21 มี.ค. 2565 – 5 นักกิจกรรม Korat Movement ได้แก่ มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ, วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา, ทิพย์ธารา ดาราดาวดี และกนกวรรณ ฉิมนอก เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำสั่งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 21 ส.ค. 2564 หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อเดือน ก.ย. 2564 โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลแขวงนครราชสีมา ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ และศาลให้ประกันตัวโดยให้สาบานตน
เหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวยังมีเบนจา อะปัญ นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขณะถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยเบนจา ยังไม่ได้เดินทางมาพบอัยการเพื่อส่งฟ้องในนัดนี้ เนื่องจากอัยการไม่ได้แจ้งให้มา
ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 5 รายเริ่มทยอยเดินทางมา จนกระทั่ง 11.45 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการฯ ให้มาติดต่ออีกครั้งในช่วงบ่ายเนื่องจากติดช่วงพักเที่ยง จึงยังไม่สามารถไปส่งสำนวนฟ้องที่ศาลได้ กระทั่งเวลา 13.30 น. เมื่อนักกิจกรรมกลับไปที่สำนักงานอัยการอีกครั้ง เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า ศาลแขวงนครราชสีมาไม่รับคำฟ้องที่ยื่นไป เนื่องจากคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 6 ราย แต่วันนี้มาเพียง 5 ราย จึงให้อัยการส่งตัวจำเลยทั้งหกมาพร้อมคำฟ้องอีกครั้งในวันหลัง
เมื่อได้รับทราบเช่นนั้นส่งผลให้จำเลยทั้ง 5 ราย รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากต้องเสียเวลารอกระบวนการพิจารณาคดีตั้งแต่ช่วงเช้า พ.ต.ท.อัครพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รู้สึกสับสน เพราะก่อนหน้านี้ตนได้แจ้งกับอัยการว่า เบนจาอยู่ระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว โดยติด EM และมีเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 – 06.00 น. หากเดินทางมาในนัดฟ้องคดีนี้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอออกนอกพื้นที่ แต่ทางอัยการแจ้งว่าจะทำเรื่องขอเบิกตัวต่อศาลเอง เนื่องจากถือว่าเบนจาอยู่ในอำนาจการควบคุมตัวของศาลอาญากรุงเทพใต้แล้ว แต่กลับเป็นว่า ศาลแขวงนครราชสีมาไม่ยอมรับฟ้อง จากเหตุที่จำเลยมาไม่ครบ
หลังเจรจาหาทางออกกระทั่ง 15.30 น. ร.ต.อ.พิทักษ์ เมธาจิตติพันธ์ รองอัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา แจ้งว่าจะแยกฟ้องจำเลย 5 รายที่มาในวันนี้ก่อน โดยแก้ไขคำฟ้องให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นต่อศาล พร้อมทั้งให้นักกิจกรรมทั้งห้าไปที่ศาลแขวงนครราชสีมา และยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป หลังจากศาลประทับรับฟ้อง
อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 จำเลยทั้งห้ากับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันประมาณ 335 คน และร่วมกันชุมนุม โดยผู้ชุมนุมไม่ได้เข้มงวดเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่โควิด-19 โดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
อัยการถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34
ท้ายคำฟ้องยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกของมกรพงษ์และวรัญญูในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค.64 และคดีชุมนุมหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ของศาลนี้ และนับโทษของกนกวรรณ ต่อจากโทษในคดีรับมอบรูป ร.10 ที่ถูกปลด ของศาลจังหวัดนนทบุรี
หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีหลักประกัน ให้เหตุผลว่า จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยจะนำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป
นอกจากนี้จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการเดินทางออกไปในที่สาธารณะเพิ่มโอกาสในการติดโรคดังกล่าว แต่จำเลยทุกคนยังขวนขวายเดินทางไปตามนัดของตำรวจและอัยการทุกครั้ง ไม่ได้มีความคิดจะหลบหนี
กระทั่งเวลา 16.30 น. ศาลแขวงนครราชสีมามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมด โดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ หลังสาบานตนทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลา 17.00 น. และศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พ.ค. 2565 ในส่วนของเบนจาอัยการนัดมาส่งฟ้องในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น.
