คุยกับ 2 ราษฎรลพบุรี กับ 2 ปี ของการเคลื่อนไหว ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบ

ไอซ์ และนอร์ท ตกเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดลพบุรี

คดีนี้นับเป็นคดีความแรกของทั้งคู่ นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในจังหวัดลพบุรี และกำลังจะนับเป็นคดีคาร์ม็อบคดีแรกที่มีการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาซึ่งศาลจะมีคำพิพากษา ท่ามกลางคดีทำกิจกรรมคาร์ม็อบไล่รัฐบาล กว่า 100 คดีทั่วประเทศในช่วงปี 2564 เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูล โดยศาลแขวงลพบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 เม.ย. 2565 นี้

“ไอซ์” วิศรุต สมงาม อายุ 30 ปี เป็นคนทำงานภาคประชาสังคมด้านสิทธิชุมชน และยังทำงานร่วมกับสภาผู้ชุมของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ขณะที่ “นอร์ท” ภาณุพล มาลัยหอม ในวัย 19 ปีเศษ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในจังหวัดลพบุรี และเข้าไปเรียนต่อในหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร

ทั้งคู่เป็นสองในราษฎรของลพบุรีที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 จนเผชิญผลกระทบในด้านต่างๆ รวมทั้งต้องต่อสู้คดีที่กำลังดำเนินอยู่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนพูดคุยกับทั้งคู่ ถึงจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว ประสบการณ์การทำกิจกรรมในพื้นที่ลพบุรี การถูกคุกคาม ผลกระทบและความสำเร็จในรอบสองปีที่ผ่านมา

.

ภาพจากเพจราษฎรลพบุรี

.

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว กับกลุ่มกิจกรรมในลพบุรี

สำหรับนอร์ท ภาณุพล เขาเริ่มทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน โดยเขาทำกิจกรรมในประเด็นด้านการศึกษาและสิทธิเสรีภาพของนักเรียนมาก่อนแล้ว ทั้งในช่วงปี 2563 เขายังได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนของโรงเรียน โดยนอร์ทได้ร่วมรณรงค์ในเรื่องเสรีภาพด้านทรงผมและการแต่งกายของนักเรียน รวมทั้งปัญหาเรื่องหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับอาจารย์

“ในหมู่นักเรียน ก็มีคนได้รับผลกระทบจากระบบต่างๆ แต่ก็ไม่กล้าที่จะออกมา เพราะว่าถูกกดขี่อยู่ เราก็เป็นภาพหนึ่งที่เข้าไปช่วยสะท้อนให้เขามีที่ยืน และสามารถเรียกร้องอะไรในสังคมได้ด้วย มันมีทั้งประเด็นที่เขาอยากรู้ด้วย หรือประเด็นที่เขาได้รับผลกระทบ แต่มันมีสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เขาไม่กล้าที่จะออกมา แต่เราเหมือนคลี่ปมเหล่านั้น ให้เขากล้าออกมามากขึ้น”

เมื่อถามว่าอะไรทำให้เกิดความตื่นตัวในการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพในระดับต่างๆ  นอร์ทบอกว่าสำหรับนักเรียนในยุคปัจจุบัน ที่เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร แต่ละคนสามารถเข้าถึงและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้มากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกต่อหรือชี้นำเหมือนสมัยก่อน เด็กแต่ละคนสามารถศึกษาข้อมูลด้วยตนเองได้ นำไปสู่การคิดและตระหนักรู้ถึงประเด็นเรื่องสิทธิได้ด้วยตนเอง และจากประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องในโรงเรียน ตัวนอร์ทก็เริ่มขยับขยายไปถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้นในสังคม

“เราก็ได้รับการชักชวนจากเพื่อนนักเรียนในช่วงนั้น (ปี 2563) ว่าอยากจัดกิจกรรมในจังหวัดลพบุรี สนใจมาร่วมกันไหม เพื่อพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราก็รู้สึกว่าภาพเล็กในโรงเรียนก็เป็นภาพหนึ่ง ที่ได้ลองทำแล้ว ก็เลยอยากจะลองภาพกว้าง ก็เลยไปลองร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มในลพบุรีก่อน แล้วก็ติดตามการเมืองระดับประเทศ เลยได้ไปเข้าร่วมในม็อบใหญ่บ้าง”

.

