ไม่เสี่ยงโควิด-ชุมนุมตามสิทธิ: บันทึกสืบพยาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “เพนกวิน-อั๋ว” ร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ปี 63 ก่อนศาลพิพากษา

วันที่ 12 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรม ​กรณีเข้าร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกบังคับสูญหายไปในเย็นวันก่อนหน้านั้น

คดีนี้ทั้งสองคนถูกอัยการฟ้องใน 2 ข้อหา ได้แก่ จัดการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่จุฑาทิพย์ยังถูกฟ้องในขัอหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอีกข้อหาหนึ่ง 

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น สืบเนื่องมาจากจุฑาทิพย์ได้เดินทางไปรับทราบข้อหา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ขอให้จุฑาทิพย์พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษคดีอาญา แต่จุฑาทิพย์ปฎิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา  

ย้อนอ่านคำฟ้อง >> ให้ประกัน “เพนกวิน-อั๋ว” ไม่ต้องวางหลักประกัน หลังอัยการยื่นฟ้อง 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #Saveวันเฉลิม – #24มิถุนา ปีที่แล้ว

คดีนี้ศาลแขวงปทุมวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 11 พ.ค. และ 1 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนประเด็นการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานที่เบิกความระหว่างการพิจารณาคดีก่อนฟังคำพิพากษา

.

ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยยืนยันไม่ได้เป็นผู้จัด ไม่เสี่ยงแพร่โรค เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ถูกอุ้มหาย 

ที่ห้องพิจารณา 5 ชั้น 2 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้สอบถามทนายความว่า การสืบพยานวันนี้ จะมีมวลชนมาร่วมตัวให้กำลังใจจำเลยทั้งสองหน้าศาลหรือไม่ รวมถึงมีการกำชับกับผู้สังเกตการณ์ว่า ห้ามมีการบันทึกเสียงในห้องพิจารณาเป็นอันขาด โดยคดีนี้ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้มาศาลในนัดสืบพยานโจทก์แต่อย่างใด 

ประเด็นในการต่อสู้คดีนี้ของฝ่ายจำเลย พริษฐ์และจุฑาทิพย์ยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม การชุมนุมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่พบผู้ติดเชื้อหลังกิจกรรม จึงไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้การชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบ ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักด์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกอุ้มหายไปในประเทศกัมพูชา 

อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.อัครพล จั่นเพชร ในฐานะผู้กล่าวหา, พกรณ์ ศักดิ์คงเมตตา เจ้าพนักงานรถไฟฟ้า BTS, ร.ต.อ.ปรีชา เข็มศิริ พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ, ด.ต.นาวา นาคชัย ฝ่ายสืบสวนผู้เห็นเหตุการณ์ และ พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ พนักงานสอบสวนผู้มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี

ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ ตัวจำเลยท้้งสองเอง

.

ผกก. สน.ปทุมวัน ผู้กล่าวหา: การชุมนุมจัดที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมใส่หน้ากาก ไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อหลังกิจกรรมหรือไม่

พยานโจทก์ปากแรกคือ คือ พ.ต.ท.อัครพล จั่นเพชร เบิกความย้อนไปว่า ตนเคยรับราชการที่ สน.ปทุมวัน ปี 2563 เป็นเวลา 1 ปี โดยในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับสืบสวน 

ก่อนเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในสถานที่แออัด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2563 ซึ่งยังบังคับใช้เรื่อยมาจนกว่านายกฯ จะกำหนดเป็นอย่างอื่น รวมถึงมีออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 5) ห้ามจัดการชุมนุมที่มีคนจำนวนมาก ในลักษณะมั่วสุมหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และต้องมีการเว้นระยะห่างตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด 

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย” ได้โพสต์ข้อความ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่หายไป #saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์คปทุมวัน เวลา 17.00-18.00 น. โดยในเฟซบุ๊กระบุด้วยว่า มีการจัดเตรียมป้องกันโควิด-19 ไว้แล้ว 

หลังจากที่พยานทราบแล้ว พยานพร้อมกับสายสืบอีกประมาณ 5 นาย ได้ลงพื้นที่ โดยมี ด.ต.นาวา นาคชัย เดินทางไปที่เกิดเหตุด้วย ลักษณะพื้นที่บริเวณสกายวอล์คเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้าง เป็นทางสาธารณะที่ผู้คนสัญจรไปมาได้หมด มีทางเชื่อมติดกับมาบุญครองและรถไฟฟ้า

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. แกนนำทั้งสามรายได้แก่ ปนัสยา, พริษฐ์ และจุฑาทิพย์ ได้มาเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าปนัสยาและพริษฐ์มีตำแหน่งอะไรในกลุ่มดังกล่าว พยานทราบเพียงว่า จุฑาทิพย์มีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพฯ 

ก่อนเริ่มชุมนุมมีผู้เข้ามาร่วมประมาณ 30-40 คน และผู้สื่อข่าวอีกประมาณ 10 คน ระหว่างทำกิจกรรม แกนนำทั้งสามได้นำภาพของผู้ลี้ภัยที่หายไปมาวางเรียงกันและผลัดกันขึ้นกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับเรื่อง #saveวันเฉลิม

