ในวันที่ 28 มี.ค. 2566 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 หรือ #ม็อบ2พฤษภา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 ในขณะนั้น เช่น “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา โดยเพนกวินได้อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาแล้ว 45 วัน และมีอาการไม่สู้ดีจากการอดอาหารดังกล่าว
ในคดีนี้มีนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนทั้งหมด 15 ราย ถูกฟ้องเป็นจำเลย ได้แก่ ร่อซีกีน นิยมเดชา, หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม, ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, วีรภาพ วงษ์สมาน, ปรณัท น้อยนงเยาว์, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, อิทธิกร ทรัพย์แฉ่ง, ปรีชญา สานจิตรสัมพันธ์, สุทธิตา รัตนวงศ์, “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, ยงยุทธ ฮังนนท์, ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ, ชนกันต์ เคืองไม่หาย และชาติชาย แกดำ
การชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ในวันที่ 2 พ.ค. 2564 นั้น มีการนัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ศาลอาญา มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง จากนั้นมีกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลและรูปของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ก่อนมีการประกาศยุติการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม หลังประกาศยุติการชุมนุมแล้วกว่า 1 ชม. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังเข้าสลายการรวมตัวของกลุ่มบุคคลประมาณ 20 -30 คน ที่หลงเหลือ และจับกุมร่อซีกีน, หทัยรัตน์, เยาวชนชาย 1 ราย และคุณภัทร คะชะนา บัณฑิตรามคำแหง และอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ที่นำหนังสือมือสองและเสื้อไปวางขายในที่ชุมนุม จากนั้นตำรวจได้ขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ร่วมชุมนุมอีก 13 คน ก่อนที่ทั้ง 13 คน จะเข้ามอบตัวต่อสู้คดี
ในชั้นศาล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องผู้ร่วมชุมนุมทั้ง 15 ราย ในข้อหาที่แตกต่างกัน ดังนี้
จำเลยที่ 1 และ 2 คือ ร่อซีกีน และหทัยรัตน์ ฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ส่วนจำเลยที่ 3 ถึง 15 ฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันกีดขวางทางเท้าฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
>>อ่านคำฟ้อง เปิดคำฟ้องคดี #ม็อบ2พฤษภา จำเลย 15 คน ร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวคดีการเมือง หน้าศาลอาญา
ภาพรวมของการสืบพยาน
การสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมีขึ้นในวันที่ 6-9, 13-16, 20-22 ธ.ค. 2565 และ 17-18 ม.ค. 2566 ที่ห้องพิจารณา 907 และ 908 มีการสืบพยานโจทก์จำนวน 34 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก คือ ชาติชาย และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
ฝ่ายโจทก์ได้พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 15 คน เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปโดยสันติ มีการใช้ความรุนแรงในระหว่างชุมนุม และเปิดคลิปโจมตี “ชนาธิป” เป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษา รวมถึงทำกิจกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
ขณะที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง
.
พยานโจทก์กลุ่มตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่หน้าศาลอาญาชี้ จำเลยร่วมชุมนุม-ติดภาพผู้พิพากษา-ปาสิ่งของหน้าศาล แต่ไม่รู้เทปปราศรัยโจมตี “ชนาธิป” ใครเป็นคนทำ
สำหรับพยานโจทก์กลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าศาลอาญาในวันเกิดเหตุ มีทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.เดชา พรมโสภา ผบ.ร้อย คฝ., พ.ต.ท.ธเนศ ศรีจำปา รอง ผกก.สส.สน.พหลโยธิน, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผกก.สน.พหลโยธิน, พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.สน.พหลโยธิน, ร.ต.อ.ตฤน รัตนแก้ว ตำรวจศาลชำนาญการที่ศาลอาญา และ ร.ต.อ.ศาศวัตร โคตรวงศ์ รอง สว.สส.สน.พหลโยธิน
พยานกลุ่มนี้เบิกความคล้ายคลึงกัน โดยสรุประบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ออกประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนที่เฟซบุ๊กเพจ “เยาวชนปลดแอก” ได้นัดชุมนุมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่หน้าศาลอาญา ในวันที่ 2 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รับคำสั่งให้มาประจำจุดรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลอาญา
ในวันที่ 2 พ.ค. 2564 ขบวนของกลุ่ม REDEM ประกอบด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถขนเครื่องขยายเสียง เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาถึงหน้าศาลอาญา ผู้ชุมนุมมีประมาณ 200-300 คน โดยมีการเปิดเทปการปราศรัยโจมตีผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ ชิวารักษ์
ต่อมา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจะรวมตัวกันขว้างปาไข่ มะเขือเทศ และสาดสีใส่ป้ายของศาลอาญา ก่อนที่แกนนำผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 18.00 น. และขอให้แยกย้ายกันเดินทางกลับ ซึ่งมีผู้ชุมนุมบางส่วนปฏิบัติตาม แต่บางส่วนยังต้องการทำกิจกรรมต่อและยกระดับความรุนแรงขึ้น โดยใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วเข้ามาในบริเวณศาลอาญา ถูกกระจกแตกได้รับความเสียหาย
พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ปราบปราม สน.พหลโยธิน ได้ประกาศเตือนผู้ชุมนุมผ่านรถเครื่องขยายเสียงของตำรวจที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถของศาลอาญาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 25)
ต่อมา พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผกก.สน.พหลโยธิน ได้ประกาศผ่านรถเครื่องขยายเสียง แจ้งผู้ชุมนุมให้เลิกชุมนุม ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงแยกย้ายเดินทางกลับ แต่บางส่วนได้เคลื่อนตัวไปรวมกันอยู่ที่บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32
ภายหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมที่หน้าปากซอยรัชดาภิเษก 32 ให้เลิกการชุมนุม พร้อมกับเคลื่อนกำลัง คฝ.บางส่วนมาตั้งแนวกระชับพื้นที่ชุมนุม ก่อนมีการปะทะกับผู้ชุมนุม
ผู้ชุมนุมบางส่วนยิงพลุเข้าใส่ คฝ. และบางส่วนได้ล่าถอยเข้าไปในซอยรัชดาภิเษก 32 คฝ. ได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม การชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณก่อนเที่ยงคืน
ชุดสืบสวนระบุว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานและทำการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในวันเกิดเหตุพบว่า จำเลยทั้ง 15 ราย ร่วมกันกระทำความผิดในคดีนี้ โดยมีพฤติการณ์แตกต่างกันไป ดังนี้
จำเลยที่ 1, 2 ร่อซีกีน, หทัยรัตน์ ก่อความวุ่นวายที่ซอยรัชดาฯ 32
จำเลยที่ 3, 4 ศุภกิจ, วีรภาพ ร่วมกันรื้อแบริเออร์และขว้างปาสิ่งของหน้าศาลอาญา
จำเลยที่ 5 ปรณัท ร่วมการชุมนุมและรื้อแบริเออร์
จำเลยที่ 6, 12 พัชรวัฒน์, ยงยุทธ์ ขว้างปาสิ่งของหน้าศาลอาญา
จำเลยที่ 7 จุฑาทิพย์ เตรียมสิ่งของ เช่น สี ไข่ มะเขือเทศ
จำเลยที่ 8 – 11 อิทธิกร, ปรีชญา, สุทธิตา, โสภณ นำภาพผู้พิพากษาไปติดที่ป้ายศาลอาญา
จำเลยที่ 13 ชนกันต์ ขว้างปาสิ่งของและเทสีหน้าศาลอาญา
จำเลยที่ 14 ศรัณย์ ขว้างปาสิ่งของและใช้หนังสติ๊กยิงวัตถุเข้ามาในศาลอาญา
จำเลยที่ 15 ชาติชาย เป็นผู้ประกาศให้ผู้ชุมนุมหยิบมะเขือเทศและไข่ขว้างใส่ป้ายศาล
.
.
พยานตำรวจกลุ่มนี้ตอบทนายจำเลยถามค้านโดยสรุปว่า พยานทราบว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนเทปคำปราศรัยโจมตีผู้พิพากษาชนาธิป ตำรวจยังไม่สามารถสืบทราบได้ว่า ใครเป็นคนปราศรัย และใครเป็นคนเปิดเทปดังกล่าว
พยานกลุ่มนี้รับว่า วันเกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ซึ่งศาลอาญาปิดทำการ และวันจันทร์หลังเกิดเหตุ ศาลอาญายังคงเปิดให้บริการแก่ประชาชนตามปกติ
ในส่วนพฤติการณ์การชุมนุม ถึงแม้จะมีการขว้างปาสิ่งของบริเวณหน้าศาลอาญา แต่พยานตำรวจซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุรับว่า ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดบุกรุกเข้าไปในศาลอาญา และประตูศาลอาญาก็ปิดทุกประตู ทั้งไม่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง หลังประกาศยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็แยกย้ายกันเดินทางกลับ การเคลื่อนย้ายแบริเออร์ก็เพื่อให้รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมสามารถกลับรถได้โดยสะดวกเท่านั้น ไม่ได้ทำให้แบริเออร์เสียหาย อีกทั้งตามรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏภาพจำเลยที่ 1-5 ขณะกระทำความผิด
ในส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานกลุ่มนี้ทราบว่า ระหว่างการชุมนุมมีแพทย์พยาบาลอาสามาให้บริการเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยที่หน้าศาลอาญา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีทั้งที่สวมหน้ากากอนามัยและใช้ผ้าปิดบังใบหน้า มีการเดินไปเดินมา ไม่ได้จับกลุ่มอยู่กับที่ รวมถึงที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ตำรวจทุกนายระบุว่าในวันเกิดเหตุ ไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมมีที่มาจากกลุ่มใดบ้าง แต่ทราบว่ามีการนัดหมายผ่านเพจเฟซบุ๊กเยาวชนปลดแอก โดยพยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว อีกทั้งการชุมนุมไม่มีการตั้งเวทีปราศรัยและไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นแกนนำ
ตำรวจจราจรรับ ขณะมีชุมนุม รถยังสัญจรได้ แต่ได้รับคำสั่งให้ ปชส. ประชาชนหลีกเลี่ยงผ่านหน้าศาลอาญา
ร.ต.อ.อัครชัย บางศิริ รองสารวัตร (จราจร) สน.พหลโยธิน เบิกความว่า วันเกิดเหตุได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปอำนวยความสะดวกในการจราจรที่หน้าศาลอาญา ตอนที่กลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงหน้าศาลอาญา รถยนต์ยังสัญจรได้ แต่ค่อนข้างช้า ต่อมา พยานได้ไปที่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางหน้าศาลอาญา และไม่อนุญาตให้รถผ่านเข้าไปหน้าศาลอาญา เว้นแต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งหลัง 18.00 น. พยานได้รับคำสั่งให้ปิดการจราจรทั้งขาเข้าและขาออกถนนรัชดาภิเษก โดยปิดไปจนถึง 02.00 น.
