‘คนในโรงพยาบาลสนามทุกข์ยาก…เหมือนเอาสัตว์มาขังไว้เฉยๆ’: เสียงสะท้อนจากฟ้า พรหมศร

ฉันกลับมาเยี่ยม นิว (ฮิวโก้) สิริชัย นาถึง, แซม สาแมท, ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี และ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้ง พวกเขาเป็น 4 ใน 11 รายของผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ ณ ขณะนี้

พวกเขาต้องอยู่ที่นี่เพราะติดโควิด และเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์แล้วที่ได้ทยอยทราบผลตรวจการติดเชื้อ จึงถูกย้ายตัวมารักษา ในขณะที่ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, บอย ชาติชาย แกดำ, ณัฐชนน ไพโรจน์ ยังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ต๋ง ทะลุฟ้า หรือปนัดดา ศิริมาศกูล ถูกขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง คลองห้า ส่วนอานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ เวหา แสนชนชนะศึก ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง

วันนี้เราเยี่ยมเพนกวินก่อนในรอบเช้า เพนกวินดูสดใส หัวเราะและยิ้มได้ ต่างจากอาการเหนื่อยอ่อนเมื่อวันศุกร์ กวิ้นบอกว่าอาการดีขึ้น แพทย์แจ้งว่าปอดไม่มีฝ้าแล้ว แต่กวิ้นไม่เห็นแผ่นเอกซเรย์ปอดด้วยตนเอง เขายังมีอาการเพลียอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยรอบข้างอาการหนักปางตายกันเกือบทั้งวอร์ด จากนั้นเราพูดคุยเรื่องแนวทางคดีกัน ก่อนที่กวิ้นจะถามข่าวคราวถึงมิตรสหาย และส่งข้อความขอให้นิว (ฮิวโก้) สิริชัย นาถึง เลิกอดอาหาร และให้ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดเพื่อรอวันออกไป

ในช่วงบ่าย ฉันเยี่ยม นิว ฟ้า และแซม ต้องเยี่ยมคนละรอบกับเพนกวิน เพราะกวิ้นอยู่บนตึกโรงพยาบาล แต่ทั้งสามคนอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม สำหรับอาการป่วยของทั้งสาม ฟ้ายังไม่รับรส ไม่ได้รับกลิ่น มีไอและมีเสมหะ แซมยังมีอาการเจ็บหน้าอก ทั้งสามได้รับการตรวจปอดในช่วงเช้า แต่ยังไม่ทราบผล

ฉันใช้เวลาไปกับการอ่านข้อความจากเพื่อนๆ ที่ส่งถึงนิว สิริชัย เพื่อให้กำลังใจ นิวฝากข้อความตอบกลับเพื่อนๆ ว่า “ได้รับข้อความจากคนข้างนอกแล้ว นิวตัดสินใจแล้วว่าจะไม่อดข้าว จะดูแลตัวเองอย่างดี ให้คนข้างนอกสู้ต่อไป คนที่อยู่ต้องสู้ต่อ คนข้างในก็จะสู้เหมือนกัน” ฉันดีใจที่นิวเลิกอดข้าว ฟ้า และแซม ก็จะเลิกอดด้วย พวกเขาป่วยและอยู่ในโรงพยาบาลที่สุขลักษณะย่ำแย่ พวกเขาควรได้รับสารอาหารเพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้

ฟ้า ยังขอให้เราสื่อสารเรื่องความเป็นอยู่ในโรงพยาบาลสนาม และอยากพูดแทนผู้ต้องขังคนอื่นๆ “ความเป็นอยู่พวกเขา (ผู้ต้องขังป่วย) ควรจะดีกว่านี้ ที่นี่ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยพี่ อาบน้ำ สบู่หนึ่งก้อนใช้กันทั้งห้อง ตอนฟ้ามาวันแรกต้องอาบน้ำเปล่า และใช้ซันไลต์สระผม ผู้ต้องขังบางคนต้องเอาผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างจานมาใช้อาบน้ำ สบู่ยาสีฟันก็ต้องแย่งกัน เพราะผู้ต้องขังไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ สุขลักษณะแย่มาก ของใช้ในห้องมีอย่างจำกัด

“ผู้ต้องขังบางคนญาติไม่ทราบว่าอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่นี่ปิดกั้นไม่สามารถส่งหรือรับจดหมายจากญาติได้ (ต่างจากที่เรือนจำที่สามารถติดต่อญาติได้ สามารถฝากของ หรือฝากเงินได้) อาหารที่นี่ก็แย่ ไม่รู้ว่าราชทัณฑ์รักษาโควิดอย่างไร เหมือนป่วยแล้วก็ขังไว้ ให้กินของหลวงใช้ของหลวง แต่ไม่มีอะไรเลย สิทธิที่ได้รับการรักษาไม่มี คนในโรงพยาบาลสนามทุกข์ยาก ที่นี่ทุกคนรู้วันเข้า แต่ไม่รู้วันกลับ ไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ เหมือนเอาสัตว์มาขังไว้เฉยๆ โดยให้เหตุผลว่าโควิด ฟ้าเองไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่หายจากโควิด เพราะขังรวมกันและผู้ป่วยใหม่ก็เข้ามาเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่ได้แยกเป็นรอบๆ ที่นี่ไม่มีความเท่าเทียมใดๆ หมอไม่เคยมาดูมีแต่พยาบาลวิชาชีพที่มา”

เรารับว่าจะสื่อสารเรื่องโรงพยาบาลให้ พวกเค้าต้องการให้ส่งเสียงเรื่องนี้ไม่ใช่เพื่อพวกเขา แต่เพื่อคนอื่นๆ เราแจ้งพวกเขาว่า ทนายจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งประกันในวันพุธ ให้รอฟังผลว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำสั่งอย่างไร พวกเขาบางคนเชื่อว่าคงจะถูกคุมขังไม่นานนัก เราบอกแต่ว่าคงต้องรอดู เรื่องประกันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขาควรได้รับ แต่ถึงแม้เขายังไม่ได้ประกัน สิทธิพื้นฐานอีกอย่างสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือการรักษาพยาบาล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 47 รับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยมาตรา 55 กำหนดนโยบายของรัฐไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และมาตรา 27 ยังรับรองว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน  

นั่นหมายความว่าแม้พวกเขาจะถูกจองจำอยู่ แต่ก็มีสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติว่าเป็นผู้ต้องขังจึงต้องได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานต่ำกว่าบุคคลทั่วไป แต่จากสิ่งที่พวกเขาสะท้อนมา สิ่งที่ผู้ต้องขังในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์กำลังเผชิญอยู่ ดูจะยังห่างไกลกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ณ เวลานี้

ความรู้สึกเวลาไปเยี่ยมลูกความที่เรือนจำเหมือนแดนสนธยา เหมือนเข้าไปในโลกอีกใบ กลับออกมาทีไรก็มีแต่มวลความเศร้า ยังคงแปลกใจว่าโรงพยาบาลที่รักษาคนป่วย คุณภาพชีวิตควรดีกว่าเรือนจำ แต่มาตรฐานความเป็นอยู่ผู้ต้องขังป่วยกลับแย่กว่าผู้ต้องขังปกติ ต้องทำความเข้าใจแบบไหน ต้องทำอย่างไรเรือนจำจึงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในฐานะมนุษย์

23 สิงหาคม 2564

.

X