จับทุกวัน! “ม่อน อาชีวะ” ถูกจับข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมหน้าทำเนียบ ด้านวัยรุ่น 2 รายถูกจับแยกดินแดง ก่อนศาลให้ประกันทั้งหมด

วานนี้ (18 ส.ค. 64) เวลาประมาณ 19.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมประชาชนอย่างน้อย 3 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม “ม่อน อาชีวะ” ธนเดช ศรีสงคราม ตามหมายจับศาลแขวงดุสิตลงวันที่ 18 ส.ค. 64 ในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 64 และกรณีประชาชน 2 รายถูกจับกุมที่แยกดินแดง หลังการชุมนุม #ม็อบ18สิงหา ที่บริเวณแยกดินแดง ของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ 

ทั้งสามถูกควบคุมตัวมาที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) โดยธนเดชถูกนำตัวมาที่ บช.ปส. ก่อนที่ประชาชนอายุ 20 ปี และ 24 ปี จะถูกควบคุมตัวมาเพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเวลาต่อมา 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะขออำนาจศาลฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยแบ่งตามพื้นที่ของสถานีตำรวจที่เกิดเหตุและฐานความผิดที่ถูกกล่าวหา กรณีธนเดช พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแขวงดุสิต โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตผัดฟ้องฝากขังธนเดช แต่ให้ประกันในวงเงินคดีละ 20,000 บาท รวม 80,000 บาท

สำหรับประชาชน 2 ราย พนักงานสอบสวนสน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขัง แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน 

>>จับ “ม่อน อาชีวะ” ตามหมายจับข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมแจ้งข้อหาอีก 3 คดี รวม 4 คดี<<

หลังการชุมนุม #ม็อบ18สิงหา หรือ #18สิงหาไล่ล่าทรราช ของกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระที่แยกดินแดง เวลาประมาณ 19.35 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณี “ม่อน อาชีวะ” หรือ ธนเดช ศรีสงคราม แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจาก สส.บก.น.6 และ สน.นางเลิ้ง ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.นริศ ปรารถนาพร ผกก.สส.บก.น.6 เข้าจับกุมตามหมายจับของศาลแขวงดุสิต ที่ จ.132/2564 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จากการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ3กรกฎา เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 64 หน้าทำเนียบรัฐบาล

ไทม์ไลน์การชุมนุม #ม็อบ26มิถุนา> https://news.thaipbs.or.th/content/305547

ในตอนแรก เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธนเดชไปที่ สน.นางเลิ้ง แต่ได้เปลี่ยนนำตัวมาที่ บช.ปส. แทนเพื่อทำบันทึกจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหา 

หลังธนเดชถูกนำตัวมาที่ บช.ปส. เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้แสดงหมายจับอันเกี่ยวข้องกับคดีจากการชุมนุม 3 คดี ได้แก่ การชุมนุม “ไทยไม่ทน” เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกเพราะการบริหารที่ผิดพลาด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล, การชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา “เปิดท้ายวันศุกร์ไเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64 และการชุมนุม #ม็อบ11กรกฎา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 

สำหรับทั้ง 4 คดีนั้น พ.ต.ต.ศรีสวัสดิ์ บ้านเกาะ สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้บรรยายพฤติการณ์คดีในคล้ายคลึงกัน โดยระบุว่า ธนเดชและกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้รถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียงเพื่อทำกิจกรรมบนเวที โดยตั้งขบวนมาจนถึงบริเวณแยกพาณิชยการ พร้อมกับผัดกันปราศรัยในเนื้อหาขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะประกาศยุติการชุมนุม 

พนักงานสอบสวนบรรยายว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อันเป็นการชุมนุมมั่วสุมที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่จัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือ ไม่มีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปดูแล และไม่มีการจัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตร จึงถือเป็นการจัดกิจกรรมอันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นอันตรายต่อผู้ได้รับเชื้อ อย่างมาก อันถือเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน

ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาแก่ธนเดชรวม 4 ข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันทั้งสี่คดี  

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  2. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  3. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  4. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ธนเดชให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้ง 4 คดี โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 8 ก.ย. 64 หลังกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในเวลาราว 02.00 น. ธนเดชถูกคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่พนักงานสอบสวนสน. นางเลิ้ง จะยื่นคำร้องขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังธนเดชในเช้าวันรุ่งขึ้น 

ต่อมา 19 ส.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังธนเดชใน 4 คดี ด้านทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาถือเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ทั้งธนเดชมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอิทธิพล ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน พร้อมวางเงินสดจำนวนคดีละ 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน 

เวลา 15.30 น. โดยประมาณ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนเดชในทั้ง 4 คดี ทำให้ธนเดชได้รับการปล่อยตัวในเย็นนี้ หลังวางเงินประกันรวม 4 คดีเป็นจำนวน 80,000 บาท โดยศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. 

นอกจากนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลแขวงดุสิตอนุมัติคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ออกหมายจับในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 2 ปี พร้อมกับระบุเหตุผลว่า โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า เหตุผลในการออกหมายจับเนื่องจากธนเดชไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียก 

>>จับประชาชนอีก 2 รายที่แยกดินแดง ก่อนศาลแขวงพระนครเหนือให้ประกัน ไม่ต้องวางหลักทรัพย์<< 

นอกจากการจับกุมของธนเดช ราว 21.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับแจ้งกรณีการจับกุม นายฐิรวัฒน์ กลีบกลาง อายุ 22 ปี และนายณัฐกิตติ์ สถานสถิตย์ อายุ 20 ปี บริเวณแยกประชาสงเคราะห์ ก่อนถูกควบคุมตัวมาที่ บช.ปส. เพื่อจัดทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

นายฐิรวัฒน์และนายณัฐกิตติ์เผยว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนจับกุม ขณะขับรถจักรยานยนต์ผ่านแยกประชาสงเคราะห์ หลังกลับมาจากการชุมนุม #ม็อบ18สิงหา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาล้อมตนไว้ จึงไม่สามารถขับรถหนีออกมาได้ ด้านณัฐกิตติ์ยังถูกเจ้าหน้าที่เตะที่ซี่โครงด้านซ้าย 1 ครั้งระหว่างการจับกุม ส่วนฐิรวัฒน์ถูกเจ้าหน้าที่ยึดจักรยานยนต์ กับลูกแก้วจำนวน 27 ลูกไว้ด้วย แม้ฐิรวัฒน์แจ้งว่า ยังไม่ได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้แต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ยึดโทรศัพท์มือถือของทั้งสองไว้เป็นของกลาง แม้ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ตาม

ขณะในบันทึกการจับกุมได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม คือ เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 กองร้อย 1 ได้แก่ ด.ต.ธนกฤต อินจันทร์, ด.ต.นันทชัย ฤกษ์สันทัด ผบ.หมู่ สส. สน. ราษฎร์บูรณะ, ส.ต.อ.เฉลิมพงศ์ ยุพาพิน, ส.ต.อ.ชัยชนะ สุวรรณเพ็ชร์, ส.ต.ท.กฤชตฤณ ใหม่ยศ, ส.ต.ท.กมลวัชร์ อ่ำสกุล, ส.ต.ท.เศรษฐวิทญ์ โถทอง, ส.ต.ท.ภูมิพงษ์ ภูวงษ์ไกร ผบ.หมู่ ป.สน.ราษฎร์บูรณะ

หลังจากจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตราแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีข้อหาที่เกี่ยวกับการพกพาอาวุธแต่อย่างใด ด้านฐิรวัฒน์และณัฐกิตติ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิมเติมภายในวันที่ 9 ก.ย. 64 

ฐิรวัฒน์และณัฐกิตติ์ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 1 คืนที่ บช.ปส. ก่อนที่เช้าวันนี้ (19 ส.ค. 64) พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จะยื่นคำร้องขออำนาจศาลแขวงพระนครเหนือฝากขังผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมกับคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ได้ร่วมกันชุมนุมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งการชุมนุมยังทำให้เกิดความเสียหาย มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน หากได้รับการปล่อยชั่วคราว อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตผัดฟ้องฝากขังทั้งสอง แต่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมกำหนดนัดรายงานตัวต่อไปในวันที่ 20 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ 

X