ศาลยึดเจตนารมณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกฟ้องคาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา อีกคดี ชี้ไม่เสี่ยงแพร่โรคในวงกว้าง – จำเลยไม่ได้จัดชุมนุม

4 ก.ค. 2565 วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี และภัทรกาญจน์ ทองแดง เดินทางไปที่ศาลแขวงนครราชสีมา เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่ตกเป็นจำเลย ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 โดยในนัดสืบพยาน เมื่อเดือนเมษายน 2565 วัฒนะชัย, จักรวุธ และนะโม ตัดสินใจให้การรับสารภาพ เหลือเพียงภัทรกาญจน์ที่สู้คดีต่อ

.

ศรีรัฐ สุวรรณพฤกษ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี อ่านคำพิพากษายกฟ้องภัทรกาญจน์ ส่วนจำเลยทั้งสามที่ให้การรับสารภาพ ศาลลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 5,000 บาท 

.

ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีบทนิยาม ‘ผู้จัดชุมนุม’

คำพิพากษามีเนื้อหาว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากกว่า 5 คนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง 

ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น โจทก์มีธงชัย แสงประทุม ผู้สังเกตการณ์ชุมนุม และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ เป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 มีกลุ่มบุคคลมารวมตัวกันทำกิจกรรมทางการเมืองคาร์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ก่อนเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่างๆ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ขึ้นบนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงและกล่าวปราศรัยแก่กลุ่มบุคคล ส่วนจำเลยที่ 4 ถือป้ายแสดงข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

โจทก์ยังมี นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เบิกความว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 จังหวัดนครราชสีมาถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากบุคคลใดต้องการจัดกิจกรรมเกินกว่า 5 คน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ยื่นขออนุญาตจัดกิจกรรมชุมนุม 

ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ไม่ได้กำหนดบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดชุมนุมไว้โดยเฉพาะ ทั้งในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมาตรา 3(6) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ บัญญัติไม่ให้นำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาใช้บังคับ ดังนั้น บทนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีนี้ได้ 

.

ไม่พบหลักฐานจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม

คำพิพากษาระบุอีกว่า อย่างไรก็ดี ความผิดฐานนี้มีความรับผิดเป็นโทษทางอาญา การตีความความหมายการเป็นผู้จัดชุมนุมจึงต้องกระทำอย่างเคร่งครัด เมื่อพยานโจทก์ทั้งธงชัยและ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความว่า พบเห็นจำเลยที่ 4 ถือป้ายแสดงข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเท่านั้น แม้ธงชัยจะเบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ประสานงานของพรรคอนาคตใหม่ และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความว่า จำเลยที่ 4 มักเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง แต่พยานโจทก์ทั้งสองก็ไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมชุมนุมอย่างไร 

อีกทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เพียงแต่ชูป้ายแสดงข้อความให้บุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมทั่วไปได้เห็นข้อความ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ชักชวนให้บุคคลอื่นเข้าร่วมการชุมนุม หรือกระทำการอื่นใดที่แสดงออกว่าตนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว เช่น การว่าจ้างรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง จัดเตรียมอุปกรณ์หรือออกค่าใช้จ่ายในการชุมนุม หรือกำหนดเส้นทางในการเคลื่อนขบวน  

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดชุมนุม เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผู้จัดชุมนุมจึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง

.

ไม่มีนิยาม “ความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ – ไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม จึงไม่เสี่ยงแพร่โรคในวงกว้าง 

สำหรับความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โจทก์มี นพ.ชาญชัย เบิกความว่า หากมีบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ใกล้ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที เชื้อจะสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นทางสารคัดหลั่ง และหากมีการพูดคุยกันหรือพ่นละอองฝอยใส่กันในระยะใกล้ อาจติดเชื้อไวรัสได้ภายใน 5 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ติดเชื้อไม่สวมหน้ากากอนามัย 

ทั้งโจทก์มีธงชัยกับ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขณะขึ้นปราศรัยบนรถไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการ และไม่มีผู้จัดระเบียบให้มีการเว้นระยะห่างตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา 

ศาลพิเคราะห์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “ความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำว่า “เสี่ยง” หมายความว่า มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย เมื่อพิจารณาภาพถ่ายขณะเกิดเหตุแล้วพบว่า แม้จะมีบุคคลเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก บางคนยืนอยู่ใกล้ชิดกัน บางคนสวมหน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม แต่สถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แม้จำเลยที่ 1 ไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 สวมใส่อย่างไม่เหมาะสม ยืนอยู่บนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงกับบุคคลอื่นรวม 2-3 คน แต่บุคคลอื่นสวมหน้ากากอนามัย และผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยทั้งสิ้น 

.

