ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี “อาทิตย์ – น้ำเชี่ยว” คดีเผารถผู้ต้องขัง #ม็อบ7สิงหา64 ก่อนลดโทษน้ำเชี่ยว เหตุอายุไม่เกิน 20 – ให้ประกันชั้นอุทธรณ์

2 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีเผารถควบคุมผู้ต้องขัง ของ อาทิตย์” (สงวนนามสกุล) และ “น้ำเชี่ยว” (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผารถควบคุมผู้ต้องขัง ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

อาทิตย์และน้ำเชี่ยวถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 217, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ ตาม ป.อ. มาตรา 215, ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 358, ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตาม ป.อ. มาตรา 360 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 ตำรวจได้ร่วมกันจับกุมน้ำเชี่ยวและอาทิตย์ เข้าตรวจค้นที่พักและยึดของกลาง ตามหมายจับและหมายค้นของศาลอาญา และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทั้งสองคนทราบ อย่างไรก็ตามน้ำเชี่ยวและอาทิตย์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมให้เขียนคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเองและบังคับให้ลงลายมือชื่ออีกด้วย แต่อาทิตย์ไม่ยินยอม

หลังการขอฝากขัง ศาลอาญาฯ ได้ให้ประกันตัวทั้งสองในชั้นฝากขัง โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 47,000 บาท ก่อนที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมภายหลัง โดยให้ทั้งสองติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (EM) และห้ามผูัต้องหาทั้งสองออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 15.00 น. ถึง 06.00 น. พร้อมกับห้ามทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะการใช้ความรุนแรง

น้ำเชี่ยวและอาทิตย์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล

คดีนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 โดยมีอาทิตย์เป็นจำเลยที่ 1 และน้ำเชี่ยวเป็นจำเลยที่ 2 ก่อนศาลทำการสืบพยานในช่วงระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ถึง 1 ก.พ. 2566 และนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (2 มี.ค. 2566)

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 714 ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา จากนั้นเวลา 09.40 น. ผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปดังนี้

พยานหลักฐานของโจทก์มีความสอดคล้องต้องกัน ปรากฏภาพเคลื่อนไหวตามที่พยานโจทก์เบิกความว่า รถควบคุมผู้ต้องขังเผาไหม้ทั้งคัน แม้พยานโจทก์จะไม่เห็นเหตุการณ์ แต่มีวิดีโอภาพเคลื่อนไหวปรากฏบุคคล 2 คน คนหนึ่งสวมเสื้อลายสก็อต และอีกคนหนึ่งสวมเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีเทา ขว้างปาสิ่งของไปที่รถควบคุมผู้ต้องขัง ทำให้มีเพลิงไหม้เกิดขึ้น

ในเหตุการณ์เดียวกัน มีภาพเคลื่อนไหวบุคคล 2 คน ซึ่งแต่งกายในลักษณะเดียวกันกับภาพเคลื่อนไหวในข้างต้น วิ่งไปหน้ารถควบคุมผู้ต้องขัง มีเปลวไฟเกิดขึ้นตรงจุดหน้าที่นั่งคนขับ กรณีมีประเด็นว่าผู้ก่อเหตุใช่จำเลยทั้งสองหรือไม่

จากพยานหลักฐานภาพกล้องวงจรปิด พบรถจักรยานยนต์ที่มีบุคคล 2 คน ลักษณะเดียวกันกับภาพเคลื่อนไหวข้างต้นขับขี่และซ้อนรถจักรยานยนต์ จากการสืบสวนพบว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถูกขายต่อกัน จนสุดท้ายขายให้กับพยานโจทก์คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ไว้ และได้นำกลับมาโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะคล้ายผู้ก่อเหตุเป็นผู้ขับ พบว่าชื่ออาทิตย์ และพยานโจทก์เบิกความว่า ให้จำเลยใช้ยืมเพื่อขับทำงานรับจ้าง

ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ปรากฏภาพจำเลยที่ 2 มีรอยสักบริเวณต้นแขนตรงกับผู้ก่อเหตุ เมื่อได้ชื่อผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงตรวจสอบการส่งพัสดุ ได้ที่อยู่ที่พักของจำเลยทั้งสอง หน้าห้องพักมีเสื้อแขวนอยู่เป็นเสื้อลักษณะเดียวกันกับผู้ก่อเหตุ และพบรองเท้าที่มีลักษณะตรงกันกับรองเท้าของผู้ก่อเหตุ

ต่อมา พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับ ศาลอนุมัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนนำหมายค้นและหมายจับไปค้นและจับจำเลยที่ห้องพัก พบเสื้อผ้า รถจักรยานยนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยมาที่ สน.พญาไท ทำบัญชีตรวจยึดของกลาง ส่งตัวจำเลยและสิ่งของให้แก่พนักงานสอบสวน

ศาลเห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน การเบิกความเท็จยังผิดวินัยอย่างร้ายแรง คำเบิกความมีความน่าเชื่อถือ สามารถรับฟังได้

พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า จากการตรวจสอบ DNA บนเสื้อผ้าที่ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง พบว่า DNA บนเสื้อผ้าตรงกับจำเลยที่ 1 

ส่วนเสื้อผ้าของจำเลยที่ 2 ที่ตรวจยึดได้มีลักษณะเดียวกับผู้ก่อเหตุ และตรงกับผู้ซ้อนรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 รับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าเป็นเสื้อผ้าของตน แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับสารภาพเพื่อความสบายใจ แม้คำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดจะห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้อยคำอื่นที่มิใช่ถ้อยคำรับสารภาพสามารถรับฟังได้ 

ปรากฏในบันทึกจับกุมว่า ตำรวจแจ้งสิทธิตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อแล้ว จึงเชื่อได้ว่า มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายแล้ว พยานหลักฐานที่ได้ตรวจยึดมีความน่าเชื่อถือ สามารถรับฟังได้

พยานหลักฐานของโจทก์เชื่อมโยงได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลเดียวกับผู้ก่อเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้สวมเสื้อลายสก็อต และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สวมเสื้อยืดสีเทา

เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความได้ความว่า รถควบคุมผู้ต้องขังเผาไหม้ทั้งคัน เพลิงไหม้น่าจะเกิดจากการกระทำของบุคคล จึงสามารถเชื่อได้ว่า การเกิดเพลิงไหม้เป็นการกระทำของบุคคล 

เมื่อจำเลยที่ 2 นำวัตถุปาไปทางหน้ารถแล้วเกิดเพลิงไหม้ขึ้นทันที ภาพเคลื่อนไหวเป็นการบันทึกภาพตามความเป็นจริง มีความน่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 217

จากภาพเคลื่อนไหว พยานโจทก์อธิบายว่า จำเลยทั้งสองอยู่ด้วยกันในขณะเกิดเหตุ ปรากฏภาพจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือกัน จำเลยที่ 2 ปาวัตถุไวไฟใส่หน้ารถควบคุมผู้ต้องขัง จำเลยที่ 1 รู้เห็นเป็นใจ เป็นการร่วมกันกระทำความผิดต่อทรัพย์ของผู้อื่น

มีการจัดทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดทำให้เสียทรัพย์อีกความผิดหนึ่งด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 358

พยานโจทก์เบิกความว่า มีเสาไฟจราจรถูกเผาไหม้ แม้จะไม่มีประจักษ์พยาน แต่เสาไฟจราจรติดตั้งบริเวณหัวโค้งริมบาทวิถี จำเลยทั้งสองวางเพลิงเผาทรัพย์รถควบคุมผู้ต้องขัง ย่อมเล็งเห็นได้ว่าเพลิงจะลุกลามไหม้ไปเสาไฟจราจรที่อยู่เคียงข้าง ทำให้พลาสติกละลาย ป้ายจราจรถูกเผาไหม้เป็นสีขาวลุดลอก เสาไฟจราจรมีไว้ให้ใช้สำหรับสาธารณประโยชน์ จึงเป็นความผิดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์อีกด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 360

การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิพบว่า มีผู้บุกรุกนำท่อนเหล็กเข้าไปตีและทำลายรถควบคุมผู้ต้องขัง มีการปาประทัด เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกับวัตถุพยาน เชื่อได้ว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 10 คนขึ้นไป แม้ท่อนเหล็กจะไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่ลักษณะการใช้เทียบได้อย่างอาวุธ จึงไม่ใช่การชุมนุมที่ใช้สิทธิตามปกติในระบอบประชาธิปไตย จำเลยเข้าร่วมชุมนุม วางเพลิงเผาทรัพย์ จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 215 วรรคสอง

การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า อยู่ที่ห้องพักของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกว่าจ้างไปส่งของ จำเลยที่ 2 จึงออกไปกับจำเลยที่ 1 เพื่อส่งพัสดุบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงนั้น มีเพียงจำเลยทั้งสองเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐาน

มีข้อต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน แต่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้นิยามคำว่า ผู้จัดการชุมนุม ไว้ ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่สามารถบอกว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งออกตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนดเขตพื้นที่ห้ามชุมนุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรคเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดเพิ่มเติม ดังนั้น การห้ามชุมนุมตามประกาศฯ ดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก

การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 217 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อายุยังไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 เคยถูกศาลเยาวชนและครอบครัวตัดสินให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยรอลงอาญา ขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดรอลงอาญา จึงต้องบวกโทษจำคุก รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 10 เดือน

หลังจากฟังคำพิพากษา อาทิตย์และน้ำเชี่ยวถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาทันที 

ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 17.00 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ระบุว่า “กรณีจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”  โดยกรณีอาทิตย์ให้วางหลักประกัน 100,000 บาท ส่วนน้ำเชี่ยว ให้วางหลักประกัน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

X