1 มิ.ย. 2565 ศาลแขวงนครราชสีมา นัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคดีนี้มีจำเลยรวม 4 ราย ได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงศ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน และบริพัตร กุมารบุญ ที่ต่างถูกฟ้องว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชที่จัดพร้อมกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
คดีนี้สืบพยานเสร็จเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน วัฒนะชัยและบริพัตร 2 จำเลย ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ให้เหตุผลส่วนตัวว่าต้องการทำให้จบคดีโดยเร็ว
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 กบินทร์ เอกปัญญาสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา เจ้าของสำนวนคดี อ่านคำพิพากษา โดยวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ฟ้อง 2 ประเด็น ใจความว่า
.
พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาต
ในความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 20 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลเห็นว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ให้นิยามคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ (6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก… แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่พระราชกําหนดดังกล่าวไม่มีบทนิยามคําดังกล่าวไว้จึงไม่อาจนําคํานิยามดังกล่าวมาใช้ได้ทั้งหมดและต้องตีความความหมายของคําดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งมีความหมายทั่วไปเพียงว่า ผู้จัดการชุมนุม หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น
เมื่อพิเคราะห์รายงานสืบสวนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ และรายงานสืบสวนความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลในพื้นที่ประกอบกับคําเบิกความของพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จําเลยที่ 2 และที่ 3 ขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจโคราชโนเผด็จการ หรือว่าจ้างรถซึ่งติดตั้งเครื่องขยายเสียง หรือจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม หรือกําหนดเส้นทางในการเคลื่อนขบวน หรือออกค่าใช้จ่ายในการชุมนุม พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มี น้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
.
ไม่มีหลักฐานว่า มีผู้ติดเชื้อจากการร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก การชุมนุมจึงยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้าง
ส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ได้ความจาก นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พ.ต.อ.กรกฏ โปชยะวณิช ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองนครราชสีมา เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การดําเนินชีวิตประจําวัน เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน ก็สามารถติดเชื้อได้โดยไม่จําเป็นต้องติดเชื้อจากการชุมนุมเท่านั้น บริเวณที่จัดการชุมนุมมีพื้นที่กว้าง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมสามารถยืนกระจายกันได้ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคได้ และคนส่วน ใหญ่สวมหน้ากากอนามัย พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านด้วยว่า ผู้กล่าวปราศรัยยืนห่างจากผู้ฟังการปราศรัยประมาณ 3 เมตร
เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ได้ให้นิยามคําว่า ความเสี่ยงต่อการแพร่โรคไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คําว่า “เสี่ยง” หมายความว่า มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย เป็นต้น
เมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม พบว่าแม้จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก บางคนยืนอยู่ใกล้ชิดกัน บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่เส้นทางการเคลื่อนขบวนและสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก จําเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนอยู่บนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงกับบุคคลอื่นรวม 2-3 คน ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ช่วงที่จําเลยที่ 3 ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลาไม่นาน และบุคคลอื่นที่ยืนอยู่ด้วยกันยังคงสวมหน้ากากอนามัย
สําหรับผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย คนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลาไม่นาน หากเปรียบเทียบกับการดําเนินชีวิตประจําในครัวเรือนซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวเดียวกันต้องอยู่ใกล้ชิดกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ภายในบ้านซึ่งเป็นสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเท่ากับสถานที่โล่งกว้าง ย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
อีกทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานําสืบให้เห็นได้ว่า หลังวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมากหรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า แม้การเข้าร่วมชุมนุมมีโอกาสได้รับอันตรายหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้างอันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับการกําหนดความผิดฐานนี้ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน
พยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จําเลยที่ 2 และที่ 3 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งให้การรับสารภาพและเข้าร่วมชุมนุม การกระทําของจําเลยที่ 1 และที่ 4 จึงเป็นเหตุให้ไม่ควรต้องรับโทษในความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
พิพากษาว่า วัฒนะชัย จําเลยที่ 1 และบริพัตร จำเลยที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) คําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7368/2564 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ปรับคนละ 10,000 บาท ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับวรพงศ์ จำเลยที่ 2 และกฤติพงศ์ จำเลยที่ 3
ส่วนคําขอให้นับโทษจําเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจําเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ 3178/2564 ของศาลนี้ เมื่อในคดีนี้ศาลมิได้พิพากษาให้ลงโทษจําคุกประกอบกับในคดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลยังไม่มีคําพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้
.
.
หลังศาลอ่านคำพิพากษา วัฒนะชัยและบริพัตรจึงไปเสียค่าปรับ ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยวัฒนะชัยยังมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 15 ส.ค. 2564 อีกคดี ตามที่กล่าวถึงในคำพิพากษา ซึ่งเขาเป็นจำเลยร่วมกับผู้ร่วมชุมนุมอีก 3 คน วัฒนะชัยให้การรับสารภาพไปในชั้นสืบพยานเช่นกัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้
หลังออกจากศาล วรพงศ์กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่การต่อสู้คดีครั้งนี้ไม่สูญเปล่า แม้จะเสียเวลากับการไปทั้งสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล แต่ทุกครั้งเป็นการยืนยันเจตจำนงว่า การเข้าร่วมชุมนุมและเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนผ่านกิจกรรมคาร์ม็อบควรเป็นสิ่งที่ทำได้ และไม่สมควรถูกนำมาฟ้องร้องเป็นคดีความตั้งแต่แรกเพราะไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 ขณะชุมนุมเลย
ส่วนกฤติพงศ์แสดงความรู้สึกว่า ตอนเข้าร่วมชุมนุมและถูกออกหมายเรียก ก็พร้อมจะสู้คดีอยู่แล้ว ว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ถึงอย่างนั้นกฤติพงศ์ก็เชื่อว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนควรทำได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย
ทั้งนี้กิจกรรม “คาร์ม็อบขับไล่ลุงโคราช” 1 สิงหาคม 2564 Mob Data Thailand รายงานว่า มีการนัดหมายกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดนครราชสีมา คู่ขนานไปกับคาร์ม็อบที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
1) รัฐต้องจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนอย่างโปร่งใส ดำเนินการอย่างสุจริต
2) รัฐต้องดำเนินการเยียวยาอย่างถ้วนหน้าและทั่วถึง
3) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การชุมนุมนัดหมายที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) เวลา 15.30 น. เริ่มเคลื่อนขบวน 16.00 น. ผ่านสถานที่ต่างๆ ในจังหวัด มีผู้ชุมนุมที่ขับรถจักรยานยนต์และรถยนต์เข้าร่วม หัวขบวนเคลื่อนไปถึงลานหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ในเวลา 17.54 น. ใช้เวลาราว 25 นาทีในการจัดพื้นที่และรอรถผู้ชุมนุมที่เคลื่อนขบวนตามกันมา เวลา 18.31 น. มีการอ่าน “แถลงการณ์จากกลุ่ม Korat No เผด็จการ เรื่องกิจกรรมคาร์ม็อบขับไล่ลุงโคราช” และประกาศยุติการชุมนุมเวลา 18.40 น.
สำหรับคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน จ.นครราชสีมา ทั้ง 5 คดี นอกจากคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 แล้วยังมีคดีที่สืบพยานไปแล้ว ได้แก่ คดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ก.ค. 2565, คดีกิจกรรมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 มิ.ย. 2565, คดีคาร์ม็อบ 15 ส.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ก.ค. 2565 ส่วนคดีคาร์ม็อบวันที่ 21 ส.ค. 2564 จะสืบพยานกันในเดือนพฤศจิกายน 2565
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง