อัยการสั่งฟ้อง 4 คดีคาร์ม็อบ ทั้งคดีสระบุรี-ลพบุรี-อาชีวะไล่เผด็จการ ศาลให้ประกันไม่ต้องวางหลักทรัพย์

อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมคาร์ม็อบถึง 4 คดีรวด แยกเป็นกรณี #คาร์ม็อบ1สิงหา ของกลุ่ม “ราษฎรสระบุรี” 1 คดี, คดีคาร์ม็อบที่ จ.ลพบุรี อีก 2 คดี ได้แก่ #คาร์ม็อบ1สิงหา #คาร์ม็อบ15สิงหา และคดีคาร์ม็อบ  “รวมพลังคนพันธุ์ R CAR MOB อาชีวะขับไล่เผด็จการ” โดยมีข้อกล่าวหาหลักคือ ฝ่าฝืนข้อกําหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

.

ไม่ถึง 1 เดือน อัยการสั่งฟ้อง 2 แกนนำคดีคาร์ม็อบสระบุรีไม่เอาเผด็จการ ศาลให้ประกันไม่ต้องวางหลักทรัพย์

วันนี้ (23 กันยายน) ที่ศาลแขวงสระบุรี พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสระบุรี มีคำสั่งฟ้อง “ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หรือ “มายด์” นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรอายุ 25 ปี และ “ธนพร วิจันทร์” นักกิจกรรมเพื่อสิทธิแรงงานอายุ 50 ปี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1423/2564 สืบเนื่องจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่จ.สระบุรี โดยกลุ่ม “สระบุรีไม่เอาเผด็จการ” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารราชการและจัดสรรวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกเหนือไปจากข้อหาที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภัสราวลีและธนพรยังถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคําสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ทั้งภัสราวลีและธนพรได้เดินทางไปที่ สภ.เมืองสระบุรี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยทั้งสองคนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากยืนยันว่าการฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ 

อัยการได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองขัดข้องไม่สะดวกไปตามนัด จึงขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการในวันนี้แทน และอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีทันทีในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน หลังเข้ารับทราบข้อหา

ในคำฟ้อง พนักงานอัยการได้บรรยายพฤติการณ์คดี โดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ภัสราวลีและธนพรเป็นแกนนำกิจกรรมคาร์ม็อบ มีประชาชนจำนวน 150 คน และรถยนต์กับรถจักรยานยนต์อีกจำนวน 150 คันเข้าร่วมขบวน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การทํางานของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการบริหารประเทศ และการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 

ต่อมาจำเลยทั้งสองปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายขบวนและบีบแตรตาม ถ.พหลโยธิน จนไปถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าที่ติดตั้งบนรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ในท้ายของคำฟ้อง อัยการได้ขอให้ศาลได้สั่งนับโทษจําคุกของภัสราวลีเรียงติดต่อจากโทษจําคุกใน 2 คดีของศาลแขวงดุสิต ได้แก่ คดีอาญาหมายเลขที่ อ.1768/2563 และคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.757/2564 

อนึ่ง ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคำฟ้องโจทก์ อัยการขออนุญาตนำคำฟ้องกลับไปแก้ไข เนื่องจากเจ้าพนักงานธุรการได้ย่อขนาดตัวอักษรในคำฟ้องให้เล็กลง ทำให้ “พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558” หลุดหายไปจากคำฟ้อง อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้อนุญาตแต่อย่างใด นอกจากนี้ อัยการยังกล่าวว่า ในนัดหมายต่อไป ตนจะขอให้ศาลสั่งนับโทษจําคุกของภัสราวลีต่อจากคดีอื่นๆ อีก 

หลังจากอัยการยื่นคำฟ้องต่อศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมใช้เงินสดจำนวน 20,000 บาทเป็นหลักประกัน ในเวลาต่อมา อานนท์ ทวีโชติ ผู้พิพากษาศาลแขวงสระบุรี มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคน โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วกรณีน่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสองจะไม่หลบหนี และจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ก่อเหตุอันตรายประการอื่น และสาบานตนต่อหน้าศาลว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก กำชับให้มาศาลตามกำหนดนัดอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี” 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งภัสราวลีและธนพรจึงได้รับการประกันตัว โดยศาลให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว  ศาลได้กำหนดนัดพร้อมและสอบคำให้การ ต่อไปในวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น. 

.

