บันทึกเยี่ยม ‘แซม สาแมท’ ผู้ชุมนุมรายสุดท้ายที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ

หลังไม่ได้พบกันนานกว่าสองเดือน วันนี้เป็นครั้งแรกที่ทนายความได้พบกับ แซม สาแมท หรือ “อาร์ท” หนุ่มไร้สัญชาติวัย 19 ปี ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีจากการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 หรือ #ม็อบ28กุมภา ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ติดๆ ดับ ภายในห้องเยี่ยมของเรือนจำ

“ดีใจมากเลยที่ได้เจอพี่ ผมคิดว่าพี่ทิ้งผมแล้ว ผมเครียดจนผมร่วงเลย นอนไม่หลับ แต่ผมก็คิดว่าพี่อาจจะติดโควิดด้วยเหมือนกัน เพราะรู้ว่าข้างนอกก็รุนแรง” เราชี้แจงเหตุที่ไม่ได้มาเยี่ยมแซมร่วมสองเดือนว่า เราต้องกักตัวเพราะเพื่อนทนายติดโควิด พอพ้นการกักตัวเราก็รีบมาเยี่ยม และพบว่าแซมติดโควิดไม่สามารถเยี่ยมได้ ต้องย้ายตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่เราได้ติดตามถามอาการแซมโดยตลอด

เมื่อทราบว่าแซมหายจากโควิด และย้ายกลับมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้ว แต่ล่าสุด (18 มิ.ย. 64) ที่มาเยี่ยม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า กรณีผู้ต้องขังถูกย้ายมาจากที่อื่น ต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 28 วัน ญาติและทนายความไม่สามารถเยี่ยมได้ แม้กระทั่งผ่านทางหน้าจอ ทั้งที่มาตรการช่วงก่อนหน้านั้น กำหนดวันกักตัวผู้ต้องขังที่ย้ายเข้ามาใหม่เป็นเวลา 14 วัน และทนายความยังสามารถเข้าเยี่ยมลูกความได้

จนกระทั่งวันที่ 29 มิ.ย. 64 เราเริ่มตามหาคำสั่ง หรือประกาศที่กักตัว 28 วัน และคิดว่าจะร่างจดหมายถึงผู้บัญชาการเรือนจำ ถึงปัญหาในการปฏิเสธสิทธิในการเข้าพบผู้ต้องขังของทนายความ แต่ปลายสายก็โยนไปมา และไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าหนังสือสั่งการที่ห้ามเยี่ยมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ให้มาเยี่ยมได้ เราจึงได้เจอแซมในวันที่ 30 มิ.ย. 64

เราเล่าให้แซมฟังว่า คนข้างนอกไม่ได้ลืมแซม มีคนรู้ว่าแซมยังอยู่ตรงนี้ มีข่าวออกเรื่องแซม แซมฟังแล้วเอามือปิดหน้าร้องไห้ดีใจที่ยังมีคนนึกถึงเขา “วันก่อน (24 มิ.ย.) ผมเห็นข่าวว่ามีการชุมนุมกันอีก มีคนออกมา ผมดีใจมาก คิดถึงเพื่อนๆ ที่ไปม็อบด้วย”

แซมเล่าให้ฟังว่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เขาถูกย้ายจากแดนสองไปยังแดนแปด และต้องอยู่ในห้องขนาดประมาณ 4 คูณ 8 เมตร ซึ่งอยู่กันมากถึงสามสิบกว่าคน ทำให้จากเดิมที่เขาไม่ได้ติดโควิด แต่เมื่อย้ายไปห้องคุมขังที่แออัดมากขึ้น ทำให้แซมก็ติดโควิดจากแดนสองไปด้วย

“พอรู้ผลตรวจโควิดได้สองชั่วโมง ผมก็ถูกย้ายเลย แต่ผมมีอาการก่อนหน้านั้นแล้ว ผมเป็นไข้ ท้องเสีย และอ๊วกมาสองวัน ได้แต่ยาพาราฯ จนได้ย้ายไปโรงพยาบาล

“ผมอาเจียนเป็นเลือดอยู่ 4-5 วันเลย อาหารการกินไม่ดีเลย เหมือนเค้าให้กินแต่น้ำก๊อก ไม่ค่อยได้กินข้าว บางทีมีข้าว ก็เป็นข้าวบูด คนเขียนร้องเรียนไปเยอะมาก แต่หมอดีกับผมมาก และอยู่ที่โรงพยาบาลไม่แออัด”

“ผมช่วยหมอวัดความดันด้วย แต่ผมโดนทำร้ายร่างกาย มีอยู่วันหนึ่งผมไปวัดความดันผู้ต้องขังด้วยกัน แล้วเขาถามอะไรผมไม่รู้ ผมไม่ได้ยิน ผู้ต้องขังคนนั้นก็ถีบหน้าผมเลย”

“อยู่ในนี้ ยาหายากมาก วันก่อนก็มีคนล้ม ชักเกร็ง ผมต้องช่วยปฐมพยาบาล”

ก่อนหน้านี้แซมมีเพื่อนผู้ต้องขังที่เป็นผู้ชุมนุมด้วยกัน และได้เจอกับแกนนำราษฎร แซมจึงไม่โดดเดี่ยวมากนัก แต่พอทุกคนได้ประกันตัว แซมจึงเจอเรื่องราวต่างๆ ในเรือนจำอย่างโดดเดี่ยว แต่แซมยังคงมีความพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

“เมื่อวันก่อนผมถูก bully ด้วย คนในนี้หาว่าเป็นเพราะม็อบ เลยไม่ได้พระราชทานอภัยโทษ (การมี พรฎ.อภัยโทษ ในโอกาสสำคัญ) เขาเลยโห่ผม และด่าว่าผมเป็นหมา ผมเลยเขียนจดหมายร้องเรียนว่ามีการใช้วาจาไม่เหมาะสม ข่มขู่ เจ้าหน้าที่ก็รับรู้ เขาก็มาตักเตือนให้ เจ้าหน้าที่ก็ดีกับผม”

หลังจากถามสารทุกข์สุกดิบ เราเล่าความคืบหน้าทางคดีให้แซมฟังว่าศาลจะสอบคำให้การ และทางศูนย์ทนายความฯ จะลองยื่นประกันตัวเขาในอาทิตย์หน้า และอาจจะต้องขอประกันตัวในแบบมีเงื่อนไขติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือขอตั้งผู้กำกับดูแล เนื่องจากแซมไม่มีประวัติทางทะเบียนราษฎร์ใดๆ เลย ศาลอาจปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะหลบหนี

“ผมยอมทุกเงื่อนไข เงื่อนไขอะไรก็ได้ ขอให้ได้ออก มันไม่ยุติธรรม ผมหวังว่าจะมีคนเข้าใจ ผมต้องหลบๆ ซ่อนๆ มาตลอด เชื่อว่ายังมีคนที่มีปัญหาแบบผม (ปัญหาสถานะบุคคล) อีกมาก”

แซมฝากข้อความถึงคนข้างนอกว่า “ผมฝากบอกพี่ไผ่ พี่อานนท์ โตโต้ และพี่ไมค์ ว่าคิดถึง ผมเชื่อมั่นในอุดมการณ์พี่ไผ่ พี่อานนท์ ผมเลยไปม็อบ พี่เป็นไอดอล ขอให้สู้ต่อไป”

เราลาจากกัน เราบอกแซมว่าอาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยมอีก  

ขณะเขียนบันทึกนี้ผ่านมาแล้วหนึ่งวัน แต่ยังคิดถึงคำพูดแซม “คืนนี้ผมคงนอนหลับแล้ว”  โควิดส่งผลต่อเศรษฐกิจ ต่อสุขภาพ และส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน เรารู้สึกผิดที่อยู่ในฐานะทนาย แต่ไม่อาจสื่อสารกับลูกความได้ร่วมสองเดือน

“ผมรู้สึกว่าต้องยอมแลกสิ่งต่างๆ ให้มีตัวตนบนโลกใบนี้” อีกประโยคที่แซมพูดกับเราตอนเยี่ยม เราไม่ได้ชวนเขาคุยขยายความต่อหลังจากนั้น เพราะสื่อสารเรื่องคดีอยู่ แต่ประโยคนี้ยังค้างอยู่ในหัว และติดอยู่ในใจ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ควรมีตัวตน มีพื้นที่ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้วมิใช่หรือ ถ้าว่าตามหลักสิทธิมนุษยชนมันเป็นเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริง แซม และอาจจะอีกหลายคนในประเทศไทย เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานมาตลอดชีวิต เพราะไม่มีสัญชาติ จึงถูกทำให้เสมือนไม่มีตัวตน ทั้งที่เป็นคนเหมือนกัน

30 มิถุนายน 2564

 

อ่านเรื่องราวของแซมเพิ่มเติม

เปิดเรื่องราวผู้ต้องขัง #ม็อบ28กุมภา “แซม สาแมท” ชายไร้สัญชาติที่ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม

 

X