นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

วันที่ 14 กันยายน 2564 ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา มีนัดรับทราบข้อกล่าวหา คดีที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกในข้อหา ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 3 คดี จากเหตุคาร์ม็อบโคราชวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เหตุชุมนุมหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 และเหตุคาร์ม็อบโคราชเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 

ทั้ง 3 คดีมีนักกิจกรรมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 คน ได้แก่ วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ, เมธานุช กอผา, สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา และทิพย์ธารา ดาราดาวดี โดยมีวรัญญูและมกรพงษ์ จากกลุ่ม Korat Movement เป็น 2 นักกิจกรรม ที่ถูกแจ้งความทั้ง 3 คดี, เมธานุชถูกดำเนินคดีจากคาร์ม็อบ 23 กรกฎาคม 2564, สิรภพและ ทิพย์ธาราถูกดำเนินคดีจากคร์ม็อบ 21 สิงหาคม 2564 ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เดินเท้าเข้ารับทราบข้อหา ก่อนสาดสีสะท้อนรัฐป้ายความผิดคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ตั้งแต่ช่วงสายบริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มนักกิจกรรม Korat Movement ประมาณ 20 คน เริ่มตั้งขบวนและออกเดินเท้าเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตลอดระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร มกรพงษ์ นักกิจกรรมและหนึ่งในถูกออกหมายเรียกใน 3 คดี  ปราศรัยเชิญชวนประชาชนที่อยู่ระหว่างทางให้ไปร่วมเป็นกำลังใจนักกิจกรรมที่ สภ.เมืองนครราชสีมา และยังเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำที่ถูกคุมขังอยู่ที่กรุงเทพฯ

ขบวนเดินถึง สภ.เมืองนครราชสีมา ในเวลาประมาณ 11.15 น. วรัญญูปราศรัยประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง 1.ให้รัฐบาลลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แล้วยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำถุงดำครอบหัวและสาดสีใส่ผู้ถูกเรียกตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 3 คน เพื่อแสดงออกว่า การถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นการถูกทำร้ายและกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 

ในจังหวะชุลมุนมีหนึ่งในผู้ร่วมให้กำลังใจสาดสีใส่ป้ายหน้า สภ.เมืองนครราชสีมา ทำให้ พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวาณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา ออกมากล่าวตำหนินักกิจกรรมว่า ทำแบบนี้ถือว่าไม่เคารพกัน ทำไมถึงต้องทำลายทรัพย์สินของส่วนรวม “โรงพักนี้เป็นของประชาชนไม่ควรทำแบบนี้” 

ในทันทีนั้น วรัญญูก็ได้กล่าวโต้ พ.ต.อ.กรกฎ ว่า สีดังกล่าวเป็นสีที่ล้างออกได้ ไม่ได้ทำเกิดความเสียหายแต่อย่างใด พร้อมทั้งตั้งคำถามกลับไปอีกว่า การเปื้อนสีของป้ายดังกล่าวสามารถเทียบเท่าการสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งในขณะที่วรัญญูพูดอยู่นั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำจากรถดับเพลิงที่จอดรออยู่ล้างสีที่เปรอะป้ายและทางจากกิจกรรมสาดสีดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย

เมื่อไปเข้าไปในตัว สภ.เมืองนครราชสีมา ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน ผู้กำกับได้กล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมดในห้องประชุมถึงเหตุการณ์สาดสีหน้า สภ. ว่า ตนพยายามจะบอกตัวเองทุกวันว่า เอาความเกลียดชังออกจากใจได้ไหม มันจะได้ไปต่อได้ เพราะตำรวจหลายคนก็มีความเกลียดชัง มองนักกิจกรรมอีกแบบหนึ่ง ท้ายที่สุดอยากบอกว่าทุกคนมีหน้าที่ และให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด 

“อยากให้เราเมตตาต่อกัน และไม่ควรมีเหตุอะไรต้องเกลียดกัน ทุกคนต่างมีบทบาท ผู้กำกับก็มีหน้าที่ ทนายก็มีหน้าที่ ถ้าตำรวจไม่ดำเนินคดีก็จะมีคนเห็นต่างว่าทำไมไม่จัดการอะไรเลย”

ด้านวรัญญูกล่าวโต้ตอบว่า  เขาและกลุ่มกิจกรรม Korat Movement ไม่เคยขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชัง  

“เราไม่ได้เกลียดชังรัฐไทย เกลียดชังตำรวจ ทหาร เราขับเคลื่อนด้วยความฝันของเรา ความต้องการจะได้รับในสิ่งที่ชีวิตที่ดีสมควรจะได้รับ แต่ที่เราประท้วงเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการต่อสู้กับระบบโครงสร้างที่กลุ่มอำนาจเดิมวางไว้ การที่เราสาดสีใส่สถานีตำรวจ สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ คือเราไม่ได้เกลียดเขา เรากำลังสื่อสารกับเขาอยู่ ในรูปแบบของรัฐเผด็จการที่ประชาชนมีอำนาจที่จะทำได้แค่เพียงเท่านี้” 

“สุดท้ายเรายืนยันว่าตำรวจหรือทหารก็คือประชาชน เขาคือคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพียงแต่ด้วยหัวโขนที่เขาสวมอยู่ มันเลยถูกผู้มีอำนาจกดหัวไว้ ให้ต้องคอยทำตามคำสั่งที่ผิดๆ” 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้นักกิจกรรมแยกย้ายไปห้องสอบสวน เพื่อพบพนักงานสอบสวนในทั้ง 3 คดี

ปฏิเสธข้อกล่าวหา ขณะรายหนึ่งยืนยันไม่ได้อยู่ในเหตุชุมนุม

สำหรับเหตุคดีคาร์ม็อบ 23 กรกฎาคม 2564 คณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีวรัญญู, มกรพงษ์ และเมธานุชว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดสืบสวน ตรวจสอบเฟซบุ๊กกลุ่มเพจ Korat Movement มีการโพสต์เชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรม Car Mob Korat คาราวานไล่เผด็จการ ต่อมาวันเกิดเหตุ พบรถยนต์เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 500 คัน และมีกลุ่มคนประมาณ 1,000 คน มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโจมตีการทำงานของรัฐบาล พร้อมทั้งได้แพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊ก มีผู้ร่วมกิจกรรมถอดหน้ากากอนามัยพูดคุยกันเกินกว่า 15 นาที และยืนอยู่ห่างกันไม่เกินกว่า 2 เมตร 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งสามว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่  7100/2564 และ 7368/2564 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันไม่เกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต”

คดีจากการจัดกิจกรรมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 คณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีให้วรัญญูและมกรพงษ์ทราบว่า ทั้งสองกับพวกรวมประมาณ 25 คน นำหุ่นฟางห่อด้วยผ้าขาวมาวางไว้บริเวณทางเข้าตำรวจภูธรภาค 3 พร้อมชูป้ายข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “ขี้ข้ากะสัส ขี้ข้าเผด็จการ” ก่อนวรัญญูผู้จุดไฟเผาหุ่นฟาง และมกรพงศ์กล่าวข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.ประยุทธ์ต้องลาออก 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนปาถุงใส่สีลงไปที่กองไฟ ก่อนที่จะร่วมกันดับไฟและเก็บขยะทำความสะอาด

และคดีคาร์ม็อบ 21 สิงหาคม 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งว่า วันเกิดเหตุ วรัญญู, มกรพงษ์, สิรภพ และทิพย์ธารา และผู้ต้องหาอื่นอีก 6 คน เป็นแกนนำพามวลชนเข้าร่วมกิจกรรม โคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market เคลื่อนขบวนจากสถานที่ต่างๆ มายังลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีมกรพงษ์ปราศรัยบนรถยนต์มาตลอดทาง จากนั้น ผู้ต้องหาสับเปลี่ยนกันขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยพูดเกี่ยวกับการบริหารจัดการใช้วัคซีนของรัฐบาล, เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรีสด และมีการจุดไฟเผาหีบไม้ (โลงศพ) ร้องเพลง และจุดพลุ ก่อนยุติกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดแต่อย่างใด

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาในสองคดีนี้เช่นเดียวกันว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่  7916/2564 ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

นักกิจกรรมทั้ง 5 รายต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 3 คดี โดยเมธานุชให้การเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุม ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ตามที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนนัดทั้งห้ามาพบเพื่อส่งตัวให้อัยการทั้ง 3 คดี  ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 

สำหรับคดีคดีคาร์ม็อบ 21 สิงหาคม ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 2 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ ซึ่งไม่สะดวกมาตามหมายเรียกในครั้งนี้ จึงทำหนังสือขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และกนกวรรณ ฉิมนอก ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถเข้ารับทราบข้อหาได้ ครอบครัวได้ติดต่อเข้าพบพนักงานสอบสวนพร้อมนำใบรับรองแพทย์มาแสดงเป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวนจึงแจ้งทางครอบครัวว่าให้กนกวรรณรักษาตัวจนหายก่อน ค่อยประสานมาอีกครั้งเพื่อนัดหมาย 

อ้างพิจารณาความเหมาะสม กับหมายเรียกฯเยาวชนที่ถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

สำหรับคดีคาร์ม็อบ 23 กรกฎาคม ยังมีเยาวชนซึ่งเป็นนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement ถูกออกหมายเรียกอีก 2 ราย ได้แก่ ฟ้า (นามสมมติ)  อายุ 17 ปี และเปเปอร์ (นามสมมติ) อายุ 14 ปี  ส่วนคดีคาร์ม็อบ 21 สิงหาคม ก็มีเยาวชนถูกออกหมายเรียก 4 ราย ทั้งเปเปอร์ที่ถูกออกหมายเรียกคดีที่สอง, มอส (นามสมมติ) อายุ 16 ปี, กันต์ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี และไอค่อน (นามสมมติ) อายุ 17 ปี

ก่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้  พนักงานสอบสวนส่งหนังสือแจ้งเยาวชนว่าอยู่ระหว่างติดต่อประสานงานกับเจ้าพนักงานในการสอบสวนปากคำเด็กหรือเยาวชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ซึ่งยังไม่ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอน จึงขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนออกไปก่อน 

นอกจากนี้ ฟ้าให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า พนักงานสอบสวนแจ้งกับเขาที่ สภ.เมืองนครราชสีมา อีกว่าเจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งสำหรับหมายเรียกเยาวชนที่ออกไป 

สำหรับที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 มีประชาชน 7 ราย  เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และคาร์ม็อบในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เมื่อรวมกับครั้งนี้ มีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสิ้นแล้ว 12 ราย  โดยมีการออกหมายรวมทั้งหมด  25 หมาย กับประชาชนและนักกิจกรรมรวมถึงเยาวชน รวม 19 ราย 

นอกจากจังหวัดนครราชสีมา ในภาคอีสานพบว่ามีการดำเนินคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบในอีก 6 จังหวัด ได้แก่  ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู สุรินทร์ อำนาจเจริญ นครพนม ไม่น้อยกว่า 13 คดี รวมผู้ถูกออกหมายเรียกอย่างน้อย 43 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 6 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

X