โดยการพูดตะโกน ไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด โดยจุฑาทิพย์เป็นคนพูดปราศรัยก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปชี้แจงเรื่องการห้ามจัดกิจกรรม ก่อนจะมีผู้ชุมนุมรวมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 60-70 คน

ต่อมา 17.21 น. พริษฐ์เริ่มกล่าวปราศรัยและมีการชูป้ายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่หายตัวไป ลักษณะการยืนของจำเลยห่างกัน จากกลุ่มผู้ชุมนุม 1 เมตร แต่ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกันไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง ไม่ได้มีจุดคัดกรอง ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาดูแล 

17.43 น. พ.ต.ท.กัมปนาท สงวนศักดิ์ รองผู้กำกับการป้องกันและปรามปราม สน.ปทุมวัน พร้อมเจ้าหน้าที่รถไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่เทศกิจ ได้เข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากนั้นเวลา 17.51 น. กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางกลับและเก็บของไปอย่างเรียบร้อย ไม่ได้มีการก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด รวมเวลาการชุมนุมประมาณ 1 ชั่วโมง

ภายหลังจากที่พยานได้จัดการทำรายงานการสืบสวนให้ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ทราบแล้ว ก็ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ 3 แกนนำ ได้แก่ พริษฐ์, จุฑาทิพย์ และปนัสยา ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 9 มิ.ย. 2563 นอกจากนี้ พยานยังได้รับรายงานว่า ในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 จะมีการนัดรวมตัวที่หน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเป็นการแสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการประกาศว่าการชุมนุม #saveวันเฉลิม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 นั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นความผิด

ต่อมา วันที่ 30 มิ.ย. 2563 เวลา 10.19 น. พริษฐ์และปนัสยา มา สน.ปทุมวัน พร้อมมวลชนอย่างน้อย 30 ราย ได้อ่านแถลงการณ์กิจกรรมไม่ยอมรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการชูป้ายและเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นประมาณช่วงบ่าย จุฑาทิพย์พร้อมทนายความได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาอีกว่า จะมีการอารยะขัดขืนหน้า สน.ปทุมวัน และวันดังกล่าว มีพริษฐ์และปนัสยามาทำกิจกรรมเวลาประมาณ 11.00 น. พร้อมผู้ชุมนุมจำนวน 20 คน มีการอ่านแถลงการณ์อีกครั้ง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ 

ต่อมา พ.ต.ท.อัครพล ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย เกี่ยวกับประเด็นเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ของผู้ชุมนุม โดยสรุปรับว่า ขณะเกิดเหตุเห็นผู้ร่วมชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย และสกายวอล์คซึ่งเป็นพื้นที่จัดการชุมนุมนั้น มีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร เป็นสถานที่เปิดโล่งกว้าง มีอากาศถ่ายเท และไม่แออัด พยานได้อยู่ตั้งแต่เหตุการณ์ก่อนเริ่มการชุมนุม จนถึงหลังจบการชุมนุมไปแล้ว และตอนกลับผู้ชุมนุมได้กระจายตัวกันกลับบ้าน ไม่ได้มีลักษณะแออัดมั่วสุมแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้มีการก่อความวุ่นวายใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

ทนายจำเลยถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้บัญญัตินิยามคำว่า ‘ผู้จัดการชุมนุม’ ไว้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่แน่ใจ พยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่เคยเข้าร่วมอบรมกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาก่อน รวมถึงไม่ทราบว่าบริเวณสกายวอล์คดังกล่าวถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารเป็นต้นมา แต่ทราบว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ

ทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 5) ให้พยานดู ซึ่งระบุว่า ไว้ในข้อ 2 (2) ว่า ห้ามประชุม ห้ามสัมมนาจัดเลี้ยง แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการชุมนุมสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 เรื่องห้ามการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พยานดูแล้วยืนยันตามเอกสาร 

ทนายจำเลยยังได้ให้พยานดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยข้อ 4 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 1 ระบุให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงกำหนดพื้นที่ได้ รวมถึงมีอำนาจสั่งการให้มีการเว้นระยะห่าง แต่ไม่ได้มีอำนาจกำหนดลักษณะการชุมนุมหรือไม่ พยานเบิกความรับว่า ตามข้อกำหนดบัญญัติให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมีอำนาจกำหนดเฉพาะพื้นที่การชุมนุมเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดลักษณะการชุมนุมแต่อย่างใด 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าศาลจังหวัดพะเยาเคยมีคำพิพากษาว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นการออกโดยมิชอบ พยานตอบว่าไม่ทราบ

เกี่ยวกับพื้นที่ชุมนุม พ.ต.ท.อัครพล เบิกความว่า พื้นที่สกายวอล์คสามารถบรรจุคนได้ประมาณ 3,000 คน ระหว่างการชุมนุม มีผู้คนสัญจรไปมาตลอด มีคนร่วมให้กำลังใจ และมีคนยืนดูการทำกิจกรรม พยานไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ในการรายงานสืบสวน พยานไม่ทราบว่าใน 60-70 คนนั้นจะเป็นใครบ้าง ส่วนจำเลยทั้งสองใส่หน้ากากตลอดการชุมนุม ในการทำกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวเสร็จสิ้นภายใน 1 ชั่วโมง ไม่ได้มีการก่อความวุ่นวายหรือทรัพย์สินเสียหายแต่อย่างใด 

ทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์โควิด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 – 10 มิ.ย. 2563 ให้พยานดู พร้อมกับถามว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ เป็น 0 ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็น 0 หรือไม่ เอกสารดังกล่าว พยานไม่รับรองความน่าเชื่อถือ รวมถึงพยานไม่ทราบว่า หลังการชุมนุมดังกล่าวแล้วจะมีผู้เข้าร่วมติดเชื้อโควิด-19 อีกหรือไม่

ทนายจำเลยถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลออกข้อกำหนดฉบับที่ 9 อนุญาตให้คลายล็อก ให้ประชาชนออกไปทำกิจกรรม ออกกำลังกาย เดินห้างสรรพสินค้าได้ พยานตอบว่า ไม่ทราบ 

นอกจากนี้ พยานรับด้วยว่าข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดนิยาม “การชุมนุม” ไว้ รวมถึงขณะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ห้ามไม่ให้มีการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

เกี่ยวกับเหตุการณ์อารยะขัดขืนวันที่ 30 มิ.ย. และ 8 ก.ค. 2563 พริษฐ์ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง แต่พยานไม่ทราบว่าพริษฐ์จะปราศรัยเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ว่าไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อป้องกันโรค แต่เป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองหรือไม่ เพราะพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่อยู่ด้านใน สน.ปทุมวัน ส่วนกรณีจุฑาทิพย์ขัดขืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือนั้น พยานก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ แต่ได้เห็นจากรายงานอีกทีหนึ่ง  

ช่วงอัยการโจทก์ถามติง ช่วงเกิดเหตุมีการกำหนดว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งหมายถึงมีการแพร่กระจายโควิด-19 ในระดับที่รุนแรง จนรัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุม 

อัยการโจทก์ถามว่า เกี่ยวกับข้อกำหนด 5 (2) ที่ว่า ‘ห้ามไม่ให้มีการจัดประชุม ห้ามสัมนาจัดเลี้ยง” เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ นอกจากนี้หากจะชุมนุมก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และมาตรการการป้องกันควบคุมโรค และต้องมีการเว้นระยะห่างด้วย

อัยการโจทก์ถามต่อว่า ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ก็มีการให้อำนาจป้องกันโควิดในพื้นที่ด้วย นอกเหนือจากการดูแลความมั่นคงใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ 

เกี่ยวกับพื้นที่ชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค พยานเบิกความว่า แม้จะมีพื้นที่การขุมนุมมีอากาศถ่ายเทและโล่งกว้าง แต่ผู้ชุมนุมยืนติดกันไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง ในการเข้าไปสืบสวนสอบสวนพบว่า มีประชาชนยืนรวมกันประมาณ 60-70 คน ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ 

.

รปภ. รถไฟฟ้า BTS: พื้นที่สกายวอล์คถูกใช้ชุมนุมมาตลอด รายงานผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ในช่วงเกิดเหตุ

พรกณ์ ศักดิ์คงเมตตา เป็นพยานโจทก์ปากที่สอง ทำงานที่บริษัทรถไฟฟ้า BTS มาตั้งแต่ 1 มี.ค. 2542 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่เป็นหัวหน้ารักษาความปลอดภัยประจำโซนสุขุมวิท เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2565 พยานทราบเหตุขณะที่ประจำการที่รถไฟฟ้าโซนสีลม 

พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมยืนอยู่เป็นจำนนวนมาก พยานจึงได้เข้ามาตรวจสอบ เดิมหน้าที่ดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร แต่ทางกรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้ BTS เป็นดูแลแทน BTS จึงส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้าไปในพื้นที่ 

ในช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นเป็นช่วงสถานการณ์โควิด หากจะมีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จำเป็นต้องขออนุญาตทาง BTS ก่อน หลังพยานได้ตรวจสอบกับนายสถานีแล้ว พบว่าไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด 

พยานไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 16.30 น. พบเห็นนักข่าวประมาณ 20-30 คน และผู้ชุมนุมรวมตัวกันเต็มลานใบบัวเกือบประมาณ 100 คน จากที่ประมาณด้วยสายตา กิจกรรมชุมนุมจัดอยู่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง แกนนำชุมนุมน่าจะมีประมาณ 2-3 ราย โดยแกนนำหลักคือ พริษฐ์และจุฑาทิพย์ มีการวางป้ายสัญลักษณ์ผู้ลี้ภัย ส่วนเนื้อหาที่ปราศรัยพยานจำไม่ได้ 

ต่อมา ผู้กำกับสน.ปทุมวัน และเจ้าหน้าที่เทศกิจได้แจ้งผู้ชุมนุมให้หยุดการชุมนุมดังกล่าว พยานไม่ได้พูดอะไรกับจำเลยทั้งสอง เพียงไปในฐานะตัวแทนเจ้าของพื้นที่ ตำรวจเป็นผู้ชี้แจงข้อห้ามการชุมนุม 

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดำเนินต่อไปกระทั่งเวลา 18.00 น. บริเวณพื้นที่ตรงลานใบบัว ซึ่งเป็นพื้นที่วงกลมมีลักษณะแออัด กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง ไม่ได้มีจุดคัดกรอง พยานไม่ทราบว่าระหว่างการชุมนุมจะมีการ์ดแกนนำหรือไม่ และในระหว่างนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐอื่นเข้าร่วมด้วย หลังเกิดเหตุ พยานได้ถูกเชิญไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เอาไว้

ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า พยานออกจากบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 19.30 น. รอจนผู้ชุมนุมออกจากลานบัวไปหมด

ทนายจำเลยถามค้านว่า ในความเห็นของพยาน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่า พยานทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด พยานเพียงสอบถามและตรวจสอบว่าการชุมนุมของจำเลยได้รับอนุญาตแล้วหรือยัง 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเห็นจำเลยทั้งสองพกอาวุธ หรือก่อเหตุอันตรายใดๆ หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธหรือไม่ เห็นแต่แผ่นป้ายรูปผู้ลี้ภัย มีการวางดอกไม้ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีช่วงผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง แต่เป็นการดันกันไปดันกันมา ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด รวมถึงในระหว่างทำกิจกรรม การสัญจรติดขัดเล็กน้อยเพราะผู้คนมาเป็นจำนวนมาก ส่วนรถไฟฟ้ายังสามารถใช้งานได้ปกติ

พยานทราบว่าบริเวณพื้นที่สกายวอล์คเป็นพื้นที่ใช้ชุมนุมมาโดยตลอด การชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตในครั้งนี้ BTS ไม่ได้แจ้งความแต่อย่างใด แค่ขอความร่วมมือ โดยพยานยืนยันว่า พื้นที่สกายวอล์คเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้างและเป็นที่สาธารณะให้ผู้คนมาทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ และระหว่างการชุมนุมประชาชนก็สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา  

ทั้งนี้ ในช่วงเกิดเหตุ พยานจำไม่ได้ว่ารัฐบาลได้มีการคลายล็อกดาวน์แล้วหรือยัง แต่พยานได้ตามข่าวเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่บ่อยๆ แล้วทราบว่าในช่วงเวลา 1-10 มิ.ย. 2563 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 0 ราย ปรากฎตามเอกสารที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการคลายล็อกดาวน์แล้ว และมีการเปิดให้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ตามปกติ สามารถเข้าห้างสรรพสินค้าได้ แต่ประชาชนยังจำเป็นต้องปฎิบัติตามมาตราการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด นั่งเว้นระยะห่าง และใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นต้น 

ช่วงอัยการโจทก์ถามติง พยานเบิกความว่าในระหว่างการทำกิจกรรมชุมนุม ผู้ชุมนุมกับนักข่าวยืนติดกัน ไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง เพราะแกนนำไม่ได้มีใช้เครื่องขยายเสียง ผู้ชุมนุมจึงต้องยืนรวมกันเพื่อฟังคำปราศรัย

.

พนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งความ: ต้องพิมพ์ลายนิ้วมืออย่างเดียว เลขบัตรปชช.ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมไม่แม่นยำ ทั้งการถอนประวัติหากไม่ผิด จำเลยกลายเป็นผู้ดำเนินการเอง

ร.ต.อ.ปรีชา เข็มศิริ พยานโจทก์ปากที่ 3 รับราชการกองกำกับการตำรวจนครบาล 4 เกี่ยวกับคดีนี้ พยานรับราชการที่ สน.ปทุมวัน ปี 2559 จนถึง 10 ก.ค. 2563 พยานได้รับคำร้องทุกข์ในคดีนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 จาก พ.ต.ท.อัครพล ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสอง 

พยานเบิกความว่า เฟซบุ๊กสหภาพนักศึกษาแห่งประเทศไทยประกาศว่าจะมีการจัดชุมนุม #saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์ค เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับผู้ลี้ภัยที่หายไป โดยพฤติการณ์การชุมนุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ชุมนุมโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และไม่มีการเว้นระยะห่างการชุมนุม 

พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุม แต่ได้รับสำนวนการสืบสวนมา ก่อนจะไปตรวจสอบที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. พบว่าพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่งเปิดกว้างเหนือแยกปทุมวัน สามารถจุคนได้มากกว่า 100 คน บริเวณนั้นมีทั้งแกนนำ และสื่อมวลชน 

ภายหลังจึงมีหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ปทุมวัน โดยมีจุฑาทิพย์มารับทราบข้อกล่าวหาเพียงรายเดียว พยานได้สั่งให้จุฑาทิพย์พิมพ์ลายนิ้วมือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญาฯ เพื่อนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม แต่จุฑาทิพย์ปฎิเสธไม่ยอมให้พิมพ์ลายนิ้วมือ พยานจึงแจ้งข้อหาไม่ปฎิบัติตามคำสั่งพนักงาน จุฑาทิพย์ให้การปฎิเสธ 

