ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2564 ศูนย์ทนายฯ พบว่า มีคดีทางการเมืองในพื้นที่ภาคกลาง และภูมิภาคบางส่วนที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดี รวม 6 คดี เป็นคดีที่สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่า ปาระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 64 มีจำเลยเป็นประชาชน 2 ราย, เป็นคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม #ม็อบ12กันยา ที่แยกดินแดง ซึ่งตำรวจอ้างว่าตรวจเจอปืนไทยไทยประดิษฐ์ – หนังสติ๊กด้วย มีจำเลย 2 ราย, คดีจากการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 มีจำเลย 1 ราย
คดีที่สืบเนื่องจากกิจกรรมคาร์ม็อบ มี 2 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดนครนายก มีจำเลย 1 ราย และอีกจุดคือที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำเลย 1 ราย ถูกกล่าวหาใน 2 คดี จากการจัดกิจกรรม 2 ครั้ง, และเป็นคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 2 ราย คือ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ ชูเกียรติ แสงวงค์
นอกจากคดีข้างต้น ยังมีอีก 1 คดี ที่ถูกฟ้องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 64 เป็นคดีสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ11กันยา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าตรวจเจอระเบิดที่ตัวจำเลยด้วย คดีนี้มีจำเลย 1 ราย
+++ สั่งฟ้องผู้ชุมนุม #ม็อบ11กันยา แยกดินแดง เจ้าหน้าที่อ้างตรวจเจอระเบิดระหว่างจับกุม +++
10 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 สำนักงานคดีอาญา ได้มีคำสั่งฟ้อง วงศกร (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา ผู้ชุมนุมซึ่งถูกจับกุมใน #ม็อบ11กันยา ที่แยกดินแดง โดยเขาถูกกล่าวหาว่าข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า ตรวจพบวัตถุระเบิดที่ตัวของวงศกร และข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยได้ออกนอกเคหสถานไปยังถนนรัชดาภิเษก โดยไม่มีเหตุจำเป็นและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน
จำเลยกับพวก ซึ่งยังเป็นเยาวชน ซึ่งถูกแยกดำเนินคดีต่างหาก ได้ร่วมกันมีวัตถุระเบิดแสวงเครื่องแบบไทยประดิษฐ์ และก้อนหิน จำนวน 5 ก้อน ห่อด้วยกระดาษ พันทับด้วยเทปพันสายไฟ จำนวน 1 ลูก เมื่อระเบิดสามารถทำอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงชีวิต หากโดนอวัยวะสำคัญ อันเป็นวัตถุระเบิดที่ไม่สามารถออกเลขทะเบียนให้ได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ต่อมา ภายในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลยพร้อมกับพวกเยาวชนไว้ได้ และได้ยึดวัตถุระเบิด รถจักรยานยนต์ แกลลอนน้ำมัน โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และหนังสติ๊กยิงลูกแก้ว จำนวน 1 อัน ไว้เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน
ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยใช้หลักประกันเดิมชั้นสอบสวน กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งต่อไป วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
+++ สั่งฟ้องประชาชน 2 ราย ถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองใส่ คฝ. วันที่ 9 พฤศจิกา +++
2 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งฟ้อง ทักษิณ และ ศักดิ์ทนา (สงวนนามสกุล) ต่อศาลแขวงดุสิต โดยทั้ง 2 ถูกกล่าวหาว่า อยู่ในระหว่างมีการปาระเบิดปิงปองและประทัดยักษ์ใส่แนวเจ้าหน้าที่ คฝ. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ป.อาญา มาตรา 215
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 จำเลยกับพวกประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และขี่จักรยานยนต์มารวมตัวหลายคันในลักษณะกีดขวางการจราจรที่บริเวณสะพานฝ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ต่อมา ได้ร่วมกันประทุษร้าย ขว้างปาระเบิดปิงปอง ประทัดยักษ์ ยิงหนังสติ๊กใส่แนวของเจ้าหน้าที่ คฝ. และจุดไฟเผายางรถยนต์บนถนนราชดำเนิน เป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 จำเลยทั้ง 2 ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน ทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ โดยในคดีนี้ พนักงานสอบสวนไม่เคยยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวน
หลังจากอัยการฟ้องคดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยสาบานตนและให้มาตามกำหนดนัด กำหนดนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
+++ สั่งฟ้อง 2 ผู้ชุมนุม #ม็อบ12กันยา แยกดินแดง ตร.อ้าง ตรวจค้นเจอปืนไทยประดิษฐ์ – หนังสติ๊ก ศาลให้ปล่อยโดยใช้หลักประกันเดิม +++
3 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีคำสั่งฟ้อง อานนท์ และ ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา ทั้งคู่เป็นผู้ที่ถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ12กันยา ที่แยกดินแดงฯ พร้อมกับปืนประดิษฐ์ หนังสติ๊ก และลูกแก้ว โดยทั้ง 2 ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 2, มาตรา 216 “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีหรือใช้อาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป”, “ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” และข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังถูกกล่าวหาข้อหา “มีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาติฯ และพกอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ” ด้วย
