ศาลยกฟ้องคดี“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” กรณี #ม็อบ28กุมภา64 หน้า สน.ดินแดง ชี้ไม่มีพยานหลักฐานว่าทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม

7 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา2564 บริเวณหน้า สน.ดินแดง ของ “ธีรยุทธ อุดทา” พนักงานส่งของไลน์แมน และ “จิตรกร แจคโคบี” นักกิจกรรม โดยถูกฟ้องร่วมกันในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประมวลกฎหมายอาญา ม.215 (มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย), ม.216 (เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก) และ ม.138 ประกอบ ม.140 (ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยมีหรือใช้อาวุธ)

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากกการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ของกลุ่ม RESTART DEMOCRACY หรือ REDEM ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยนัดหมายเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ภายในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารมหาดเล็กฯ รักษาพระองค์ที่ 1 เพื่อเคลื่อนไหวถึง 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ 2. ไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมกับการเมือง 3. เรียกร้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า

กระทั่งในเวลากลางคืนของวันที่ 28 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมประชาชนรวม 23 ราย โดยประชาชน 22 รายถูกจับกุมระหว่างสลายการชุมนุมบริเวณที่ชุมนุม หลังจากนั้นประชาชนที่ไม่พอใจการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่เดินทางมาชุมนุมที่หน้า สน.ดินแดง เป็นเหตุให้ธีรยุทธถูกจับกุมบริเวณ สน.ดินแดง และจิตรกรก็ถูกเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา หลังจากเดินทางไปที่ สน.ดินแดง เพื่อขอคืนรถจักรยานยนต์ของตนที่ถูกยึด หลังจากจอดทิ้งไว้ในวันที่เกิดเหตุชุมนุม 

ในชั้นสอบสวน ธีรยุทธและจิตรกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากธีรยุทธยืนยันว่าเป็นเพียงพนักงานส่งของที่กำลังเดินทางกลับบ้านผ่านถนนประชาสงเคราะห์หลังส่งของรอบสุดท้าย และจอดรถไว้ที่เซเว่นเพื่อดูเหตุการณ์และถ่ายคลิปวิดีโอไว้เท่านั้น ส่วนจิตรกรระบุว่าได้มาบริเวณที่ชุมนุมดังกล่าวจริง แต่เป็นอาสาสมัครทีมช่วยเหลือของโรงพยาบาล 

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 714 เวลา 9.24 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา โดยสรุประบุว่า จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ศาลรับฟังได้ไม่ถนัดว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุม พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา โดยศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นของจำเลยทั้งสองแยกกัน ดังนี้

.

จำเลยที่ 1 ธีรยุทธ อุดทา

ศาลวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งจับกุมจำเลยและมีคลิปวิดีโอกล้องวงจรปิดบริเวณร้านสะดวกเซเว่น ใกล้ สน.ดินแดง ของวันที่ 1 มี.ค. 2564 ซึ่งปรากฏภาพของจำเลย พบว่าขณะที่จำเลยต้องการจะเข้าเซเว่น ตำรวจควบคุมฝูงชนพบเห็น จึงเข้าควบคุมตัวจำเลยไป ไม่ได้จับกุมจำเลยได้ในที่ชุมนุม แม้ในคลิปวิดีโอจะปรากฏจำเลยอยู่ในบริเวณดังกล่าวประมาณ 30 นาที แต่โจทก์ไม่มีบันทึกภาพจากกล้องอื่นๆ เป็นหลักฐานว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบพฤติการณ์ของจำเลยก่อนการจับกุม 

แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่าพบคลิปวิดีโอที่จำเลยพูดคุยโต้ตอบกับกลุ่มผู้ชุมนุม และจำเลยรับว่าเสียงในคลิปเป็นของตน แต่จำเลยอ้างว่าตนพูดโดยคึกคะนอง ไม่พบว่าจำเลยพูดหรือใช้ถ้อยคำที่ทำให้ทราบว่าเข้าร่วมชุมนุม และโจทก์ก็ไม่ได้อ้างส่งพยานหลักฐานดังกล่าว

จำเลยเบิกความว่าประกอบอาชีพเป็นไลน์แมน ขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารบริเวณรัชดาภิเษก ห้วยขวาง พระราม 9 โดยในวันเกิดเหตุ ในเวลา 00.15 น. จำเลยก็ไปส่งอาหารบริเวณคอนโดแยกห้วยขวาง หลังจากนั้นพบว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ร้านเซเว่น บริเวณปากซอยประชาสงเคราะห์ ใกล้ สน.ดินแดง จำเลยเบิกความว่าเมื่อได้ยินเสียงบีบแตรจึงเดินไปดูและถ่ายคลิปวิดีโอไว้ โดยไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุม

.

จำเลยที่ 2 จิตรกร แจคโคบี

ศาลวินิจฉัยว่า ในวันดังกล่าวมีเหตุชุมนุมวุ่นวายบริเวณหน้า สน.ดินแดง ถึงถนนประชาสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อพบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยจึงเข้าตรวจยึด นำไปรักษาไว้ที่ สน.ดินแดง ภายหลังพบว่ารถจักรยานยนต์เป็นชื่อของจำเลยเป็นผู้ครอบครอง และภายหลังจำเลยได้มาแสดงตัวว่าเป็นผู้ครอบครอง

แต่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน และไม่ปรากฏพยานหลักฐานมานำสืบว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ โดยถูกจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลัง พบแต่เพียงรถจักรยานยนต์ของจำเลยในที่เกิดเหตุ

.

ศาลจึงเห็นว่ายังรับฟังไม่ได้ถนัดว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมตามฟ้อง พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

.

ทั้งนี้ กรณีของธีรยุทธ จำเลยที่ 1 นั้น เขาเปิดเผยตั้งแต่หลังถูกจับกุมว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมผิดคน โดยเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุที่หน้า สน.ดินแดง แต่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนหลายนายรุมกันเข้ามาจับกุมเขาที่หน้าเซเว่น โดยไม่ได้มีการแจ้งสิทธิหรือข้อมูลใดๆ เขาถูกจับมือไพล่หลังให้นั่งราบลงกับพื้น และยังลากตัวเขาไปยังบริเวณหน้าสถานีตำรวจ แม้เขาพยายามตะโกนว่าจับผิดคน แต่ตำรวจพยายามบอกไม่ให้ดิ้น ก่อนจะพาไปหลังรถบริเวณนั้น และใช้กระบองตีเข้าที่ท้องจนเป็นรอย แล้วพาตัวเข้าไปยังห้องสืบสวนในสถานีตำรวจ

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของธีรยุทธ

“ผมแค่ไปยืนดูเฉยๆ”: คำบอกเล่าพนักงานส่งอาหาร หลังถูกจับกุม #ม็อบ28กุมภา ใกล้สน.ดินแดง

X