ศาลลงโทษปรับ 2 คดีรวด #ม็อบ29ตุลา และ #ม็อบ1พฤศจิกา รวม 12,900 บาท “จ่านิว-ชูเกียรติ-นันทพงศ์” ยังไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย

31 ส.ค. 2565 ศาลอาญาพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และนันทพงศ์ ปานมาศ สามนักกิจกรรม จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่หน้าสำนักงานสำนักข่าวเนชั่น เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 และ #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข เดินขบวนไปยังสี่แยกบางนา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 

การชุมนุมทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ในช่วงปลายปี 2563 เกี่ยวกับคดีชุมนุม #ม็อบ29ตุลา พนักงานอัยการฟ้องสิรวิชญ์และชูเกียรติใน 3 ข้อหา ประกอบด้วย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 

ในส่วนคดี #ม็อบ1พฤศจิกา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องทั้งสามคน รวม 4 ข้อหา ประกอบด้วย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เดินขบวนกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะฯ

.

ศาลตีความ ‘ผู้ปราศรัย’ ถือเป็น ‘ผู้จัดชุมนุม’ แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจน ชี้มีหน้าที่รับผิดชอบให้การชุมนุมเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด

ห้องพิจารณาที่ 24 เวลา 09.00 น. สิรวิชญ์, ชูเกียรติ และนันท์พงศ์ และนายประกันได้ทยอยมาศาล นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ พรรคก้าวไกล และญาติของจำเลยมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

ก่อนที่ศาลจะออกนั่ง เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความออกจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากในช่วงเวลานี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาเยอะเกินไปสำหรับห้องพิจารณาขนาดเล็ก แต่ภายหลัง เจ้าหน้าที่ศาลได้ยินยอมให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความร่วมเข้าฟังคำพิพากษาได้บางส่วน 

เวลา 10.20 น. ผู้พิพากษาได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษาในทั้งสองคดีโดยสรุป โดยอ่านคำพิพากษาในคดีที่มีจำเลยทั้งสามคน คือคดีชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา ก่อน

ในประเด็นการฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 จําเลยกับพวก ซึ่งเป็นแกนนําหรือผู้จัดให้มีการชุมนุมทางการเมือง บริเวณถนนแยกอุดมสุขถึงบริเวณสี่แยกบางนา ต่อเนื่องถึงบริเวณหน้าอาคารเดอะโค้ท เขตบางนา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีการแจกแอลกฮอล์ ผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย 

แม้ในทางโจทก์นำสืบจะไม่ปรากฎว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรม แต่จำเลยทั้งสามได้ผลัดกันขึ้นปราศรัย ศาลจึงเห็นว่าการทำหน้าที่ปราศรัยนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย และถึงแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจาการชุมนุมดังกล่าว แต่สถานการณ์ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ 

ในส่วนข้อหา กีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบปรากฎว่า จำเลยทั้งสามเข้าร่วมชุมนุมจริง โดยเดินไปตามถนนแยกอุดมสุข ซึ่งเป็นทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ กำหนดว่า ใบอนุญาตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกให้แก่ผู้ทำการโฆษณาตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้คุ้มครองถึงผู้ใช้เสียงและผู้ควบคุมเครื่องขยายเสียงในการโฆษณา และบุคคลเช่นว่านี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตด้วย แต่ในทางสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 5

ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คนละ 5,000 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท รวมปรับคนละ 5,200 บาท แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดให้กึ่งหนึ่ง เหลือปรับคนละ 2,600 บาท 

ในส่วนคดีชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ศาลอ่านคำพิพากษาสั้นๆ ระบุว่า เนื้อหาคำพิพากษาเป็นไปในทำนองเดียวกันกับคดีชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา พิพากษาลงโทษ ชูเกียรติ 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับรวม 5,200 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับเหลือ 2,600 บาท ด้านสิรวิชญ์ลงโทษในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับเหลือ 2,500 บาท

