จับหนุ่มวัย 28 ปี แจ้งข้อหา ม.112 สองคดีรวด เหตุปาสีแดงใส่รูป ร.10 ในพื้นที่ปทุมธานี-นนทบุรี

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 13.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีของนายสมพล (นามสมมติ) หนุ่มวัย 28 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจากบ้านพักย่านดอนเมือง กรุงเทพมหานาคร ในช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. โดยทราบว่าเจ้าหน้าที่มีการแสดงหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุเกี่ยวกับปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

ญาติของสมพล ผู้แจ้งถึงการจับกุมระบุว่า ในตอนแรกตำรวจได้จับกุมตัวสมพลไปยัง สภ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากเป็นคดีของท้องที่ดังกล่าว โดยญาติได้ติดตามไปด้วย แต่ต่อมา ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้พาตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ โดยไม่รอทนายความติดตามมา และตำรวจยังตรวจยึดโทรศัพท์มือถือสมพลไป ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ ระหว่างนั้นก็ไม่ทราบว่าตำรวจนำตัวเขาไปที่ใดอีกบ้าง

ต่อมาเวลา 16.00 น. หลังทนายความติดตามไปที่ สภ.ปากเกร็ด ก็พบว่าตำรวจยังไม่นำตัวผู้ต้องหากลับมาที่สถานีตำรวจ จนเวลาประมาณ 17.10 น. ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้พาตัวสมพลกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด พร้อมแจ้งทนายความว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. 2565 ต่อไป แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมและตรวจค้นเรียบร้อยไปแล้ว โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

จากการตรวจสอบบันทึกจับกุม พบว่าได้จัดทำขึ้นที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 โดยการจับกุมอ้างอำนาจตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 ทั้งสองหมาย

การจับกุมนำโดย พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ รองผู้กำกับสืบสวน 2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 13 นาย, จาก สภ.ปากเกร็ด จำนวน 6 นาย, จาก สภ.เมืองปทุมธานี จำนวน 4 นาย และจาก บก.ปอท. จำนวน 2 นาย รวมตำรวจชุดจับกุมกว่า 26 นาย

หมายจับของทั้งสองศาล ระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหา “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

การเข้าจับกุม ยังมีการแสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 เข้าตรวจค้นบ้านของนายสมพล ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดของกลางรวมจำนวน 9 รายการ อาทิ รถจักรยานยนต์, หมวกนิรภัย, เสื้อผ้า, รองเท้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป

หลังจากควบคุมตัวสมพลไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ในคืนที่ผ่านมา ช่วงสายวันที่ 20 ก.พ. 2565 พ.ต.ท.ประมวล นวลงาม พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด, พ.ต.อ.บุญยิ่ง บัณฑิตไทย และ ร.ต.อ.ตูชัย สุระเสียง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนสมพล ในสองคดีที่เกิดขึ้นในสองท้องที่ โดยมีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำด้วย

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาสรุปรวมกันระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ตำรวจภูธรภาค 1 ได้สืบสวนพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ถูกสาดสีจำนวน 6 รูป ต่อมาตรวจสอบในพื้นที่รับผิดชอบพบว่ามีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 จุด ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ถูกสาดสี แยกเป็นคดีในพื้นที่ สภ.เมืองปทุมธานี เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้าตลาด Awake (อเวค) อำเภอเมืองปทุมธานี และคดีในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากการสืบสวนพบว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมีนายสมพล เป็นผู้ก่อเหตุ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ

ทั้งนี้ในรายละเอียดข้อกล่าวหารายคดี ยังระบุว่าเหตุการณ์ปาสีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ก.พ. 2565 มีผู้ออกใช้รถจักรยานยนต์ ตระเวนใช้ถุงพลาสติกบรรจุสีน้ำสีแดงปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้เปรอะเปื้อนได้รับความเสียหาย

ข้อกล่าวหาอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำมิบังควร ไม่ให้ความเคารพเทิดทูลในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์เป็นประมุขของประเทศ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย กระทำของผู้ต้องหาสร้างความเสื่อมเสียพระเกียรติพระองค์ท่าน หน่วยงานราชการหรือท้องถิ่นต่างๆ ได้จัดทำพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเคารพ พระบรมฉายาลักษณ์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์

สมพล ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้สมพลพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ต่ออีกหนึ่งคืน โดยจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีและศาลจังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 ทำให้ต้องเตรียมยื่นขอประกันตัวในทั้งสองคดีต่อไป หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง

ศาลให้ฝากขัง ก่อนให้ประกันด้วยวงเงิน 200,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ฝากขังได้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล

ต่อมา เวลาประมาณ 15.30 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยนัดยื่นคำให้การเพิ่มเติมในวันที่ 21 มี.ค. 2565

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หากนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอก จนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 173 คน ใน 181 คดี 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

.

X