การต่อสู้เพื่อ “ความจริง” ในศาล: คุยกับ ‘พล็อต’ คนขายหนังสือ ผู้ถูกจับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน #ม็อบ2พฤษภา64

เขาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ให้ใครต่อใครฟังมาแล้วหลายรอบ ทั้งเล่าให้คนในครอบครัวฟัง เล่าในวงเพื่อนฝูง เล่าให้ทนายความที่เตรียมต่อสู้ และเล่าต่อหน้าบังลังก์ศาลระหว่างการสืบพยาน แต่เขาก็ยังยินดีจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นซ้ำๆ ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวต่อเหตุการณ์นั้นที่ยังจำขึ้นใจ

เรื่องราวที่จะว่าเป็นเรื่องตลกร้าย ก็ใช่, แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะขำออกมาได้ง่ายๆ เมื่อได้ฟัง

สรุปเรื่องสั้นๆ มันมีอยู่ว่า เขาเอาหนังสือมือสองและเสื้อยืดที่เก็บสะสมไปลองวางขายในม็อบหน้าศาลอาญา ในครั้งแรกของการวางขายนั้นเอง โดยที่ขายไม่ได้สักเล่ม ขายไม่ได้สักตัว ก็ต้องเก็บของกลับ ระหว่างไปนั่งกินเบียร์ปรับทุกข์กับเพื่อนอยู่หน้าร้านสะดวก เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนวิ่งเข้ามาจับกุม พร้อมเอาปืนจ่อหน้า และบังคับให้นั่งลง ก่อนตามมาด้วยการพาตัวไปดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเขายังต้องต่อสู้คดีนี้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความงงงวยต่อสาเหตุที่ตัวเองถูกกล่าวหา

คุณภัทร คะชะนา หรือ “พล็อต” ในวัย 27 ปี เป็นบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ที่เคยไปทำงานในประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่ชั้นมัธยม จนมาเรียนด้านการเมืองการปกครอง เขายังสนใจวรรณกรรมและบทกวี ทำให้มีหนังสือเก็บสะสม จนเป็นที่มาของการกลายเป็นคนขายหนังสือ

แม้จะเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากการชุมนุมในช่วงสมัยยังเป็นนักศึกษา แต่คดีเหล่านั้นก็สิ้นสุดไป โดยไม่ต้องไปถึงการสืบพยานในชั้นศาล คดีจากการถูกจับกุมในวันที่ 2 พ.ค. 2564 จึงเป็นคดีทางการเมืองคดีแรกที่พล็อตได้เห็นบรรยากาศการพิจารณาในศาลตลอดกระบวนการ โดยมีทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย  

วันที่ 13 ก.ย. 2565 นี้ ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาในคดีของพล็อต ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นใด แม้จะยกฟ้องก็ตาม แต่เขาย้ำว่ามันไม่ควรมาถึงจุดนี้ตั้งแต่แรก  

เขาสรุปประสบการณ์ครั้งนี้ว่า ทำให้เห็นความซับซ้อนของการขึ้นศาล และการต่อสู้ของความจริงคนละชุดกัน ชวนฟังถ้อยคำบอกเล่าเรื่องราวของพล็อต, ปากคำที่เขายืนยัน “ความจริง” ที่เกิดขึ้นเอาไว้ ไม่ว่าจะถูกพิพากษาตัดสินด้วย “ความจริง” ชุดใด

.

.

หนังสือการเมืองที่บ้าน ชมรมอ่านวรรณกรรม และความตายที่ชายแดนใต้

“ผมเกิดที่ราชบุรี แต่มาเติบโตในกรุงเทพฯ อยู่แถวบางนา เรียนที่กรุงเทพฯ มาตลอด แม่ทำงานอยู่กรมอุตุฯ พ่อเป็นปลัดอำเภอ แล้วก็มาเรียนรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ผมสนใจทางการเมืองตั้งแต่มัธยม พ่อก็จบรัฐศาสตร์ เลยมีหนังสือเกี่ยวกับการเมืองอยู่ในบ้าน พ่อเคยพาไปม็อบตั้งแต่สมัยพันธมิตรฯ ช่วงรัฐประหาร 49 จำได้ว่าดูทีวีอะไรสักอย่างอยู่ แล้วก็ตัดเข้าแถลงของ คมช. ก็ทำให้สนใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตอนนั้นอยู่ประมาณสัก ม.2