รวมค่าปรับทั้งสองคดี เป็นจำนวน 12,900 บาท จำเลยทั้งสามได้ชำระค่าปรับจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

ศาลชี้คดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค ‘นันทพงศ์’ แถลงว่า ประชาชนขาดแคลนหน้ากากอนามัย ด้าน ‘จ่านิว-ชูเกียรติ’ ระบุการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้ชี้แจงเพิ่มเติมกับจำเลยทั้งหมดว่า คดีนี้ไม่ใช่ความผิดรุนแรง ไม่ใช่คดีมาตรา 112 ไม่ใช่การชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองตามสิทธิ เพียงแต่การชุมนุมไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เท่านั้น ไม่ได้มีจุดคัดกรอง ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ ไม่มีการแจกหน้ากากอนามัย ศาลจึงลงแค่โทษปรับ

ในประเด็นนี้ ‘นันทพงศ์’ ได้แถลงกับทางศาลว่า ในช่วงเวลานั้น ประชาชนขาดแคลนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์อย่างหนัก จึงไม่สามารถปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ได้

ทั้งนี้ สิรวิชญ์, ชูเกียรติ และนันทพงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกันสั้นๆ เกี่ยวกับความเห็นที่มีต่อคำพิพากษาในวันนี้ว่า ยังไม่เห็นด้วยและไม่ควรจะมีใครถูกดำเนินคดีเนื่องจากออกมาเรียกร้องทางการเมือง 

“ศาลพยายามที่จะบอกว่า เราไม่ได้เตรียมมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ได้มีหน้ากากอนามัย ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของเรา เป็นหน้าที่ของผู้จัด แต่ศาลตีความว่า ‘ผู้ขึ้นปราศรัยย่อมเป็นผู้จัดไปด้วย’ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการนำสืบอย่างชัดเจน รวมถึงการลงโทษปรับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แสดงให้เห็นว่าแม้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิการชุมนุม แต่ศาลเลือกที่จะหยิบยกกฎหมายอื่นมาใช้มากกว่าที่จะพิจารณาเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย” สิรวิชญ์ให้ความเห็น

ด้านชูเกียรติกล่าวว่าสั้นๆ ว่า คดีนี้เป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง และไม่ควรจะมีกฎหมายมาครอบสิทธิของประชาชน คำตัดสินของศาลวันนี้จึงรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม  

“จริงๆ มันไม่ควรจะผิดเลยด้วยซ้ำไป กระบวนการยุติธรรมควรจะเที่ยงตรงมากกว่านี้ ควรจะมองความจริงมากกว่าตามคำฟ้องของอัยการ ศาลต้องมองว่ามันเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ กฎหมายตัวนี้มันเอามาใช้งานในทางที่มาครอบเสรีภาพประชาชน ถ้ามีโรคระบาดอีกแล้ว ประชาชนออกมาเรียกร้อง ก็หมายความว่าประชาชนต้องผิดกฎหมายใช่ไหม” ชูเกียรติกล่าว

ในส่วนของนันทพงศ์เห็นว่า เดิมทีคดีที่มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพควรจะยกฟ้องทั้งหมดตั้งแต่ต้น หากในอนาคตประเทศมีประชาธิปไตย อยากให้ศาลมีบรรทัดฐานว่า ไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดีเพราะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ

“ในฐานะเป็นนักกิจกรรมและคนเรียนจบนิติศาสตร์มา ความจริงคือไม่สมควรจะมีโทษปรับ เพราะเรายืนยันตั้งแต่ต้นว่า เราออกมาชุมนุมเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย เป็นเรื่องของสิทธืเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีมาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับไหนล้วนรับรองสิทธิการชุมนุมเรียกร้อง การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลถือเป็นสิทธิของประชาชน เพราะฉะนั้น ไม่สมควรที่ประชาชนจะต้องมาโดนคดีแบบนี้ แม้จะเป็นโทษปรับก็ตาม” นันทพงศ์กล่าว

.

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

X