จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในลักษณะเดียวกันมากกว่า 269 ราย ใน 109 คดี ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นเยาวชนไม่น้อยกว่า 21 ราย และหากแยกเป็นรายจังหวัดพบว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 41 จังหวัดทั่วประเทศที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ
อ่านข้อมูลการดำเนินคดีคาร์ม็อบทั่วประเทศเพิ่มเติม >>> 1 ปี คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์: สรุปคดีทั่วไทยไม่น้อยกว่า 109 คดี ศาลยกฟ้องไป 5 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 คดี
ความเป็นไปได้ในการถูกดำเนินคดีในเหตุเดียวกัน ลักษณะเดียวกันและการถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่คล้ายคลึงกัน นับว่าเป็นปรากฎการณ์ทางการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนักในสังคมไทย จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ทนายฯ พบว่าในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นวันที่มีการแจ้งดำเนินคดีกับประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบมากที่สุด โดยมีจำนวนจังหวัดมากที่สุดกว่าครึ่งของสถิติทางคดีในกิจกรรมนี้ คือ ไม่น้อยกว่า 25 จังหวัด โดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อกล่าวหาหลัก ในคดีประเภทดังกล่าว
กิจกรรม “คาร์ม็อบ (Car Mob)” เป็นความคิดริเริ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เนื่องจากภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างรุนแรงในช่วงกลางปี 2564 การออกมาชุมนุมบนท้องถนนของประชาชนนับว่าเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และในกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคนก็ถูกดำเนินคดีจากการลงประท้วงตามท้องถนนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
สมบัติ ได้ประกาศเริ่มกิจกรรมคาร์ม็อบขึ้น ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อแคมเปญว่า #สมบัติทัวร์ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เป็นการขับเคลื่อนขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
คาร์ม็อบที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ไม่ต่างจากคลื่นดาวกระจายที่ส่งสัญญาณให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันจัดการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองได้ในพื้นที่จังหวัดของตนเองอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เว้นระยะห่างกันได้จากการนั่งอยู่ในพื้นที่รถยนต์ของตนเอง ด้วยการนำยานพาหนะส่วนตัวออกมาขับขี่กันบนท้องถนนแบบไร้หัวขบวนและแกนนำ
กิจกรรมคาร์ม็อบถูกจัดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยกิจกรรมในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นับได้ว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก กระจายไปทั่วประเทศที่สุดวันหนึ่ง หลังจากที่ บก.ลายจุด ได้ประกาศเชิญชวนให้มวลชนออกมาเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบจากพื้นที่ตามจังหวัดของตนเอง โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในขณะนั้น
จากการเก็บข้อมูลทางคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมคาร์ม็อบ
วันที่ 1 สิงหาคม 2564 พบประชาชนถูกดำเนินคดีมากกว่า 100 ราย ในไม่น้อยกว่า 25 จังหวัด และไม่ต่ำกว่า 37 คดี
ในการดำเนินคดีกับประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมกิจกรรมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว ทั้งหมด 37 คดี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่มีมาตรฐานจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่จะมีการแจ้งดำเนินคดีตามมา ทั้งนี้ การแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายจากประชาชนด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน ราวกับเป็นแพ็กเกจที่ถูกจัดสรรให้เหล่ามวลชนและนักกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ
หากพิจารณารายละเอียดในแต่ละคดี จะพบว่ามีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อกล่าวหาหลักถึง 29 คดี นอกจากนั้นเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ชุมนุม ฯลฯ หรือแม้แต่การแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 หากแยกเป็นรายจังหวัด พบว่ามีการดำเนินคดีกับประชาชนทั่วทุกภูมิภาคอย่างน้อย 25 จังหวัด ดังนี้
ภาคกลางและตะวันออก รวม 13 คดี แบ่งเป็น
- กรุงเทพมหานคร 6 คดี
- นนทบุรี 1 คดี
- ปทุมธานี 2 คดี
- กาญจนบุรี 1 คดี
- สระบุรี 1 คดี
- ลพบุรี 1 คดี
- ฉะเชิงเทรา 1 คดี
ภาคอีสาน รวม 7 คดี
- ชัยภูมิ 1 คดี
- หนองบัวลำภู 1 คดี
- อุบลราชธานี 1 คดี
- นครราชสีมา 1 คดี
- ขอนแก่น 1 คดี
- ตาก 1 คดี
- สกลนคร 1 คดี
ภาคเหนือ รวม 10 คดี
- เชียงใหม่ 4 คดี
- เชียงราย 2 คดี
- ลำปาง 1 คดี
- ลำพูน 1 คดี
- นครสวรรค์ 1 คดี
- กำแพงเพชร 1 คดี
ภาคใต้ รวม 7 คดี
- ยะลา 2 คดี
- นครศรีธรรมราช 2 คดี
- กระบี่ 1 คดี
- สุรินทร์ 1 คดี
- สุราษฎ์ธานี 1 คดี
การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุดกว่า 18 คดี แม้ในบางจังหวัดอัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว 5 คดี – ตร.สั่งปรับในชั้นสอบสวนแล้ว 5 คดี และพิพากษายกฟ้องไปแล้วอีก 6 คดี
สำหรับคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว 5 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบจากสนามบินดอนเมือง, คดีคาร์ม็อบลำพูน #หละปูนคาร์ม็อบ คดีคาร์ม็อบสกลนคร และ คดีคาร์ม็อบเชียงราย #คนเชียงรายไม่ทน จำนวน 2 คดี
ความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการ : โดยอัยการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสามคดี คือไม่ฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมให้ความเห็นว่าการชุมนุมของผู้ต้องหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ในจังหวัดลำพูนและสกลนคร ผู้ต้องหาได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในส่วนจังหวัดเชียงรายนั้น อัยการมีความเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดในการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย และในส่วนข้อหาบีบแตรเสียงดังโดยไม่มีเหตุอันควรนั้น คดีก็ได้หมดอายุความไปแล้ว
จากจำนวนทั้งหมด ยังมีอีกบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวน จำนวน 5 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบลำปางจากกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน, คดีคาร์ม็อบเชียงใหม่ “ปล่อยโกม ลอยสะตวง เปิดไฟ บีบแตร ไล่ประยุทธ์”, คดีคาร์ม็อบกรุงเทพฯ บริเวณแยกราชประสงค์, คดีคาร์ม็อบกาญจนบุรี “เมืองกาญจน์ทัวร์”จากกลุ่มเสรีกาญจน์ เพื่อประชาธิปไตย, คดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช #คาร์ม็อบนครศรีฯ จากกลุ่มคนคอนจะไม่ทน และ คดีคาร์ม็อบนครสวรรค์ #นครสวรรค์บีบแตรไล่หมา
ข้อสังเกตการสั่งเปรียบเทียบปรับ : การเรียกเปรียบเทียบค่าปรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละภูมิภาคไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก โดยผู้ต้องหาจ่ายค่าปรับในอัตราเฉลี่ย 200 – 400 บาท และในบางคดีสั่งเปรียบเทียบปรับสูงถึง 1,000 – 1,200 บาท โดยส่วนมากเป็นการปรับจากข้อกล่าวหาโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และการขับขี่กีดขวางทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ
มีเพียงคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยกล่าวหาว่าผู้ต้องหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งฯ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) กำหนดให้กฎหมายไม่สามารถใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้
นอกจากนี้ ในบางคดีที่อัยการสั่งฟ้อง และมีการดำเนินคดีจนกระทั่งมีการสืบพยานในชั้นศาล ประชาชนหลายรายก็ได้ตัดสินใจต่อสู้คดีจนถึงที่สุด และศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว 6 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลพบุรี , คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร #กำแพงเพชรจะไม่ทน, คดีคาร์ม็อบสระบุรี #สระบุรีไล่ประยุทธ์ ,คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา #คาร์ม็อบโคราช1สิงหา , คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี #ราษฎรสุราษฏรขับไล่ตู่ และล่าสุดศาลจังหวัดธัญบุรีก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบปทุมธานี #CarMobรังสิต หากแต่ในคดีที่ศาลยกฟ้องนี้ บางคดีอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อไปแล้ว
จากคดีทั้งหมด จนถึงเดือนตุลาคม 2565 ยังเหลือคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 ไม่น้อยกว่า 18 คดี ที่ยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล และอยู่ในชั้นสอบสวน 5 คดี
หนึ่งในนั้นมีคดีคาร์ม็อบกระบี่ ที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงกระบี่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของประชาชนรวม 7 คน และในภายหลังอัยการได้มีคำสั่งฟ้อง ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลด้วย ทำให้ในคดีดังกล่าวมีจำเลยรวม 8 คน โดยแยกเป็นกลุ่มผู้ร่วมคาร์ม็อบจำนวน 6 คน และกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อีก 2 คน ที่เข้ามามีปากเสียงกับกลุ่มผู้จัดคาร์ม็อบ
* อัปเดตข้อมูลเพิ่มเติม วันที่ 19 ต.ค 2565 ได้รับรายงานว่า คดีคาร์ม็อบจังหวัดลพบุรี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ม.ค. 2566
.
การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมิได้ทำให้การดำเนินคดีสิ้นสุดลง
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกการประกาศในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 และมีการขยายอายุการประกาศต่อเนื่อง รวมทั้งหมด 19 ครั้ง ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินมาเป็นเวลานานถึง 919 วัน หรือ 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน
ในห้วงเวลาภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้มข้นอย่างมาก ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง เพื่อขับเคลื่อนประเด็นความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม ทำให้ภาครัฐนำข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีต่อแกนนำและประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมและแสดงออก จนมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 1,468 คน ในจำนวน 661 คดี (หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี) กล่าวได้ว่าคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองนี้ มีความ “รกโรงรกศาล” เป็นอย่างมาก
การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ มิใช่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษ จึงมีผลเป็นเพียงการประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับรับมือสถานการณ์ยุติลง แต่การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป
.
ทิศทางการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมาของภาครัฐ
แนวโน้มของภาครัฐต่อการดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ผ่านมา พบว่าในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาลอย่างน้อย 41 คดีนั้น ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ หรือให้รอการกำหนดโทษไว้ คดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องมีจำนวนอย่างน้อย 23 คดี คดีที่ต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างน้อย 28 คดี และคดีที่ต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 8 คดี ซึ่งส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่มีจำนวน 2 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้
ในส่วนของคดี “กิจกรรมคาร์ม็อบ” วันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น พบว่าจาก 37 คดีในวันนั้น มีคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 29 คดี ซึ่งในจำนวนนี้มีคดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน 5 คดี คดีเยาวชนซึ่งเข้ามาตรการก่อนฟ้อง 1 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 คดี จำเลยรับสารภาพในชั้นศาล 2 คดี โดยศาลให้รอกำหนดโทษ 1 คดี (คาร์ม็อบหนองบัวลำภู) และลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาอีก 1 คดี (คาร์ม็อบชัยภูมิ) มีศาลยกฟ้อง 6 คดี และอีก 11 คดีที่เหลืออยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น
จากสถิติในข้างต้นจะพบว่า ในกลุ่มที่มีการต่อสู้คดี แล้วศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ในขณะที่ แนวทางคดีส่วนมาก พนักงานอัยการมักมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลวินิจฉัยยกฟ้อง
ในคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง และศาลยกฟ้องนั้น มักให้เหตุผลไปในทำนองเดียวกัน โดยหลัก 4 ประเด็น ดังนี้
1. หากจำเลยมิใช่ผู้จัดกิจกรรม ก็ไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตในการจัดกิจกรรม และจัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด-19
2. หากการชุมนุมเกิดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แม้มีการรวมตัวกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับแออัดเต็มพื้นที่ และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอนามัย ก็ยังไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
3. การชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยังไม่ถือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่จะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
4. คำพิพากษาของศาลบางคดีชี้ว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจไว้ ประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ศาลจึงไม่อาจนำมาลงโทษได้
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ศาลเห็นว่าการชุมนุมจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นการกระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐตามนัยความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในมาตรา 4 การที่จำเลย ชักชวนและมาร่วมการชุมนุมโดยสงบ จึงยังไม่ถือเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้
ส่วนคำพิพากษาที่ศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ศาลมักเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาพฤติการณ์ชุมนุมว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค เกิดขึ้นในสถานที่แออัด หรือมีความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ เพราะมีผลเท่ากับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถใช้บังคับ เพียงแค่จำเลยจัดการชุมนุมหรือเดินทางมาเข้าร่วม ก็ถือเป็นความผิดแล้ว
อ่านข้อมูลสถิติคดีที่ยังคงดำเนินต่อเพิ่มเติม แม้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม กว่า 574 คดี ยังต้องต่อสู้ต่อ
.
