ศาลสั่งปรับคนละ 2,000 บาท เฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยกฟ้องข้อหาอื่นทั้งหมด คดีประชาชน 38 คน #ม็อบ28กุมภา64 เดินไปราบ 1 เห็นว่าใช้สิทธิเสรีภาพส่งเสียงถึงรัฐบาล

30 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา2564 ของประชาชนและนักกิจกรรมรวม 38 คน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย), มาตรา 216 (เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก) และ มาตรา 140 (ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยมีหรือใช้อาวุธ) 

ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 38 คนมีความผิดเฉพาะฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นจากนี้ศาลให้ยกฟ้อง

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากกการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ของกลุ่ม RESTART DEMOCRACY หรือ REDEM ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยนัดหมายเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ภายในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กฯ รักษาพระองค์ที่ 1 เพื่อเคลื่อนไหวถึง 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ 2. ไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมกับการเมือง 3. เรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

กระทั่งในเวลากลางคืนของวันที่ 28 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมประชาชนรวม 22 ราย ในจำนวนผู้ถูกจับกุม 22 รายนั้น แบ่งเป็นประชาชน 18 ราย และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 4 ราย โดยผู้ถูกจับกุมทั้ง 18 รายถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกการจับกุม และได้ทำหนังสือคัดค้านการควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถานที่ควบคุมตัวโดยมิชอบ

นอกจากนั้น ตำรวจยังมีการจับกุมแซม สาแมท บุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 แจ้งข้อหาในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งยังแจ้งข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยเฉพาะด้วย ทั้งในตอนแรก ไม่มีทนายความทราบเรื่องการจับกุม ทำให้เขาถูกนำตัวไปขอฝากขัง และไม่ได้ประกันตัวอยู่เป็นระยะเวลา 102 วัน จึงได้รับการประกันตัว

ต่อมาตำรวจ สน.ดินแดง ยังออกหมายเรียกนักกิจกรรม-ประชาชน-เยาวชนรวม 19 ราย ซึ่งไม่ได้ถูกจับกุมในวันดังกล่าว ให้เข้ารับทราบข้อหาในลักษณะเดียวกัน ในช่วงวันที่  7-8 เม.ย. 2564

ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีประชาชนรวม 19 ราย ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชน 18 ราย ซึ่งถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ และ “แซม สาแมท” ด้วย

ต่อมาวันที่ 7 ต.ค. 2564 พนักงานอัยการยังมีความเห็นสั่งฟ้องคดีกับประชาชนจำนวน 19 รายที่เหลือ และได้ยื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการร่วมกระทำผิดด้วยกันและพยานหลักฐานที่จะใช้นำสืบเป็นชุดเดียวกัน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน ทำให้มีจำเลยรวม 38 คน

ทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และศาลอาญาทำการสืบพยานไปในตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2566 จนมาสิ้นสุดเมื่อวันที่่ 31 ต.ค. 2566 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาต่อมา

ในวันนี้ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 901 ศาลอาญา รัชดาฯ ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา โดยสรุประบุว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยมี 4 ประเด็น ดังนี้

1. ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยมีหรือใช้อาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าเห็นจำเลยทั้ง 38 คนทำร้ายเจ้าหน้าที่ อีกทั้งได้ความจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่มาเบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ร่วมชุมนุมได้หมดทุกคนว่าใครจะขว้างปาสิ่งของหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่บ้าง 

และเมื่อพิจารณาจากภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าว พยานหลักฐานก็มีเพียงภาพการจับกลุ่มรวมกันของผู้ชุมนุม ไม่ปรากฏภาพการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 38 คนกระทำความผิดตามข้อหานี้

2. ข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เห็นว่า จากคำเบิกความของโจทก์ได้ความในทำนองเดียวกันว่า ผู้ชุมนุมมีการรวมตัวกันเพื่อที่จะเดินไปบ้านพักพลเอกประยุทธ์ โดยมีจุดประสงค์คือต้องการส่งเสียงถึงรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมได้ประกาศไว้ อันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างหนึ่ง ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทั้งไม่มีการทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายร่างกายบุคคลอื่นในระหว่างการชุมนุม  

