เร่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบหนองบัวลำภู จำเลยยืนยันสู้คดี เจตนาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแม้ศาลบอก “ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก”

3 กันยายน 2564 อีฟ (นามสมมติ) อายุ 24 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัวในจังหวัดหนองบัวลำภู เดินทางไปที่ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู ตามนัดฟังคำสั่งอัยการคดีที่เธอถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมคาร์ม็อบหนองบัวลำภู ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยอัยการได้แจ้งล่วงหน้าแล้วว่ามีคำสั่งฟ้องและจะยื่นฟ้องต่อศาลวันที่ 3 กันยายนนี้ ทั้งที่อีฟเพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และยังไม่ได้ยื่นคำให้การในชั้นสอบสวน

     >> อีกคดี! แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เหตุร่วม CarMob หนองบัวลำภู ขับไล่รัฐบาล เจ้าตัวยัน “ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

ก่อนหน้านั้น 1 วัน อีฟจึงได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู ขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ระบุเหตุผลดังนี้

– ผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา และเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ เนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นคาร์ม็อบ ประชาชนนำรถยนต์และจักรยานยนต์มาขับไปด้วยกันตามท้องถนน ซึ่งเป็นสถานที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกัน ทั้งยังใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน จึงมิได้เป็นการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ประกอบกับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และชุมนุมโดยสุจริต ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญรับรองไว้ 

– การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เนื่องจากการกล่าวหาและดำเนินคดีนี้เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ การชุมนุมในวันดังกล่าวยังมีขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับโควิด-19 และการจัดหาวัคซีน ซึ่งปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปว่า มีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเพียงพอ มีคนจำนวนมากเสียชีวิตที่บ้านหรือตามที่สาธารณะ ตลอดประชาชนทั่วไปก็ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนผู้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจะเรียกร้องสิทธิอันควรได้รับจากรัฐบาล 

–  ผู้ต้องหาได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่ามีความประสงค์ที่จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยทนายความกำลังรวบรวมเอกสารและพฤติการณ์ในคดี อีกทั้งคำสั่งไม่ฟ้องที่เป็นบรรทัดฐานของพนักงานอัยการจังหวัดลำปาง ซึ่งวันที่ 3 กันยายน 2564 ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังอัยการได้รับหนังสือขอความเป็นธรรม ยังยืนยันว่าจะยื่นฟ้องคดีตามที่ได้แจ้งไว้แล้ว

เวลา 10.00 น. อีฟพร้อมแม่และทนายความเดินทางถึงศาลตามนัดหมายของอัยการ ต่อมาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลนำตัวอีฟและประไว อีกหนึ่งผู้ต้องหาคดีเดียวกันนี้ ไปควบคุมตัวที่ห้องรอประกันใต้ถุนศาล แต่ปรากฏว่า นิติกรสำนักงานอัยการจังหวัดนำคำฟ้องมายื่นฟ้องต่อศาลในเวลา 11.30 น. หลังอีฟและประไวถูกควบคุมตัวไปแล้วครึ่งชั่วโมง โดยอ้างกับทนายความว่า มีภารกิจทางคดีจำนวนมากทำให้เดินทางมาล่าช้า 

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 ระบุว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้ หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ ประกอบกับชั้นสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว การนำตัวจำเลยไปควบคุมตัวก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้องจึงไม่ชัดเจนว่าใช้อำนาจใด

หลังศาลรับฟ้อง เสฐียรพงษ์ ล้อศิริรัตน์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอีฟชั่วคราวโดยไม่วางหลักประกัน ด้านทนายความของประไวยื่นประกันโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 พันบาท 

คำฟ้องที่นิติคุปตก์ นพคุณ อัยการจังหวัดหนองบัวลำภู ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดหนองบัวลำภู บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564  จําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคน ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมทางการเมือง “Car Mob” ขับไล่รัฐบาล ที่บริเวณสวนสุขภาพ สนามหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยร่วมกันนํารถยนต์ จํานวน 6 คัน รถจักรยานยนต์ 4 คัน และรถสามล้อเครื่อง 1 คัน ตั้งขบวนรถและเคลื่อนไปตามถนนในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลําภู ระหว่างทางจะมีรถยนต์อื่นๆ เข้าแทรกร่วมขบวนเป็นระยะ แล้ววนกลับมายังจุดเริ่มต้น เมื่อมาถึงพบว่ามีรถยนต์ที่ร่วมขบวน จํานวน 21คัน รถจักรยานยนต์ 6 คัน และรถสามล้อเครื่อง 1 คัน อันเป็นการรวมตัวทํากิจกรรมในลักษณะที่อาจทําให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และคําสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อฯ 

โดยอัยการฟ้องอีฟและประไวฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

จากนั้นเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลให้อีฟและประไวไปพบผู้พิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 เพื่อคุ้มครองสิทธิ วิเนตร มาดี ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ถามคำให้การเบื้องต้นของจำเลยทั้งสอง โดยไม่ได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังก่อน 

ประไวถามว่า หากตนรับสารภาพ ศาลจะลงโทษสถานเบาใช่หรือไม่ ศาลกล่าวว่าจะรอลงอาญาและปรับเท่านั้น พร้อมทั้งกล่าวโน้มน้าวจำเลยทั้งสองให้รับสารภาพ ประไวจึงตัดสินใจให้การรับสารภาพ ขณะที่อีฟให้การปฏิเสธ 

เมื่อประไวให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาในส่วนของประไว โดยระบุว่า พิเคราะห์จากพฤติการณ์เห็นว่ายังมิใช่พฤติการณ์ที่เป็นความผิดร้ายแรง อีกทั้งประไวไม่มีประวัติเคยต้องโทษในคดีอาญา และไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม จึงพิจารณาให้รอการกำหนดโทษ 1 ปี 

จากนั้นศาลยังได้ย้ำถามอีฟอีกครั้งว่า จะเปลี่ยนใจรับสารภาพหรือไม่ พร้อมชี้ว่า ศาลได้เมตตาลงโทษสถานเบาแล้ว อีฟและทนายจำเลยขอออกไปนอกห้องพิจารณาเพื่อปรึกษาแนวทางการต่อสู้คดีกันก่อน ระหว่างที่รอฝ่ายจำเลยที่ 2 ปรึกษากัน ศาลได้กล่าวขึ้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่และจำเลยคดีอื่นในห้องพิจารณาว่า “จะทำให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยากทำไม” ก่อนที่อีฟจะเข้ามายืนยันให้การปฎิเสธ และแถลงต่อศาลว่า ตนเพียงแต่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงขอต่อสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ 

ต่อมา ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ชั่วคราว เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเข้ามาอีกครั้งภายในวันที่ 22 กันยายน 2564 ระหว่างนี้ให้ขังจำเลยที่ 2 ไว้ก่อน 

เมื่อเสร็จกระบวนการคุ้มครองสิทธิในราว 15.00 น. อีฟต้องไปอยู่ที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลอีกครั้ง เนื่องจากผู้พิพากษาเวรชี้ ยังไม่มีคำสั่งต่อคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนประไว หลังศาลพิพากษารอการกำหนดโทษ 1 ปี จึงได้กลับออกจากศาลไปก่อน จนกระทั่งถึงเวลา 16.20 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวอีฟชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตามที่ทนายยื่นคำร้อง 

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อีฟกล่าวถึงการตัดสินใจสู้คดีว่า “ถ้ายอมรับสารภาพก็เหมือนว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นเป็นสิ่งผิด เราเพียงใช้สิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ควรจะต้องได้รับโทษทางอาญาจากการแค่ไปขี่รถเล่น จึงตัดสินใจต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์” 

ส่วนแม่ของอีฟกล่าวด้วยว่า  “ในความคิดแม่ก็อยากให้จบในวันนี้ เพราะเกรงว่าลูกจะต้องมีภาระมาขึ้นศาล เกรงใจทนายที่ต้องมาช่วยดำเนินการต่างๆ ไปด้วย แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับอีฟแล้ว อีฟยืนยันว่าสิ่งที่อีฟได้แสดงออกไม่ใช่สิ่งผิด และจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ถึงจะได้ยินคำกล่าวของศาลที่ว่า ถ้าสู้แล้วผิดอาจจะต้องติดคุกก็ตาม แม่ก็เคารพการตัดสินใจของอีฟและจะเป็นกำลังใจในการยืนยันความบริสุทธิ์ของอีฟจนกว่าจะสิ้นสุดคดี”

สำหรับกิจกรรม Car Mob หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นั้น จัดขึ้นพร้อมอีกกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นอกจากนี้ ในจังหวัดต่างๆ ยังจัดกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว อีกหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาเป็นต้นมา เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้น  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

X