วันที่ 25 เม.ย. 2565 เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา ตามนัดส่งฟ้องคดี จากเหตุคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ อัยการยื่นฟ้องนักกิจกรรม Korat Movement 5 ราย จากเหตุเดียวกันนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 แต่เบนจาถูกแยกฟ้องตามหลัง เนื่องจากในวันดังกล่าว เบนจาไม่ได้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ด้วย โดยอัยการแจ้งว่าจะทำเรื่องขอเบิกตัวต่อศาลเอง เพราะถือว่าเบนจาอยู่ในอำนาจการควบคุมตัวของศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีอื่นแล้ว แต่กลับเป็นว่า ศาลแขวงนครราชสีมาไม่ยอมรับฟ้อง
>>> ฟ้องอีก! ชุมนุม “โคราษฎร์ปฏิวัติ” จำเลยชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกบิดเบือนให้รองรับความชอบธรรมของรัฐฉ้อฉล
เบนจาเดินทางไปถึงสำนักงานอัยการตั้งแต่ช่วงเวลา 10.00 น. ตามนัดหมาย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอัยการเจ้าของสำนวนที่ย้ายมาใหม่ ติดคดีอื่นที่ศาล และยังหาคำฟ้องไม่พบ จึงนัดหมายให้เบนจาไปพบที่ศาลแขวงนครราชสีมาในเวลา 13.00 น. กระทั่งช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่จึงไปยื่นฟ้องต่อศาล จากนั้นเบนจาจึงถูกพาตัวไปยังห้องควบคุมตัวระหว่างรอคำสั่งประกันตัว ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุช่วงปลายเดือนเมษายน
มอนิก้าจอย เล็กวิจิตรธาดา พนักงานอัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีก 5 คน ซึ่งถูกฟ้องไปแล้วได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันประมาณ 335 คน และร่วมกันชุมนุม โดยผู้ชุมนุมไม่ได้เข้มงวดเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่โควิด-19 โดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
อัยการถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน และร่วมกันชุมนุมซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงขึ้น อันเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34
ท้ายคำฟ้องระบุด้วยว่า เบนจาเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1180/2564 จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน 20 ธันวา และ 1297/2564
คดี 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1522/2564 ของศาลอาญา เป็นคดีชุมนุมหน้าศาลอาญา เรียกร้องศาลให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง โดยขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีทั้งสามด้วย
หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่มีหลักประกัน ให้เหตุผลว่า จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยจะนำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป นอกจากนี้จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน
กระทั่งเวลา 15.30 น. ศาลแขวงนครราชสีมามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเบนจา โดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ หลังสาบานตนเบนจาได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลา 16.00 น. และศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 2 มิ.ย. 2565
หลังเซ็นรับทราบนัดหมายที่ศาล เบนจาเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทันทีเนื่องจากยังติด EM และมีเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 18.00 – 06.00 น. ตามเงื่อนไขประกันตัว หลังถูกคุมขังรวม 99 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 – มกราคม 2565 โดยเบนจาขออนุญาตศาลเดินทางมาในนัดส่งฟ้องนี้ ซึ่งศาลอนุญาต แต่ให้กลับไปรายงานตัวในวันที่ 26 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้เบนจาอยู่ระหว่างเรียนออนไลน์ เธอกล่าวว่าการมีนัดคดีทุกครั้งเท่ากับว่าเสียเวลาไปครั้งละ 1 วัน และต้องเร่งติดตามชั่วโมงเรียนทีหลัง ส่วนความล่าช้าของกระบวนการที่อัยการก็เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ แม้พอรู้มาก่อนว่าทุกครั้งที่ต้องมาตามนัดในแต่ละคดีจะต้องล่าช้าอยู่เสมอ
เบนจาเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ชุมนุม 21 ส.ค. 2564 ว่า ด้วยความที่พื้นเพตนเองเป็นคนโคราช เมื่อได้รับการชักชวนจากกลุ่ม Korat Movement จึงเห็นโอกาสในการได้กลับมาที่บ้าน และได้มารู้จักคนรุ่นใหม่และกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคมในจังหวัดนี้ด้วย ส่วนเรื่องถูกดำเนินคดีครั้งนี้แม้เป็นคดีที่อัตราโทษไม่สูงเมื่อเทียบกับคดีก่อนหน้าที่เธอต้องเผชิญโดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 แต่ก็ยืนยันถึงการต่อสู้คดีเต็มที่ เบนจาเล่าอีกว่าการไปใช้ชีวิตในเมืองอื่นนานตั้งแต่ช่วงเรียน ม.ปลาย ก็ทำให้อยากมีโอกาสกลับมาที่โคราชบ้างอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้มาเพราะเหตุในคดีแสดงออกทางการเมือง
เหตุในคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 กลุ่ม Korat Movement จัดกิจกรรมในชื่อโคราษฎร์ปฏิวัติ Car Mob and Mini Market เคลื่อนขบวนจากสถานที่ต่างๆ ไปที่ลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นมีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการใช้วัคซีนของรัฐบาล, เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรีสด และมีการจุดไฟเผาหีบไม้ (โลงศพ) ร้องเพลง และจุดพลุ ก่อนยุติกิจกรรมลง
สำหรับความคืบหน้าคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน จังหวัดนครราชสีมา นอกจากคดีนี้ คดีจากเหตุคาร์ม็อบวันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งมีประชาชนถูกฟ้องรวม 4 ราย โดยมี 2 ราย ได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ และ บริพัตร กุมารบุญ ตัดสินให้การรับสารภาพในวันนัดสืบพยาน ขณะที่วรพงษ์ โสมัจฉา และกฤติพงศ์ ปานสูงเนิน จำเลยอีก 2 ราย ตัดสินใจสู้คดีต่อ หลังสืบพยานเมื่อวันที่ 20-21 เม.ย. 2565 เสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 มิ.ย. 2565
ส่วนคดีจากเหตุคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งมีจำเลย 4 ราย มี 3 ราย ให้การรับสารภาพในนัดสืบพยาน ได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, จักรวุธ ไตรวัลลภ และนะโม สุขปราณี เหลือเพียง ภัทรกาญจน์ ทองแดง ที่ตัดสินใจสู้คดีต่อ หลังสืบพยานเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย. 2565 เสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 4 ก.ค. 2565
นอกจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ศาลแขวงนครราชสีมายังมีนัดสืบพยาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยจะสืบพยานระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. 2565 และคดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 นัดสืบพยานระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค. 2565
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง