ชีวิตที่(อยากให้)ดี กับคดีที่ได้ ของ “บุ๊ค” ครูสอนว่ายน้ำ

.

เรื่องโดย ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

.

ศูนย์ทนายฯ ชวนพูดคุยกับ “บุ๊ค” วรัญญู ครูสอนว่ายน้ำที่ถูกดำเนินคดี 3 คดี เพียงเพราะอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ด้วยสังคมที่เขาฝันถึงจึงเป็นเหตุให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ย้อนไปช่วงปี 2564 วรัญญู คงสถิตย์ธรรม หรือ “บุ๊ค” ครูสอนว่ายน้ำอิสระชาวโคราช (จ.นครราชสีมา) เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเรียกร้องทั้งวัคซีนโควิด -19 และให้รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก รวมถึงประณามตำรวจที่ทำร้ายผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่กลับถูกดำเนินคดีทางการเมือง ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ถึง 3 คดี

บุ๊ค ย้อนเล่าประวัติตัวเองที่จบการศึกษาที่การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ม.6 เขากล่าวว่า “มีอยู่พักหนึ่งเคยอายมากที่จะตอบเรื่องนี้กับผู้ปกครองของนักเรียนที่มาเรียนว่ายน้ำกับเรา เขามักจะถามว่า ครูบุ๊คจบอะไรมา วิทยาศาสตร์กีฬาใช่มั้ย จบจากที่ไหนมา ขอนแก่นเหรอ ก็จะมีเขินที่ต้องตอบว่า กศน. อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ซีเรียสอะไร หลังๆ ก็รู้สึกว่าเราก็จบมาจริงๆ ก็ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจอะไร คนในประเทศนี้อาจจะมองว่าการศึกษามันต้องเรียนให้เยอะๆ เข้าไว้ แต่ผมมองว่าการศึกษาก็เรียนเท่าที่จะใช้ ไม่ใช่ว่าเรียนเยอะๆ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร ”

.

.
อย่างไรก็ตาม ในอาชีพครูสอนว่ายน้ำที่เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเปิดคอร์สสอนกับรุ่นพี่ที่รู้จักถึงขณะนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว  บุ๊คเล่าว่าเขารักในอาชีพฟรีแลนซ์ เนื่องจากอาชีพนี้ทำให้เขาไม่ถูกกดขี่แรงงาน มีเวลาพักผ่อนตามที่วางแผนไว้ และด้วยงานอิสระทำให้เขามีเวลาเดินทางท่องเที่ยว 

“ก่อนหน้านี้จะเป็นการติดต่อกับทางสระแล้วเขาอยากได้คนไปอยู่ในทีมเพื่อสอนในคอร์สลักษณะต่างๆ เราก็เลยเข้าไปทำงานด้วยประมาณ 2-3 ปี หลังจากนั้นออกมาทำเอง ดูแลตัวเองซักพักหนึ่งประมาณ 2 ปี ตอนนี้ทำกับสระเอกชนอีกสระหนึ่ง เรื่องราคาของแต่ละคอร์ส แล้วแต่ที่แล้วแต่สระที่เราไปตกลงไว้ ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาชีวิตว่าอยากไปไหน” เขาเล่าถึงการทำงานในอาชีพครูสอนว่ายน้ำด้วยแววตาที่เปล่งประกาย 

.

ความต่างสวีเดน-ไทย เหตุบันดาลใจค้นหาคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้เขายังได้เล่าถึงช่วงชีวิตที่ได้เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศสวีเดนกับนอร์เวย์ มีความทรงจำประทับใจเรื่องสวัสดิการของประชาชนที่นั่น รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน 

“ผมเพิ่งมารู้ตอนหลังจากกลับมาแล้วว่าเป็นประเทศ 10 อันดับแรกของโลกที่ถูกจัดลำดับประเทศที่ดี มีสวัสดิการที่ดี ประชาชนในรัฐมีความสุข แม้ค่าครองชีพและภาษีเขาจะสูงแต่สวัสดิการเขาดีมันก็คุ้ม อย่างสวีเดนมีสวัสดิการถ้วนหน้าทุกคนเลย แม้แต่คนที่เข้ามาทำงานแล้วได้สัญชาติเป็นพลเมืองภายหลัง ทุกคนก็จะมีบำนาญตอนแก่ไปหมด สิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตร ผู้ชายผู้หญิงสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้เท่ากัน ส่วนกฎหมายแรงงานที่นั่นเขาให้ค่าความเป็นแรงงานสูงมาก ทุกอย่างจะต้องเท่าเทียม ชั่วโมงทำงานกับค่าแรงต้องสมดุลกัน สัญญาจ้างงานก็เช่นกัน กฎหมายแรงงานก็แทบจะไม่เปิดช่องให้นายทุนฉวยโอกาสจากแรงงานเลย หมายถึงว่าเขาพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งสองฝ่ายโดยที่ไม่สามารถรังแกกันได้ ดังนั้นแรงงานที่สวีเดนจะมีชีวิตที่ดีมาก สามารถลาพักร้อนได้ขึ้นอยู่กับอาชีพ แต่ทุกอาชีพไม่ต่ำกว่า 1 เดือน – 1 เดือนครึ่ง ที่ลาพักร้อนแต่ยังได้รับเงินเดือนอยู่ อันนี้ยังไม่รวมกับที่ลาแล้วไม่ได้เงินเดือนอีกนะ ”