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 จำเลยที่ 1 ได้มีอาวุธปืนประกอบเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนอีกรวม 11 นัด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และได้พกอาวุธติดตัวไปที่บริเวณแยกตัดใหม่ ถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้า ซึ่งเป็นที่สาธารณะ นอกจากจากนี้ จำเลยทั้ง 2 กับพวกรวม 25 คน ได้บังอาจร่วมกันชุมนุม มั่วสุม ที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดงและถนนวิภาวดีรังสิต โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เป็นการชุมนุมที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค ไม่มีมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด และยังเป็นการชุมนุมในช่วงเวลาเคอร์ฟิว อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนจำเลยที่ 2 ทำการพกหนังสติ๊กและลูกแก้วมาร่วมในการชุมนุม เจ้าพนักงานตำรวจ คฝ. ได้สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยที่มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ให้เลิกไป ยุติการทำกิจกรรม แต่จำเลยทั้ง 2 กับพวก ก็ไม่ยอมเลิก เจ้าพนักงาน คฝ. ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาดูสถานการณ์ จำเลยกับพวกได้ต่อสู้ขัดขวาง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายโดยการขว้างปาประทัด ลูกแก้ว และของแข็งต่างๆ ใส่เจ้าหน้าที่ เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธ และมีจำนวนผู้กระทำผิดตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไป
เมื่อเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าทำการสลายการชุมนุม และจับกุมจำเลยทั้ง 2 แต่ทั้ง 2 ไม่ยอมให้จับกุม ผลัก กระชากเจ้าหน้าที่ฯ เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยที่ทั้ง 2 ต่างก็มีอาวุธ
ต่อมา วันที่ 12 กันยายน 2564 ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานได้จับกุมทั้ง 2 ได้พร้อมอาวุธปืน หนังสติ๊ก 2 อัน และลูกแก้วอีก 40 ลูก นำส่งพนักงานสอบสวนแล้ว
หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเดิมที่เคยวางในชั้นสอบสวน ในกรณีของอานนท์ เป็นเงินประกัน 60,000 บาท หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 300,000 บาท ในกรณีของขนิษฐา เป็นเงินประกัน 35,000 บาท
+++ สั่งฟ้อง “ชาญชัย” เหตุร่วมม็อบต้านรัฐประการหน้าสถานทูตเมียนมา คำฟ้องอ้างว่าจำเลยผลักเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ +++
7 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ได้มีคำสั่งฟ้อง ชาญชัย ปุสรังษี ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ (มีเยาวชนอีกรายที่ถูกแยกดำเนินคดีต่างหาก) ในคดีสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยเขาถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันกระทำตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป”, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศกระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มีผลบังคับใช้ จำเลยคดีนี้กับเยาวชนอีกราย ได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม ในสถานที่แออัด กับประชาชนจำนวนมากบนถนนสาทรเหนือ หน้าสถานทูตเมียนมา โดยการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป
ขณะที่ พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม รอง ผกก.สืบสวน สน.ยานนาวา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ พร้อมเจ้าหน้าที่ คฝ. อีกหลายนาย ได้ขอตรวจหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวชาวเมียนมาที่มาร่วมชุมนุม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยกับพวกตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไปได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง พ.ต.ท. ประวิทย์ และเจ้าหน้าที่ คฝ. โดยใช้กำลังประทุษร้าย ได้ร่วมกันใช้มือผลักกระแทกเจ้าหน้าที่ คฝ. จนเสียหลักไปกระแทก พ.ต.ท.ประวิทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ยานนาวา ซึ่งกำลังตรวจสอบบัตรประจำตัวผู้มาร่วมชุมนุมอยู่ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ต่อมา วันที่ 12 มีนาคม 2564 จำเลยเข้ามอบตัว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 50,000 บาท กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 24 มกราคม 2565
+++ สั่งฟ้องผู้จัดคาร์ม็อบนครนายก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์ยังขอศาลให้ลงโทษสถานหนัก-ทำทัณฑ์บน อ้างขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม +++
8 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการจังหวัดนครนายกได้มีคำสั่งฟ้องคดีของกุลกานต์ จินตกานนท์ ต่อศาลจังหวัดนครนายก เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดนครนายก โดยถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมฯ ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยได้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุมปราศรัยมี่บริเวณริมถนนร้อยล้าน อำเภอเมืองนครนายก เป็นการชุมนุม มั่วสุม ทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคไวรัสโควิด 19 โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครนายก แล้ว ต่อมา อธิบดีอัยการภาค 2 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้
อัยการโจทก์ยังระบุในฟ้องอีกด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสำนึกรู้ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันโรคระบาด ขอศาลลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษ เพื่อมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยส่วนรวม จึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งบังคับใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยกับจำเลย โดยมีคำสั่งให้จำเลยทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินกว่า 50,000 บาท โดยจะมีคำสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ และหากจำเลยไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งกักขังจำเลยไว้จนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้
ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยไม่มีหลักประกัน แต่ใช้วิธีสาบานตน กำหนดนัดพร้อมวันที่ 31 มกราคม 2565
+++ สั่งฟ้องผู้จัดคาร์ม็อบจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 คดีติด เหตุฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ไม่ทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ศาลให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์คดีละ 20,000 บาท +++
9 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการจังหวัดฉะเชิงเทราได้มีคำสั่งฟ้อง สัญชัย (นามสมมติ) ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ใน 2 คดีความ สืบเนื่องจากการกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา มาตรา 368 สำหรับคดีแรก และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ป.อาญา มาตรา 368 ในคดีที่ 2
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้องคดีแรก ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เป็นการชุมนุมกิจกรรมคาร์ม็อบที่บริเวณสวนสาธารณะของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อฯ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เป็นการชุมนุมมั่วสุมที่ไม่มีมาตราการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้องคดีที่ 2 ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 จำเลยได้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบร่วมกันกับบุคคลจำนวนมากกว่า 150 คน เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่บริเวณสวนสาธารณะเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา อันเป็นการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ขึ้นไปในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยไม่มีมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตามที่ทางราชการกำหนด และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 20,000 บาท ในแต่ละคดี กำหนดนัดสอบคำให้การ พร้อมตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 18 เมษายน 2565
+++ สั่งฟ้อง “ไบรท์-ชินวัตร” – “จัสติน-ชูเกียรติ” กล่าวหาเป็นผู้จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 8 พ.ย. 63 ศาลให้ประกัน เรียกหลักประกันรายละ 20,000 บาท +++
15 ธันวาคม 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งฟ้อง ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ ชูเกียรติ แสงวงค์ – 2 นักกิจกรรมทางการเมือง ต่อศาลแขวงดุสิต ในคดีความสืบเนื่องจากการชุมนุม #ราษฎรสาส์น เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อยื่นจดหมายถึงกษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 โดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้ง 2 กับพวกที่เป็นแกนนำกลุ่มต่าง ๆ หรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมชุมนุม ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ คือ พ.ต.อ.อิทธิพร พงษ์ธร ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม
ในการชุมนุม มีการขึ้นปราศรัยบนรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมฟังปราศรัย มีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นพูดโจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมฟังจำนวนมาก ประมาณ 5,000 คน ยืนกันหนาแน่น อันเป็นการมั่วสุมในที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัส โดยที่ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคระบาดโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ทั้ง 2 ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมา รองอัยการสูงสุดซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายอนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้ง 2 แล้ว
ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักประกันเป็นเงินสดจำนวนรายละ 20,000 บาท รวม 40,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมสอบคำให้การ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565