“พอมีความสนใจ ช่วงมัธยมก็ไปหาซื้อหนังสืออ่านเองจากร้านหนังสือ เกี่ยวกับแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรต่างๆ ช่วงนั้น จำได้ว่าอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะยังเด็กอยู่ แต่ก็มีความสนใจ หนังสือของพ่อบนชั้น ก็มีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา พวกประวัติศาสตร์การเมือง ก็เลยได้อ่านด้วย

“เลยเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ตอนแรกยังคิดว่าจบแล้วก็ไปสอบเป็นปลัด ก็มีภาพแบบนั้นอยู่ ว่าเรียนรัฐศาสตร์ รับราชการ ไปช่วยเหลือคนอื่นอีกที แต่พอเรียนๆ ไป ก็เปลี่ยนความคิด พบว่าคำว่า ‘การเมือง’ มันใหญ่ขึ้นกว่าแค่เรื่องในสภา หรือเรื่องการเลือกตั้ง แต่พบว่าในชีวิตประจำวัน ก็มี ‘ความเป็นการเมือง’ อยู่เต็มไปหมด มีการเมืองในวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ มีเรื่องของอำนาจที่อยู่ในครอบครัว อยู่ในระบบการศึกษา มุมมองต่อการเมืองมันเปลี่ยนไปหมด

“หนังสือที่ส่งผลต่อความคิด ก็อย่างเช่นนิยาย 1984 ก็มีช่วงที่คนพูดถึงมาก เราก็อ่านแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันอยู่ภายใต้การสอดแนมอยู่ตลอดเวลา มันก็ผูกกับบริบททางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ทำให้เห็นว่าการปกครองของระบอบทหารในตอนนั้น มันเหมือนในหนังสือเลย

“ช่วงเรียน เราก็ชอบอ่านวรรณกรรมไปเรื่อยๆ อ่านโจนาธาน ลิฟวิงสตัน อ่านโลกของโซฟี อ่านบทกวีของซะการีย์ยา อมตยา ชอบพวกกลอนเปล่า ทำให้เราเห็นว่ามันแต่งกลอนแบบนี้ได้ ไม่ต้องมีสัมผัส รู้สึกมันปลดปล่อยกว่า ทำให้รู้สึกสนุกในการเขียนกลอน ว่าจะเล่าอะไรดี

“ตอนนั้นก็ได้ตั้งชมรมกับเพื่อนในรามฯ ชื่อชมรม ‘ภาษาและวรรณศิลป์’ เราเจอเพื่อนที่สนใจวรรณกรรมเหมือนกัน เลยคุยกันว่าตั้งกลุ่มกันเองไหม เป็นกลุ่มเล็กๆ ก็มีอ่านวรรณกรรม อ่านบทกวี แล้วก็มาคุยกัน คิดยังไงกัน เป็นลักษณะ book club หรือมีเขียนบทกวีแล้วก็มาอ่านด้วยกัน

“พอเรียนจบแล้ว ก็มีช่วงเว้นว่างไปสักพัก แล้วก็มีโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน (ภายใต้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) มันก็เป็นสิ่งที่เราสนใจ เรื่องปัญหาการเมือง-สิทธิมนุษยชน ก็เลยได้ไปทดลองทำงานที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

“ช่วงนั้นพบว่าเราชอบแนวแบบทำสื่อ ดูหนังแล้วเอามาเขียนถึง หรืองานภาพถ่าย ตอนนั้นก็มีเรื่องอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ เข้ามาพอดี (กรณีผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร) ทำให้ผมสนใจเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ สนใจเรื่องการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ที่มูลนิธิผสานฯ ก็ทำเรื่องเหล่านี้พอดี

“เราก็ได้ลงไปในพื้นที่ ได้ไปที่ตากใบ ไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์หรือคนในครอบครัว จำได้ว่ามีคนที่เป็นแผลที่ขาอยู่เลย กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต บางคนก็ไม่อยากเล่าถึงเลย บางคนก็ร้องไห้ออกมา บางคนก็ยินดีเล่าออกมา มีหลากหลายความรู้สึก ก็ไปถ่ายภาพและช่วยเขียนเรื่องราวบทสัมภาษณ์ออกมา ช่วงนั้นปี 2562-63 ก็เป็นช่วงที่ได้เรียนรู้ประเด็นพวกนี้  

.

พล็อตกับเพื่อนๆ ผู้เคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กรณีกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559

.

“ม็อบที่ผมโดนจับ นั่นคือเป็นม็อบแรกที่ผมเอาหนังสือกับเสื้อยืดไปวางขายเลย”

“พอจบจากโครงการ ก็มีความสนใจไปทางศิลปะ มีไปทำงานร้านกาแฟบ้าง ก็อยากทำงานอิสระ ช่วงนั้นก็เริ่มมีม็อบใหญ่ปี 2563 เราก็ไปร่วมม็อบเรื่อยๆ กลายเป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน ไปม็อบ ไปเจอเพื่อน ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร เป็นลักษณะผู้เข้าร่วม แต่เคยมีไปร่วมอ่านบทกวีกับเพื่อนในซุ้มในการชุมนุม

“ตอนไปม็อบแล้วเห็นคนเอาของมาขายหลายอย่าง แล้วเราเองก็ชอบสะสมเสื้อยืด และหนังสือ พอเห็นว่าบางเล่มไม่ได้อ่านแล้ว ก็น่าจะเอามาแชร์ให้คนอื่น เลยเป็นที่มาของการเริ่มขายหนังสือและเสื้อยืด 

“ช่วงแรก ขายทางออนไลน์ เอาลงขายในเพจ ก็มีทั้งหนังสือวรรณกรรม หนังสือการเมือง เราก็ซื้อเก็บไว้เยอะ เลยเอามาขาย ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนๆ ที่มาซื้อกัน ก็พอขายได้บ้าง

“จริงๆ ไอ้ม็อบที่ผมโดนจับ นั่นคือเป็นม็อบแรกที่ผมเอาหนังสือกับเสื้อยืดไปวางขายเลย เป็นครั้งแรกที่ลงพื้นที่ไปขาย

“คืนก่อนไปขาย ก็คุยกับน้องที่มีประสบการณ์การขายของ ว่าจะเอาของไปขาย น้องก็ให้ยืมป้าย sale ให้ยืมสายวัดเสื้อ ให้ถุงพลาสติกมา น้องกับแม่ก็มาช่วยเตรียมของ ก็มีเป็นกระเป๋าใบใหญ่ๆ เลย แบกไปขาย มีหนังสือประมาณ 20 เล่ม เสื้อผ้าอีกชุดใหญ่

.

ภาพหนังสือและเสื้อที่พล็อตนำไปวางขายหน้าศาล

.

“ไปถึงที่หน้าศาล ตอนนั้นเป็นเรื่องชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ก็ไปดูสถานการณ์ก่อน พอเขาเริ่มรวมตัวกันแล้ว ผมก็เดินไปตั้งขายข้างรั้วศาล ก็มีลุงๆ ป้าๆ เอาเป็ดไปขายบ้าง มีคนเอาหนังสือเก่ามาขาย ก็มีเหมือนกัน ผมก็เลยไปตั้งข้างๆ

“วันนั้น ก็มีคนเข้ามาดูบ้าง แล้วก็ผ่านไป สุดท้ายแป๊บเดียว เขาประกาศยกเลิกม็อบ ยังขายอะไรไม่ได้เลย ยังบ่นเซ็งๆ อยู่เลย (หัวเราะ) เราก็เลยเก็บของ มีเพื่อนมาช่วยเก็บ วันนั้นมีเพื่อนสั่งซื้อเสื้อแมวอินเดียนแดง ก็เลยจะไปกินเบียร์กันต่อ

“สุดท้ายก็ไปนั่งเบียร์กันอยู่ที่หน้า 7-11 ในซอยตรงข้ามศาลอาญา มีผมกับเพื่อนรวม 3 คน ก็นั่งกินกันนานอยู่ ประมาณ 40-50 นาทีได้ จริงๆ ก็คุยกันว่าเตรียมจะกลับกันละ แต่ยังติดลมนิดหน่อย สักพักก็ได้ยินเสียงดังๆ หน้าปากซอย ก็เลยแอบเดินไปดู ก็เห็นยังพอมีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ แต่ไม่รู้ตอนนั้นตำรวจยังไงกัน เราก็เลยเดินกลับมา คุยกับเพื่อนว่าเตรียมกลับกันแหละ อาจจะไม่ปลอดภัย จำได้ว่าบอกว่า เขาอาจจะสลายชุมนุมกันหรือเปล่า