จากคำถามปลายเปิดว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้บุ๊คต้องออกมาตามหาคุณภาพของชีวิต เขาเริ่มเล่าเรื่องราวเชิงเปรียบเทียบจากการเยือนต่างประเทศเที่ยวนั้น

.

.
“ผมไปสวีเดนมาแทบไม่เจอตำรวจเลย เค้าไม่ออกมาขับรถเล่นแบบของเรา คนที่โน่นที่มีอาชีพ เช่น ทหาร หมอ ตำรวจ เค้าไม่ได้ใส่เครื่องแบบแล้วออกมาเดินโชว์นอกเวลางาน หมดเวลางานเค้าก็ถอดชุดเครื่องแบบออกแล้วใส่ชุดปกติเลย บางคนสักลายเยอะๆ ก็มี เดินเล่น ไว้ผมยาวปกติเลย คือระหว่างเดินทางไปทำงานก็แต่งตัวชุดปกติ พอไปถึงที่ทำงานค่อยเปลี่ยนเป็นชุดปฏิบัติงาน พอเลิกงานก็ถอดเครื่องแบบไว้ในล็อคเกอร์แล้วเปลี่ยนเป็นชุดปกติ เขาก็เป็นคนปกติคนธรรมดาเป็นประชาชนคนหนึ่ง ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก พื้นฐานแต่ดี ของไทยนี่ไม่ทำนะ ใครเป็นตำรวจก็เป็นตำรวจทั้งวัน ขับรถก็เป็นตำรวจ ไปตลาดก็เป็นตำรวจ ทั้งที่เป็นนอกเวลาปฏิบัติงานแล้ว” 

“ส่วนเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ป้ายรถเมล์เกือบทุกที่จะมีเวลาบอกและตรงเวลามากๆ สะอาด ตัวเมืองถูกออกแบบมาให้เดินได้ ทางเท้ากว้างขวางดี ถนนสำหรับรถไม่ใหญ่นะ ส่วนใหญ่จะเป็น 2 เลน บางเส้นอาจจะมี 4 เลนบ้าง แต่ไม่มีถนน 6-8 เลนแบบประเทศเรา มีเลนสำหรับขับเร็วต้องอยู่เลนซ้าย ขับช้าอยู่เลนขวา ถนนทุกเส้นมีความเร็วกำหนดอยู่ จึงไม่มีปัญหารถติด ใครไม่ปฏิบัติตามก็โดนจับ กฎหมายจราจรของที่นั่นค่อนข้างโทษแรง เพิกถอนใบอนุญาตฯ แล้วการทำใบขับขี่ทำยากมาก ซึ่งระบบที่เขาวางไว้จึงดำเนินไปอย่างดี พอกลับมาบ้านเราเลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย ตามเพลงของวงสามัญชน “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้””

ครูสอนว่ายน้ำอิสระเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งสองประเทศที่ไปเวลาเราจะข้ามถนน รถยนต์บนถนนจะจอดให้โดยอัตโนมัติ  “เวลาเห็นทางม้าลายเขาจะชลอเพื่อจอดตั้งแต่เนิ่นๆ และเขาจะให้เวลาเราข้ามโดยที่เราไม่ต้องเร่งรีบอะไร ไม่ต้องวิ่ง ของประเทศเราต้องวิ่งตลอดเพราะกลัวรถชน” (เขาหัวเราะเมื่อนึกถึงการข้ามถนนบนทางม้าลายของไทย)

บุ๊คยังบอกถึงความรู้สึกว่า การได้เดินทางไปเที่ยวแม้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงหนึ่งเดือน แต่ประสบการณ์ที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่ามาก ทำให้เห็นความแตกต่างในเรื่องสวัสดิการของประชาชนมาก จนกลายเป็นจุดที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น

