‘แซม สาแมท’: 96 วันของนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้  กับวีรกรรมล้านแปดของกะเทยในเรือนจำ 

ชื่อของแซม สาแมท หรือ “อาร์ท” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยังเป็นลูกครึ่งไทย-กัมพูชา แต่ไม่ได้ถูกรับรองในประเทศไหน อาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่สำหรับเพื่อนๆ ผู้ถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมืองแล้ว แซมย่อมเป็นที่จดจำไม่มากก็น้อย เขาเป็นคนร่างเล็ก พูดจาฉะฉาน แววตาฉายให้เห็นความมุ่งมั่นและแข็งกร้าวอยู่ในที เนื่องด้วยประสบการณ์ในชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเองมาโดยตลอดจากการเป็นบุคคลไร้สัญชาติ แม้เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี

‘แซม’ เป็นที่รู้จักครั้งแรก ภายหลังถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาวางขวางหน้ากรมทหารราบที่ 1 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ในคดีนั้นเขาได้รับการอนุญาตประกันตัวหลังถูกคุมขังกว่า 102 วัน ในระยะเวลาเกือบ 1 ปีหลังจากนั้น แซมก็เทียวเข้าเทียวออกเรือนจำ รวม 4 ครั้งแล้ว โดยแต่ละครั้งกินระยะเวลาหลายเดือน

เฉพาะการถูกคุมขัง 2 ครั้งหลังที่ต่อเนื่องกัน รวมระยะเวลา 96 วันนั้น ก็ชวนให้เขาแปลกใจไม่น้อย เริ่มแรกแซมถูกจับกุมและกล่าวหาว่าเป็นผู้ราดน้ำมันใส่ศาลพระภูมิ ที่หน้า สน.ดินแดง ในงานกิจกรรมไว้อาลัย “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกยิงหน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 โดยถูกตั้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์, วางเพลิงเผาทรัพย์, เป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ภายหลังถูกตำรวจ สน.ดินแดง ฝากขังและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แซมถูกขังจนครบ 4 ผัด (48 วัน) ก่อนได้รับการปล่อยตัวภายหลังอัยการยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม แซมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง อายัดตัวในทันทีที่ก้าวเท้าออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 โดยไม่ทันได้ทักทายเพื่อนๆ

แซมพบว่าข้อหาที่เขาต้องเผชิญจากหมายจับนี้ กลับเป็นเหตุจากวันเดิมคือวันที่ 29 ต.ค. 2564 แต่คราวนี้แซมถูกกล่าวหาว่า ทำให้กระจกรถคุมขังแตกด้วยรองเท้าส้นสูงที่เขาใส่มา เป็นอีกครั้งที่เขาถูกแจ้งข้อหา “ทำให้ทรัพย์สาธารณประโยชน์เสียหาย” พ่วงด้วย “เป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งก็ได้ถูกตำรวจแจ้งไปแล้วในคราวก่อน 

แซมไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวและถูกขังจนครบ 4 ผัดเป็นครั้งที่ 2 เฉพาะในข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าว” นั้น แซมถูกตำรวจแจ้งข้อหามาแล้ว 3 ครั้ง โดยเขาถูกแจ้งข้อหานี้ครั้งแรกในคดี #ม็อบ28กุมภา ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาล 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในหนังสือลงวันที่ 1 ก.พ. 2565 ของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ถึง สน.ทุ่งสองห้อง เรื่องส่งสำนวนสอบสวนคืนนั้น ได้ระบุว่า กระจกกั้นระหว่างห้องควบคุมกับห้องผู้โดยสารของรถยนต์ควบคุมผู้ต้องหาของ สน.บางโพ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) มิใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 

อัยการจึงเห็นว่าการกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดฐานทําให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ส่วนความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 มีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งอยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลแขวง ไม่ใช่ศาลอาญา

ในส่วนความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหานี้ต่อศาลอาญาไว้แล้ว เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ทางพนักงานอัยการจึงส่งสำนวนคืนให้กับ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

กรณีข้างต้นจึงเห็นได้ว่า การที่แซมถูกคุมขังถึง 48 วันในครั้งที่ 2 เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากมีปัญหาทางข้อกฎหมายและมีความซ้ำซ้อนกับคดีที่เขาถูกสั่งฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถือโอกาสชวนแซมมาพูดคุย ถอดบทเรียนชีวิตในเรือนจำอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ผ่านมาเราเพียงได้สนทนากับเขาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ บทสนทนานี้เกิดขึ้นภายหลังเขาถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 11feb22sam6sq-1024x1024.jpg

.

