ฟ้องแล้ว! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 2 คดีจำเลยยันสู้เต็มที่ แม้รัฐบอกว่าผิด แต่เชื่อว่าการไล่รัฐบาลคือสิ่งที่ถูก

วันที่ 1 ตุลาคม 2564  ประชาชน 7 ราย  เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำสั่งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และคาร์ม็อบในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งสองคดี มีจำเลยรวม 7 คน ได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงษ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน, บริพัตร กุมารบุญ, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี และภัทรกาญจน์ ทองแดง ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ และศาลให้ประกันตัวโดยให้สาบานตน

เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา เจ้าหน้าที่แจ้งกับจำเลยทั้ง 7 และทนายว่า ทั้ง 2 คดีอัยการมีคำสั่งฟ้อง ให้ทนายและจำเลยไปที่ศาลแขวงนครราชสีมาเพื่อยื่นฟ้องและทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป 

สำหรับคดีจากเหตุคาร์ม็อบวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่ง สุภัค บัวแย้ม พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง วัฒนะชัย, วรพงษ์, กฤติพงศ์ และบริพัตร เป็นจำเลยรวม 4 คน และคดีจากคาร์ม็อบวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ซึ่ง ทวี เรืองฤทธิ์เดช พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง วัฒนะชัย, จักรวุธ, นะโม และภัทรกาญจน์ ได้บรรยายฟ้องลักษณะเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน  เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และได้เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย  มีประชาคนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร รวมทั้งจำเลยได้ขึ้นปราศรัยโดยลดหน้ากากอนามัยลง พร้อมทั้งมีระยะเวลาการร่วมชุมนุมฟังปราศรัยเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น

ทั้งสองคดีอัยการฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ จากกลุ่มโคราชเลือดใหม่ ซึ่งตกเป็นจำเลยในทั้ง 2 คดี จากคาร์ม็อบ 2 ครั้ง  พนักงานอัยการระบุในคำฟ้องด้วยว่าขอให้ศาลนับโทษจำคุกในทั้งสองคดีเรียงต่อกัน

ที่ศาลแขวงนครราชสีมา หลังศาลรับฟ้อง ภัทรพงษ์ วรรณพงศ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 คดี โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ให้เหตุผลว่า จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และมีหนทางที่จะต่อสู้คดีตามกฎหมาย โดยจะนำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาลเพื่อต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาคดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป อีกทั้งยังเคยให้การปฏิเสธไปในชั้นสอบสวน เพราะจำเลยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและเชื่อว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีรวมถึงจำเลยได้

นอกจากนี้จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน และแม้ปัจจุบันประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้การเดินทางออกไปในที่สาธารณะนั้นเพิ่มโอกาสในการติดโรคดังกล่าว แต่จำเลยทุกคนพยายามขวนขวายเดินทางไปตามนัดของตำรวจและอัยการทุกครั้ง ไม่ได้มีความคิดจะหลบหนี จึงขอศาลปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้จำเลยได้มีอิสรภาพสู้คดีอย่างเต็มที่ 

เวลา 15.00 น. ศาลแขวงนครราชสีมา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดในทั้ง 2 คดี โดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ หลังสาบานตนทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในช่วง 16.30 น. และนัดคุ้มครองสิทธิ์และตรวจพยานหลักฐานวันที่  9 พฤศจิกายน 2564

วรพงศ์ โสมัจฉา อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ 1 ในจำเลย กล่าวหลังจากได้รับการปล่อยตัวว่า ก่อนการชุมนุมในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่า ต้องขออนุญาตในการจัดคาร์ม็อบหรือไม่ ทางตำรวจบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต และจะส่งกำลังมาอำนวยความสะดวกระหว่างชุมนุม จนถึงวันจัดได้ใช้มาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 ตามที่รัฐประกาศ เช่น มีการรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการแจกเจลแอลกอฮอล์ และทั้งหมดใช้เวลาในการชุมนุมราว 2 ชั่วโมง แต่กลับถูกดำเนินคดีในภายหลัง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้ปรามการชุมนุมทางการเมือง และการดำเนินคดีกรณีคาร์ม็อบในโคราช ล้วนมีเบื้องหลังทางการเมืองอยู่

ด้านกฤติพงศ์ ปานสูงเนิน นักกิจกรรมกลุ่ม Korat No เผด็จการ จำเลยอีกคน ให้ความเห็นว่า แม้ตำรวจหรืออัยการจะฟ้องว่าเป็นความผิด แต่สิ่งที่ตนคิดและเชื่อนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแน่นอน หนำซ้ำการออกมาขับไล่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกขณะนี้ ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพลเมืองไทยที่ทนไม่ได้กับสภาพการเมืองและการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ  

“ส่วนตัวคิดว่าจะสู้คดีอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากคดีนี้ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งจากทั่วประเทศที่เผชิญหน้าคดีในลักษณะเดียวกันอยู่ และไม่ได้รู้สึกว่าตนสู้อย่างโดดเดี่ยว”

นอกจาก 2 คดีนี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 จำนวน 3 ราย, คดีจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าตำรวจภูธรภาค 3 ในวันที่  7 สิงหาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย และเหตุจากคาร์ม็อบวันที่  21 สิงหาคม 2564  มีผู้ถูกดำเนินคดี 4 ราย

เมื่อวันรับทราบข้อกล่าวหาทั้งสามคดีในวันที่ 14 กันยายน 2564 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา นัดส่งสำนวนให้อัยการวันที่ 7 ตุลาคม 2564 แต่กลับขอเลื่อนส่งตัวอัยการเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ก่อนจะขอเลื่อนอีกครั้งเป็นวันที่ 4 ตุลาคม 2564 อ้างว่าทำสำนวนคำฟ้องส่งพนักงานอัยการไม่ทัน 

สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา นักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement หนึ่งในผู้ต้องหาจากคาร์ม็อบ 21 สิงหาคม  สะท้อนความรู้สึกว่า สับสนกับระบบของราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบของตำรวจที่ให้ดุลยพินิจเจ้าพนักงานไว้เยอะมาก การตัดสินใจจะฟ้องไม่ฟ้อง นัดไม่นัด หรือกระทั่งนัดแล้วจะเลื่อนหรือไม่ก็อยู่ในอำนาจเจ้าพนักงานโดยประชาชนไม่มีสิทธิเห็นแย้งเลย “ขณะที่หากประชาชนจะเลื่อนนัดต้องทำเหตุผลร้อยแปดให้เขาอนุมัติ แต่ถ้าตำรวจอยากเลื่อนกลับสามารถใช้เหตุผลว่า “ทำสำนวนไม่ทัน” ได้ทันที     พี่น้องเราหลายคนต้องลางานล่วงหน้าเพื่อไปตามนัด แล้วตำรวจต้องเสียอะไรบ้างเพื่อผิดนัด” 

อย่างไรก็ดีคดีคาร์ม็อบ 21 สิงหาคม ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 2 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ ซึ่งมีนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ยังมีกนกวรรณ ฉิมนอก ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถเข้ารับทราบข้อหาได้ ครอบครัวได้ติดต่อเข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งทางครอบครัวว่าให้กนกวรรณรักษาตัวจนหายก่อน ค่อยประสานมาอีกครั้งเพื่อนัดหมาย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

X