“แล้วก็เริ่มได้ยินเสียงยิงพลุออกมาจากในซอย ผมก็เดินออกมาจากซอย เตรียมจะกลับ แล้วก็มีเพื่อนหายไปคนหนึ่ง ไม่รู้ไปไหน ก็เลยบอกเพื่อนอีกคนว่ารอก่อนไหม จังหวะนั้นก็มีเสียงพลุ ปุ๋งปัง ปุ๋งปัง ผมก็หยิบมือถือมาถ่ายคลิปไว้ แล้วก็เริ่มมีตำรวจ คฝ. วิ่งมา ใส่ชุดดำๆ วิ่งกันมา เหมือนทะเลสีดำๆ เพื่อนก็วิ่งหนี มันก็บอก ‘ไอ้พล็อต วิ่งๆ’ ผมก็วิ่ง ตอนนั้นรู้สึกมันน่ากลัว ตำรวจวิ่งมาพร้อมไม้กระบอง มันเกิดความกลัวว่าเขาจะมาจับเรา หรือฟาดเราหรือเปล่า เลยรู้สึกกลัวขึ้นมา

“แต่พอดีผมมีกระเป๋าใบใหญ่มาก แล้วเพื่อนก็วิ่งเร็ว หายไป สุดท้ายก็โดน คฝ. ดึงกระเป๋า แล้วก็ถูกจับ จำได้ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตะคอกใส่ แล้วก็เอาปืนที่มีกระสุนยาง ชี้มาที่เรา บังคับให้นั่งลงไป ก็ยังจำภาพปืนชี้หน้าได้ติดตา มันใกล้มาก แล้วก็โดนเจ้าหน้าที่ล็อกแขน แล้วก็กดให้นั่งลง เจ้าหน้าที่ตอนนั้นก็ประมาณ 3-4 คน มีคนถือปืนจ่อคนหนึ่ง ที่เหลือเข้ามามุงๆ มันเหมือนเราเข้าไปอยู่ในหนังสักเรื่อง เหมือนนี่มันฝันหรือเปล่า ที่อยู่ๆ ดีมาโดนตำรวจล้อมรอบ

“จังหวะนั้นทั้งกลัว ทั้งโกรธ ผมก็ตะโกนบอกว่าผมมาขายเสื้อ เขาก็ตะคอก ขายเสื้ออะไร แล้วเขาก็เริ่มเปิดกระเป๋าเราค้น พอเปิดมามีเสื้อ มีหนังสือ มีป้าย sale แล้วเหมือนเขาก็เปลี่ยนท่าที เริ่มปฏิบัติดีขึ้น ตอนแรกตะคอกใส่ เปลี่ยนเป็นถามว่าน้องมาขายอะไรที่นี่ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ที่เหมือนกับทำงานแนวหน่วยข่าวกรอง เข้ามาขอตรวจบัตรประชาชน เขาตรวจแล้วก็บอกว่า ‘เราเคยมีประวัตินี่’

“คือสมัยนักศึกษา ผมเคยไปชุมนุม แล้วก็เคยโดนคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุม มีสองคดี คือคดีขัดอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ ช่วงปี 2559 และคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งปี 2561 (MBK39) แต่คดีพวกนี้ก็จบหมดแล้ว พอเขายกเลิกคำสั่งนี้ไป ก็เลยไม่ได้ถูกดำเนินคดีต่อ เป็นที่มาของการบอกว่า ‘มีประวัติ’ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเช็คยังไง ค่อนข้างเร็ว ก็เลยคิดว่าที่เราถูกพาตัวไปดำเนินคดีต่อ ก็น่าจะเพราะอันนี้ด้วย มันมีอคติกับเราหรือเปล่า

“จากนั้น คฝ. ก็พาตัวไปที่ สน.พหลโยธิน ก็ถูกแจ้งข้อหา แทบไม่ได้นอน แล้วก็เช้าอีกวันถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ตอนนั้นก็ถูกใส่กุญแจมือด้วย ไปที่ศาล จำได้ว่ามีแผลจากกุญแจมือที่รัด เจ็บอยู่หลายวัน แล้วก็ประกันตัวออกมาสู้คดี

.

ภาพพล็อตถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. จับกุม ที่มีผู้สื่อข่าวถ่ายไว้ได้

.

“การขึ้นศาลมันซับซ้อนเหลือเกิน เหมือนเราต้องสร้างความจริงมาสู้กัน”

“คดีก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ถึงขึ้นสืบพยานในศาล แต่คดีที่ถูกจับนี้ก็เป็นคดีแรกที่ได้ขึ้นไปสู้ในศาล แล้วเป็นคดีที่โดนคนเดียว ก็เลยเหงาๆ หน่อย คือสองคดีช่วง คสช. ก็จะโดนกับเพื่อนหลายคน

“จนชั้นสืบพยาน นี่ก็เป็นประสบการณ์ชีวิต ก็มีพวก คฝ. ที่เป็นชุดจับกุมตอนนั้น ก็มี คฝ. ที่มีอายุหน่อย กับ คฝ. หนุ่ม แล้วก็มีพนักงานสอบสวนของ สน.พหลโยธิน มีเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครมาเบิกความ เล่าแล้วทำให้รู้สึกแค้น คือ คฝ. ที่มีอายุ เขาก็เบิกความอ้างว่าเห็นเราวิ่งออกมาจากผู้ชุมนุม แล้วก็สวมโม่งชุดดำ เขาอ้างว่าเราใส่โม่ง แล้วพนักงานสอบสวนก็พยายามบอกแบบนี้เหมือนกัน เหมือนเล่าเรื่องเดียวกัน แต่มี คฝ. หนุ่ม ที่พูดไปแนวว่าเราใส่แมส อัยการก็พยายามถามว่าเขาใส่หรือไม่ใส่ คฝ. ก็ตอบว่าผมใส่ ในขณะที่อีกสองคนกลับตอบว่าผมใส่โม่งดำ ไม่เห็นหน้าเลย ก็เลยจับกุม

“ตอนนั้น ผมก็ไม่มีรูปตัวผมเองเลย มีแต่รูปหลังถูกจับกุมแล้ว ที่มีนักข่าวมาถ่าย แต่จังหวะชุลมุนจับกุมนี่ไม่มีรูปเลย แล้วฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้มีรูปถ่ายผม มีแต่รูปตอนที่จับไปแล้ว แล้วก็ตัดมาจากคลิปวิดีโออีกที แล้วก็มีเบิกความว่าผมใส่เสื้อลายเหมือนนักการเมืองสักอย่าง (เป็นภาพวาด จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ก็เลยเชื่อว่าเป็นผู้ชุมนุม

“ถ้าถามความรู้สึก ก็รู้สึกเซ็งๆ ว่าเราไปทำอะไรให้เขา เขาก็บอกในศาลว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผม ผมก็คิดในใจว่าแล้วผมไปทำอะไร ทำไมมาทำกับกูแบบนี้ได้ยังไง

“ผมก็เพิ่งเคยเห็นบรรยากาศศาล ตอนสืบพยานโจทก์ ที่จะต้องทำให้เราเป็นคนผิดให้ได้ เราก็งง ว่าที่เขาพูดมันเรื่องจริงหรือเปล่าว่ะ ทำไมความจริงที่เราเจอ มันไม่เหมือนกับสิ่งที่เขาเล่ามา บอกว่าเราใส่โม่งมา บอกว่าเราวิ่งออกมาจากผู้ชุมนุม ตัวจริงคือเรานั่งกินเบียร์กับเพื่อนอยู่

“พอสืบพยานจำเลย กลายเป็นอีกบรรยากาศ เหมือนเราสู้กลับ เราก็ไปเล่าเหตุการณ์แบบที่ผมเล่าให้ฟัง ก็เป็นความจริงที่เราเจอ ก็ไปเล่ายืนยันว่าเรามาขายเสื้อ ขายหนังสือ อัยการก็พยายามถามทำนองว่าแล้วทำไมถึงเพิ่งเอาเพื่อนมาเป็นพยาน

“แล้วก็แม่เราไปเป็นพยานในศาลแทนน้องสาว คุยกับเพื่อนว่านึกถึงวรรณกรรมเรื่อง ‘แม่’ ของแมกซิม กอร์กี้ ผมดูจากหนังนะ ยังไม่ได้อ่านหนังสือ คือภาพที่เรามองแม่ แล้วแม่เรามองขึ้นไปที่ศาล ทำให้รู้สึกว่าเราได้ร่วมต่อสู้ด้วยกัน มันเป็นภาพที่ประทับใจ แล้วก็มีเพื่อนมาเป็นพยาน เหมือนไม่ใช่สู้แค่เรา แต่กำลังร่วมกันสู้กับอะไรบางอย่างที่มันไม่ถูกต้อง ทุกคนมาช่วยกันยืนยันเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ

“ตอนทนายถามสุดท้าย เพื่อยืนยันว่าเราไม่ได้กระทำผิด ก็ถามว่าอยากให้ฉายวิดีโอไหมว่าตอนโดนจับเป็นยังไง เราก็ยืนยันว่าฉายได้เลย ว่าเราไม่ได้กระทำผิดอะไร เรายืนยันในความจริงของตัวเอง

“คือเขามีวิดีโอถ่าย มีกล้องที่เขาน่าจะไปขอดูข้อมูลได้ แต่เขาไม่เอาเข้ามาในการสืบพยาน เครื่องมือรัฐมันมีมากมายที่จะยืนยัน อาจจะภาพผมตั้งแต่อยู่หน้า 7-11 เขาก็น่าจะหาได้ แต่เขาก็ไม่หยิบมาใช้ ทำให้รู้สึกว่าการขึ้นศาลมันซับซ้อนเหลือเกิน เหมือนเราต้องสร้างความจริงมาสู้กัน

.

.

“เราอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความอยุติธรรม แล้วกลายเป็นเราที่มาโดนเอง”

“ส่วนเรื่องผลกระทบจากคดี มันก็ทำให้เราเครียดๆ แหละ เพราะมีคดีติดตัว จะทำอะไรก็ไม่สะดวก เหมือนมีอะไรติดข้างหลัง แล้วตอนหลังผมย้ายมาใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ ก็เลยต้องเดินทางไปกลับ ไปสู้คดี ไปกลับบ่อยๆ ก็เคยนั่งรถไฟชั้นสามจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพ คิดในแง่ดี ก็ได้กลับไปเจอครอบครัวด้วย แต่มันก็บ่อยไปหน่อย  

“ผ่านไปปีกว่า พอนึกถึงเหตุการณ์นี้ ก็ยังรู้สึกโกรธๆ อยู่ ว่าทำไมกูมาโดน เหมือนเราอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความอยุติธรรม แล้วกลายเป็นเราที่มาโดนเอง ก็เข้าใจมากขึ้นว่ายังมีคนอีกมากมายที่อาจจะโดนแบบนี้ก็ได้ สมมติถ้าผมโดนลงโทษได้ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร หรือออกไปขายของ ก็อาจจะโดนแบบนี้ได้ คงมีคนอีกมากที่โดนได้เหมือนกัน    

“เรายังเชื่อว่าความยุติธรรรม มันน่าจะยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ทำให้เห็นปัญหา ที่ตำรวจ คฝ. มาจับกุมแบบรุนแรง แล้วก็ส่งตำรวจ ก็พยายามส่งขึ้นศาลให้ได้ แทนที่จะไม่ฟ้องไป อัยการก็ยังส่งต่ออีก มันไม่น่ามาถึงขั้นที่ผมจะถูกพิพากษาเลย มันน่าจะจบตั้งแต่เห็นว่าผมมาขายเสื้อจริงๆ ก็ปล่อยผมมาเลยดีกว่า หลักฐานอะไรไม่ชัดเจน แต่เขาก็พยายามส่งต่อๆ กันมา เพื่อให้เป็นผู้กระทำผิดให้ได้ รู้สึกมันทำกันเป็นระบบมากๆ

“ขณะที่ความจริง เราคิดตลอดว่าไม่ได้ทำผิดอะไรเลยนี่หว่า แต่กระบวนการพวกนี้ มันผลักให้เรามาถึงจุดนี้ แม้ศาลจะยกฟ้องก็ตาม แต่จริงๆ มันไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก”

.

.

* วันที่ 13 ก.ย. 2565 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษายกฟ้องคดี เห็นว่าพยานโจทก์เบิกความขัดแย้งกันในหลายประเด็น และไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงได้ว่าจำเลยเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ และการที่จำเลยวิ่งหนีชุดจับกุมก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา พยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยหลายประการจึงไม่อาจรับฟังได้

.

X