ทิศทางการดำเนินคดีของภาครัฐภายหลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
สำหรับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังคงค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ กว่า 574 คดีนั้น หากภาครัฐยังคงเดินหน้าดำเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด คดีเหล่านี้ก็จะล้นศาล แม้ปลายทางของคดีส่วนมากตามสถิติ คือ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ทรัพยากรและเวลาที่ประชาชนและภาครัฐต้องเสียไปในกระบวนการยุติธรรม “ปิดปาก” อาจไม่คุ้มค่าและสร้างภาระเกินจำเป็น
แม้การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะไม่ทำให้คดีที่เกิดขึ้นยุติลง แต่สำหรับคดีที่ยังอยู่ในชั้นศาล เช่น คดีคาร์ม็อบปัตตานี ทนายความก็มีความพยายามในการยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมาย เรื่องที่มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในวันที่ 10 พ.ย. 2565
.
“ยุติการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” คือทางออกร่วมกันของภาครัฐและประชาชน
ปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมกว่า 574 คดี โดยอยู่ในชั้นสอบสวนจำนวน 354 คดี อยู่ระหว่างต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำนวน 190 คดี และอยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำนวน 30 คดี ซึ่งภาครัฐสามารถยุติการดำเนินคดีดังกล่าวได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน สามารถแบ่งได้เป็นคดีที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการ
แนวทางการยุติคดีในชั้นนี้ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีนโยบายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่แจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มอีก และในคดีที่ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว พนักงานสอบสวนควรสรุปสำนวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องเสนอต่อพนักงานอัยการ
สำหรับคดีที่ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาล พนักงานอัยการควรสั่งไม่ฟ้องคดี โดยอัยการสูงสุดก็ควรมีนโยบายในการยุติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากการดำเนินคดีทั้งที่ไม่มีประโยชน์ต่อการควบคุมโรคอันเป็นประโยชน์สาธารณะอีกต่อไปแล้ว
คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล คดีพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้วนั้น หากยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เช่น ยังมิได้มีการสืบพยาน หรือยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น พนักงานอัยการก็ควรเสนอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดและถอนฟ้องคดี หรือในคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษา หากศาลวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ก็ย่อมสามารถยกฟ้องคดีไปได้
อ่านข้อเสนอแนะวิธีการยุติการดำเนินคดีจาก iLaw เพิ่มเติม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จบ แต่คดีไม่จบ ตำรวจ อัยการ ศาลต้องหาทางออกคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.
.
กฎหมายที่จะเข้ามาดูแลการชุมนุมสาธารณะหลังจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้หน่วยงานรัฐทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง สามารถนำมาตรการตามกฎหมายเข้าแก้ไขปัญหาได้ตามปกติ หมายความว่าหลังจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำกับดูแลการควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และการชุมนุมสาธารณะใดๆ ก็จะต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ภาครัฐอาจจะนำมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกได้ ตาม มาตรา 34 อนุมาตรา 6 ที่เปิดช่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจในการออกคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคติดต่อ โดยสามารถห้ามผู้ใดกระทำการ หรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป
ส่วน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็จะถูกนำมาบังคับใช้กับชุมนุมสาธารณะใดๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไปอีกครั้ง โดยกฎหมายจะเข้ามากำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ชุมนุมไว้ ในขณะเดียวกันก็จะให้อำนาจเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการออกคำสั่งเพื่อดูแลและรักษาความสงบของการชุมนุม
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมาย “ขาประจำ” อย่าง พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา ที่มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการดำเนินคดี แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านั้น จะไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเลยก็ตาม