ตร.สน.พหลโยธิน แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร่วมคาร์ม็อบ ‘ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน’ ขณะไล่ปรับผู้ร่วมเสวนายกเลิก 112 หน้าศาลอาญา

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนมีนาคม 2565 นักกิจกรรมและประชาชนได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน.พหลโยธิน จากกรณีร่วมกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา รวม 3 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่ กิจกรรมคาร์ม็อบ (Carmob) “ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน” จากหน้าศาลอาญา ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 9 ราย, กิจกรรมเสวนาภาคประชาชน “ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย” ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย และกิจกรรม #เดินหยุดขัง เดินขบวนจากยูเนี่ยนมอลล์ ไปหน้าศาลอาญา ติดตามผลการประกันตัว 4 แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 8 ราย

สำหรับในคดีแรกจากกิจกรรมคาร์ม็อบ ตำรวจมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อหาหลัก ส่วนอีก 2 คดีหลัง ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด แต่แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียง คดีจึงมีอัตราโทษปรับ ทำให้ผู้ต้องหาหลายรายยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวน เพื่อให้คดีสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ลักษณะการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างลักลั่นดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการเลือกใช้ “กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ ต่อการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ตลอดสองปีที่ผ่านมาโดยมากมักใช้ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี เป็นหลัก ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระทางคดีที่ต้องต่อสู้ต่อไปนานนับปี แต่ก็มีบางกิจกรรมหรือการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้กล่าวหาในข้อหานี้แต่อย่างใด แต่เลือกใช้ข้อหาที่มีอัตราโทษปรับได้ ทำให้ผู้ต้องหาที่เลือกจะยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็วได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ดำเนินการเช่นนี้ในกรณีการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากการติดเชื้อโควิด-19 ต่างๆ

.

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน”

.

คดีคาร์ม็อบส่งเสียงถึงศาลฯ แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 6 นักกิจกรรม ขณะที่อีก 3 คนไม่โดนแจ้ง

สำหรับคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบ “ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 นั้น มีผู้ถูกดำเนินคดี 9 ราย ได้แก่ จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์, ชาติชาย ไพรลิน, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคดี ร่มพฤกษ์, รัชนก มหาวรรณ, ธนพัฒน์ กาเพ็ง, วรวรรณ แซ่อั้ง และวรรณวลี ธรรมสัตยา โดยที่ยังเหลือ “ป้าเป้า” วรวรรณ และ “ตี้” วรรณวลี ที่ยังไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหา เนื่องจากรักษาตัวจากการติดโควิด

กรณีนี้ พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาไม่เหมือนกัน โดยสามรายแรก ได้แก่ จิตริน, ทรงพล และชาติชาย ถูกแจ้งข้อหา กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ข้อหาตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีอัตราโทษปรับทั้งหมด ทำให้ทั้งสามคนให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ เป็นเงินคนละ 800 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 4 ราย ที่เข้ารับทราบข้อหาไปแล้ว กลับถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคด้วย ทำให้ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ทราบเหตุผลชัดเจนว่าเหตุใดจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาแตกต่างกัน ทั้งที่ทั้งหมดร่วมในกิจกรรมเดียวกันนี้ รวมทั้งกรณีของป้าเป้าและตี้ ที่ตำรวจจะแจ้งข้อหานี้เช่นกัน

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาคดีนี้โดยสรุประบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้ทราบจากเพจ “ทะลุฟ้า” เชิญชวนมวลชนร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ’ส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน’ ในวันที่ 8 ธ.ค. 2564 เวลา 14.00 น. ต่อมามีกลุ่มมวลชนใช้รถติดตั้งเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าศาลอาญา โดยมีการจอดกีดขวางการจราจรและอ่านข้อความผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีการทำงานของศาลตุลาการ ก่อนมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คน รถยนต์ประมาณ 10 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน

เมื่อถึงหน้าเรือนจำฯ ได้มีกลุ่มมวลชนขึ้นปราศรัย และเล่นดนตรีสด ก่อนจะมีการจุดพลุ และยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 18.30 น. เจ้าหน้าที่อ้างว่าการชุมนุมทำกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต

.

ภาพกิจกรรมเสวนา “ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย” ที่หน้าศาลอาญา (ภาพจากประชาไท)

.

ปรับคนละ 800 บาท ผู้ร่วมเสวนายกเลิก ม.112 หน้าศาล “ปูน” ธนพัฒน์ ยืนยันให้การปฏิเสธข้อหา

ส่วนคดีจากกิจกรรมเสวนาภาคประชาชน “ยกเลิก ม.112 กับอนาคตประเทศไทย” ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 16 ราย ได้ทยอยเข้ารับทราบข้อหาไปแล้ว 14 ราย โดยผู้ถูกกล่าวหามีทั้งนักกิจกรรม นักศึกษา นักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และนักสหภาพแรงงาน ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, ยุกติ มุกดาวิจิตร, ณัชปกร นามเมือง, จีรนุช เปรมชัยพร, ณัฐชนน ไพโรจน์, พิมชนก ใจหงษ์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, พรหมศร วีระธรรมจารี, ธนพัฒน์ กาเพ็ง, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, ธนพร วิจันทร์, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์

คดีนี้ทั้งหมดถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ข้อหาตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นทานตะวันกับวชิรวิชญ์ ที่ถูกแจ้งข้อหาเฉพาะ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ข้อหาเดียว

ผู้ต้องหา 13 ราย ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ เป็นเงินคนละ 800 บาท ยกเว้นทานตะวันกับวชิรวิชญ์ที่ถูกปรับคนละ 500 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง แต่มีกรณีของ “ปูน” ธนพัฒน์ ได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ไม่ยินยอมให้ปรับ เนื่องจากต้องการจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

สำหรับกิจกรรมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 มีลักษณะเป็นการเสวนาวิชาการในพื้นที่หน้าศาลอาญา โดยมีการจัดเวทีสำหรับการพูดคุยในประเด็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนศาลอาญาจะมีคำสั่งในการประกันตัว 4 แกนนำราษฎรหลังการไต่สวนในช่วงดังกล่าว

ตำรวจกล่าวหาว่ากิจกรรมดังกล่าวมีการใช้เครื่องขยายเสียงในการเสวนาและปราศรัยโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการตั้งเวทีปิดช่องจราจรจำนวน 2 ช่อง อีกทั้งมีการนำป้ายข้อความไปผูกบริเวณป้ายรถประจำทางหน้าศาลอาญา และมีผู้ใช้กระป๋องสีสเปรย์สีขาว พ่นสีบนพื้นถนนบริเวณป้ายรถประจำทาง

.

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม #เดินหยุดขัง

.

ปรับ 800 บาท ผู้ร่วมเดินหยุดขัง แต่ “ต๋ง ปนัดดา” ยืนยันให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีถึงศาล ทั้งปฏิเสธพิมพ์ลายมือ เห็นว่าแค่คดีลหุโทษ

ส่วนคดีจากกิจกรรม “เดินหยุดขัง” เพื่อติดตามผลการประกันตัว 4 แกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 8 ราย ได้แก่ ทรงพล สนธิรักษ์, รัชนก มหาวรรณ, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ปนัดดา ศิริมาศกูล, ชาติชาย แกดำ, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย, ธนพร วิจันทร์ และ “โจเซฟ”

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ประกาศเชิญชวนมวลชนให้ไปร่วมกิจกรรม “เดินหยุดขัง” ที่หน้าห้างยูเนี่ยนมอลล์ เพื่อเดินไปศาลอาญา ในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 โดยผู้ชุมนุมได้ใช้ทั้งยานพาหนะและการเดินเท้ามาถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.00 น. ก่อนมีการจัดกิจกรรมผลัดกันยืนปราศรัยเกี่ยวกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 โดยมีการใช้เครื่องขยายเสียงไฟฟ้า และมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน โดยมีกลุ่มผู้ต้องหาเป็นผู้ขึ้นปราศรัย

คดีนี้ พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ข้อหาตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษปรับทั้งหมด

นักกิจกรรม 7 รายที่เข้ารับทราบข้อหา ได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 800 บาท ทำให้คดีสิ้นสุดลง แต่มี “ต๋ง” ปนัดดา ที่ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ประสงค์จะลงลายมือชื่อในบันทึกข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของทางตำรวจ และยืนยันสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องการจะต่อสู้คดีต่อไปจนถึงชั้นศาล ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร

ปนัดดายังปฏิเสธจะพิมพ์ลายมือนิ้วมือ เนื่องจากเคยพิมพ์ลายมือในคดีชุมนุมอื่นๆ ที่สถานีตำรวจนี้แล้ว ทั้งยังเป็นคดีเพียงลหุโทษ ซึ่งตามระเบียบของทางตำรวจก็ระบุว่าความผิดลหุโทษไม่จำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ จึงยืนยันว่าอยากให้ตำรวจเปลี่ยนแปลงในการดำเนินกระบวนการต่างๆ

.

X