.

ส่วนของไอซ์ วิศรุต เขาทำงานในภาคประชาสังคมในส่วนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และองค์กรด้านสื่อสารมวลชน ทำให้มีความสนใจติดตามสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองมาเป็นระยะอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้เป็นสื่อวิชาชีพ แต่สถานการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองในวงกว้างของนักเรียนนักศึกษาในช่วงปี 2563 ก็มีส่วนผลักดันให้ไอซ์ ขยับออกมา “เคลื่อนไหว” เองมากขึ้น จากที่เคยเพียงแค่เป็นผู้ติดตาม

“ตอนที่นักศึกษาเริ่มชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยช่วงปี 63 โควิดกำลังมาพอดี เราก็เห็นปรากฏการณ์ที่คนเริ่มใส่ใจเรื่องสิทธิมากขึ้น คนเริ่มสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง เราก็เริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ติดตาม แต่ออกมาร่วมเคลื่อนไหว ก็เริ่มติดต่อกับกลุ่มเยาวชนในจังหวัด ที่พอรู้จักกันอยู่แล้ว อย่างนอร์ทแบบนี้ เขาเป็นประธานนักเรียน ก็ได้รวมกลุ่มคุยกัน แล้วก็มีการไปเริ่มจัดกิจกรรมเรื่อยมา มีคนค่อยๆ เพิ่มเข้ามา”

ไอซ์เล่าว่า ก่อนจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ลพบุรี คนที่เริ่มสนใจทางการเมืองแล้ว ก็พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยตั้งกลุ่มปิดทางออนไลน์ไว้สำหรับพูดคุย เป็นชุมชนหนึ่งขึ้นมา มีการแชร์ข่าวสาร ไปจนถึงเริ่มมีการสื่อสารเรื่องการจัดกิจกรรมการชุมนุมในที่สุด

ท่ามกลางกิจกรรมชุมนุม พร้อมข้อเรียกร้องตั้งแต่ระดับรัฐบาล รัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่กระจายตัวไปทุกภูมิภาคในประเทศ ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ในจังหวัดลพบุรีเอง ก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวหลายกลุ่มขึ้น คอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดกิจกรรมตามแนวทางของตนเองในช่วงต่างๆ

ไอซ์และนอร์ทสรุปให้ฟังว่า ถึงตอนนี้ก็จะมีเพจของกลุ่มต่างๆ ที่ใช้สื่อสารสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เนื่องจากประชากรในจังหวัดลพบุรีก็มีความหลากหลาย ได้แก่ ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ จะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มข้าราชการในจังหวัดที่มีความอัดอั้นและไม่พอใจสถานการณ์บ้านเมือง, ราษฎรลพบุรี เป็นเพจลักษณะกลางๆ คอยแจ้งข่าวสารการเคลื่อนไหวทั่วไป และ พลเมืองลพบุรีเพื่อประชาธิปไตย จะเน้นกลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยแม้จะมีหลายกลุ่ม แต่กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็มาร่วมมือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันได้ ไม่ได้มีการแบ่งแยก

“แนวทางมันอาจจะเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง แต่เราคิดว่าเรามองเป้าหมายเดียวกัน วัตถุประสงค์เดียวกัน คือพื้นฐานประชาชนต้องมีสิทธิในการพูด แล้วท้องถนนก็เป็นหนึ่งในที่สาธารณะ ที่ประชาชนออกมาพูดได้  มันก็เริ่มมีกิจกรรมมากขึ้น มีการออกแบบกิจกรรมที่มันแปลกๆ แล้วหน่วยงานความมั่นคงก็จับตาแต่ละกลุ่ม” ไอซ์สรุป

.

ภาพการชุมนุมที่บริเวณลานแอโรบิค วงเวียนสระแก้ว เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 (ภาพจากเพจลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ)

.