เมื่อรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บิดให้จัดการกับสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สิรภพ หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีระบายว่า “เราไปสำนักงานอัยการตั้งแต่ 09.30 น. กว่าจะเสร็จก็ปาไป 17.00 น. ถึงแม้จะเตรียมใจมาแล้วว่ามันต้องช้าแน่แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องเจอปัญหาจากการสื่อสารที่สับสนกันเองระหว่างเจ้าพนักงานแบบนี้ การต้องแกร่วรอหลายชั่วโมงในเต็นท์ตอนกลางวันที่ไม่มีกระทั่งพัดลมทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสามผู้ต้องคลานเข่าเข้ามาขอความเมตตาจากเจ้าชีวิตเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็รู้สึกดีใจที่มีประชาชนผู้มาธุระที่ศาลชูสามนิ้วให้กำลังใจเรา มันทำให้เราคิดว่าความไร้สาระที่ต้องเจอนี่มันเล็กน้อยเกินกว่าจะส่งผลต่อคุณค่าของสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราฝัน และสิ่งที่เราทำเพื่อจะให้ได้มันมา”
อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวอีกว่า การเป็นจำเลยในคดีทางการเมืองทำให้ตั้งข้อสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์และที่มาของกฏหมาย เพราะตลอดชีวิตไม่เคยตกเป็นจำเลยหรือกระทำอะไรที่ผิดกฏหมายเลย “เราเคยเรียนด้านกฏหมายและเชื่อมาตลอดว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีกฏหมายเพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่พอวันนี้ สิ่งที่เราเจอกลับตอกหน้าเราว่า สิ่งที่เราเคยศรัทธานั้นไม่เคยเป็นไปเพื่อสังคม กฏหมายทุกวันนี้ไม่ได้รับใช้ปวงประชาแต่กลับทำหน้าที่พิทักษ์รักษาคน 1% เท่านั้น มันทำให้เรามองกฏหมายในแง่ใหม่ เลิกเชื่อว่ามันคือข้อเท็จจริงอันไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่เป็นความจริงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราสามารถแก้ไขให้มันดีกว่านี้ได้”
ผมคิดว่าตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการกับโควิด-19 แต่สิ่งที่เลวร้ายคือวิธีที่รัฐบิดให้มันจัดการกับสิ่งอื่น ๆ ที่ตัวมันไม่เกี่ยวข้อง เหมือนกับกฏหมายอีกหมื่นฉบับ ระเบียบการอีกหมื่นข้อ ธรรมเนียมอีกหมื่นสิ่งซึ่งถูกบิดเบือนให้รองรับความชอบธรรมของรัฐอันฉ้อฉลซึ่่งหน้า ใช้ความคลุมเครือแห่ง “ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน” ในการบันดาลความสะดวกสบายให้พวกพ้องและกำหนดโทษทัณฑ์ให้ประชาชน ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วกฏหมายถูกออกแบบมาให้รับใช้
สำหรับสิรภพ วันเวลาและรายได้ที่สูญเสียไปเพราะคดีนี้ไม่นับว่าเป็นอะไรเลย “ถึงแม้การต่อสู้ในคดีของผมจะไม่มีผลยิ่งใหญ่อะไร ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ท้ายสุดก็จะเลือนหายไปอย่างไม่มีใครจดจำได้ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะผมไม่ใช่คลื่น ผมเป็นน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทร ผมจะทำในส่วนของผมให้เต็มที่”
เหตุในคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 กลุ่ม Korat Movement จัดกิจกรรมในชื่อโคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market เคลื่อนขบวนจากสถานที่ต่างๆ ไปที่ลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นมีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการใช้วัคซีนของรัฐบาล, เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรีสด และมีการจุดไฟเผาหีบไม้ (โลงศพ) ร้องเพลง และจุดพลุ ก่อนยุติกิจกรรมลง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่ประชาชน-นักกิจกรรม ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง เมื่อนับเป็นจำนวนบุคคลขณะนี้มีผู้ถูกฟ้องไปแล้วจำนวน 13 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง