นักกิจกรรม ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ 3 ราย เข้ารับทราบข้อหาชุมนุม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ วันสงกรานต์ เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19

วานนี้ (23 มิ.ย. 64) เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นักกิจกรรมกลุ่ม ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ 3 ราย ได้แก่ นวพล ต้นงาม, วีรภาพ วงษ์สมาน และ วิรัช แซ่คู เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียก ในข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 

ผู้ต้องหาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา แล้วจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 14 ก.ค. 64 ตำรวจนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 10.00 น. 

ทั้งนี้ กิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ จัดขึ้นโดยกลุ่ม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคระบาด รวมถึงยืนยันข้อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมาตรา 112 และขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 

ตร.แจ้งข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหตุชุมนุมปราศัยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา โควิด-19 

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าว 4 ราย ลงวันที่ 16 เม.ย. 64 โดยมี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา แต่ได้มีการเลื่อนนัดหมายออกมาเนื่องจากสถานการณ์โควิด และผู้ถูกออกหมายเรียก 3 ราย ได้นัดหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อหาวานนี้

เวลา 10.00 น. พ.ต.ท.สําเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ให้แก่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับแจ้งว่า ที่บริเวณป้ายรถเมล์ประจําทางหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า กลุ่ม ‘UMME of Anarchy’ หรือ หมู่บ้านทะลุฟ้า ได้พากันเดินมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จํานวนผู้ชุมนุมประมาณ 40 คน เพื่อกิจกรรม “รดน้ำกดหัวประยุทธ์” 

กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนําเอาน้ำสีที่เตรียมมา ออกมาเล่นสาดสีกันเสมือนเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์ จนทําให้บริเวณดังกล่าวเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำสีต่างๆ พร้อมกับพากันเดินมุ่งหน้าไปที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งเป็นสะพานที่ข้ามไปสู่ทําเนียบรัฐบาล มีการเผาหุ่นจําลองเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล มีการกระจายตัวกันไปทั่วบริเวณดังกล่าว ทําให้รถไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้โดยสะดวก กลุ่มผู้ชุมนุมได้อยู่ชุมนุมกันจนถึงเวลาประมาณ 15.30 น. จึงได้ประกาศเลิกการชุมนุม แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านพัก

จากการสืบสวนและตรวจสอบพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนสามารถตรวจสอบทราบบุคคลมีดังนี้

  1. นายนวพล หรือไดโน่ ต้นงาม ทําหน้าที่เป็นผู้นํากลุ่มมวลชนเดินเท้ามาตามถนนพิษณุโลก โดยได้มีการใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงป่าวประกาศชักชวน ให้มวลชนรวมตัวพากันเดินมุ่งหน้าไปรวมกันที่สะพานชมัยมรุเชฐ
  2. วีรภาพ วงษ์สมาน ทําหน้าที่เป็นผู้ที่ชักนําให้มวลชนที่นําน้ำสี ติดตัวมานําออกมาเล่นกิจกรรมสาดสีไปตามบริเวณต่างๆ จนทําให้เปรอะเปื้อนไปทั่วบริเวณ ระหว่างที่ขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไป
  3. ทวี เที่ยงวิเศษ ทําหน้าที่เป็นผู้ร่วมทํากิจกรรมเล่นน้ำสาดสี และเปิดเพลงจากเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่บนรถยนต์กระบะ
  4. วิรัช แซ่คู (แต่งกายคล้ายพระสงฆ์) ทําหน้าที่ถือกรอบรูปภาพถ่ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กําลังโบกมือ และที่ใต้ภาพถ่ายมี ข้อความว่า “ชาตะ 20 มีนาคม 2497 มรณะ 15 เมษายน 2564 สิริอายุ 67 ปี”

บุคคลทั้งสี่และพวก ได้ร่วมกันปราศรัยชักชวนให้มวลชนและร่วมกันชุมนุมโดยตลอด พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสี่จึงเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2558 ซึ่งห้ามมิให้จัดให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กระทําการอันเป็นการกีดขวางการจราจร ทําให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรฯ รวม 2 ข้อกล่าวหา

ผู้ต้องหาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา แล้วจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 14 ก.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้นัดหมายมาส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต

ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ มีเพียง 3 ราย ในส่วนของทวีนั้น เจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายเรียกไปให้ผิดบุคคล ซึ่งทวีจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายหลังจากได้รับหมายเรียกดังกล่าวใหม่แล้ว 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อยใน 154 คดี คิดเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 505 คนแล้ว

*อัพเดตเพิ่มเติมวันที่ 7 ก.ค. 64 *

7 ก.ค. 64 ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ทวี เที่ยงวิเศษณ์ นักกิจกรรมกลุ่ม ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ ผู้ต้องหารายสุดท้ายได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 หลังเจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกไปให้ผิดบุคคล

ในวันนี้มี พ.ต.ท สำเนียง โสธร สว. (สอบสวน) สน. นางเลิ้ง บรรยายพฤติการณ์ โดยพฤติการณ์และข้อกล่าวหาของทวี มีลักษณะเช่นเดียวกับผู้ต้องหาทั้งสามที่มารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 14 ก.ค. 64 ตำรวจนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 10.00 น.

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ต้องหาไป เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้

X