อัยการสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบพิษณุโลก แม้ผู้ต้องหายื่นขอความเป็นธรรม ชี้เป็นการฟ้องคดีปิดปาก

24 ก.พ. 2565 ที่ศาลแขวงพิษณุโลก พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพิษณุโลกได้มีคำสั่งฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของปุณณเมธ อ้นอารี กลุ่มคณะราษฎรภาคเหนือตอนล่าง กรณีจัดกิจกรรม “CARPARK Phitsanulok” ในจังหวัดพิษณุโลก เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐมนตรี และวิพากษ์วิจารณ์การทํางานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ปุณณเมธได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีที่มี พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เป็นผู้กล่าวหา เขาได้เข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564

>> ผู้จัด “CAR PARK” 29 สิงหา พิษณุโลก ปฎิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-คำสั่งจังหวัด ยืนยันไม่ผิดกฎหมายที่กล่าวหา

.

จากนั้น ผู้ต้องหายังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีนี้ โดยยืนยันว่ากิจกรรมคาร์ม็อบที่ถูกกล่าวหา เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามท้องถนนซึ่งสถานที่โล่งแจ้งและไม่แออัด ประชาชนที่เข้าร่วมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และภายในกิจกรรมดังกล่าวไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน จึงมิได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งกิจกรรมนี้ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

การสั่งฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องกำบังตนเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เพื่อหวังผลในการปิดปากอีกด้วย ซึ่งเรียกกันว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP) การใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้ต้องหาไม่อาจใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่างๆ อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง 

แต่หลังจากเลื่อนฟังคำสั่งอัยการในช่วงเดือนธันวาคม 2564 มาหนึ่งครั้ง อัยการก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลในนัดนี้ ในข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามชุมนุมมั่วสุมที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดพิษณุโลก ที่ 5854/2564 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

พฤติการณ์ที่นางสาวอุสากร ภู่วิทยพันธุ์ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพิษณุโลก บรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ปุณณเมธได้ชุมนุมทำกิจกรรม “CARPARK Phitsanulok” บริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยจำเลยได้จัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันของบุคคลเป็นขบวนปราศรัย โดยใช้ยานพาหนะเป็นรถจักรยานยนต์ 7 คัน และรถยนต์ 10 คัน พร้อมติดป้ายข้อความสัญลักษณ์ทางการเมือง และติดตั้งเครื่องขยายเสียง ขับขี่เคลื่อนขบวนปราศรัยไปตามเส้นทางต่างๆ โดยมีประชาชนทำกิจกรรมกับจำเลยจำนวน 30-40 คน อันเป็นการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ใช่กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

.

.

หลังศาลแขวงพิษณุโลกได้รับฟ้องคดีไว้ ได้ให้ปล่อยตัวจำเลยไปโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว พร้อมกำหนดนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 14 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น.  

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในจำนวนคดีจากคาร์ม็อบกว่า 100 คดี ในช่วงปี 2564 ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนอย่างน้อย 2 คดี ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดตาก และจังหวัดมุกดาหาร แต่ในหลายจังหวัด อัยการยังทยอยสั่งฟ้องต่อศาลอย่างต่อเนื่อง จึงต้องจับตาทิศทางคำพิพากษาต่างๆ ต่อไป

>> อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบตาก ชี้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากาก ไม่เสี่ยงโรค

.

X