จากนั้น ร.ต.อ.อัครชัย เบิกความตอบทนายจำเลยว่า โดยปกติแยกลาดพร้าวและถนนรัชดาฯ ในช่วงเย็นจะมีการจราจรหนาแน่นและติดขัดอยู่แล้ว
.
คฝ.พลโล่-พลขับระบุ ถูกผู้ชุมนุมในซอยรัชดาฯ 32 ยิงพลุใส่ได้รับบาดเจ็บ-รถตำรวจถูกทุบเสียหาย แต่ไม่เห็นหน้าผู้กระทำผิด – ผลตรวจแพทย์พบเพียงแผลถลอก
ในส่วนพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจควบคุมฝูงชนทั้งพลขับรถและพลโล่ที่ปฎิบัติหน้าที่ในซอยรัชดาภิเษก 32 มีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ ด.ต.วัฒนพงษ์ นาจกระโทก, ด.ต.มีชัย แก่นจันทร์, ด.ต.ถวัลย์ จันทร์วัง, ส.ต.ท.วิวิธชัย บุญศรี, ส.ต.อ.กฤษฎา เทพรัตน์, ส.ต.ต.วุฒิชัย จันทร์หอม, ส.ต.ต.รัฐกิตติ์ จันต๊ะวงศ์ แล ะส.ต.ต.สุขสันต์ สบเหมาะ
คฝ.ทั้งแปดเบิกความในลักษณะเดียวกันว่า วันเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ศาลอาญา โดยทั้งหมดมารวมพลที่หน้าศาลอาญาและใกล้เคียงตั้งแต่ช่วงเที่ยง แต่ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ กระทั่ง 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่พยานจับใจความไม่ได้หรือจำเนื้อหาไม่ได้
ประมาณ 21.00 น. หลังกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวหน้าศาลอาญา พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีผู้ก่อความวุ่นวายภายในซอยรัชดาฯ 32 โดยไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด แต่คาดว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาจากหน้าศาลอาญา จึงให้พลขับขับรถตู้มารับกำลัง คฝ. ไปที่ซอยรัชดาฯ 32 เมื่อไปถึง ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนยั่วยุท้าทาย ขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดแก้ว หิน พลุ และประทัด ใส่ คฝ. รวมถึงทุบรถตู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ต่อมา พลโล่ประมาณ 2 กองร้อย นำกำลังเสริมมาสมทบ มีการตั้งแนวโล่และใช้กระบองยางเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว พยานที่เป็นพลโล่ 3 นาย ได้รับบาดเจ็บจากพลุและประทัด ด้านรถตู้และกระบะตำรวจที่พยานขับก็ได้รับความเสียหาย
ในส่วนพลโล่ที่ได้รับบาดเจ็บได้มีรถโรงพยาบาลตำรวจมารับตัวไปรักษา แพทย์ลงความเห็นว่า บาดแผลไม่อันตราย โดยให้นอนพักดูอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน และให้หยุดพักรักษาตัว 3 วัน ทั้งนี้ พยานไม่เห็นหน้าบุคคลที่ยิงพลุไฟและประทัด แต่ทราบว่ายิงมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม
ต่อมา ด.ต.วัฒนพงษ์, ด.ต.มีชัย, ด.ต.ถวัลย์, ส.ต.ท.วิวิธชัย และ ส.ต.อ.กฤษฎา พลขับรถตู้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยสรุปว่า ในระหว่างเกิดการปะทะในซอยรัชดาฯ 32 พยานเตรียมพร้อมประจำอยู่บนรถ จึงไม่เห็นใบหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกันกับผู้ชุมนุมหน้าศาลอาญาหรือไม่ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีประชาชนที่มาดูเหตุการณ์ด้วย
พลขับรถตอบทนายจำเลยอีกว่า กำลังเสริมที่มาในภายหลัง มีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงนำขบวน รวมถึงมีการใช้แก๊สน้ำตา พยานบางคนไม่แน่ใจว่า ในรถมีกล้องบันทึกภาพติดอยู่หรือไม่ หรือใช้การได้หรือไม่ หลังจากเหตุปะทะแล้ว รถยังสามารถขับเคลื่อนได้ตามปกติ โดยพยานยังสามารถขับรถกลับมาที่ศาลอาญาได้
ด้าน ส.ต.ต.วุฒิชัย, ส.ต.ต.รัฐกิตติ์ และ ส.ต.ต.สุขสันต์ พลโล่ ตอบทนายจำเลยในลักษณะเดียวกันว่า หลังได้รับบาดเจ็บ พยานยังเดินกลับมาที่จุดพักคอยบริเวณตรงข้ามศาลอาญาได้ และหลังนอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน ก็ออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยผลการตรวจของแพทย์ระบุว่า มีแผลถลอกเท่านั้น
.
นักวิชาการสุขาภิบาลเบิกความ ไม่มีบุคคลใดขออนุญาตจัดชุมนุม แต่หากเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมก็ไม่ต้องขออนุญาต
วีรยา วังสาร ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนักวิชาการสุขาภิบาลปฏิบัติการ ประจำสำนักงานเขตจตุจักร และเป็นพนักงานควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ด้วย วีรยาเบิกความว่า วันที่ 2 พ.ค. 2564 กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศเรื่องการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) เพื่อควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่โรค การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน ต้องขออนุญาตผู้อำนวยการเขต แต่การจัดกิจกรรมที่หน้าศาลอาญาในวันเกิดเหตุได้ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบุคคลใดขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าว
วีรยาตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ทราบว่าบุคคลที่มีหน้าที่ยื่นขออนุญาตจัดกิจกรรมคือผู้จัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องขออนุญาต พยานมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโดยเข้าไปตรวจสอบพื้นที่จัดงาน ทั้งก่อนและในวันจัดกิจกรรม แต่ในวันเกิดเหตุพยานและฝ่ายสิ่งแวดล้อมไม่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ อีกทั้งพยานไม่ได้ตรวจสอบว่า มีการขออนุญาตจัดกิจกรรมดังกล่าวไปที่กรมอนามัยหรือไม่ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุพยานไม่พบว่ามีคลัสเตอร์ระบาดที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม
นิติกรฝ่ายประกันตัวแจง ผู้พิพากษาที่ไม่ให้ประกัน “เพนกวิน” ไม่ได้มีแค่ “ชนาธิป” แต่รับ การวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำได้
นงลักษณ์ จันทะเลิศ นิติกรชำนาญการฝ่ายประกันตัว ศาลอาญา เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุ พยานทำหน้าที่รับคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเสนอต่อผู้พิพากษา เพื่อให้ผู้พิพากษามีคำสั่ง
สำหรับศาลอาญานั้น ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ได้แก่ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จำนวน 3 ท่าน รวมทั้งผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดและคดีค้ามนุษย์ โดยขณะนั้น รองอธิบดีฯ ได้แก่ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์, เทวัญ รอดเจริญ, พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์, ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด คือ สันติ บุตรดี และผู้พิพากษาหัวหน้าคดีค้ามนุษย์ คือ มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนใดมีหน้าที่สั่งคำร้องปล่อยชั่วคราวในวันใด
พยานทราบว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้มาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีทางการเมือง แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ โดยในกรณีของพริษฐ์มีการยื่นคำร้องขอประกันหลายครั้ง ซึ่งในขณะนั้นศาลยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาที่ไม่อนุญาตคือ รองอธิบดีฯ ทั้งสาม แต่เท่าที่พยานจำได้ ผู้ที่สั่งไม่ให้ประกันพริษฐ์ครั้งแรกคือ ชนาธิป
ชนาธิปยังเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี “อากง SMS” อำพล ตั้งนพกุล ซึ่งได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ในคดีความผิดตามมาตรา 112
นงลักษณ์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า ในคดีอื่นที่ไม่ใช่คดีการเมือง ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาคำขอประกันตัวก็เป็นผู้พิพากษาทั้ง 5 ท่านนี้เช่นกัน พยานทราบว่า มารดาของพริษฐ์เป็นผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์หลายครั้ง และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ส่วนใหญ่จะอ้างเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ซึ่งพริษฐ์ได้อดอาหารระหว่างถูกขังจนมีอาการล้มป่วย
ในคดีสำคัญจะมีการประชุมของผู้บริหารศาลอาญาเพื่อพิจารณาทำคำสั่ง ซึ่งในคดีดังกล่าวจะมีการระบุในคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า “โดยที่ปรึกษาของผู้บริหารศาลอาญา” และลงนามด้วยผู้บริหารศาล
พยานทราบว่า คดีของ “อากง” ภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิด และไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อากงได้เสียชีวิตในเรือนจำ คดีดังกล่าวได้รับความสนใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
พยานเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำได้
.
พนักงานบริษัทให้เช่ารถตู้แก่ สตช. เรียกร้องค่าเสียหาย กรณีผู้ชุมนุมทุบรถ แต่ไม่มีใบประเมินราคาซ่อมจากบริษัทประกันภัย-มีภาพรถเสียหายแค่ด้านหน้า แต่ผู้ให้เช่าประเมินซ่อมทั้งคัน
จตุรงค์ อุปลา พนักงานของบริษัท เอ็ม.แซท.ดี. คาร์เซ็นเตอร์ จำกัด เบิกความว่า ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเข้าร้องทุกข์ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดกับรถตู้ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เช่าไปเพื่อใช้ในราชการ และได้รับแจ้งจากตำรวจว่า ถูกผู้ชุมนุมใช้ของแข็งทุบ บริเวณถนนรัชดาภิเษกหน้าศาลอาญา ในวันที่ 2 พ.ค. 2564
รถที่ได้รับความเสียหายมีทั้งหมด 4 คัน ได้แก่ รถตู้ของ สน.อุดมสุข, สน.วังทองหลาง, สน.โชคชัย และ สน.หัวหมาก ทั้ง 4 คัน มีประกันภัยชั้น 1 กับบริษัทคุ้มภัย โตเกียว มารีนประกันภัย จำกัด ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมแล้ว
ต่อมา จตุรงค์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานลงไปตรวจความเสียหายร่วมกับเจ้าหน้าที่จากบริษัทประกัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการทำบันทึกความเสียหายอย่างละเอียดทุกจุด โดยรถตู้ทั้ง 4 คัน ได้รับความเสียหายตามภาพในเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งมีแค่ภาพด้านหน้ารถ แต่ปรากฏรายการประเมินความเสียหายรอบคันรถ นอกจากนี้ การประเมินความเสียหายดังกล่าวเป็นการประเมินของบริษัท เอ็ม.แซท.ดี. คาร์เซ็นเตอร์ เอง ไม่ใช่การประเมินของบริษัทประกัน ซึ่งพยานไม่รู้ว่า ค่าซ่อมแซมและเคลมประกันจริงเป็นจำนวนเงินเท่าใด
.
สันติบาลระบุ ผู้ชุมนุมมีหลายกลุ่ม มีเพจ “เยาวชนปลดแอก” โพสต์ชวนชุมนุม แต่ไม่ทราบว่า ใครเป็นแอดมินหรือผู้โพสต์
พ.ต.อ.เทอดไทย สุขไทย ผู้กำกับการ กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุมีการสืบสวนพบว่า กลุ่ม REDEM โดยเพจ “เยาวชนปลดแอก” ได้โพสต์เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา มีวัตถุประสงค์กดดันให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง มวลชนที่จะมาชุมนุมประกอบด้วยกลุ่ม REDEM, WeVo, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี การชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการนัดชุมนุมต่อเนื่องเพื่อต่อต้านรัฐบาล บางกลุ่มมีข้อเรียกร้องกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
พยานติดตามกลุ่มและการชุมนุมดังกล่าวโดยตลอด หลังเหตุการณ์พยานและทีมงานสามารถพิสูจน์สืบทราบตัวบุคคลผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ประมาณ 50-60 คน และได้จัดทำรายงานไว้
ตามรายงานผลการตรวจสอบกลุ่ม REDEM ปรากฏชื่อจุฑาทิพย์ จำเลยที่ 7 เป็นแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก – REDEM, ปรณัท จำเลยที่ 5 เป็นสมาชิกกลุ่ม WeVo ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง, จำเลยที่ 1 และ 2 เป็นการ์ดของเยาวชนปลดแอก พยานเคยเก็บภาพจำเลยที่ 1 ถือวอแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการ์ดได้ แต่ไม่ใช่ภาพของการชุมนุมครั้งนี้
พ.ต.ท.เทอดไทย เบิกความอีกว่า กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติตามที่สภาความมั่นคงฯ กำหนด ซึ่งการชุมนุมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยเป็นหนึ่งในนั้น โดยจะทำการสืบสวนหาข่าว สรุปเป็นข่าวกรองแจ้งให้ฝ่ายปฏิบัติการเตรียมรับมือพร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่สันติบาลลงพื้นที่รวบรวมข้อมูล บันทึกภาพ จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นฝ่ายสืบสวนในพื้นที่เช่นกัน
พยานเห็นว่า การชุมนุมโดยปกติสามารถทำได้ตามเสรีภาพที่รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งขณะเกิดเหตุรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และห้ามให้มีการชุมนุมเด็ดขาดในทุกพื้นที่
.
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เทอดไทย ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่หน้าศาลอาญาและหน้าปากซอยรัชดาฯ 32 ข้อเท็จจริงที่ระบุในรายงานผลการตรวจสอบกลุ่ม REDEM พยานหาข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร เพราะเจ้าหน้าที่สันติบาลปฏิบัติการในทางลับ
พยานยืนยันว่า กลุ่ม REDEM มีอีกชื่อหนึ่งว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก เป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่พยานไม่ทราบว่าผู้ดูแลเพจเยาวชนปลดแอกหรือผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนชุมนุมเป็นใคร และไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้จัดทำหรือเปิดเทปปราศรัยโจมตีชนาธิป เหมือนพะวงศ์
จากรายงานผลการตรวจสอบกลุ่ม REDEM ระบุชื่อจุฑาทิพย์เป็นเพียงหนึ่งในบุคคลที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรม โดยมีชื่อบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนี้เป็นแกนนำด้วย อีกทั้งไม่ปรากฏภาพจำเลยที่ 1, 2 และ 15 รวมถึงรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำผิด
ทั้งนี้ พยานทราบว่า ผู้ต้องหาทุกคนมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว หากองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐกระทำการที่กระทบสิทธิดังกล่าว ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
.
คณะพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 15 แต่รับ ทราบพฤติการณ์จำเลยจากรายงานการสืบสวน ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่
สำหรับพยานที่เป็นคณะพนักงานสอบสวนมีทั้งหมด 12 ปาก ทั้งหมดเบิกความในลักษณะเดียวกันว่า หลังเกิดเหตุเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดี โดยในคณะทำงานมีการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายสืบสวน ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานในมิติของการสืบสวน และฝ่ายสอบสวน ทำหน้าที่นำพยานหลักฐานมารวบรวมเข้าสำนวนคดีและสอบคำให้การ
ภายหลังสืบทราบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด พบว่ามีผู้ต้องหาจำนวน 15 คน อยู่ในอำนาจของศาลอาญา และผู้ต้องหาจำนวน 4 คนอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนฯ
ในวันเกิดเหตุจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ แจ้งข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และใช้กำลังประทุษร้ายฯ ส่วนจำเลยที่ 3 – 15 ถูกออกหมายจับในภายหลัง โดยทั้ง 13 คน ได้เข้ามาพบกับพนักงานสอบสวนเอง หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 15 ราย
ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พนักงานสอบสวนทั้ง 12 ปาก เบิกความโดยสรุปว่า ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุด้วยตนเอง ทราบพฤติการณ์คดีจากรายงานการสืบสวนของฝ่ายสืบสวน ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รายงาน รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบว่า รายงานสืบสวนและรายงานผลการตรวจสอบกลุ่ม REDEM มีความถูกต้องตามจริงหรือไม่
พนักงานสอบสวนซึ่งรับมอบตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 จาก คฝ. ยืนยันว่า ไม่มีการยึดสิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิดจากทั้งสองไว้เป็นของกลาง และจำเลยที่ 2 ได้ให้การไว้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จับกุมไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหา แต่ใช้โล่ฟาดปากและผลักจำเลยล้มลงจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ ด้านหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนไม่ยืนยันว่า มีคลิปวิดีโอหรือภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือไม่
ในการตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตจัดกิจกรรมและใช้เครื่องขยายเสียง พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือสอบถามไปถึงสำนักงานเขตจตุจักร แต่หนังสือตอบกลับของสำนักงานเขตระบุเพียงว่า ไม่มีการขออนุญาตจัดกิจกรรมเท่านั้น
จากการสอบสวนไม่ทราบว่า ผู้ดูแลเพจ REDEM หรือ “เยาวชนปลดแอก” เป็นใคร และใครเป็นผู้เผยแพร่โพสต์นัดชุมนุม
.
ฝ่ายจำเลยเบิกความ ที่ชุมนุมโล่ง ไม่แออัด แม้มีการปาไข่-มะเขือเทศ แต่ไม่เป็นอันตราย ไม่มีความรุนแรง
ชาติชาย แกดำ 1 ใน 15 จำเลย อ้างตนเป็นพยานเบิกความยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ระบุว่า พยานเป็นคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พยานไม่ได้รู้จักกับจำเลยอื่นๆ ในคดีนี้ และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ, REDEM หรือ เยาวชนปลดแอก รวมทั้งไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ก่อตั้งหรือเป็นสมาชิกกลุ่ม REDEM บ้าง เท่าที่ติดตามข่าวพยานทราบว่า กลุ่มนี้ไม่มีแกนนำ เป็นการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อแสดงออกถึงความอึดอัดมากกว่า โดยจะมีการสื่อสารกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย
ชาติชายเบิกความอีกว่า ทราบข่าวการชุมนุมในคดีนี้จากโซเชียลมีเดีย และทราบว่าการชุมนุมมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิประกันตัว และปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งทราบว่า ขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ที่เข้าร่วมชุมนุมเพราะที่ชุมนุมโล่งแจ้ง มีการแจกหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์แก่ผู้ร่วมชุมนุม อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมแบบคาร์ม็อบ นอกจากนี้พยานเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง เป็นเรื่องสําคัญซึ่งประชาชนต้องเรียกร้องสิทธิดังกล่าว
วันเกิดเหตุ พยานไปที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อน และขอติดรถยนต์ของผู้ชุมนุมไปที่ศาลอาญา ขณะไปถึงพยานสังเกตเห็นว่า รถยังสามารถแล่นได้ปกติ แม้ฝั่งศาลอาญาจะมีรถเยอะ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่บนฟุตบาทในลักษณะกระจายตัว แต่ส่วนใหญ่อยู่บนรถ จึงไม่แออัด และส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีคนนำเจลแอลกอฮอล์มาพ่นใส่มือ
รถเครื่องเสียงมีหลายคัน บางคันเปิดเครื่องเสียง บางคันมีคนปราศรัยถึงข้อเรียกร้อง และบางคันเปิดคลิปเสียงที่พูดถึงผู้พิพากษาชนาธิป พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับคลิปเสียงดังกล่าว จะเป็นเสียงของผู้ใดพยานก็ไม่ทราบ
ระหว่างที่มีการปราศรัยและเปิดคลิปเสียงนั้น พยานเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมหยิบไข่และมะเขือเทศที่มีการวางเตรียมไว้ปาใส่ป้ายศาลอาญาและเข้าไปในศาลด้วย ก่อนจะมีคนมาขอให้พยานช่วยห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมปาของเข้าไปในศาล เหตุที่มาบอกให้พยานช่วยห้าม เนื่องจากมีหลายคนรู้จักพยาน จึงเชื่อว่าพยานจะสามารถเตือนสติได้ พยานเห็นว่า หากอยู่ดีๆ ไปห้ามอาจจะถูกรุมประชาทัณฑ์ได้ จึงพยายามพูดให้ผู้ชุมนุมคล้อยตาม โดยบอกให้ปาสิ่งของใส่ป้ายศาลเท่านั้น
เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุม หลังจากนั้นพยานได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิด 1 ครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมตกใจ เกรงว่าจะมีมือที่ 3 เพราะม็อบไม่มีแกนนำ จึงแยกย้ายกันกลับบ้าน และพยานก็กลับบ้านทันที
ชาติชายเบิกความอีกว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ มีเพียงกิจกรรมปาไข่ และมะเขือเทศ ซึ่งไม่เป็นอันตราย พยานไม่ทราบเหตุการณ์ในซอยรัชดาฯ 32 ในวันดังกล่าวประตูศาลปิด และพยานไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในบริเวณศาล
นักวิชาการสันติวิธีชี้ การชุมนุมหน้าศาลเป็นไปโดยสันติ – “ไข่ มะเขือเทศ สี” ถูกใช้ในแพร่หลายในการประท้วง สื่อว่าไม่ต้องการทำร้ายใคร
เอกพันธ์ ปิณฑวณิช นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกความว่า ตามหลักวิชาการ การชุมนุมโดยสงบ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเมื่อสังคมเกิดความขัดแย้ง จากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น เกิดความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลบริหารล้มเหลว เศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์ ประชาชนที่มีอำนาจน้อยจึงต้องรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
การชุมนุมโดยสงบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย องค์กรระหว่างประเทศจึงรับรองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายขั้นพื้นฐานของรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สามารถถูกจํากัดได้โดยสถานที่ เวลา หรือรูปแบบ
รูปแบบการชุมนุมโดยสงบและสันติ มี 3 ลักษณะ ได้แก่ การต่อต้านความไม่เป็นธรรมหรือการเชิญชวนให้กระทําในสิ่งที่ควรกระทํา, การไม่ให้ความร่วมมือกับกฎเกณฑ์หรือนโยบายซึ่งออกมาโดยไม่ชอบ และการเข้าไปแทรกแซงได้แก่ การขวางถนน หยุดการประชุม
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นว่า มีลักษณะเป็นคาร์ม็อบเพื่อแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การปราศรัย ปาไข่
มะเขือเทศ เข้าใส่ป้ายศาลอาญา ชูป้ายเพื่อสื่อสารบางเรื่อง ซึ่งเหตุในการชุมนุม เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความทุกข์ แต่การชุมนุมเพียงแค่ปาไข่ และมะเขือเทศ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่รุนแรง
ไข่ มะเขือเทศ และสี ถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับการชุมนุมโดยสันติ เป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่า ไม่ได้ประสงค์ทำร้ายใคร เพราะไข่ มะเขือเทศ และสี ไม่สามารถทําให้บุคคลได้รับบาดเจ็บ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสเปน แคว้นบาเลนเซีย ป้ายภาษาสเปนกลางเลอะไปด้วยสี เพราะคนท้องถิ่นต้องการใช้ภาษาตัวเอง ไม่ต้องการใช้ภาษาสเปน และกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ ขณะควีนอลิซาเบธเดินทางไปเยี่ยมชาวเมาลี ได้มีผู้ชุมนุมปาไข่โดนควีนอลิซาเบธ และเปิดก้นให้ดู หลังถูกจับได้ผู้ต้องหาให้การว่า อัดอั้นตันใจที่อังกฤษยึดนิวซีแลนด์ ศาลได้ลงโทษสถานเบาผู้ต้องหารายนี้ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี
ในการชุมนุมโดยสันติวิธีอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ แต่หากไม่ได้เป็นเจตนาโดยรวมของผู้ชุมนุมทั้งหมดก็ยังถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและสันติอยู่ เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องจับตัวผู้กระทำความรุนแรงมาดำเนินคดีแยกเป็นการเฉพาะ ไม่อาจเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและใช้ความรุนแรงตอบโต้ประชาชนได้ แต่หากมีการเตรียมการไว้ก่อนว่าจะไปทำร้ายร่างกายหรือทำลายสิ่งใด จะถือว่าเป็นการชุมนุมที่ประสงค์ใช้ความรุนแรง
เอกพันธ์มองว่า ในส่วนของเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ซอยรัชดาฯ 32 หลังการชุมนุมที่หน้าศาลอาญายุตินั้น ผู้ชุมนุมคนอื่นไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบ เนื่องจากการชุมนุมไม่ได้มีแกนนำชัดเจน หรือแม้จะมีแกนนำแต่ผู้ชุมนุมแต่ละคนมีความคิดของตัวเอง บางอย่างจึงไม่อยู่ในการควบคุมของแกนนำ ประกอบกับการชุมนุมโดยทั่วไปจะเกิดจากความอัดอั้นตันใจของประชาชน จึงมีอารมณ์โกรธ และอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งหากกระทบบุคคลอื่น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะดำเนินคดีกับผู้ก่อความรุนแรงเฉพาะราย
นอกจากนี้ ในขณะเกิดเหตุมีการออกข้อกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากการชุมนุมมีมาตรการป้องกันโรค และไม่ปรากฏว่า มีการระบาดของโรคซึ่งเกิดจากการชุมนุม ก็ถือได้ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ซึ่งการชุมนุมในคดีนี้มีลักษณะเป็นคาร์ม็อบ มีการเว้นระยะห่างพอสมควรอยู่แล้ว พยานเห็นว่า ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดแต่อย่างใด
.
เจ้าหน้าที่ถอดเทปปราศรัยระบุ ไม่สามารถระบุตัวผู้ปราศรัยได้ ด้านกองพิสูจน์หลักฐานชี้คลิปเหตุการณ์ไม่ได้ผ่านการตัดต่อ แต่แผ่นซีดีที่ยื่นศาลไม่ใช่แผ่นที่ตรวจพิสูจน์
ร.ต.อ.นพดล หอมสมบัติ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ประชาชื่น เบิกความว่า เป็นผู้ถอดเทปเสียงปราศรัยที่มีการเปิดในวันเกิดเหตุ โดยทีมที่ทำการถอดเทปถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวมีหลายคน โดยเสียงที่กล่าวปราศรัยเป็นเสียงผู้ชาย แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.นพดล ตอบทนายจำเลยถามค้าน ว่า พยานไม่ทราบว่าไฟล์วิดีโอดังกล่าวจะจัดทำขึ้นวันใด และยืนยันไม่ได้ว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ร.ต.อ.นพดล รับว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นอำนาจสอบสวนของ สน.พหลโยธิน ไม่ใช่ สน.ประชาชื่น และพยานไม่มีชื่อในคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้
ด้าน พ.ต.ท.นิติ อินทุลักษณ์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ซึ่งตรวจสอบแผ่นซีดีที่บันทึกวีดิโอเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เบิกความยืนยันว่า ไม่พบร่องรอยการตัดต่อคลิปวิดีโอดังกล่าว
จากนั้น พ.ต.ท.นิติ ตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า แผ่นซีดีบรรจุไฟล์วิดีโอที่ยื่นต่อศาลเป็นวัตถุพยานโจทก์ไม่ใช่แผ่นซีดีที่พยานตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีสัญลักษณ์ที่พยานทำไว้ พยานไม่ทราบว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวจะถูกตัดหน้าหรือหลังหรือไม่ แต่ในทางเทคนิคแล้วมีความเป็นไปได้