรวจไม่รู้ผมเป็นใคร ผมไม่ได้ติดปลอกแขน เวลานั้นใครที่วิ่งไปวิ่งมา เขาจับหมด ผมเข้าใจ ผมรับได้ ไม่ได้ว่าเขา แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถาม ก็คือ เมื่อไปถึงที่ ตชด. แล้ว ผมยืนยันว่าผมเป็นสื่อ เขาสัมภาษณ์ผม ถามข้อมูล ผมก็แจ้งไปแล้วว่าผมเป็นสื่อจริง แต่เขาไม่สอบผมเพิ่ม หรือให้โอกาสผมแสดงหลักฐาน ผมยืนยันว่ามาทำตามหน้าที่ ได้ส่งรูปและข้อมูลให้กอง บก. จริง
“ถ้าเขาสอบเพิ่ม อาจไม่มีการตั้งข้อหาก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ ตชด. ไม่สนใจอะไร ไม่คิดจะถามเพิ่มเติม”
นี่คือการถูกจับกุมครั้งแรกของบัญชา แม้กายไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก แต่จิตใจของเขาได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย
“พอโดนจับ ผมก็เริ่มรู้สึกว่าผมควรจะกลับไปที่ม็อบอีกไหม ถ้าพลาดซ้ำสองมันจะทำให้คนข้างในต้นสังกัดเดือดร้อน ผมประมาท ไม่คิดว่าจะโดนจับรอบนี้
“เพราะผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปตะโกนยั่วยุเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ไปขว้างปาสิ่งของ ไม่มีเลย”
16 เมษายน 2564 ในการนัดรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในคดี อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องบัญชาต่อศาลอาญา จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวในการชุมนุม บัญชากลับต้องใช้เวลาสำหรับการต่อสู้คดีในศาลต่อไป
อ่านเรื่องราวจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา
ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา
“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง