*แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 19 เมษายน 2564
16 เมษายน 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ หลังพนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 19 ประชาชน เหตุชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในข้อหาหลัก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยศาลรับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 884/2564
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (16 เมษายน 2564) มีเพียงบัญชา (สงวนนามสกุล) นักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า เท่านั้น ที่เดินทางมาตามนัดฟังคำสั่งอัยการ หลังพนักงานสอบสวนส่งตัวให้อัยการเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากบัญชาได้รับการประกันตัวในชั้นตำรวจ และได้รับการปล่อยตัวที่กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564
ส่วนอีก 17 คน ซึ่งศาลให้ประกันตัวในชั้นฝากขัง เจ้าหน้าที่นัดมารายงานตัวต่อศาลในวันจันทร์หน้า (19 เมษายน 2564) จะเป็นการมารับทราบคำฟ้องในวันนั้น ขณะที่อีกคนคือ “แซม สาแมท” ผู้ต้องหาชาวไทย-กัมพูชา ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ในข้อหาเดียวกันและข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”
หลังศาลรับฟ้อง ทนายได้ยื่นประกันตัวบัญชาด้วยเงินสดจำนวน 35,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลให้ประกันตัว ทำให้เขาไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นพิจารณาคดี
วันเดียวกันนี้ มีรายงานว่า พนักงานอัยการยังได้ยื่นฟ้อง ธีรยุทธ (สงวนนามสกุล) พนักงานส่งของ ซึ่งถูกจับบริเวณเซเว่น ใกล้ สน.ดินแดง ในเวลาประมาณ 01.40 น. ของวันที่ 1 มี.ค. 2564 ภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณ สน.ดินแดง โดยแยกฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 883/2564 ธีรยุทธจะเข้ารายงานตัวต่อศาลในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย. 2564 เช่นกัน
เปิดคำฟ้องชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ชี้ผู้ร่วมกันชุมนุมมั่วสุม ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19
คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์คดี โดยท้าวความการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของนายกรัฐมนตรี เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 พร้อมกับการใช้อำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนด ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมในลักษณะแพร่เชื้อโรค เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานที่ได้รับอนุญาตและเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจัดในสถานที่ที่ไม่แออัด มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยทั้งหมดซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ทราบประกาศดังกล่าว
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลากลางวันถึงกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน มีผู้ชุมนุมประมาณ 600-700 คน นัดหมายมาร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากบ้านพักที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตด้านขาออก
จำเลยทั้ง 19 พร้อมกับเยาวชนอีก 4 ราย ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด
โดยจําเลยกับพวกไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออกในการเข้าร่วมชุมนุม และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลาย อันเป็นการจัดชุมนุมทางการเมืองโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
จําเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กล่าวคือ ขณะจำเลยกับพวกเคลื่อนขบวนไปทางกรมทหารราบที่ 1 ได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนขัดขวางไม่ให้เคลื่อนขบวน จําเลยทั้งหมดจึงได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายและใช้กําลังประทุษร้ายด้วยการด่าทอ ตําหนิ และขว้างปาประทัดยักษ์ ก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชน อันเป็นการกระทําให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้ว ก็ยังคงขัดขืนไม่เลิกการกระทำดังกล่าว
นอกจากนี้ จําเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติตามหน้าที่ กล่าวคือ เมื่อจําเลยทั้งสิบเก้ากับพวกผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปถึงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตํารวจคุมฝูงชนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุม จําเลยทั้งหมดได้ใช้กําลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างปาก้อนหิน ขวดแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่คุมฝูงชนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อันเป็นการร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่
โดยคำฟ้องยังบรรยายพฤติการณ์คดีของแซมไว้ด้วยว่า แซม สาแม็ท (จำเลยที่ 19) ซึ่งเป็นบุคคลเชื้อชาติกัมพูชา ไม่ปรากฏสัญชาติ ได้บังอาจเดินทางจากประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่ชายแดนอําเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จากนั้นเดินทางต่อมาที่ เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, ไม่ได้ผ่านการตรวจอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประจําเส้นทางนั้นตามกฎหมาย, ไม่ได้ยื่นรายการตามแบบที่กําหนดในกฎกระทรวง ตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และไม่ได้ไปรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทําการด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้ที่สุดในทางที่เข้ามา ขณะเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งพักอยู่ที่ห้องเช่าในเขตดอนเมือง โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
อัยการระบุฐานความผิดที่ฟ้องจำเลย 18 คน รวม 4 ข้อหา ขณะที่แซมถูกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ อีก 1 ข้อหา ดังนี้
- “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”
- เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำความผิดตามมาตรา 215 แล้วไม่เลิก
- ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
- ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ คำขอท้ายฟ้องระบุว่า อัยการถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, 140, 295, 296, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ
ศาลอาญาให้ประกันตัว “บัญชา” ในวงเงิน 35,000 บาท
เช้านี้ เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานอัยการได้แจ้งบัญชา ซึ่งมารายงานตัวต่อศาลตามนัดหมาย และทนายความว่า มีความเห็นสั่งฟ้องคดีแก่บัญชาและผู้ต้องหาคนอื่นอีก 18 คน
หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเวลาประมาณ 14.40 น. และศาลรับฟ้อง บัญชาถูกควบคุมตัวไปยังห้องเวรชี้ ส่วนทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ถูกควบคุมตัวไว้ในชั้นสอบสวน และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งในวันดังกล่าว จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์แนวหน้า พร้อมกับใช้เงินสดจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน
เวลา 18.00 น. ศาลอาญาให้ประกันตัวบัญชาในวงเงิน 35,000 บาท ทำให้เขาไม่ถูกควบคุมตัวไว้ในชั้นพิจารณาคดี ศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 19 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น.
ย้อนอ่านวินาทีสลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา จากปากผู้ถูกจับกุม
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่ม RESTART DEMOCRACY หรือ REDEM ได้นัดหมายเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาที่บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ภายในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา และกระสุนยาง พร้อมกับเข้าจับกุมผู้ชุมนุมในคืนนั้นรวม 23 ราย โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 19 ราย และเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอีก 4 ราย ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หลังศาลอนุญาตฝากขัง ส่วนบัญชาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ
>> เปิดข้อหาประชาชน-เยาวชนรวม 23 ราย กรณี #ม็อบ28กุมภา ก่อนศาลให้ประกันตัว
คำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์นี้ระบุตรงกันว่า ถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้าทำร้ายร่างกายขณะเข้าจับกุม บางส่วนถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก่อนถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี
สำหรับบัญชาซึ่งถูกฟ้องคดีในวันนี้ยังเผยอีกว่า ในวันนั้นตนไปแค่ปฏิบัติหน้าที่ผู้สื่อข่าว มีอุปกรณ์ติดตัวเพียงโทรศัพท์มือถือ แว่นกันน้ำ หมวกนิรภัย แต่กลับถูกดำเนินคดีถึง 4 ข้อหา โดยอัยการระบุว่าเขา “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน” ด้วย
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันนี้ (16 เมษายน 2564) ยังไม่พบกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด
.
อ่านเรื่องราวจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา
ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา
“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง
.
*แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่ 19 เมษายน 2564
19 เมษายน 2564 จำเลยอีก 18 คน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 884/2564 ที่อัยการยื่นฟ้องแล้ว เดินทางมาศาล 16 คน ด้านบัญชาซึ่งศาลนัดถามคำให้การในวันเดียวกันนี้เดินทางมาศาลด้วย ขณะที่พรชัย โลหิตดี จำเลยที่ 10 ไม่ได้เดินทางมาและไม่สามารถติดต่อได้ คนสุดท้ายคือ แซม สาแมท เจ้าหน้าที่ไม่ได้เบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เบิกตัวแซมมาศาลโดยด่วน ขณะที่นายประกันของพรชัยยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุโลมเลื่อนการรายงานตัวของจำเลยที่ 10 ออกไปอีก 30 วัน ไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญาที่ไม่ได้มีโทษร้ายแรงประกอบกับจำเลยไม่เคยเป็นผู้ถูกดำเนินคดีอาญามาก่อนและมีหลักแหล่งที่อยู่อาศัยแน่นอน เหตุที่จำเลยไม่ได้มาศาลเนื่องจากจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัดและปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดอ่านฟ้องและสอบคำให้การ และได้ทำการปรับนายประกันเป็นเงินสด 35,000 บาท นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานเรื่องที่นายพรชัยไม่มารายงานตัวตามนัด เพื่อดำเนินการออกหมายจับต่อไป
ต่อมา หลังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวแซมมาถึงศาล ศาลได้อ่านฟ้องให้จำเลยที่มารายงานตัวรวมทั้งแซมฟัง และสอบคำให้การ ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ จำเลย 16 รายที่มาในวันนี้ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ในชั้นฝากขัง ในชั้นพิจารณาศาลจึงให้ใช้หลักประเดิม โดยไม่ต้องยื่นประกันอีกครั้ง
ในส่วนของ “แซม สาแมท” ผู้ต้องหาชาวไทย-กัมพูชา ถูกคุมขังมาเป็นเวลากว่า 24 วันแล้ว ยังมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับเอกสารรับรองสถานะบุคคลของเขา เนื่องจากแซมไม่มีเอกสารประจำตัวใดใดเลยจึงยังไม่สามารถยื่นประกันตัวได้ในวันนี้
ส่วนธีรยุทธ พนักงานส่งของ ซึ่งอัยการแยกฟ้องเป็นอีกคดี มารายงานตัวต่อศาลตามนัดในวันนี้เช่นกัน แต่ศาลเลื่อนอ่านฟ้องและสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 8.30 น. และให้ใช้หลักประกันเดิมของชั้นฝากขังเป็นหลักประกันในชั้นพิจารณาเช่นกัน