ส่วนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นคงเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีการตั้งรั้วกีดกันผู้ชุมนุม ซึ่งกินพื้นที่จราจรบางส่วน จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ การกีดขวางการจราจรจึงถือว่าเกิดขึ้นอยู่ก่อน ไม่ได้เกิดจากผู้ชุมนุมแต่เพียงฝ่ายเดียว การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน และไม่ผิดตามข้อหานี้ 

เมื่อไม่ผิดตามข้อหาดังกล่าวแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่มีการสั่งให้เลิกการกระทำ ผู้ชุมนุมจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง และไม่มีความผิดตามข้อหามาตรา 216 ด้วย

3. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าช่วงเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการงดเว้นการทำกิจกรรม และบริเวณกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กฯ รักษาพระองค์ที่ 1 ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุม อีกทั้งตามภาพเหตุการณ์ยังปรากฏผู้ชุมนุมเป็นจำนวน 600-800 คน ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีความแออัด ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งพยานโจทก์ไม่มีเหตุให้สร้างหลักฐานเท็จมาปรักปรำจำเลย และจำเลยบางส่วนก็ได้เบิกความยอมรับว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวจริง จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง

4. ส่วนจำเลยที่ 19 (แซม สาแมท) เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

เห็นว่าการจะพิจารณาว่าบุคคลใดจะมีสัญชาติไทยได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจากคำเบิกความของจำเลยที่ 19 ที่เบิกความว่า บิดาของตนเป็นคนไทย แต่เหตุที่ตนไม่มีเอกสารรับรองการเป็นคนไทย เนื่องจากตอนเกิดบิดาและมารดาของตนไม่ได้มีการไปแจ้งเกิดที่อำเภอ จึงทำให้ตนไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ ทำให้เป็นบุคคลไร้สัญชาติ และไม่ได้มีการรับรองสถานะการเป็นคนไทย 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนสัญชาติไทย หรือบิดาของจำเลยไม่ใช่คนสัญชาติไทย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ไม่มีความผิดตามข้อหานี้

การกระทำของจำเลยทั้ง 38 คนจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.กฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9, มาตรา 18 และ พ.ร.บงโรคติดต่อฯ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 (1), มาตรา 52 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในบทกฎหมายที่หนักที่สุดคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นจากนี้ให้ยก

รวมจำเลยทั้งหมดต้องชำระค่าปรับรวมกัน 76,000 บาท

ทั้งนี้สำหรับการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา64 คำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์นี้ระบุตรงกันว่าระหว่างเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุม หลายคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายขณะเข้าจับกุม บางส่วนถูกยิงด้วยกระสุนยาง ถูกรุมกระทืบ ก่อนถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ บก.ตชด.ภาค 1 

ขณะที่ยังมีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้า ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าวในวันดังกล่าวถูกจับกุมมาด้วย และเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินคดีด้วยเช่นกัน บางคนเป็นเพียงพนักงานส่งอาหารที่ไปยืนดูเหตุการณ์ แต่ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

อ่านเรื่องราวบางส่วนจากผู้ถูกจับกุมเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา64

“ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ตลอดเหตุการณ์ใช้เพียงมือถือ วิ่งไปวิ่งมาถ่ายรูปเท่านั้น” ปากคำผู้สื่อข่าวแนวหน้า ผู้ถูกฟ้อง 6 ข้อหาจากการปฏิบัติหน้าที่ รายงาน #ม็อบ28กุมภา

 “ผมจำไม่ได้ว่าโดนกระทืบไปกี่ครั้ง แต่ที่แน่ๆ โดนทั้งไม้และรองเท้าคอมแบท” นักมวยที่อาสาเป็นการ์ดครั้งแรก ถูกทำร้ายก่อนเผชิญ 6 ข้อหาชุมนุม #ม็อบ28กุมภา

ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา

“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง 

“ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะมาเจออะไรรุนแรงขนาดนี้ มันเป็นฝันร้ายเลยครับ” คำบอกเล่าจากผู้ร่วมชุมนุมโดยสงบ ก่อนถูกกระทืบ จับกุม และตั้งข้อหาใน#ม๊อบ28กุมภา

X