จาก “น้ำก๊อกเป็นน้ำกรอง แต่มันยังไม่พอ”: พัฒนาการน้ำดื่มในเรือนจำผ่านสายตาแซม

แซมเล่าว่า เนื่องจากเขาเข้าเรือนจำหลายครั้ง การเข้าเรือนจำในช่วงปี 2563 กับ 2564 เขามองเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไป ‘เพียงเล็กน้อย’ แต่ก็ยังดีกว่าไม่เปลี่ยนเลย

ในช่วงปี 2563 น้ำที่ทุกคนกิน คือต้องกินน้ำจากก๊อกห้องน้ำ เปิดแล้วก็ใส่แก้วกิน ดีที่ตอนนั้น พี่อานนท์ พี่ไมค์ ไผ่ เพนกวิน เรียกร้องไว้เมื่อปี 63 แซมเห็นว่าอาหารการกินมันเปลี่ยนแปลงไป มันดีขึ้น มันแสดงให้เห็นว่าที่เราเรียกร้องกันไป นี่มันมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น บางเมนูก็ทานได้ อย่างข้าวต้มกับปลาเค็มนี่พอทานได้ อย่างไข่น้ำนี่ทานได้ รู้สึกว่าไข่น้ำมันจะมาแทนแกงส้ม ที่ผู้ต้องขังจะกลัวมาก” 

เมื่อเราสอบถามถึงอาหาร ของเยี่ยมที่ถูกซื้อส่งผ่านเข้าไปถึงพวกเขาในแต่ละวัน แซมเล่าให้ฟังว่า

“เนื่องจากแซมมักปวดท้องบ่อยๆ หมอจึงบอกว่าให้กินข้าวให้ตรงเวลา จึงจะหายเจ็บท้อง แซมก็มองนาฬิกาแล้วสวนกลับไปหาหมอทันทีเลยว่า หมอครับ หมอบอกให้กินข้าวตรงเวลา บางวันข้าวมาเก้าโมงครึ่ง บางวันบ่ายหนึ่ง ที่สำคัญ อาหารที่เพื่อนๆ ซื้อส่งมาให้จากข้างนอก กว่าจะมาถึงบางวันก็เสีย คือเราเข้าใจว่ามันเป็นคุกแหละ แต่ที่มาบอกให้กินข้าวให้ตรงเวลา ก็ให้มันมีเหตุผลหน่อย”

แซมเริ่มเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงไปของเรื่องน้ำและอาหารในเรือนจำ

“พวกที่เข้ามาในตอนนั้น (ช่วงปี 2564) ก็พูดกันว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีเครื่องกรองน้ำ ซึ่งก็มีนะ มีจริงๆ เป็นเครื่องกรองขนาดเล็กๆ (เขาพยายามใช้มือกะขนาดให้ดู ประมาณสมุดเล่มหนึ่ง) แล้วคน 20 คนต่อหนึ่งห้อง รวมๆ 200 – 300 คนมันจะไปพออะไร แซมประเมินนะ คือกะเทยคนหนึ่งนั่งมองดูมันค่อยๆ ไหลจะได้กี่ขวด 


“แต่ละแดนจะไม่เหมือนกัน ซึ่งมันเป็นแบบที่เดินไปเห็นพอดี เขาเปิดน้ำจากก๊อกเลย แล้วบอกเราว่าน้ำกรอง แล้วไม่ใช่ว่ากรองได้ตลอด แต่เขาถ่ายรูปเลยนะว่าเป็นน้ำกรองหยดมา แซมก็ถามเขานะว่าเราลองวิเคราะห์ซิ น้ำไหลแค่นี้ 20 – 30 ถัง มันพอไหม เขาก็พูดอะไรไม่ออก เพราะว่ามันเป็นความจริง แล้วน้ำก๊อกแบบไม่ใช่น้ำประปา มันเป็นน้ำบาดาลแบบมีกลิ่นโคลน กลิ่นดิน คือแซมกินแล้วเจ็บท้อง เขากรอกน้ำจากสายยางรดที่ต่อก๊อกใส่ลงในถัง คือเขาไม่ได้สนใจว่าผู้ต้องหาคุณเป็นใครมาจากไหน เขาก็ทำตามที่เขาเคยทำกันมา ซึ่งแต่ละกิจกรรมนี่แย่มาก” 

.

ใช้เงินในเรือนจำได้ แต่ต้องมีค่าบริการ

นอกจากเรื่องอาหารและความสะอาดของน้ำดื่มที่ทำให้เขาต้องตาโต แซมยังเล่าย้อนไปถึงความไม่เป็นธรรมในเรือนจำที่เขาได้สัมผัสช่วงเวลาที่ถูกคุมขังอยู่อีกด้วย

“มันมีบิลอาหารมาให้ เวลาที่มีคนซื้อให้ แต่คือโดนกันเยอะ บางทีก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะว่ามันไม่สามารถตรวจสอบได้ เราก็โอเคทำบุญ เราเป็นคนที่คิดเยอะ คือไม่ได้คิดว่าต้องส่งให้ฉันนะ แต่คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า กองทุนเป็นอะไรหรือเปล่า คิดจนพี่ไมค์ด่าว่า มึงจะคิดอะไรหนักหนา คือแซมกับพี่ไมค์สนิทกันมาก แบบเป็นแม่ลูกกัน กับพี่อานนท์เราจะคุยกัน

