เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 “หนึ่ง” ศุภากร คำประดิษฐ ไรเดอร์อิสระและนักกิจกรรม “คณะราษฎรชัยภูมิ” เดินทางไปที่ศาลจังหวัดชัยภูมิ ในนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบชัยภูมิ “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิเป็นโจทก์ฟ้องศุภากร ฐาน เป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34, 35 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 หลังศุภากรให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 10,200 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,100 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี
.
.
ด้วยเห็นว่า ศาลลงโทษหนักเกินไป เพราะก่อนหน้านั้น ในเดือนกันยายน 2564 คดีคาร์ม็อบหนองบัวลำภู ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพชั้นพิจารณาเช่นกัน ศาลจังหวัดหนองบัวลำภูพิพากษาเพียงให้รอการกำหนดโทษ 1 ปี หนึ่งจึงปรึกษาทนายและยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ก่อนศาลจังหวัดชัยภูมินัดมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3
ธีรภัทร ต่างวิวัฒน์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดชัยภูมิ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน ปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุก 15 วัน ปรับ 2,100 บาท และโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องพิจารณาถามหนึ่งว่า เข้าใจคำพิพากษาหรือไม่ โดยหนึ่งตอบไปว่าเข้าใจ ก่อนเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า ให้หนึ่งไปติดต่อฝ่ายการเงินของศาลเพื่อรับเงินค่าปรับคืน จำนวน 3,000 บาท เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ปรับลดลงจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้
หลังหนึ่งยื่นเอกสารมีสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าโอนเงินคืนเข้าบัญชีของหนึ่งในระยะเวลา 10 วัน ซึ่งหนึ่งจะนำเงินดังกล่าวคืนให้กองทุนราษฎรประสงค์ต่อไป
ก่อนออกจากพื้นที่ศาลเพื่อไปทำงานไรเดอร์ส่งของต่อ หนึ่งกล่าวว่ารู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ที่แก้โทษปรับให้ แม้จะยังมีโทษจำคุกที่ยังรอลงอาญา แต่ระหว่างนี้เขาทำงานส่งของในพื้นที่ชัยภูมิอย่างเดียว และยังไม่มีแพลนจะทำกิจกรรมทางการเมืองอะไร
ถึงอย่างนั้นหนึ่งก็ยังเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2564 ทุกครั้งที่มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมา จ.ชัยภูมิ เขาจะถูกตำรวจและทหารติดตาม ในส่วนของตำรวจจะทำทีเป็นสั่งของให้หนึ่งไปส่งที่ สภ.เมืองชัยภูมิ ก่อนจะถ่ายภาพเพื่อไปรายงานผู้บังคับบัญชา ส่วนทหารจะมาคุกคามหนักกว่า เช่น บางครั้งไปตามตัวเขาถึงที่บ้านโดยไม่มีการบอกกล่าวไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจเขาอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้โทษจำคุกและโทษปรับลดลง โดยโทษจำคุกรอลงอาญา แต่มีข้อสังเกตว่า ยังเป็นโทษที่ค่อนข้างหนัก เนื่องจากในหลายคดีที่มีคำพิพากษาก่อนหน้านี้ แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลก็เพียงแต่ปรับ หรือรอการกำหนดโทษ เช่น คดีคาร์ม็อบหนองบัวลำภู, คดี #ม็อบ3ตุลา64, คดีชุมนุม MRT ท่าพระ หรือคดีชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียว ชัยภูมิ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ให้รอการกำหนดโทษ 1 ปี หลังซันให้การรับสารภาพ เนื่องจากต้องการให้คดีจบ จะได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
.
ย้อนดูอุทธรณ์ของจำเลย: ขอศาลปรับหรือรอการกำหนดโทษ เหตุจำเลยเพียงชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล ไม่ดูแล-ป้องกันโควิดอย่างทั่วถึง ตามที่ รธน.บัญญัติ
จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากลงโทษจำเลยหนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยกับประชาชนชาวชัยภูมิที่เข้าร่วมกิจกรรมตามฟ้อง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารโดยตรง จึงขออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้พิพากษาลงโทษจำเลยสถานเบา หรือลงโทษปรับสถานเดียว หรือรอการกำหนดโทษ ด้วยเหตุผลว่า
การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนให้มากที่สุด
.
.
ในทางสากลให้การยอมรับและตระหนักว่า เป็นสิ่งที่พลเมืองในแต่ละรัฐย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าวดังได้บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
กิจกรรมที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้นั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิค-19 ซึ่งได้ปรากฏว่า มีคนจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลรักษาและป้องกันในทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจากรัฐบาล ซึ่งสิทธิในการได้รับการบริการทางสาธารณสุขจากรัฐเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47
จำเลยและประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกิจกรรม CAR MOB ชัยภูมิ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันถึงรัฐบาล ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และให้จัดหาวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชน ซึ่งเป็นทางออกทางเดียวที่จะป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้
อีกทั้งสถานที่จัดิจกรรมเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่แออัด ประชาชนที่สนใจต่างขับขี่ยานพาหนะส่วนตัวของแต่ละบุคคล ไม่ได้ใกล้ชิดสัมผัสกัน และทำตามมาตรการของรัฐเพื่อป้องกันโรค โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ภายหลังกิจกรรมก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจากการจัดกิจกรรม
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อ้างโควิดระบาดหนัก พลเมืองต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ ไม่หยิบความล้มเหลวของรัฐบาลจนเป็นเหตุให้จำเลยชุมนุมมาวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งลงนามโดย วันชัย ธีราทรง, สุทธิ จันทรสุทธิ และรุ่งอรุณ หลินหะตระกูล มีใจความว่า สำหรับความผิดฐานทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต สงบ และปราศจากอาวุธ เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ กิจกรรมที่จำเลยถูกฟ้องเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
ซึ่งสิทธิในการได้รับบริการทางสาธารณสุขจากรัฐ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” อันเป็นการกล่าวอ้างถึงการกระทำของจำเลยว่าไม่เป็นความผิดนั้น
เมื่อคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปตามคำรับสารภาพของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประเด็นเดียวว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท เป็นการลงโทษที่หนักเกินไปหรือไม่
.
.
เห็นว่า การที่ในช่วงเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทั้งในไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยมีคนป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐให้ความสำคัญโดยการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงห้ามชุมนุม หรือทำกิจกรรม ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการแพร่ระบาดของโลก ย่อมเป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองในการให้ความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
การที่จำเลยชักชวนประชาชนให้มารวมตัวทำกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่มีเหตุที่จะรอการกำหนดโทษหรือลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท ก่อนมีการลดโทษ เห็นว่า หนักเกินไป ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 วัน ปรับ 2,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุก 15 วัน ปรับ 2,100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับกิจกรรม #CarMobชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น จัดขึ้นพร้อมอีกกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในส่วนของ จ.ชัยภูมิ นั้น เพจ “ราษฎรชัยภูมิ” ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ว่า
“ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับวัคซีนคุณภาพที่ไม่มาสักที
ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับคนตายรายวันที่รัฐบาลไม่เคยใยดี
ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับการบริหารที่ล้มเหลวของฆาตกรประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อพูดแล้วไม่ยอมไป ก็ต้องขับรถไล่มัน!”
หลังการชุมนุมดังกล่าวมีศุภากรรายเดียวถูกดำเนินข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนคดีจะมาถึงศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หนุ่มไรเดอร์ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังร่วมคาร์ม็อบชัยภูมิ ส่งเสียงไล่ประยุทธ์
ตร.ไปบ้านนักกิจกรรม-เยาวชน “ราษฎรชัยภูมิ” หวั่นเคลื่อนไหวช่วง ‘เจ้า’ เสด็จฯ โคราช