จากการสืบสวนพบว่า จุฑาทิพย์เป็นประธานสหภาพนักศึกษาฯ ได้มีการโพสต์เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุม ส่วนพริษฐ์และปนัสยามีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพนักศึกษาฯ โดยในวันเกิดเหตุ จุฑาทิพย์และพริษฐ์เป็นแกนนำปราศรัย มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการขออนุญาตเจ้าพนักงานจัดการชุมนุมล่วงหน้า ไม่มีหน่วยสาธารณสุขเข้าไปดูแลการชุมนุม และไม่มีจุดคัดกรอง 

ภายหลังจากสรุปสำนวนและสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว พยานได้ส่งสำนวนต่อให้ พ.ต.ท.เจริญสุข จงอิทธิ ก่อนย้ายไปรับราชการที่อื่น 

ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับการจัดการภายในและกระบวนการแต่งตั้งของสหภาพนิสิตนักศึกษาฯ พยานไม่ทราบรายละเอียด รวมถึงไม่ได้มีการตรวจสอบว่าใครเป็นแอดมินเพจของกลุ่มแต่อย่างใด

ทนายจำเลยถามค้านว่า พื้นที่การชุมนุมสกายวอล์คสามารถจุคนได้จำนวนเท่าไหร่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ไม่ได้มีการเชิญพยานผู้เชี่ยวชาญมาสอบในประเด็นนี้ ส่วนประเด็นเรื่องสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือไม่ พยานไม่ได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาสอบในประเด็นนี้ 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ พยานตอบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมสวมหน้ากากตลอดเวลา 

ทนายจำเลยถามค้านว่า ตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 9 ข้อ 2 (2) ได้ระบุตอนท้ายว่าห้ามจัดกิจกรรม หากเป็นการชุมนุมสัมมนาต้องจัดผ่านสื่ออิเลกทรอนิกส์ ในความเห็นของพยานถือเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ พยานตอบว่า ตามข้อ 2 (2) หมายถึงการชุมนุมทุกประเภท ห้ามมีการรวมกลุ่มกัน 

ทนายจำเลยถามค้านถึงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในช่วงเวลาเกิดเหตุ พยานเบิกความว่าไม่ได้ทำการสอบสวนประเด็นเรื่องช่วงเวลาดังกล่าวจะมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่โควิด-19 หรือไม่ และไม่ได้สอบว่าหลังจบการชุมนุมดังกล่าวแล้วจะมีใครติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า คำสั่งคณะปฎิรูปการปกครอง (สมัย คมช.) ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา ได้เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการตรวจประวัติอาชญกรนั้น สามารถพิมพ์บัตรประชาชน 13 หลักเพื่อตรวจสอบได้ พยานตอบว่า เกี่ยวกับคำสั่งพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พยานทราบ แต่การตรวจสอบประวัติอาชญากรจากบัตรประชาชน 13 หลัก ไม่ค่อยมีความแม่นยำเท่าไหร่

ทั้งนี้ ตามความเข้าใจของพยาน พยานเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่พยานไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจให้บุคคลพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากร และไม่ทราบว่าเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิฉัยว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 132 

ทนายจำเลยถามค้านว่า เกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือ ฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องต่อให้มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่าไม่มีความผิด หากต้องการจะคัดลายนิ้วมือออกจากสารบบ จะต้องเอาคำพิพากษาไปยื่นกับเจ้าหน้าที่รัฐเองเพื่อให้ลบประวัติอาชญากรออก ซึ่งในทางปฎิบัติ จำเลยต้องเป็นคนดำเนินการเอง ไม่ใช่พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ พยานตอบว่าใช่ 

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ขณะสอบคำให้การจุฑาทิพย์ จำเลยได้บอกถึงเหตุผลที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือหรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ว่าจุฑาทิพย์อ้างเหตุผลใด 

ช่วงอัยการโจทก์ถามติง เกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือ พยานเบิกความว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการพิมพ์ตามวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้ฟ้องผิดตัวและป้องกันการปลอมตัว ไม่ได้มีการสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของคณะปฎิรูป คมช. 

.

พนักงานสืบสวนในที่เกิดเหตุ: กิจกรรมไม่มีเหตุวุ่นวาย ไม่มีทรัพย์สินเสียหาย

ด.ต.นาวา นาคชัย พยานโจทก์ปากที่สี่ พนักงานสืบสวน สน.ปทุมวัน เกี่ยวกับคดีนี้ เกิดเหตุขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพจเฟซบุ๊กสหภาพนิสิตนักศึกษามีการประกาศเชิญชวนให้ร่วมไว้อาลัยและทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิม ช่วงเวลา 17.00-18.00 น. ผู้บังคับบัญชาการได้สั่งให้พยานลงพื้นที่สืบสวน พร้อมกับชุดสืบสวนอื่นๆ ส่วนจะมีตำรวจสันติบาลมาหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

หลังพยานไปถึงที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 16.00 น. ก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมคือพริษฐ์ จุฑาทิพย์ และปนัสยา พร้อมกับผู้ร่วมชุมนุมอีกประมาณ 30 คน มีนักข่าวและสื่อมวลชน ประมาณ 10 คน ระหว่างทำกิจกรรมมีการวางแผ่นป้ายภาพวันเฉลิมและผู้ลี้ภัยอื่นๆ โดยรอบไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจ แกนนำทั้งสามอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 1 เมตร กลุ่มของผู้ชุมนุมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

ต่อมา เวลา 17.00 น. แกนนำเริ่มมีการปราศรัย โดยผลัดกันตะโกน พ.ต.ท.กัมปนาท จึงได้แจ้งกับแกนนำให้เลิกการชุมนุม โดยทางตำรวจใช้เครื่องขยายเสียง อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เลิกชุมนุมตามคำสั่งทันที ขณะเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมยืนในลักษณะเรียงติดกันตรงลานบัว ประมาณ 50-60 คน ไม่ได้มีการกระจายตัวแต่อย่างใด และไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมแจ้งขออนุญาตจัดชุมนุมล่วงหน้าด้วยหรือไม่ ต่อมาเวลา 18.30 น. ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับ

พยานไม่รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัว แต่ทราบจากสื่อที่ปรากฎในโซเชี่ยลมีเดีย  

ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พยานไม่ทราบว่า แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มธรรมศาสตร์และการเมือง กลุ่มสหภาพนิสิตนักศึกษา เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ การชุมนุมมีหลายกลุ่ม บางครั้งพริษฐ์และจุฑาทิพย์ก็ไปเข้าร่วมด้วย 

ทนายจำเลยถามค้านว่า ระหว่างที่ 1- 10 มิ.ย. 2563 การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็น 0 รายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ถึงแม้จะมีการคลายล็อคให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรม แต่ก็ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ผู้ที่มาชุมนุมส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอนามัย ใช้เวลาทำกิจกรรมราว 1 ชั่วโมง ก็เสร็จสิ้น กิจกรรมไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงหรือผิดปกติรวมถึงไม่มีการทำลายทรัพย์สินราชการ และไม่ทราบว่ามีรายงานว่าหลังการชุมนุมมีผู้ติดโควิด-19 หรือไม่ 

ช่วงอัยการโจทก์ถามติง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิดในเวลาดังกล่าว พยานเบิกความว่า แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ลักษณะการชุมนุมของผู้ชุมนุมคือยืนไหล่ชิดไหล่ เนื่องจากแกนตะโกนพูด ไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง 

.

พนักงานสอบสวน: ไม่ได้ตั้งประเด็นสอบสวนเรื่องผู้ติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมหรือไม่ 

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รองผู้กำกับสอบสวน สน.ปทุมวัน เกี่ยวกับคดีนี้ จาการสอบสวนทราบว่า ปนัสยา, จุฑาทิพย์ และพริษฐ์ เป็นผู้เชิญชวนให้มีการชุมนุม #saveวันเฉลิม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 60-70 คน ที่ลานใบบัว จำเลยไม่ได้มีการขออนุญาตการชุมนุม แกนนำเป็นผู้ตะโกนกล่าวปราศรัยโดยไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องมาล้อมแกนนำเพื่อฟัง ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 

พยานเห็นว่า แกนนำทั้งสามคนน่าจะร่วมกันจัดการชุมนุม โดยมีจุฑาทิพย์เป็นประธานสหภาพนักศึกษา และพริษฐ์เป็นผู้โพสต์ภาพจัดกิจกรรม #saveวันเฉลิม 

ต่อมา วันที่ 30 มิ.ย. 2563 พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมอารยะขัดขืนที่หน้า สน.ปทุมวัน โดยวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมร่วมประมาณ 30 คน โดยพริษฐ์และปนัสยาเป็นแกนนำกลุ่ม ส่วนจุฑาทิพย์เดินทางมา สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และปฎิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ

สาเหตุที่แจ้งข้อกล่าวหาว่าพริษฐ์เป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากช่วงเช้าของวันที่ 30 มิ.ย. 2563 มีการโพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กให้เข้าร่วมการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เพื่ออารยะขัดขืน และพยานก็มาปรากฎตามที่เกิดเหตุ โดยการชุมนุมดังกล่าว ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดชุมนุมล่วงหน้า รวมทั้งไม่มีมาตราการการป้องกันโควิด-19 เรื่องการเว้นระยะห่าง พยานจึงสรุปสำนวน โดยมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องคดี 

ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานไม่ทราบว่าในช่วงเกิดเหตุ สถานณ์การณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะเป็น 0 ราย หรือไม่ ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้เรียกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาสอบสวนด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เรียกสอบ แต่ได้เรียกเจ้าหน้าที่เขตมาสอบ เรื่องว่ามีการขอนุญาตล่วงหน้าหรือไม่ แต่ไม่ได้สอบเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตปทุมวัน เจ้าหน้าที่เขตปทุมวันชื่ออะไรพยานจำไม่ได้ 

พยานไม่ทราบว่าจะมีบุคคลใดติดโควิด-19 หรือไม่หลังทำกิจกรรม และพยานไม่ได้รับรายงานเรื่องความเสียหายจากกิจกรรมแต่อย่างใด

ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า เกี่ยวกับการโพสต์เชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน นั้น ไม่ได้มีการโพสต์เชิญชวนแต่อย่างใด ตามภาพในเอกสารเป็นเพียงหน้าเฟซบุ๊กของจำเลยเท่านั้น รวมถึงหน้าเฟซบุ๊กของจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยทำงานในกลุ่มชุมนุมเพียงกลุ่มเดียว พยานตอบว่าเบิกความยืนยันตามรายงานการสืบสวน 

ช่วงอัยการโจทก์ถามติง พยานเบิกความว่า ในการสืบสวนพยานทราบว่าจุฑาทิพย์เป็นประธานสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ส่วนพริษฐ์นั้นพยานจำไม่ได้ว่ามีหน้าที่อะไร แต่น่าจะอยู่ในสหภาพนิสิตนักศึกษาเช่นเดียวกัน 

.

“พริษฐ์ ชิวารักษ์” ชี้ประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความชอบธรรม ขณะเกิดเหตุผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานเบิกความโดยสรุปว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจประธานสหภาพนักศึกษา และไม่ได้เป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

เกี่ยวกับจุดประสงค์ของการชุมนุมคือ ไล่ไปตั้งแต่มีการรัฐประหาร 2557 มีประชาชนผู้เชื่อในประชาธิปไตยและกฎหมาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่คุกคามด้วยกำลังและกฎหมาย มีหลายคนต้องลี้ภัยเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่า 100 คน บางคนหายตัวอย่างลึกลับประมาณ 10 คน ซึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรร้ายแรง แต่เป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว ในจำนวนนั้นมีผู้ลี้ภัยกลายเป็นศพลอยในแม่น้ำโขง 

ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายตัวไปที่กัมพูชา ซึ่งทางรัฐบาลไทยและกัมพูชาปฎิเสธความรับผิดชอบ การที่มีคนเห็นต่างจากรัฐถูกอุ้มหายไม่ได้เป็นแค่อาชญากรรมกับตัวผู้อุ้มหาย แต่เป็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรมต่อทุกคน สิทธิเสรีภาพของวันเฉลิมก็คือสิทธิเสรีภาาพของทุกคน ความยุติธรรมของวันเฉลิมคือความยุติธรรมของทุกคน 

สาเหุตที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุม เป็นเพราะถึงแม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ไม่ชอบธรรม ตอนนั้นไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ ประชาชนต่างรู้ว่าไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ  

นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งรัฐและกฎหมายโดยรวมมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า รัฐปฎิเสธสิทธิการมีชีวิตของวันเฉลิม ถ้าเรานิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิของเพื่อนร่วมประเทศคนใดคนหนึ่ง คนต่อไปที่จะถูกละเมิดสิทธิอาจเป็นเรา เป็นใครก็ได้ในห้องพิจารณานี้ หากเรานิ่งเฉยไม่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ

เกี่ยวกับพื้นที่การชุมนุมในวันเกิดเหตุ พยานเบิกความว่ามีการจัดที่ทางเพื่อไม่ให้เกิดการแออัด พยายามให้ผู้ชุมนุมยืนกระจายกัน และมีการแจกเจลแอลกอฮอล์ มีการวัดอุณหภูมิของผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยส่วนตัวจำเลยได้สวมหน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ และยืนห่างจากผู้ชุมนุม โดยจำเลยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการทำกิจกรรม มีการวางดอกไม้ ถือป้ายผู้ลี้ภัย พูดปราศรัยเล็กน้อย ส่วนมากกลุ่มผู้ชุมนุมจะยืนดูอยู่ห่างๆ ก่อนเอาดอกไม้มาวางและเดินออกไป 

ทั้งนี้ พื้นที่ของสกายวอล์ค ประชาชนสามารถเดินผ่านไปผ่านมาได้ เป็นลานโล่งกว้างและมีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS โดยจำเลยใช้แค่พื้นที่ตรงทางสี่แยกเท่านั้น หลังจบกิจกรรมแล้วจำเลยกับผู้ชุมนุมไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน อัยการโจทก์ถามว่าจำเลยเป็นผู้จัดเตรียมภาพของผู้ลี้ภัยใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่าจำไม่ได้ 

อัยการโจทก์ถามถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ BTS เข้ามาชี้แจงจำเลยว่าการชุมนุมดังกล่าว ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเตือนให้เว้นระยะห่างด้วยใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ปกติแล้วเวลามีกิจกรรมชุมนุม ไม่ว่าจำเลยจะเป็นคนจัดหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรงมาถามจำเลยเสมอ

เกี่ยวกับเรื่องการอุ้มหาย จำเลยเบิกความว่าในประเทศไทยยังไ่ม่มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ดังนั้นหากเกิดเป็นคดีความจะยังฟ้องร้องไม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องวันเฉลิมมีการนำกล้องวงจรปิดมาเผยแพร่ มีการเดินทางตามหาข้อเท็จจริงทั้งไทยและกัมพูชา แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการทางกฎหมายไทยแต่อย่างใด 

อัยการโจทก์ถามต่อว่า ตามนโยบายคลายล็อกดาวน์ของรัฐตอนนั้น ไม่มีการคลายล็อกอย่างเสรี จำเป็นต้องมีมาตราการป้องกันโควิด-19 จำเลยตอบว่าทราบ

.

‘จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์’ ชี้การควบคุมโรคระบาด ไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐควรให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพของประชาชน

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความว่า สืบเนื่องจากมีการรัฐประหาร 2557 จึงมีนักกิจกรรมและประชาชนหลายคนลี้ภัย เพราะว่าสภาพทางกฎหมายไม่ยุติธรรมต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือหนึ่งในผู้ที่ถูกอุ้มหายไป จำเลยจึงเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิให้วันเฉลิม เพราะไม่แน่ใจว่าวันไหนประชาชนทั่วไปจะโดนอุ้มหายเช่นเดียวกัน เพราะประเทศไทยไม่มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จำเลยอยากให้เกิดความรับรู้ในสังคมว่า มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมไทยที่เรียกร้องประชาธิปไตย 

เกี่ยวกับเหตุการณ์วันชุมนุม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ผู้คนออกมาใช้ชีวิตปกติ ห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมมีคนมาวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์ และมีการหน้ากากอนามัย มีการยืนเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ถึง 100 คน จำเลยเห็นตำรวจและตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 50 รายด้วย

เหตุที่ว่าแม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่จำเลยก็ยังเข้าร่วมการชุมนุม เป็นเพราะจำเลยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลสูญหาย อีกทั้งการควบคุมโรคไม่ควรจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

นอกจากนี้ การสูญหายของวันเฉลิม ก็ทำให้ครอบครัวลำบากในการติดตามคดี เนื่องจากทางการไทยก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการติดตามวันเฉลิมเช่นกัน การเข้าร่วมการชุมนุมคือการเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิมและครอบครัว 

จากการพยายามตามข่าวทั่วไป จำเลยพบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงข่าวการชุมนุม #saveวันเฉลิม พยานทราบข่าวจากเฟซบุ๊กสหภาพนิสิตนักศึกษาฯ  

จำเลยไม่เคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาก่อนหน้านี้ ภายหลังจากถูกดำเนินคดีนี้แล้ว จำเลยได้รับหมายเรียกให้ไปที่ สน.ปทุมวัน จำไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนพูดอะไรบ้าง แต่จำเลยจำได้ว่าถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ 

สาเหตุที่จำเลยไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเห็นว่าประชาชนสามารถปฎิเสธที่จะไม่พิมพ์ลายนิ้วมือได้ โดยมีคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2562 การพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นเป็นสิทธิของผู้ต้องหา นอกจากนี้การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการเพิ่มภาระให้จำเลย เพราะหลังจากคดีสิ้นสุดลงแล้วประวัติจะยังค้างอยู่ในระบบ จำเลยต้องไปดำเนินการแก้ไขเอง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของจำเลยในอนาคต และระบบศาลกับตำรวจก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน 

ช่วงอัยการโจทก์ถามค้าน จำเลยเบิกความว่าตนเป็นประธานสหภาพนิสิตนักศึกษา แต่โพสต์เชิญชวนที่ให้ไปเข้าร่วมชุมนุม #saveวันเฉลิม นั้นจำเลยไม่ได้เป็นคนจัดทำและใครจะเป็นผู้จัดทำ จำเลยก็ไม่ทราบ เกี่ยวกับการแจ้งเจ้าหน้าที่เรื่องขออนุญาตการชุมนุม ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาทำจุดคัดกรอง พยานไม่ได้มีหลักฐานมาแสดงส่วนนี้

อัยการโจทก์ถามค้านว่า เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน แต่เหตุผลที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อป้องกันการฟ้องผิดตัว พยานรับว่าใช่ 

ช่วงตอบทนายจำเลยถามติง พยานเบิกความว่า ตนไม่ได้เป็นแอดมินเพจสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ส่วนเรื่องการฟ้องผิดตัวนั้น คิดว่าสามารถใช้บัตรประชาชนตรวจสอบดูได้ 

.

ทั้งนี้ ในการชุมนุมครั้งนี้ สำนวนคดีในส่วนของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ไม่ได้ถูกฟ้องเข้ามาพร้อมกับพริษฐ์และจุฑาทิพย์แต่อย่างใด โดยพนักงานอัยการกลับระบุในคำฟ้องคดีของทั้งสองคนว่า “ปนัสยานั้นหลบหนีและยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง” ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด และผลคำพิพากษาในคดีของทั้งสองคนจึงจะส่งผลต่อการสั่งฟ้องและไม่ฟ้องคดีของรุ้งต่อไป

.

X