แซมนี่โดนหนักสุดนะ เพราะไม่ใช่แกนนำ ตัวแซมโดนสารพัด เจ้าหน้าที่ก็จะเลือกปฏิบัตินะ คือวันนั้น แดนสองเป็นแดนกักโรคก็เข้าใจแหละ แต่สวัสดิการอย่างหนึ่งของราชทัณฑ์คือ ซื้อของ เขาจะเรียกร้านค้าส่งของ ซึ่งเป็นเงินของพ่อๆ แม่ๆ ของพวกเรา ทนายของพวกฉันส่งมา แต่เจ้าหน้าที่ของแดนสอง จะบอกอยากกดของใช่ไหม อยากกด 600 กดได้ แต่มีค่าบริการ

“เขาจะรู้เลยว่าในบัญชีคนไหนมีเงินเยอะ เขาจะเก็บตามเงิน คือกาแฟใช้เป็นเงินสด กาแฟหนึ่งซองใช้เป็นเงิน 125 บาท ประมาณนี้ ขั้นต่ำก็ 20 บาท เป็นน้ำอัดลมเอส แซมก็รู้สึกว่าจับเราแล้วยังมารีดไถเราอีกเหรอ เรารู้เลยว่านี่คือการผิดวินัยขั้นร้ายแรงของราชทัณฑ์ แต่ทางผู้คุมใหญ่ๆ เขาก็คงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่แซมอยากให้เขารู้ นักโทษบางคนเขาเป็นผู้ชายที่สูบบุหรี่ ก็เลยมีการเอาไปแลกบ้าง ผู้คุมก็แอบมาขายให้บ้าง หลังๆ พอผู้คุมเขาเห็นแซมทำเรื่องไว้มากมาย เขาก็กลัวละไม่สูบบุหรี่ให้แซมเห็น” 


นอกจากเรื่องคุณภาพของน้ำและอาหารในเรือนจำที่แซมตั้งข้อสังเกตแล้ว ยังมีเรื่องสุขอนามัยในเรือนจำ ขณะที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก 

“แซมเรียกร้องเรื่องของสบู่ หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากแจกวันละชิ้น แซมรู้สึกว่ามันไม่เพียงพออยู่แล้ว แล้วผ้าห่มคือผู้ต้องขังเยอะอยู่แล้ว สมมติคนนี้ได้ประกันตัวออกไป ก็เอามาให้คนนี้ใช้ ไม่ได้ซักเลย มันก็ปนกันอยู่แบบนั้นแหละ โควิดมันก็ระบาดอยู่อย่างนั้นแหละ สบู่ก้อนหนึ่ง สบู่นกแก้วก้อนหนึ่งให้ใช้ 37 วัน”

“สบู่ขอได้นะ แต่ขอวันนี้ ได้อีกที 20 วัน หรือ 30 วัน แล้วหน้ากากอนามัยนี่แจกวันละชิ้น ถามว่าวันละชิ้นนี่มันพอไหมสำหรับการดูแลผู้ต้องขัง การกักโรคก็เหมือนกัน แซมสงสัยมาก ห้องหนึ่งประมาณสี่เหลี่ยม แล้วก็มีห้องน้ำ มีบล็อก แล้วก็มี 16 คนอยู่ด้วยกัน แล้วใน 16 คนนี้ ถ้ากักไปแล้วมีคนหนึ่งเป็น ให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ แล้วการที่เอามารวมกันแบบนี้คือการเพาะเชื้อ ไม่ใช่การป้องกันเชื้อ เพราะใน 16 คนนี้ ถ้าเกิดมีคนติดคนหนึ่ง ที่เหลือจะรอดไหม ก็ไม่รอด ติดไปเรื่อยๆ แซมนับหนึ่ง 4 – 5 รอบ 42 วันนะ แซมกักโรคอย่างในห้องแบบนั้น ซึ่งแซมถามว่าคนน่ะ ต้องอยู่ในห้องแบบนั้น 24 ชั่วโมงเกือบ 50 วัน

เมื่อถามต่อว่าทั้งหมดทั้งมวลหากคิดเป็นคะแนนแล้ว แซมอยากจะให้คะแนนราชทัณฑ์เท่าไหร่ แซมนิ่งคิดก่อนตอบว่า

“ตอนนี้ก็ 5 เต็ม 10 แล้วกัน เทียบกับครั้งแรกที่แซมติดคุก ตอนนั้นติดลบเลย 5 นี่ก็ดีขึ้นมากๆ แล้วนะ”

.

.

ทั้งเศร้า ทั้งแสบ ตลอด 96 วัน

เราพอได้ยินเรื่องการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในเรือนจำของแซมมาจากทนายความที่เข้าเยี่ยมมาบ้าง แต่คงไม่น่าสนใจเท่าได้ฟังจากเจ้าตัวเอง เขาเกริ่นว่าพี่ๆ แกนนำล้วนเป็นห่วงเขา เนื่องจากเขาอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่มีเรื่องเยอะ!