อัยการสั่งฟ้อง 2 คดี คาร์ม็อบลพบุรี ทั้ง #ม็อบ1สิงหา และ #ม็อบ15สิงหา

ขณะเดียวกัน วานนี้ (22 กันยายน 2564) ที่ศาลแขวงลพบุรี พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลพบุรี มีคำสั่งฟ้อง “ภานุพงษ์” (สงวนนามสกุล) และ “ชมะนันท์” (สงวนนามสกุล) ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต สืบเนื่องจากการจัด​​กิจกรรม “คาร์ม็อบลพบุรี”  เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา  เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลพบุรี ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ชมะนันท์และและภาณุพงษ์ ในวันที่ 27 สิงหาคม และวันที่ 3 กันยายน ตามลำดับ ในชั้นสอบสวนจําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ต่อมา หลังส่งสำนวนคดีให้อัยการ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องทั้งสองคน บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2564 ภานุพงษ์, ชมะนันนท์ และพวก ได้นําข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” เป็นข้อความว่า “ฝากสาส์นนี้ส่งถึงคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านผู้ว่าลพบุรี ร่วมเขียนจดหมายถึงนายกประยุทธ์ คนปลิ้นปล้อน ปล้นอํานาจประชาชนกัน นํามาส่งได้ที่คาร์มอบลพบุรี ณ ลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. เราจะนําไปส่งถึงมือท่านผู้ว่า ; #คาร์ม็อบลพบุรี #Carmobลพบุรี #ม็อบ15 สิงหา”

ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม จำเลยทั้งสองและพวกได้จัดกิจกรรมชุมนุม, ตั้งขบวนขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ และใช้รถยนต์กระบะที่มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์โดยใช้กําลังไฟฟ้าจํานวน 1 คัน ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. ผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันเคลื่อนขบวนรถไปตาม ถ.พระนารายณ์มหาราช และถนนสาธารณะภายในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ก่อนจะกลับมาที่ลาน อนุสาวรีย์จอมพล ป. อีกครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองคนได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม ผ่านเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถยนต์กระบะ

หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงลพบุรี ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองโดยไม่วางหลักทรัพย์ประกันตัว  ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้จำเลยสาบานตนว่าจะมาตามนัดหมายของศาล พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมคดีในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. 

นอกจากนี้ ในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลพบุรีได้ยื่นฟ้องคดีคาร์ม็อบ 1 สิงหา ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีนักกิจกรรมอีก 2 ราย ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 

ในส่วนของพฤติการณ์ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้ง 2 ร่วมกับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊กเพจ “ลพบุรีจะไม่ทนเผด็จการ” ชักชวนให้คนเข้าร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบ นัดรวมพลที่ลานอนุสาวรีย์จอมพล ป. ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และได้มีการชักชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปิดป้ายทะเบียนรถของตัวเอง เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่คุกคาม

ในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันนัดหมาย จำเลยกับพวกได้มารวมกันตามนัดหมาย มีการใช้รถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียง จำนวน 1 คัน โดยเป็นการรวมกลุ่มที่มีคนมาร่วมกว่า 100 คน จากนั้นจำเลยและผู้ชุมนุมได้ขับรถไปตามถนนฃเขตเทศบาลเมืองลพบุรี แล้วเคลื่อนขบวนกลับมาที่ลานอนุสาวรีย์ และร่วมกันอภิปรายทางการเมืองผ่านเครื่องขยายเสียง

หลังจากสั่งฟ้องคดี ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้จำเลยทั้ง 2 คนสาบานตนว่าจะมาตามนัด ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ และกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปวันที่ 18 ตุลาคม 2564

.

อัยการเร่งฟ้องคดีของ 4 ผู้ร่วม  “รวมพลังคนพันธุ์ R CAR MOB อาชีวะขับไล่เผด็จการ” 

ในวันนี้ 23 ก.ย. 64 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ 4 ผู้ต้องหาที่เข้าร่วมกิจกรรม  “รวมพลังคนพันธุ์ R CAR MOB อาชีวะขับไล่เผด็จการ” จัดขึ้นโดยกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 64 

คดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 4 นำโดย “ม่อน อาชีวะ” ธนเดช ศรีสงคราม กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.มีนบุรี มาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม จนถึงต้นเดือนกันยายน  

ทั้งสี่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และขับรถเป็นขบวนแห่ หรือเดินรถเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 64 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีในวันนี้ต่อศาลอาญามีนบุรี

ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสี่คน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ทำสัญญาประกันว่าหากไม่มาตามนัด ให้ปรับเป็นเงินรายละ 20,000 บาท 

.

X