ก่อนตั้งคำถามในใจอีกว่าทำไมเราไม่สามารถมีบำนาญในทุกอาชีพได้ ทำไมเราต้องเข้าสู่ระบบราชการเท่านั้นถึงจะได้บำนาญ 

“อย่างยายผมอายุ 80 ปี ทำงานรับใช้สถาบันครอบครัวมาตลอดชีวิต เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าอย่างสม่ำเสมอ แต่ตอนนี้มีแค่เงินผู้สูงอายุที่เป็นบำนาญ ถ้าลูกหลานไม่เลี้ยงก็คือต้องอดตายหรือไปเป็นคนไร้บ้าน  เลยทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ชีวิตที่เราต้องการแล้ว” บุ๊คเล่าถึงชีวิตของยายของเขาด้วยความอึดอัดคับแค้นใจ

จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า หากเรามีอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการที่ดี เราอาจจะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อสร้างหลักประกันให้ชีวิตเลยก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์หรือประกอบอาชีพอิสระในประเทศนี้ คุณอาจจะเปลี่ยนความคิด อย่างที่ครูสอนว่ายน้ำคนนี้กำลังทำอยู่ก็ได้

.

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว ไปยังจุดยืนการเมืองที่แจ่มชัด

วรัญญูเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเมื่อต้นปี 2563 ช่วงที่มีประชาชนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และนั่นก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของเขา ก่อนเริ่มเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งที่มีโอกาส 

“ในช่วงนั้นรู้สึกว่าโคราชไม่มีอะไรทำเพื่อแสดงออกเลย เราได้แต่ดูตามสื่อที่นำเสนอข่าวต่างๆ บวกกับส่วนตัวเราติดตามข่าวการชุมนุมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เช่น การชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง  หลังจากนั้นเลยลองหาเพื่อนที่มีความเห็นหรืออุดมการณ์เดียวกัน บังเอิญว่าโคราชช่วงนั้นมีกลุ่มหนึ่งที่ทำอยู่แล้วชื่อกลุ่ม “Korat No เผด็จการ” ที่ตอนนั้นจัดกิจกรรม วิ่งไล่ลุง เราก็เลยสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมด้วยสักพักหนึ่ง จากนั้นผมได้เริ่มขึ้นปราศรัยในเวทีโคราชจะไม่ทนครั้งที่ 1” ครูสอนว่ายน้ำเล่าถึงความอึดอัดต่อสถานการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลานั้น

.

.

เขายังอีกเล่าว่าภายหลังจากที่เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่โทรถามเวลามีวันสำคัญหรือคนสำคัญของรัฐบาลมาที่ จ.นครราชสีมา มักมีคนมาวุ่นวายในชีวิต 

“เจ้าหน้าที่มักโทรมาถามว่าจะทำอะไรไหม ในช่วงหลังๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นห้ามว่า ไม่ทำได้ไหมพี่ขอ แต่ในส่วนอื่นๆ เช่น เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ก็ยังใช้ชีวิตปกติ อาจจะด้วยเราไม่ใช่สายชนหรือต่อต้านแรงรุนแรง  ถึงอย่างนั้นยังถูกดำเนินคดีหลายคดีจากการออกมาร่วมชุมนุม” 

อย่างไรก็ตามครูสอนว่ายน้ำประเมินตัวเองอยู่เสมอเพื่อรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่สิ่งที่เขากังวลคือ “ครอบครัว” เนื่องจากครอบครัวเป็นห่วง และเมื่อถามถึงเรื่องราวของการถูกดำเนินคดี บุ๊คกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลาชีวิตมากเนื่องจากแต่ละขั้นตอนใช้เวลานาน อย่างน้อย 1 วัน ทุกครั้ง และเนื่องด้วยที่เขาเป็นครูสอนว่ายน้ำอิสระ การหยุดงาน 1 วัน ทำให้เสียรายได้ไปค่อนข้างมาก และการมาตามนัดทุกครั้งมีค่าใช้จ่ายเสมอ 

“เรามักจะประเมินตัวเองอยู่เสมอว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน สมมติว่าคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังไม่โดนคดีอื่นๆ ที่เราคิดว่ามันร้ายแรงไปสำหรับเรา ถ้าสมมติวันนึงที่มันอาจจะมีคดีร้ายแรงกว่านี้เช่น อาญามาตรา 112, มาตรา 116 ก็ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่ก็มีเตรียมใจไว้บ้าง เพราะเราก็มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว”

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง หรือในฐานะใดก็ตาม “ผมรู้สึกว่าไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำเพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง  รัฐไทยใช้กฎหมายจนเคยตัว ใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราก็มีหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและยืนยันในสิทธิของเรา เรายืนยันตลอด ทุกครั้งที่ขึ้นศาลเราก็ยืนยันว่าทุกสิ่งที่เราทำมันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเรา ไม่มีใครสามารถช่วงชิงไปได้แม้ว่าคุณจะอ้างอะไรก็ตาม เพราะผมฝันถึงสังคมที่มันเป็นธรรมเท่าเทียมผมถึงออกมาทำสิ่งนี้” บุ๊คพรั่งพรูถึงความไม่เป็นธรรมต่อเขาและสังคมที่เขาอยากเห็น

.

