30 เมษายน 2564 ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีของนายเฉลิมชัย วัดจัง แกนนำกลุ่มเดินทะลุฟ้า และ นายธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากกรณีการจัดเดินขบวนไปร่วมตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564
ก่อนหน้านี้ เฉลิมชัยได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 จากกรณีการร่วมกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า V.2” เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ส่วนธนเดชเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 จากกรณีการเดินขบวนของกลุ่มอาชีวะฯ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้าเช่นกัน
ทั้งคู่ถูกแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา โดยมีข้อหาหลักคือการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีของทั้งคู่ให้กับอัยการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 และอัยการใช้เวลาเพียง 3 วัน ได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตในวันนี้
>> ตร.สน.นางเลิ้ง แจ้งข้อหาฯ กรรมการหมู่บ้านทะลุฟ้า เหตุร่วมม็อบตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า V.2
>> แจ้ง 5 ข้อหา สมาชิกกลุ่ม “อาชีวะ” เหตุร่วมม็อบเดินทะลุฟ้า V.2 ปักหลักข้างทำเนียบ 13 มีนา
นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ได้ส่งฟ้องทั้งสองคนเป็นคดีเดียวกัน ในฐานความผิด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาตั้งวางสิ่งของบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหากีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 อยู่ในห้วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 และ นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ สถานที่แออัดหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสอง กับพวกประมาณ 500 คน ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบาทหลายกรรมต่างกัน คือ
1. จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเดินขบวนมาที่แยกพาณิชยการ จากนั้นร่วมกันนำแผ่นป้ายมาเขียนข้อความ และนำไปแขวนตามต้นไม้ เสาไฟฟ้า ตั้งเวที และนำผ้าใบมากางเป็นเต็นท์ ตั้งลำโพงเครื่องขยายเสียง และสิ่งของบนทางเดินรถถนนพระราม 5 บริเวณหน้าศาลกรมหลวงชุมพรฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล และถนนพิษณุโลก ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ในลักษณะกีดขวางการจราจร รถไม่สามารถแล่นผ่านได้
จากนั้นได้ร่วมจัดกิจกรรมตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่บริเวณดังกล่าว เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกกล่าวหาระหว่างรอการพิจารณาคดี ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และให้นายกรัฐมนตรีลาออก อันเป็นการทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันที่ทางราชการกำหนด และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2. จำเลยทั้งสองกับพวก ได้ร่วมกันทำโฆษณาโดยการกล่าวปราศรัยบนเวทีชี้แจง แนะนำ ร้องเพลง และแสดงความคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว และประชาชนทั่วไป โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ในชั้นสอบสวน ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ โดยหากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว อัยการขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
อัยการยังระบุถึงกรณีเฉลิมชัยที่ถูกฟ้องเป็นคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลแขวงดุสิตในอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ กรณีถูกจับกุมจากการคัดค้านการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน
ศาลแขวงดุสิตได้รับฟ้องคดีนี้ไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.436/2564 และกำหนดวันนัดพร้อมและสอบคำให้การในคดีต่อไปในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น.
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองคนระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์
สำหรับการสั่งฟ้องในคดีนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน นับจากทั้งสองคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับคดีที่ผู้ร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้าถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายและจับกุม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ทั้งในช่วงเช้าและเย็น ก็ได้ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตอย่างรวดเร็วแล้วเช่นกัน รวมแล้วขณะนี้มีผู้กล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าแล้วอย่างน้อย 103 ราย