“แซมเข้ามาวันแรก คืนแรกเลย (29 ต.ค. 2564) มีคนตายเพราะชักแล้วเปิดกุญแจห้องขังไม่ทัน คือในแต่ละแดนจะมีเวลาเปิด-ปิด สามโมงเย็นปิดขัง ห้าโมงเย็นปิดขัง ซึ่งกุญแจจะต้องถูกเก็บไว้ที่พัศดี แล้วพัศดีอยู่ไกลมาก วันนั้นมีคนชัก คนห้องตรงข้าม แซมก็ตะโกน สุดท้ายเขาก็ตายวันนั้น เขาตายต่อหน้าต่อตาขณะที่เขากำลังชักอยู่ แต่พอเจ้าหน้าที่มาก็มัวถามว่าเป็นใคร ชื่ออะไร หมายเลขอะไร เขาบอกว่า ‘ถ้าเกิดไม่ถามแล้วจะรู้ได้ไงว่าคือใคร’ แซมก็ว่า ‘จะไม่รู้ได้ไง เขาดูกล้องตลอดเวลา’”

“นี่แหละเป็นสิ่งที่แซมพูด พยายามผลักดัน มันไม่ใช่เฉพาะแค่ข้างนอก แต่คนข้างในควรทำให้เป็นตัวอย่าง แซมเป็นนักสู้ แซมเห็นบุคคลหนึ่งกำลังโดนทำร้ายร่างกายอยู่ต่อหน้าต่อตา แซมก็เลยช่วยเขา ตะโกนช่วยเขา วันนั้นแซมโดนวินัยว่าโวยวายทำให้ผู้อื่นนอนไม่ได้

ตอนนั้นทั้งแดนมันมี 20 ห้อง ทุกคนช่วยกันหมด ตอนแรกไม่มีใครช่วยแซม แซมบอกผู้ชายช่วยแซมด้วย มีคนกำลังจะตายแล้ว มีคนตะโกนมาบอกว่าแซมเป็นนักเรียกร้อง ให้แซมช่วยหน่อย ในเมื่อเขาขอความช่วยเหลือจากแซม จะนิ่งเฉยได้ยังไง ก็เลยตะโกนแบบดังสนั่น ถ้ามีคนได้ฟังเสียงนั้นคงจะน้ำตาไหล แล้วผู้คุมก็มาด่าบอกว่า ‘เหนื่อยใจกับกิจกรรมของแซม สาแมท คนต่างด้าว อยู่ในประเทศไม่ได้รับอนุญาต แล้วทำไมมาเรียกร้องอะไรนักหนา’” 

“แซมก็ว่าแซมเป็นคนอยู่บนโลกใบนี้หรือเปล่า แซมเลือกเกิดไม่ได้ ผู้ต้องขังคนอื่นๆ เขาก็เห็นใจแซมนะ คือแบบแซมป่วย โดนทำร้าย ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ เขาดูแลแซมดีมาก เวลาแซมเรียกร้องไม่อยากให้ละเลยพวกเขา เขาคือมนุษย์ เขาคือมวลชนของเรา”

นั่นเป็นรอบแรกที่แซมถูกลงโทษตักเตือนเรื่องการทำเสียงดังในห้องขัง 


“มีอยู่วันหนึ่งเขาเอาน้ำมาให้ห้องแซมดื่ม ถังเดียว 16 คน (ถังขนาด 20 ลิตร) แซมก็ขอเพิ่ม บอกพี่ขวดเดียวมันไม่พอหรอกเนี่ย เขาก็บอก “มึงแดกให้หมดนะ” แซมก็เลยยกเทใส่ชักโครกแล้วบอก “หมดแล้วพี่ เอามาให้แซมใหม่” แบบกลัวโดนเขากระทืบเหมือนกันนะ แต่เราต้องทำให้เขารู้ว่าอย่าพูดแบบนี้อีก 


เรื่องที่แซมถูกลงโทษทางวินัยยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการมีปากเสียงกันในเรือนจำ

“มีคนมาด่าแซม เขาเหมือนเป็นคนสติไม่ดี เขาไม่ค่อยเต็มอะไรประมาณนี้ เขามาด่า คือแซมกินยาคลายเครียดด้วย กินยานอนหลับด้วย พอตื่นมา เพื่อนก็มาบอกว่ามีคนมาด่าแซม คือเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่มาก่อน ได้รับคำสั่งมาให้ด่าแซม นายสั่งมาอะไรประมาณ เขาก็มาด่าแซม ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ แซมก็หันไปถามว่า ‘พี่..เราเคยรู้จักกันไหม แล้วทำไมพี่มาด่าแซม’”

“คนในห้องก็เลยโห่ให้ว่า ผู้ชายคนนี้ด่ากะเทยทำไม คือในคุกนี่คนที่ด่ากะเทยจะถูกมองว่าไม่ดี จะถูกมองว่าด่ากะเทยทำไม กระเทยคือสีสัน ความสดใส ซึ่งวันนั้นคนก็โห่ให้ผู้ชายคนนั้นที่มาด่าแซม แต่คนที่โห่ทั้งหมด 200 กว่าคนที่โห่ทั้งหมด เชื่อไหมว่ามีแค่แซมคนเดียวที่โดนวินัย เราก็อ้าว คุณปฏิบัติกับนักโทษการเมืองแบบนี้เหรอ คุณเลือกปฏิบัติเหรอ”

“รอบที่สอง รอบนี้แซมไม่ได้ตั้งใจคือกำแพงที่กั้นแบ่งห้องขังกันโควิดเป็นกระเบื้อง แซมเดินสะดุดแล้วขามันก็โดนกำแพงแล้วมันทะลุ เขาก็แจ้งข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ ก็ลงวินัย ห้ามเยี่ยมญาติ 6 เดือน แล้วก็มีผู้คุมมาด่าแซมว่า ‘มึงเป็นกะเทย ต่างด้าว ไร้สัญชาติ มึงทำแบบนี้ทำไม มึงจะเรียกร้องเหี้ยอะไรนักหนา’ แซมก็ด่ากลับว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาด่าแบบนี้ได้ยังไง แล้วเขาบอกว่าจะเอาไปลงบันทึก แต่ก็ไม่มี

“อีกครั้งหนึ่ง แซมขอให้ผู้คุมกินข้าวให้ดู เพื่อให้เขารู้ว่ามันกินได้ไหม วันนั้นแซมจำได้ว่าเป็นแกงเขียวหวานที่มันเขียวเหมือนน้ำบ่อจระเข้ ซึ่งมันเสีย แซมก็ถามว่า ‘ท่านคะ…มันกินได้ไหม แกงมันเสีย’ เขาก็ตอบว่ากินได้ แซมก็เลยเดินไปเกาะลูกกรงแล้วขอให้เขากินให้ดู เขาก็กินจริงๆ แล้วก็ไปอ้วกออก จากนั้นก็ด่าทอกันไป”

เรื่องที่แซมเล่า ปะปนไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย บางเรื่องเขามองกลับไปแล้วขำขัน แต่เนื้อหาของเรื่องเล่านั้นกลับหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ 

.

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 11feb22sam7sq-1024x1024.jpg

.

“ทำทุกอย่างเพื่อให้ถูกมองเห็น”: ความเจ็บป่วยและการเฉียดใกล้ความตาย 

“มีเหตุการณ์หนึ่ง แซมป่วยหนักหลายวันแล้วก็ไอเป็นเลือด ช่วงนั้นติดเสาร์อาทิตย์ด้วย เขาก็จะส่งไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ประมาณ 10 กว่าวันเขาก็ยังไม่ส่ง แซมก็อธิบายให้เขา (ผู้คุม) เข้าใจว่า ‘พี่ …แซมไม่ไหวแล้วนะ แซมไอเป็นเลือด’ แซมก็อธิบาย แต่หมอไม่ยอมส่งไป แซมก็เลยกินยาฆ่าตัวตายประชดไปเลยว่า ‘ฉันยอมตายได้นะ แต่คุณจะละเว้นเราไว้แบบนี้ไม่ได้’ ให้เขารู้ว่าเป็นนักสู้นะ เราไม่ยอมแพ้”

“ตอนนั้นกินยาแก้แพ้ 20 เม็ด ยาแก้ปวดอีก 20 เม็ด ยาพาราฯ อีก 20 เม็ด เป็นยาที่หมอให้มากิน คือคุณไม่รู้ว่าฉันเป็นอะไร แต่คุณให้ยามา ซึ่งฉันก็ไม่รู้ว่ากินยังไง ทั้งหมด 60 เม็ด กินหมดเลย พอกินแล้วก็เห็นภาพหลอน แล้วก็อ้วกออกมา กำลังจะชัก และถูกส่งไปโรงพยาบาล ส่งไปเสร็จ พยาบาลก็ด่าทอว่าคุณทำอะไร ทำให้ฉันเดือดร้อน พยายามข่มขู่เรา”

“แซมก็บอกไม่รักษาแล้ว คือเรากินยาฆ่าตัวตายไป แต่หมอพูดไม่ให้กำลังใจ ด่าซ้ำเติม แซมก็นึกว่านี่เหรอโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แซมก็บอก ‘หมอพูดงี้แซมไม่รักษาแล้วกัน แซมเซ็นให้ด้วยว่ารักษาแล้ว’ สุดท้ายก็มีเพื่อนในห้องช่วยปฐมพยาบาล”

แซมบอกกับเราว่าเขาไม่ได้ถูกล้างท้องแต่อย่างใด ที่รอดมาได้เพราะการปฐมพยาบาลจากเพื่อนร่วมห้องขัง

“คือมีเพื่อนเอานมแลคตาซอยมาให้กิน กรอกใส่ปากให้ เขาบอกว่าถ้ากรอกใส่ปากแล้วมันจะอ้วกออกมา เขาก็เลยปฐมพยาบาลแบบนี้ให้ คือผู้ต้องขังเขาโดนคดีอะไรมาไม่รู้ แต่เขามาช่วยแซม แซมรู้สึกว่าเขาเป็นมนุษย์ แซมเลยรู้สึกว่าอยากช่วยพวกเขาคืน ตอนนั้นก็แบบไม่ได้รับการรักษาอะไรเลย”

เขาเล่าต่อว่าการไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทำให้เขายังคงมีอาการจากการตกค้างของยาอยู่

“หลังจากนั้นก็เริ่ม…แบบสายตามันพร่า มีผลกระทบหนักมาก แต่ก็ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าฉันทำจริงนะ หลังจากนั้นมามันก็ปฏิบัติที่ดีขึ้น มีการดูแลผู้ต้องขังที่ดีขึ้น เทคแคร์เราดีขึ้น คือทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจริงๆ ทำแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลง”

.

ต้องเข้มแข็ง ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ไหว

“ช่วงหนึ่งมีเพื่อนเข้ามาใหม่ เป็นคดีการเมืองเหมือนกัน พี่ไมค์ ไผ่ พี่อานนท์บอกว่าให้ดูแลเพื่อนๆ ด้วย เราก็ภูมิใจมากพี่เราฝากให้เราดูแล เราก็ดูแลอย่างเต็มที่ แซมก็ห่วงเพื่อนๆ มาก 3 คนที่มา ทนายยังไม่มาเยี่ยม ไม่มีใครซื้ออาหารมาให้ แซมก็เอาอาหารให้”

“ทุกคนจิตตก มาด่าแซม แซมก็ไม่รู้เขาด่าทำไม แซมก็เรียกหมอ ให้เขากินยาแล้วนอนหลับไป แซมก็ปลอบใจเขาอยู่เดือนกว่าๆ ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ไหว ตัวเองก็ท้อเหมือนกันนะ พูดไปก็ร้องไห้ น้อยใจว่าตัวเองโดนอะไรว่ะเนี่ย แต่ก็คิดเก็บไว้คำของพี่ไมค์ ที่ว่าท้อได้แต่อย่าถอย”

“แซมก็อธิบายให้เขาฟัง เพราะเขาด่ากับแซมว่าแกนนำไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย แซมก็อธิบายทั้งน้ำตาว่าช่วยนะ พี่ๆ แกนนำช่วยเยอะมาก พี่ไมค์ก็ประสานให้อะไรให้ คือพี่เขามาด่า คนที่แซมศรัทธา ด่าคนที่เป็นห่วงเขา แบบพี่ๆ ก็ช่วยซื้อของให้เขาแบบนี้  ‘คุณโดนอะไรมาบ้างฉันไม่รู้ แต่คุณมาด่าแบบนี้ …’ แซมก็ให้อภัยเขานะ แต่ก็ร้องไห้ เข้าห้องน้ำ ..ไปร้องไห้เพราะน้อยใจ” 

“ตอนที่เขาได้ประกัน เขาก็มากอดขอบคุณแซม ยกมือไหว้แซมว่าเราประสานงานให้น่ะ เราอยู่กันเป็นทีม ถึงเราอยู่ในเรือนจำ แต่เราก็ทำงานกันเป็นทีม แซมอายุ 20 เขาอายุมากกว่า แซมต้องสอนเขา ต้องนั่งคิด นั่งมองกำแพงไปว่าจะพูดยังไงให้เขาสบายใจ” 

.

น้ำใจของเพื่อนช่วยฉุดดึงจิตใจจากสภาพที่เลวร้าย

“วันนั้นวันที่แซมตัดสินใจไม่อยู่ในแดน 2 เป็นวันที่แซมร้องไห้หนักมาก เป็นวันเกิดพี่ไมค์ วันที่แบบเราสัญญากับพี่เราว่า ออกไปข้างนอกนะพี่ เราไปกินข้าวกันไหม แล้วพี่เขาก็ไม่ได้ประกัน มีเพื่อนในแดน 200 กว่าคน เพื่อนถามว่าแซมร้องไห้ทำไม แซมก็บอกว่าวันนี้วันเกิดพี่แซม แต่พี่ไม่ได้ออกไป ไม่ได้ประกัน วันนั้นทุกคนในแดนร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์พี่ไมค์หมดเลย” `

“เขาตะโกนว่า ‘แฮปปี้เบิร์ดเดย์นะ ภาณุพงศ์ จาดนอก’ เราตะโกนกันดังมากเพราะมันไกลแต่เขาคงไม่ได้ยินหรอก (ตะโกนจากคนละแดน) ก็ตะโกนกัน ‘แฮปปี้เบิร์ดเดย์นะ’ ‘ขอให้ได้ประกันตัวนะ’ ตะโกนกันอยู่ประมาณ 30 นาที แล้วก็โดนวินัยกันหมดเลยเพราะตะโกนกันดังมาก”

“ตอนเช้าก็มีผู้คุมมาให้พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว บันทึกว่าแซมทำให้คนอื่นนอนไม่ได้ แต่คนอื่นไม่โดน ในความที่แซมเป็นกะเทย และมองว่าทุกคนเป็นเพื่อนของแซม ตอนนั้นแซมก็พยายามทำให้ทุกคนในนั้นสนุก ก็ร้องเพลง เอากางเกงชั้นในมาตัดเป็นเสื้อแล้วก็ร้องเพลง ไม่รักระวังติดคุกนะ แล้วก็ร้องเพลงแอมมี่ ซึ่งทุกคนนั้นร้องเพลงแอมมี่ได้” 

“แล้วมีคนเอาดอกมะลิมาให้แซม เขาไปศาลมาแล้วเก็บมาระหว่างทาง มันเป็นดอกไม้ที่เก็บข้างทาง ฉันรู้เพราะฉันเคยทำมาก่อน แต่นี่แหละเป็นกำลังใจ เมื่อก่อนแซมไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นเขาเจออะไรมา จะโดนคดีอะไรมา แต่ในนั้นแซมรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน อยากให้ทุกคนและสังคมมองพวกเขาเปลี่ยนไป อยากให้สังคมมองพวกเขาเป็นคน เป็นมนุษย์”

.

ประท้วงขอย้ายแดนเนื่องจากถูกกักโควิดนานถึง 42 วัน

​“ล่าสุดนี้ แซมประท้วงจะไปแดน 4 เพราะว่าแซมกักโรคครบแล้ว เป็นเวลา 42 วัน ซึ่งมันไม่ใช่การกักโรคแล้ว แต่เป็นความต้องการให้เราติดโควิด แซมด่าไปว่ามาตรการนี้มันไม่ใช่ คือเอาคนใหม่มาเติมเรื่อยๆ แบบนี้ อีกกี่วันกี่เดือนกี่ปีจะกักตัวเสร็จ แซมก็เลยประท้วงว่าถ้าใน 7 วันนี้ ไม่มีการเคลื่อนย้ายแซม แซมจะฆ่าตัวตายในวันนั้นเลย”

“แซมด่าผู้บัญชาการเรือนจำ มีผู้บัญชาการมาคุยกับแซมว่าขอเวลา 7 วัน พอ 7 วันแล้วก็ไม่มา ไม่มีอะไรคืบหน้า แซมเลยเอายาสีฟันไปปิดกล้อง ซึ่งเขาจะกลัวมาก เขาก็เรียกแซมไปคุย ก็นั่งคุยแล้วก็เอาแซมไปโรงพยาบาล อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่าแซมหมอเรียกไปโรงพยาบาล แซมถามว่าทำไมไม่มาบอกล่วงหน้า แล้วเรียกไปด่วนเลย แซมก็ไปด่วน ก็ไปนั่งรอตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงกว่า คุยกับหมอเสร็จแล้ว รู้ไหมว่าเขาไม่ได้พาเข้าแดน เหมือนเขาแกล้ง ทั้งที่แซมไม่ได้กินข้าว กินน้ำ ตั้งแต่เก้าโมงเช้า แซมก็อ้าว เราอยู่คนเดียวเนี่ยต้องทำยังไง เหลืออยู่แค่คนเดียวเนี่ย คนอื่นถูกพาตัวกลับหมดแล้ว”

“ก็เลยประท้วงตัวเองไปยืนตากฝนเลย ไปยืนหน้าเสาธงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ วันนั้นฝนตกหนัก เขาก็เลยมาอุ้มแซมออกไป แซมก็ไม่ยอมปล่อย นั่งกอดเสาธงอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง เขาก็รีบเรียกพัศดีออกมา แล้วก็พาแซมไปเลย ‘เขาคงแบบเอาอีนี่เอาจริง’ เขาก็เลยย้ายแซมไปอยู่แดน 4 เลย

แซมเคยอยู่มาหมดแล้วแดนทุกแดน ยกเว้นแดน 5 รู้สึกว่าแดนพวกนี้เป็นแดนที่กันดาร แดนที่ทรมานผู้ต้องขัง คือแบบราชทัณฑ์ต้องการผักชีไหม เพราะแซมปลูกไว้เยอะเดี๋ยวจะเอาผักชีให้”

“เขาสรุปกันว่าแซมเป็นคนที่ดื้อ แต่แซมดื้อเฉพาะเจ้าหน้าที่ไม่เห็นหัวพวกเรา เพราะแบบนี้แหละ เขาก็เห็นว่าพฤติกรรมแดน 2 กับแดน 4 ของแซมมันต่างกัน ตอนอยู่แดน 2 แซมแบบด่าไปทั่ว แต่แดน 4 แซมจะเงียบๆ ปลูกผักปลูกอะไรกันไป มันจะสวนให้ทำไง แบบทำส้มตำกัน ปอกผลไม้ นั่งทำกันกันไปว่ากันไป แซมอยู่ที่นี่แซมไม่ได้เป็นคนอาละวาดไง เป็นคนที่เรียบร้อยดี นี่แหละสิ่งที่แซมทำให้เห็นว่าตรงนี้แซมอยู่ได้ ตรงนั้นแซมอยู่ไม่ได้”

.

ทุกคนต้องได้ออกไปรักษาตัวและหัวใจที่โรงพยาบาล

ภายหลังได้รับอนุญาตให้ย้ายแดนแล้ว แซมก็มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นเพราะได้พบเจอพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เขามีความรู้สึกคุ้นเคยและทุกคนปฎิบัติต่อเขาเป็นอย่างดี

“อยู่กับพี่ๆ ก็ไม่มีอะไรนะ เราเป็นพี่น้องกัน เป็นครอบครัวประชาธิปไตย แซมรักพี่อานนท์กับพี่ไมค์มาก อีก 2 คนก็รักแหละ”

เมื่อถามถึงเพนกวินที่สุขภาพไม่แข็งแรงมาอย่างยาวนาน แซมก็ได้ช่วยขยายความถึงอาการของเพนกวิน

“เพนกวินเขาป่วยนะ มีอาการอยากอาเจียน มีผื่นขึ้น แซมยืนยันว่าถ้าในเดือนสองเดือนนี้ พี่ๆ ไม่ได้ออกมาแซมจะยื่นถอนประกัน ถ้าพี่ๆ เขาไมได้ออกมายังไง แซมจะต้องได้เข้าไป จะต้องเข้า แม้จะไม่มีอะไร ไม่ได้มีใครมาเยี่ยมก็จะเข้าไป”

“วันที่จะได้ออกครั้งล่าสุด รู้ก่อนเพราะมีทนายมาเยี่ยมและบอกว่าเป็นวันที่ครบฝากขังแล้ว กับพี่ไผ่ เราพนันกันหนึ่งเมาว่าจะได้ออกหรือไม่ได้ออกมา พี่ไผ่บอกว่าไม่ได้ออก ถ้าแซมแพ้ แซมก็ต้องเลี้ยงพี่นะ วันนั้นนาง (ไผ่) ก็น้ำตาซึมออกมา แล้วเราเห็นพี่ไมค์ร้องไห้ เราก็รู้สึกว่าพี่เราทำอะไรผิด ฆ่าคนไหมหรืออะไร สิ่งที่เขาเจอมันโหดเหี้ยม มันโดนกลั่นแกล้งจากภาครัฐอีก นี่เป็นสิ่งที่ทำให้แซมรู้สึก เราก็เลยต้องสู้ พี่ไมค์เขาบ่น อยากกอดแม่ คิดถึงแม่ พี่อานนท์ก็บ่นนะ คิดถึงลูก คิดถึงเมีย เขาไม่ได้พูดให้เราได้ยินนะ แต่เราเดินผ่านมาได้ยินเขาพูด”

“แซมก็ยืนยันคำเดิมว่าถ้าพี่ๆ ไม่ได้ออกมา แซมก็จะถอนประกันตัวเองเหมือนกัน จะทำทุกอย่างให้ได้เข้าไป อยากจะอ้อนวอนศาลเหมือนกันว่าให้พี่ๆ ออกมาได้ไหม ให้ได้รักษาตัว ให้ได้เข้าโรงพยาบาล”

“ทุกคนต้องได้ไปโรงพยาบาล ทั้งพี่อานนท์ ไผ่ พี่ไมค์ เพนกวิน หรือแม้แต่อาทิตย์ แซมอยากสื่อสารให้คนรู้ว่าเวลาเห็นเขาแข็งแรงตอนออกศาล แต่ภาพจริงๆ คือเขาโดนอะไรนักหนา อย่างพี่อานนท์จะทำอะไรก็โดนถ่ายรูป จะนั่ง หรือเวลานอนก็ต้องโดนถ่ายรูป แม้แต่เวลาพูดกับทนาย ก็จะโดนดักฟัง เขาถ่ายรายงานกันเป็นอาทิตย์ๆ ขนาดคนที่ขับรถชนหมอตายยังได้ประกันตัวเลย”

“แซมเป็นกะเทยไร้การศึกษา ไร้สัญชาติแต่แซมรัก ศรัทธาในสิ่งที่พี่ๆ เขาทำกันมาก แซมอยากอ้อนวอนศาลว่าให้เขาออกไปก่อนได้ไหม ให้เขาได้รับการรักษาก่อนได้ไหม แล้วค่อยให้เขากลับเข้าไปใหม่ก็ได้ มันไม่ใช่แค่เขา แต่เขามีพ่อแม่ พี่น้อง มีคนที่รักเขาอยู่ คุณมาทำแบบนี้กับเขาไม่ได้ เขามีเงินประกัน เขามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่คุณไม่ให้เขาประกันได้อย่างไร ความจริงออกมานี่แซมไม่ได้อยากออกมาเลย ถ้าเขาไม่ได้ออกมา”

.

อ่านเรื่องราวของแซมเพิ่มเติม

เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
บันทึกเยี่ยม ‘แซม สาแมท’ ผู้ชุมนุมรายสุดท้ายที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ
“ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล ที่นี่มันคือคุก”: บันทึกเยี่ยมนิว แซม ฟ้า และเพนกวิน

.

X