ความตื่นตัวที่กว้างขวาง กับการต่อสู้ในอัตลักษณ์ของเมืองลพบุรี

ไม่ต่างจากหลายจังหวัด ในช่วงปี 2563 ที่การเคลื่อนไหวเข้มข้น ทั้งคู่ รวมทั้งผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในจังหวัดลพบุรี พบว่าผู้คนออกมาร่วมกิจกรรมเยอะกว่าที่คาดคิดเอาไว้มาก

ไอซ์เป็นคนเล่าให้ฟังถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ในสิ่งที่เจอ เราก็ตกใจเหมือนกันนะ คนรุ่นใหม่ที่ออกมา ม็อบครั้งแรกๆ ตอนนั้น ที่วงเวียนพระนารายณ์ ช่วงปี 63 คนมาเยอะมาก วันนั้นเพนกวินมา แล้วคนมาเยอะมาก เราไม่คิดว่าผลตอบรับจะขนาดนี้ จนขนลุก คนมากันมืดฟ้ามัวดิน แล้วสถานที่จัด มันเป็นของฝ่ายขวาหน่อย

“แล้วครั้งที่ 2 มีไปจัดที่วงเวียนสระแก้ว เป็นแบบออร์แกนิคหน่อย นัดกันแบบแฟลชม็อบ ไม่มีแกนนำ ปุ๊บปั๊บหน่อย คนก็ยังเยอะนะ

“แล้วครั้งที่ 3 ลองนัดต่อกันที่หน้าอนุสาวรีย์จอมพล ป. ปรากฏว่าคนเต็มถนนเลย แล้วคนที่มาส่วนใหญ่ ถ้าไปดูจากภาพ จะเห็นเลย ใส่ชุดนักเรียนมากัน เรามีแจกสติ๊กเกอร์ให้สำหรับปิดชื่อ เนื่องจากจะมีสารวัตรนักเรียนมาคอยสังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ แต่เด็กๆ หลายคนบอกว่าไม่ต้องแปะนะ มันเป็นสิทธิแสดงออกของเรา หลายๆ คนเลยไม่ปิด ก็ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง

“สิ่งที่ได้พบระหว่างทาง ก็คือเราได้รู้เลยว่าจังหวัดลพบุรี คนมักจะเข้าใจว่าเป็นจังหวัดของทหาร เพราะมันมีกองกำลังอยู่ที่นี่เยอะมาก แต่มันก็มีเรื่องประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของ 2475 อยู่ด้วย มีเรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือพระยาพหลพลพยุหเสนา เราก็เลยรู้สึกว่าเลือดของเราเป็นศิษย์พิบูลวิทยาลัยเหมือนกัน เรารู้สึกว่าเราต้องการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เด็กพิบูลฯ ก็จะถูกบิวด์กันมาเรื่องนี้เยอะ เราก็เลยรู้สึกว่าต้องทำ ต้องพูด

“คนเข้าใจว่าลพบุรีเป็นเมืองทหาร แต่เราอยากจะสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ที่นี้เป็นเมืองของราษฎรทุกคนนี่แหละ”

.

ภาพการชุมนุมที่บริเวณลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 (ภาพจากเพจลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ)

.

ด้วยความที่เมืองลพบุรีในปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีหลายอัตลักษณ์ของเมืองที่ตรงข้ามกันทับซ้อนต่อสู้กันอยู่นี่เอง ทั้งในแง่มุมของการเชื่อมโยงเมืองกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนารายณ์ แง่มุมของการเป็นจังหวัดอันเป็นพื้นที่ทางทหารของกองทัพ และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับผู้นำคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้การจัดกิจกรรมในพื้นที่เช่นนี้ ก็เผชิญกับการต่อสู้ของแรงดึงอันทับซ้อนกันเหล่านี้เช่นกัน

นอร์ทเล่าว่า นอกจากปรากฏที่พบว่าคนรุ่นใหม่ออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมเยอะแล้ว ยังมีแรงกดดันและการคุกคามในจังหวัดที่พยายามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกมองว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

“มีตอนแรกๆ ที่เราจัดการชุมนุมที่วงเวียนพระนารายณ์ วันนั้นได้ไปแจ้งจัดการชุมนุมอย่างถูกต้อง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลสังเกตการณ์ให้ แต่ก่อนจะเริ่มงาน ปรากฏว่ามีกลุ่มฝ่ายขวา เข้ามาปักธงชาติเลย แล้วบอกว่าพวกคุณจะมาหลบหลู่สถานที่ได้ยังไง ก็อ้างเรื่องสถานที่ มีการพยายามก่อกวน และโจมตีเรา หาว่าเราทำไม่ถูกต้อง ก็จะมีการระดมคนมาต่อต้านเรา

“หลังจากนั้น ก็มีอีกบางครั้ง ที่พอมีกิจกรรม ก็จะมีกลุ่มมาก่อกวน มีครั้งล่าสุดก็มาเปิดเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ก่อกวนเลย แล้วก็มีก่อกวนแบบมีคนโทรไปแจ้งที่ทำงานของคนที่ออกมาเคลื่อนไหว พยายามสร้างให้เขาเกิดความเสียหาย หรือมีผลกระทบ จะทำให้ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว 

“แล้วมีอีกครั้ง ที่มีคนส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ว่ามีกลุ่มอาจารย์ที่ไปร่วมกิจกรรม ทำตัวไม่เหมาะสม พยายามร้องเรียนไปทางผู้ว่าฯ ขอให้จัดการกับครูอาจารย์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนออกมาต่อต้านสถาบันฯ ลักษณะนี้ แล้วเราพบว่าฝ่ายนั้น เขาชุมนุมกันได้ โดยชุมนุมในที่ว่าการอำเภอ ในสถานที่ราชการเลยนะ”

.

ภาพการชุมนุมที่บริเวณลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 (ภาพจากเพจลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ)

.

การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังเป็น “ประสบการณ์ร่วม” ที่นักเคลื่อนไหวหลายพื้นที่ต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งการบุกไปถึงบ้าน การติดตามสอดแนม การขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ จนถูกทำให้แทบจะกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ในหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผู้ออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่ลพบุรี

นอร์ท เล่าว่า “ในเรื่องการคุกคาม ก็จะมีเจ้าหน้าที่สันติบาลที่ได้เบอร์โทรผมไป ก็จะใช้วิธีโทรหา อ้างว่าอยากนัดเจอเรา อยากนัดกินข้าว จะเลี้ยงกาแฟ เพื่อที่จะมาเอาข้อมูลจากเรา จะสกัดข้อมูลเราไป ตอนแรก เราก็อยากรู้ว่าเขาจะไปแนวไหน เลยออกไปเจอครั้งหนึ่ง แล้วก็พบวิธีที่เขาพยายามใส่สีตีไข่ให้ทีมงานต่างๆ แตกแยกกัน โดยมีการพูดว่าคนนู้นคนนี้เป็นอย่างนี้ รวมถึงเอาข้อมูลจากเราไปใช้ด้วย ประกอบการสร้างคดีต่างๆ”

“แล้วก็มีหนึ่งในทีมงาน ก็โดนเจ้าหน้าที่ติดตาม ตอนหลังก็ระบุตัวตนคนติดตามได้ เขาก็ยอมรับว่ามีคำสั่งให้มาติดตาม มันจะมีสองหน่วยงานช่วงนั้นที่รู้ว่ามีการติดตาม คือ กอ.รมน. แล้วก็สันติบาล แล้วก็มีทีมงานอีกคนโดนมาหาถึงหน้าบ้าน ไปถึงที่ทำงาน และมีโทรไปหาที่บ้าน ซึ่งน้องเป็นเยาวชน ก็มี”

นอร์ทยังเล่าถึง การรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระหว่างกิจกรรมการชุมนุม ซึ่งภายหลังก็นำไปสู่การดำเนินคดีต่อคนที่ถูกจับตาว่า “ในการชุมนุม เราพบว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยถ่ายรูป โดยถ่ายแบบซูมหน้า ระบุตัวตนเลย ว่ามีใครมาบ้าง แล้วก็นำไปสู่การเลือกว่ารอบนี้ใครจะโดนคดี แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ควรจะโดนหรือเปล่า ทำไมตอนก่อนจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุณก็ใช้เรื่องไม่แจ้งการชุมนุมมาเล่นกับเรา ใช้ 116 บ้าง ตอนนี้ก็มาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่มี คุณก็จะหาคดีมาเล่นเราอยู่ดี หาข้ออ้างมาอยู่ดี”

.

