อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี #คาร์ม็อบ1สิงหา ชี้ใช้สิทธิตาม รธน. อยู่ในรถ ไม่เสี่ยงต่อโรค

29 มี.ค. 2565 เอกชัย หงส์กังวาน ได้เผยแพร่คำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในคดีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ (Carmob) บริเวณหน้าสนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยคดีนี้มีผู้ต้องหา 3 รายที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และกีดขวางทางสาธารณะ อัยการชี้ว่าเป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ในสถานที่แออัดที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นการจราจร

สำหรับคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ สมบัติ บุญงามอนงค์, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และเอกชัย หงส์กังวาน ทั้งสามคนถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.ดอนเมือง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดยมี พ.ต.ท.อดิเรก ทองแกมแก้ว เป็นผู้กล่าวหา 

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการจัดชุมนุมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการรวมขบวนรถที่หน้าสนามบินดอนเมือง และเคลื่อนรถไปยังถนนวิภาวดี-รังสิต โดยรูปแบบมีการใช้รถยนต์ส่วนตัวเปิดไฟกระพริบและบีบแตรเป็นสัญลักษณ์

ผู้กล่าวหาอ้างว่าก่อนกิจกรรม สมบัติได้ยื่นหนังสือแจ้งการจัดกิจกรรมต่อผู้กำกับ สน.ดอนเมือง และได้ขับรถยนต์เข้าร่วม ส่วนธนัตถ์ก็ได้นั่งโดยสารอยู่บนรถยนต์ และเอกชัยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยตำรวจระบุว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 200 คัน รถแท็กซี่ 60 คัน รถจักรยานยนต์ 80 คัน และรถกระบะ 10 คัน ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าเหตุใดจึงดำเนินคดีเฉพาะ 3 นักกิจกรรมรายนี้ 

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 อัยการได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดถึงผู้กำกับการ สน.ดอนเมือง

สำหรับเนื้อหาคำวินิจฉัยของอัยการระบุว่า “การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รับรองไว้ กรณีต้องพิจารณาต่อไปว่าพฤติกรรมของการชุมนุมของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งสามเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ 

“เห็นว่าในส่วนของประเด็นการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคระบาดร้ายแรงหรือไม่นั้น โดยที่ลักษณะการชุมนุมเป็นการขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปตามถนน ตั้งแต่เวลา 13.00 น.- 16.00 น. จึงยุติ จึงไม่ได้อยู่ในสถานที่แออัดจะเสี่ยงต่อการแพร่โรค และผู้ร่วมชุมนุมมีการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่ระบาด และไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นการจราจร แม้จะทำให้รถคันอื่นบนท้องถนนที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปเกิดความไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นการกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรแต่อย่างใด กรณียังฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสามกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง” 

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นายกิตติวัฒน์ จิตวิริยาวัฒน์ พนักงานอัยการ 

.

ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 8 อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเป็นคดีอันเนื่องมาจากกิจกรรมลักษณะคาร์ม็อบคดีที่ 3 ภายหลังจากคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดตาก และจังหวัดมุกดาหาร อัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

แต่จำนวนคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในลักษณะนี้ ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการกล่าวหาทั้งหมด โดยคดีคาร์ม็อบในหลายพื้นที่ อัยการได้ทยอยสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาล เช่น คดีคาร์ม็อบยะลา, คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี, คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร, คดีคาร์ม็อบแม่สอด, คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา, คดีคาร์ม็อบฉะเชิงเทรา, คดีคาร์ม็อบพิษณุโลก, คดีคาร์ม็อบปัตตานี, คดีคาร์ม็อบกระบี่ เป็นต้น และยังเป็นภาระของผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดีต่อไป

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องแล้ว 7 คดี อัยการไม่ฟ้อง 7 คดี ไม่มีคดีที่ต่อสู้แล้วลงโทษแม้แต่คดีเดียว

.

* ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก เอกชัย หงส์กังวาน

X