ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ไหม ธนพร – มายด์ ภัสราวลี” คาร์ม็อบสระบุรีไล่ประยุทธ์ ก่อนไต่สวนประชาชนถ่ายคลิปข้อหาละเมิดอำนาจศาล

วันที่ 9 ส.ค. 2565 ศาลแขวงสระบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของสองนักกิจกรรม  “ไหม” ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมด้านแรงงาน และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร  เหตุเข้าร่วมกิจกรรม “CarMob สระบุรีไล่ประยุทธ์” เพื่อต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องการจัดสรรวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ในพื้นที่จังหวะสระบุรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

กิจกรรมคาร์ม็อบสระบุรี เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นพร้อมกันว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกนเดียวกันว่า “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 

ในคดีนี้ นักกิจกรรมทั้งสองราย ได้ถูกพนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองสระบุรี แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ โดยระบุข้อกล่าวหาว่าไหมได้ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียงขับไล่ประยุทธ์ และมายด์ได้ขึ้นปราศรัยโจมตีการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เรื่องการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

ย้อนอ่านการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา >> ตร.แจ้ง 3 ข้อหา “ธนพร-ภัสราวลี” 2 นักกิจกรรม เหตุร่วมคาร์ม็อบสระบุรีไล่ประยุทธ์

.

ศาลพิพากษายกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้รายงานสืบสวนตำรวจเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ แต่ปรับจำเลยคนละ 150 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง

ต่อมาเวลา 10.50 น. ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีในส่วนของข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยสรุประบุว่า ทางนำสืบของโจทก์และการเบิกความของพยานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง เพียงแต่ร่วมการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลเท่านั้น 

นอกจากนี้ ในขณะปราศรัยยังอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด จำเลยทั้งสองได้สวมหน้ากากอนามัยขณะร่วมกิจกรรม ประกอบกับคำเบิกความของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เห็นว่าจำนวนผู้เข้าฟังการปราศรัยในกิจกรรมมีประมาณ 20 คน ซึ่งขัดกับคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจที่เบิกความไว้ราว 150 คน อีกทั้งในรายงานสืบสวนก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ จึงมีคำพิพากษาคำให้ยกฟ้องในข้อกล่าวหานี้

ในส่วนของข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ลงโทษแก่ผู้ที่ได้โฆษณาใช้เครื่องขยายเสียง แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมก็ตาม โดยศาลลงโทษปรับคนละ 200 บาท แต่เห็นว่าจำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือค่าปรับคนละ 150 บาท รวมปรับ 300 บาท 

ทั้งสองคนได้ชำระค่าปรับที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

.

มวลชนเข้าให้กำลังใจและถ่ายคลิปวีดิโอหน้าห้องพิจารณา ศาลได้เรียกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล วินิจฉัยว่าไม่ได้มีเจตนาร้ายแรงและปล่อยตัวไป

หลังฟังคำพิพากษา เวลา 11.25 น. ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาล ว่ามีประชาชนรายหนึ่งที่มาให้กำลังใจจำเลยในคดีนี้ได้ถ่ายคลิปวิดีโออยู่ภายในบริเวณหวงห้ามของศาล ในขณะที่ประชาชนแยกย้ายกันออกจากศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ได้แจ้งขอให้เรียกตัวของผู้ที่ทำการถ่ายคลิปวิดีโอเข้ามาเพื่อไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ และศาลมีความเคร่งครัดในระเบียบ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ มีคำสั่งให้นัดไต่สวนในเวลา 13.00 น.

ต่อมาในเวลา 13.30 น. ศาลขึ้นพิจารณา ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลของประชาชนผู้ถูกกล่าวหา 1 ราย โดยได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์จึงทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการถ่ายคลิปวีดิโออยู่หน้าห้องพิจารณาคดี 

อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวหา ได้แถลงต่อศาลและยอมรับต่อข้อเท็จจริงว่าได้ถ่ายคลิปวิดีโอไว้จริง แต่เจตนาที่ทำไปเพียงเพื่อต้องการบันทึกภาพว่าคดีนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และไม่ได้มีเจตนาจะทำการละเมิดกฎระเบียบของศาล การกระทำในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และสัญญาว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก

ทั้งนี้ ศาลได้พิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา ก่อนวินิจฉัยว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ร้ายแรง และผู้ถูกกล่าวหาได้ยอมรับว่ากระทำผิดจริงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมสัญญาว่าจะไม่ปฏิบัติพฤติกรรมเช่นนี้อีก จึงเห็นควรให้กล่าวตักเตือน ก่อนปล่อยตัวออกไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า มีคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองอย่างน้อย 645 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,465 ราย โดยมีคดีที่ต่อสู้คดีและศาลยกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 19 คดี โดยคดีคาร์ม็อบสระบุรีเป็นคดีล่าสุด

อ่านสถิติข้อมูลจำนวนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง >>> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง 

X