.

นอกจากนี้ ปรากฏภาพว่า จำเลยที่ 4 สวมหน้ากากอนามัยขณะถือป้ายแสดงข้อความ แสดงให้เห็นว่า แม้การจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง จะมีกลุ่มบุคคลมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ไม่มีการเว้นระยะห่าง หรือมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการ แต่กลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่างระมัดระวังตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาจมีบางช่วงเวลาเท่านั้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม ก็เพื่อดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารซึ่งเป็นเวลาไม่นานนัก 

ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า ภายหลังเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมทำกิจกรรมหรือไม่ อย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่า การจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ไปในวงกว้าง อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดไปในวงกว้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งให้การรับสารภาพ และเข้าร่วมการทำกิจกรรมชุมนุมด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นเหตุไม่ควรต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว

ศาลจึงพิพากษาว่า วัฒนะชัย, จักรวุธ และนะโม มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ข้อ 10 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 10,000 บาท ทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องภัทรกาญจน์ 

ส่วนคำขอให้นับโทษวัฒนะชัยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3178/2564 ของศาลนี้ เมื่อคดีนี้ศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษถึงจำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

สำหรับคาร์ม็อบโคราช 15 ส.ค. 2564 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ที่บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีการนัดรวมพลผ่านช่องทางออนไลน์เครือข่ายคนโคราชรักประชาธิปไตย จัดขบวนคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตามหาวัคซีนจาก รมว.สาธารณสุข โดยมีการประกาศให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง งดลงจากรถ รวมทั้งงดบีบแตรช่วงแล่นผ่านหน้าโรงพยาบาล

ขบวนมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมนับร้อยคัน มีการติดป้ายเขียนข้อความโจมตีรัฐบาล แล่นไปตามเส้นทางในเขตเมือง ตลอดเส้นทางประมาณ 20 กิโลเมตร ขบวนตามหาวัคซีนได้บีบแตรเป็นสัญลักษณ์สลับกับส่งเสียงขับไล่ “ประยุทธ์ ออกไป” และชูสามนิ้ว โดยรถยนต์ที่สัญจรผ่าน รวมทั้งประชาชนที่อยู่สองข้างทางส่วนหนึ่งได้ชูสามนิ้วตอบรับ 

.

.

ทั้งนี้ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ แกนนำกลุ่มโคราชเลือดใหม่ เปิดเผยว่า ชาวโคราชมาทวงสัญญารัฐบาลให้จัดสรรวัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพมาให้ฉีดให้ชาวโคราชเต็มแขน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และพวกพ้องบริหารล้มเหลว ประชาชนอดอยาก ป่วยตายด้วยโควิด เศรษฐกิจพังพินาศ รีบเปิดโอกาสให้คนมีความสามารถเข้ามาบริหารบ้านเมืองแทนโดยเร็ว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 5 คดี มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วรวม  4 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564, คดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564, คดีชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564  และคดีคาร์ม็อบ 15 ส.ค. 2564 เหลือคดีคาร์ม็อบ 21 ส.ค. 2564 ที่จะเริ่มสืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2565

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทบทวนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา ก่อนพิพากษา จำเลยร่วมเรียกร้องวัคซีน ไม่ได้จัดชุมนุม – ไม่มีข่าวผู้ติดโควิด

ฟ้องแล้ว! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 2 คดีจำเลยยันสู้เต็มที่ แม้รัฐบอกว่าผิด แต่เชื่อว่าการไล่รัฐบาลคือสิ่งที่ถูก

คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

.

X