สังคมใหม่ที่ครูสอนว่ายน้ำใฝ่ฝันถึง

ในห้วงเวลากว่า 8 ปีภายหลังรัฐประหารส่งผลให้บ้านเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างที่ควรจะเป็น ผู้คนถูกละเมิดสิทธิรายวัน ซ้ำร้ายยังมีโรคระบาดกว่า 3 ปี เพราะการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ล้มเหลว และนั่นเป็นสาเหตุให้ประชาชนลุกขึ้นมาส่งเสียง แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับไม่ใช่การดูแลจากรัฐบาล แต่กลับเป็นการคุกคามและการถูกดำเนินคดี แล้วสังคมแบบไหนกันนะที่เราอยากเห็น

.

.

“ตอนแรกต้องการรัฐสวัสดิการและสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ตอนหลังก็มีเพื่อนที่มีข้อเรียกร้องในมุมที่ใหม่สำหรับเราซึ่งเราก็เห็นด้วย เช่น สมรสเท่าเทียม เป็นต้น จึงมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นมา ตอนนี้รู้สึกว่าอยากได้สังคมที่มันเป็นธรรมเท่าเทียม ซึ่งเป็นคำที่น่าจะครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ‘คนเท่ากัน เป็นธรรม เท่าเทียม’ ผมชอบประโยคนี้มาก”

เมื่อถามว่าบุ๊คอยากทำอะไรหรือจะใช้ชีวิตแบบไหนถ้าประเทศนี้เป็นสังคมแบบประชาธิปไตย เขายิ้มตาวาวก่อนจะเล่าถึงชีวิตที่ฝันถึง

“ผมชอบป่าเขา ชอบสิ่งแวดล้อม ชอบทะเล ผมจะไปเป็นนักอนุรักษ์ แล้วแต่สถานการณ์ หรือตอนนี้ผมทำเพลงอยู่ก็อาจจะไปเป็นนักดนตรีก็ได้ ผมเป็นคนให้ค่ากับความฝันมาก ในชีวิตผมไม่เคยวิ่งตามเงินเลย แม้กระทั่งช่วงที่ผมตกต่ำมากที่สุด ผมก็ไม่เคยไปทำงานที่ไม่คุ้มกับแรงที่เราลงไป ไม่ใช่ว่าเหยียดหรือว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ดีนะ ถ้ามันตรงข้ามกับความคิดของเรา ทุกๆ งานที่ผมทำจะเป็นงานที่วิ่งไปตามสิ่งที่ผมชอบอย่างเดียว และต้องคู่ควรกับสิ่งที่เราจ่ายไปด้วย เราเห็นค่าในศักยภาพ เราไม่เชื่อเรื่องการไร้ทักษะแล้วไปทำงาน คนที่บอกว่าอาชีพล้างจานหรือแม่บ้านไม่ต้องใช้สกิลหรือทักษะอะไรแล้วกดค่าแรงลงต่ำมากๆ อันนี้คือตอแหลมาก งานทุกอย่างมีทักษะด้วยกันทั้งนั้น คนประเทศนี้พยายามกดทักษะให้มันต่ำมาก” 

.

.

*สำหรับสถานะคดีของบุ๊ค ศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษายกฟ้องไปแล้ว 2 คดี คดีจากคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 และ คดีชุมนุมประณามการทำรุนแรงของตำรวจ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยอัยการมีการยื่นอุทธรณ์ ส่วนอีกคดี คือ คดีคาร์ม็อบ 21 ส.ค. 2564 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และจะเริ่มสืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2565

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: จำเลยไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม – ชุมนุมไม่เสี่ยงขนาดแพร่โรคในวงกว้าง

ยกฟ้อง! อีกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โคราช สาดสีประณาม ตร.ศาลชี้ จำเลยไม่ใช่ผู้จัด ทั้งไม่มีผู้ติดโควิด น่าสงสัยว่าชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิดหรือไม่

.

X