ด้านไอซ์ก็ระบุว่า ตัวเขาเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลไปติดตามถึงบ้าน เพื่อพยายามถามข้อมูล รวมถึงความมีพยายามใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแตกแยกกันระหว่างคนทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆ กัน

“ปัญหาที่เราต้องเจออีก คือหน่วยงานความมั่นคง อย่างสันติบาลที่มาจากส่วนกลาง ก็จะมีมาที่บ้าน มาตามตัว มาถามข้อมูลต่างๆ แล้วพอไปคุยกับตำรวจท้องที่ เขาก็จะบอกว่าอันนี้อยู่เหนือการควบคุมของเขาเหมือนกัน คนละหน่วยงานกัน เขาก็ไม่กล้าแตะกัน”

“แล้วก็เราก็เห็นกระบวนการที่เขาพยายามจะตีให้เราแตก คือพยายามให้มีการเข้าใจกันผิด สลายกัน มาบอกว่าคนนู้นคนนี้เป็นอย่างนี้ มีโทรไปหาทนายที่มาช่วยเรา บอกว่าทำไมถึงไปช่วยพวกนี้ เด็กพวกนี้มัน ‘กระด้างกระเดื่อง’ ไปช่วยทำไม เหมือนกับขู่ทนาย ทนายก็ไม่ได้สนใจ”

.

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 (ภาพจากเพจลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ)

.

คดีทางการเมืองแรกในชีวิต

ในการชุมนุมช่วงปี 2563 แม้จะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่การระบาดก็ลดลงตั้งแต่ในช่วงกลางปี การจัดกิจกรรมในจังหวัดลพบุรีในช่วงปีนี้ ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดี

จนกระทั่งในปี 2564 ที่การเคลื่อนไหวกลับมาเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงกิจกรรมคาร์ม็อบไล่รัฐบาล ที่พบว่ามีการจัดกิจกรรมในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ในลพบุรีเองก็มีการจัดกิจกรรมเช่นกัน แต่เที่ยวนี้นำไปสู่การถูกดำเนินคดีนักกิจกรรมข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 2 คดี

คดีของไอซ์และนอร์ท เกิดจากเหตุกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยผู้เข้าร่วมมีการรวมตัวกันบริเวณลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนร่วมกันขับขี่รถไปรอบตัวเมืองลพบุรี และกลับมามีกิจกรรมปราศรัยที่จุดเริ่มต้น โดยไอซ์ถูกกล่าวหาว่าไปร่วมกิจกรรมในลักษณะเป็นหัวหน้าการ์ดดูแลความปลอดภัย ส่วนนอร์ททำหน้าที่ไลฟ์สดกิจกรรมการชุมนุม  ในส่วนอีกคดีหนึ่งของนักกิจกรรมอีก 2 ราย เกิดจากเหตุกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งคดีก็อยู่ระหว่างต่อสู้ในชั้นศาลเช่นกัน

“ในเรื่องการถูกดำเนินคดี คดีของเราเป็นคดีแรกในจังหวัด ตอนแรกก็ทำให้ดาวน์เหมือนกัน หนึ่งคือเราคิดว่าเราทำประโยชน์ให้พื้นที่นี้เยอะเหมือนกัน ทั้งนอร์ทก็ด้วย เราก็ทำแบบภาคประชาชน เคลื่อนไหวประเด็นอื่นด้วย ทำงานอาสาก็ทำเยอะ เราก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งแค่เราออกมาพูด แค่นั้นเอง เราไม่ได้ไปทุบทำลายใครนะ เราจะมาถูกดำเนินคดีเลย มันก็รู้สึกแย่” ไอซ์บอกถึงความรู้สึกหลังได้รับหมายเรียกครั้งแรก

ไอซ์ยังเล่าว่า แม้ในครอบครัวเขาจะสนับสนุนการเคลื่อนไหว โดยมีคุณตาที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่การถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวอยู่ดี สร้างความตกใจให้กับการได้รับหมายเรียกแรกในชีวิต ไอซ์จึงได้แต่พยายามยืนยันว่า เขามีทนายความในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือและดูแนวทางคดีแล้ว น่าจะมีสิทธิที่จะต่อสู้ชนะคดีอยู่ พร้อมกับย้ำกับทางบ้านว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนตามข้อกล่าวหา และไม่ได้ทำไปทำร้ายใคร

.

ภาพกิจกรรมคาร์ม็อบ 1 สิงหาคม 2564 (ภาพจากเพจลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ)

.

ด้านนอร์ท การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ก็เป็นคดีแรกในชีวิตเช่นกัน แถมยังเป็นช่วงเวลาที่เขาเพิ่งก้าวผ่านวัยเยาวชนและชีวิตในโรงเรียนมาได้ไม่นาน

“ตอนนั้นเราก็เพิ่งก้าวผ่านความเป็นเยาวชนมา มันก็รู้สึกว่าเราโดนตั้งแต่ตอนนี้เลยเหรอ แล้วก็ไม่รู้ว่าเราต้องทำอะไรต่อ จะมีคนช่วยเหลือเราไหมในตอนแรก เพราะไม่มีความรู้เรื่องคดีเลย และไม่มีประสบการณ์โดนดำเนินคดีมาก่อน แต่พอมีทนายความเข้ามา ก็อุ่นใจขึ้น

“แต่เรื่องนี้ เราก็ไม่ได้บอกกับที่บ้าน เพราะคิดว่าถ้าบอก เราพอรู้ว่าในกระบวนการของมัน ที่ให้เราขึ้นโรงขึ้นศาลเนี่ย มันอยากเล่นงานเรา ให้เราเสียเวลาเฉยๆ แต่ถ้าที่บ้านรู้ เขาไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เขาจะคิดว่าเราโดนคดีร้ายแรง เราเลยคิดว่าเราขอให้คดีจบก่อนดีกว่า แล้วค่อยไปบอกเขาเอง อย่างน้อยจะได้บอกว่าไม่มีอะไรแล้ว เรื่องมันจบแล้ว เราก็ค่อยไปบอกเขาดีกว่า คือที่บ้านเรารู้นะว่าเราเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาให้เราเคลื่อนไหวได้ แต่ยังไม่ได้รู้ว่าถูกดำเนินคดี

“มันก็มีความกลัวอยู่ แต่ก็รู้ว่าต้องสู้ ยังอยากจะไปต่ออยู่ และสุดท้ายแล้ว เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด มันเป็นสิทธิที่จะกระทำได้”

แน่นอนอยู่แล้วว่าการถูกคดีแบบนี้เป็นภาระให้กับการทำกิจกรรม แต่นอร์ทยังเห็นว่า ในแง่หนึ่งการถูกดำเนินคดีก็อาจจะมีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกัน ในแง่ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้นักกิจกรรมอย่างเขา ได้ออกมาพูดถึงวัตถุประสงค์การเคลื่อนไหวของตน ว่าตนไปทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น

“รู้สึกว่ามันก็ยังดีที่เราได้มาพูดให้เขาฟัง ถึงสิ่งที่เราไปร่วม หรือไปทำ ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร อย่างน้อยการจัดกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป เขาจะได้รู้วัตถุประสงค์ของเรามากขึ้น เราเพียงแค่อยากจะออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิของเราในรัฐธรรมนูญ เรารู้สึกว่าสร้างเวทีให้เรามาพูดเหมือนกัน ว่าเราทำอะไรอยู่ มันก็ดีเหมือนกัน ที่เราให้ได้มาพูดในพื้นที่แบบนี้”

.

ทบทวนการเคลื่อนไหว: เปิดพื้นที่-สร้างความตระหนักในสิทธิพลเมือง

เมื่อมองย้อนกลับไป ทั้งสองคนทบทวนถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาคล้ายคลึงกันว่า แม้ในเชิงข้อเรียกร้องระดับประเทศจะดูเหมือนยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในแง่ของท้องถิ่นและกิจกรรมที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็ได้ “เปิดพื้นที่” ในหลากหลายด้านขึ้นมา ทั้งทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิของตนเอง จนได้ร่วมกันออกมาพูดและผลักดันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัว

ไอซ์ กล่าวถึงบทบาทของเขาในช่วงที่ผ่านมาว่า “ผมก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นแกนนำอะไร แต่เราก็ร่วมขึ้นปราศรัยบ้าง มีเรื่องไหนที่เราอยากพูด เราก็พูดละกัน แต่เวลาได้พูด สิ่งที่สื่อสารประจำเวลาถือไมค์ จะพูดเรื่องของ ‘สิทธิ’ มากกว่า เราเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิจะพูดออกมา แล้วก็สามารถลุกขึ้นมาพูดได้ทุกคน ไม่ต้องเป็นแกนนำ แล้วก็จะพบว่ามีเด็กๆ นักเรียนบางคนยกมือขึ้น มาขอพูดเองด้วย บางคนก็มาพูดเรื่องการถูกกดขี่ในโรงเรียน เรื่องคุณภาพหรือสวัสดิการการศึกษา อันนี้คือปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับเรา

“ประเด็นมันกลายเป็นหลากหลายมากกว่าแค่ไล่รัฐบาล กลายเป็นว่าเรื่องการศึกษา เรื่องโรงเรียนก็ถูกขุดขึ้นมา บางโรงเรียนก็มีโทรมาหาผมนะ เป็นเพื่อนกัน เขาก็บอกว่าโดนผู้บริหารด่า เพราะมีเด็กไปด่าโรงเรียน ช่วยไปคุยกับเด็กหน่อยได้ไหม แต่เราก็บอกว่าเราไม่มีสิทธินะ เด็กมันมีสิทธิของเขา ถ้าไม่ได้ไปหมิ่นประมาทใคร ก็ควรเปิดโอกาสให้พูด ให้เขาได้ระบาย ให้เขาได้มีพื้นที่สาธารณะที่ออกมาพูด ให้เขารู้สึกเสียงของเขาได้รับการยอมรับจากสาธารณชนที่มาฟังแล้ว”

.

ภาพกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 (ภาพจากเพจพลเมืองลพบุรีเพื่อประชาธิปไตย)

.

ทางด้านนอร์ท เห็นว่า “คิดว่าเราทำให้สังคมเคลื่อนไหวได้บ้าง ทำให้คนกล้าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของจังหวัดลพบุรีมากขึ้น เราก็พยายามเก็บบทเรียนในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง มาทำให้มันดีขึ้น พยายามสร้าง content ใหม่ๆ ไม่ได้มีแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ให้ดูกดดันหรือเคร่งเครียดเกินไป เราคิดว่าเราพยายามเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในจังหวัดลพบุรีได้แสดงออก

“ในระดับจังหวัด เราอยากให้คนลพบุรี ไม่มองแค่ว่าเมืองลพบุรีเป็นเมืองทหาร แล้วไม่กล้าที่จะทำอะไร มีฝ่ายขวาเยอะเกินไป จนไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยน แต่อยากให้ทุกคนได้เรียกร้อง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองระดับประเทศเท่านั้น มันมีการเมืองระดับท้องถิ่น มีปัญหาในท้องถิ่นหลายอย่างที่เราคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้ เราก็อยากช่วยกันสะกิดต่อมให้ช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงสักที ให้คนในจังหวัดได้อะไรใหม่ๆ ไม่ได้อยู่กับอะไรเดิมๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

“รวมทั้งเราอยากให้เพื่อนนักเรียนได้มีสิทธิต่างๆ เพราะเราทำเรื่องนี้มาก่อน ให้เขากล้าที่จะแสดงออก ร่วมกันเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมทั้งมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น เราเห็นการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ เราก็คิดว่าต่างจังหวัดต้องร่วมในเรื่องนี้ด้วย ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เรื่องทรงผม สิทธิในการแต่งกาย เราเห็นผลมากขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวสองสามปีที่ผ่านมา” นอร์ทในวัยย่าง 20 สรุปความหวังในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเขา

.

X